คำศัพท์

Speculative Anthropology

อนาคต สำคัญอย่างไร

อนาคตเป็นเรื่องของเวลาที่ยังมาไม่ถึงซึ่งการศึกษาทางมานุษยวิทยาแต่เดิมมักจะไม่ค่อยให้ความสนใจ เนื่องจากเรื่องสำคัญของมานุษยวิทยามักเกี่ยวข้องและเกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบันหรือเวลาในอดีตที่บ่งบอกถึงการกระทำของมนุษย์ที่ผ่านมาแล้ว ในวัฒนธรรมตะวันตกมักมองเวลาเป็นเส้นตรงที่เริ่มต้นจากอดีตเชื่อมเข้าหากับเวลาปัจจุบันและดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องถึงอนาคต โดยมีลำดับเหตุการณ์เกิดขึ้นตามปฏิทินที่ระบุวันเดือนปีที่ชัดเจน Nietzsche (2006) เคยกล่าวว่าอนาคตเป็นคุณลักษณะที่ทำให้มนุษย์แยกออกจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นบนโลก กล่าวคือ เมื่อมนุษย์มองดูตัวเองในอดีต มนุษย์จะคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและคาดคะเนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เวลาทั้งสามส่วนนี้ถูกต่อเข้าด้วยกันเป็นเส้นตรง แต่สิ่งที่ยังมาไม่ถึงหรือเป็นเรื่องของอนาคต มนุษย์จะทำความเข้าใจสิ่งนี้ด้วยการเปรียบเทียบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตและพบเห็นในเวลาปัจจุบัน ทำให้ภาพเกี่ยวกับเวลาแห่งอนาคตเกิดความชัดเจน (Wishon & Linsky, 2015) มิติเกี่ยวกับเวลาเป็นเรื่องของประสบการณ์ส่วนบุคคลและเป็นการคาดคะเนจากมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นจากการร้อยเรียงสิ่งต่างๆที่พอจะนึกออกได้ เวลาในอดีตจึงไม่ใช่สิ่งที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาจึงเป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันและสัมพันธ์กับอำนาจที่เข้ามาควบคุมและจัดระเบียบความรู้ต่างๆ

มนุษย์พยายามจัดระเบียบของเวลาให้อยู่ในขอบเขตและเส้นแบ่งที่ชัดเจน เช่นการแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์ แต่เวลาของอนาคตมักจะเป็นการคาดเดาและจินตนาการซึ่งเกิดขึ้นในนิยายวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยาซึ่งไม่คุ้นเคยกับการศึกษาเวลาที่ยังมาไม่ถึง (Strzelecka, 2013) ในการศึกษาของ Riner(1991) ตั้งข้อสังเกตว่าความรู้เกี่ยวกับอนาคตเป็นปัญหาสังคมที่ตึงเครียด เพราะการคาดเดาถึงเวลาในอนาคตอาศัยความคิด ประสบการณ์ และการให้ความหมายที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่นักมานุษยวิทยาควรทำความเข้าใจก็คือการมองหาวิธีการที่มนุษย์ต่างกลุ่มใช้ประเมินสิ่งที่เป็นอนาคต วิธีการต่างๆที่มนุษย์นำมาใช้อาจทำให้เห็นว่าอนาคตกำลังถูกสร้างขึ้นให้มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และภาพลักษณ์ของอนาคตอาจสะท้อนสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ Firth (1992) ตั้งข้อสังเกตว่าเวลาของอนาคตคือวิธีการคาดเดาอย่างเป็นระบบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากการพยากรณ์และการทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้า ในแง่นี้ การศึกษาเรื่องอนาคตจึงเป็นการค้นหาสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นคือ “ความเป็นอื่น” ที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้ (Strzelecka, 2013)

ศาสตร์ที่เรียกว่า “อนาคตวิทยา” (futurology) (Flechtheim, 1966) มีเป้าหมายเพื่อคาดคะเนเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ทั้งนี้ต้องอาศัยมุมมองและกระบวนทัศน์ที่ยึดหยุ่น การมองเห็นอนาคตจึงต้องมองไปที่การเปลี่ยนแปลง ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ประเทศในยุโรปเริ่มหันมาสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับอนาคต เช่น โครงการ Mankind 2000 ซึ่งริเริ่มโดย Jacob Wellesley-Wesley ได้สร้างพจนานุกรมเกี่ยวกับปัญหาของโลกและศักยภาพของมนุษย์เพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาสังคมในอนาคต ในการแสวงหาทางออกให้กับมนุษยชาติ ฐานคิดของการคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตวางอยู่บนการมองเห็นปัญหาความไม่สมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับปัญหาสังคมที่เสื่อมถอย ซึ่งเส้นทางทั้งสองมีช่องว่างห่างการมากขึ้น การศึกษาอนาคตจึงวางแนวทางเพื่อการตระหนักถึงสังคมที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการคาดคะเนปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งชี้ให้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้มนุษย์ระมัดระวังตัวไม่กระทำการใดๆที่จะสร้างความเสียหายให้กับสังคม

อนาคตในมิติมานุษยวิทยา

จุดยืนของมานุษยวิทยาเพื่อทำความเข้าใจอนาคตเกิดขึ้นจากการมองอย่างพินิจพิเคราะห์ว่าปัญหาของมนุษย์ในปัจจุบันจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง นักมานุษยวิทยาชื่อ Marion Lundy Dobbert (2000) เคยเสนอแนวคิดเรื่องการคาดคะเนรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็วิจารณ์ว่าประเทศที่เจริญแล้วในตะวันตกมีส่วนสำคัญที่จะสร้างสันติภาพโลกและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน Dobbert ยกตัวอย่างการฆ่าในสงครามกลางเมืองในประเทศบอสเนียและเสนอแนวทางที่จะสร้างความสงบสุขและสันติภาพในอนาคตโดยอาศัยมุมมองทางมานุษยวิทยาที่คาดการณ์สังคมด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งแนวทางนี้อาจเป็นสิ่งที่เรียกว่า “สังคมศาสตร์เพื่อสันติภาพ” (social science of peace) ในแวดวงมานุษยวิทยาคำเรียกในการศึกษาอนาคตจะประกอบด้วยหลายคำ เช่น futurology, futurism, anthropology of future, speculative anthropology, anticipatory anthropology เป็นต้น คำเหล่านี้บ่งบอกถึงการคิดถึงสภาพสังคมแห่งอนาคตที่มนุษย์ใฝ่ฝันและหวาดกลัว การคิดถึงอนาคตในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับการทัศนคติ ความคาดหวังและความปรารถนาที่มนุษย์มีต่อเรื่องราวอนาคต

วิธีการทำความเข้าใจอนาคตในความคิดของผู้คน นักมานุษยวิทยาจะต้องพูดคุยเพื่อนำคำบอกเล่าต่างๆของผู้คนมาวิเคราะห์ว่าพวกเขาคิดถึงเรื่องราวอนาคตอย่างไร ในคำบอกเล่าจะมีทั้งความฝัน ความปรารถนา ความต้องการ ความวิตกกังวล และความรู้สึกกลัว คำบอกเล่าจะกลายเป็นข้อมูลเพื่อช่วยให้เห็นเหตุการณ์ในอนาคต บทบาทสำคัญของนักมานุษยวิทยาก็คือการชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตควรจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน และพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพด้วยระบบการศึกษา (Gidley, Bateman & Smith, 2004) นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยาสามารถทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายเพื่อวางแผนกำหนดอนาคตที่เหมาะสม ชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอแนะให้เห็นประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ตอบสนองความสมดุลทางนิเวศและการรักษาสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาใหม่ๆทางเทคโนโลยี

แนวโน้มการพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอาจพิจารณาได้จากนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งมักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบสังคมและคุณค่าเชิงศีลธรรมที่มีอยู่ในมนุษย์ (Stover, 1973) นิยายวิทยาศาสตร์จึงเป็นภาพสะท้อนของจินตนาการเกี่ยวกับโลกอนาคตที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ในขณะที่การศึกษาทางมานุษยวิทยาเป็นการมองอนาคตผ่านกระบวนการทางสังคมที่มนุษย์ปัจจุบันคาดคะเนถึงผลบวกและลบจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งที่ทำให้นิยายวิทยาศาสตร์ต่างไปจากการศึกษาทางมานุษยวิทยาก็คือ นิยายให้ความสำคัญกับจินตนการ แต่งานศึกษาทางมานุษยวิทยาพยายามสร้างการตระหนักรู้ว่าปัญหาของสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไรและควรจะวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร ในการศึกษาของ Pink and Salazar (2017) กล่าวว่าการศึกษาอนาคตในทางมานุษยวิทยาต้องการความคิดใหม่ๆ เพื่อที่จะทำความเข้าใจปัจจุบันที่จะส่งผลต่อเรื่องราวในอนาคต รวมถึงการคาดการณ์สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นและแสวงหาวิธีการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาของโลก สิ่งนี้ต้องการความคิดเชิงวิพากษ์และเรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปคลุกกับปัญหาเพื่อเสนอมุมมองเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก ในแง่นี้ ทำให้การศึกษาอนาคตต่างไปจากวิธีการเดิมๆที่นักมานุษยวิทยามักคุ้นเคยและทำงานในระดับเฝ้าสังเกตการณ์เพียงอย่างเดียว ในทางตรงกันข้าม เมื่อนักมานุษยวิทยาสนใจเรื่องราวอนาคตของมนุษย์ สิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นคือการเข้าไปวิพากษ์ปัญหาต่างๆที่พบเจอในปัจจุบัน มานุษยวิทยาของอนาคตจึงเรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปมีส่วนสร้างโลกพน้อมกับนำเอาความหวังดีและความห่วงใยต่อมนุษยชาติมาเป็นพลังในการทำงานให้มากขึ้น

Ingold (2000) กล่าวว่าการทำงานของนักมานุษยวิทยาที่เน้นการศึกษาประสบการณ์มนุษย์แบบฝังตัวและเข้าไปมีส่วนร่วมคือแกนสำคัญที่นักมานุษวิทยาต้องนำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่โอบอุ้มมนุษย์ทุกคนให้เท่าเทียมกัน นักมานุษยวิทยาที่มีความสนใจประเด็นสังคมที่หลากหลายจำเป็นต้องนำความรู้และประสบการณ์ของผู้คนที่ศึกษามาประกอบกันเพื่อสร้างทางเลือกให้กับอนาคต กล่าวคือข้อมูลทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของมนุษย์ปัจจุบันควรจะนำมาเป็นบทเรียนเพื่อผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นการวางแผนเพื่อทำให้อนาคตเป็นที่ช่วงเวลาที่น่าพอใจ (preferred futures) (Adam & Groves, 2007) ในความคิดของ Pink and Salazar (2017) คำว่ามานุษยวิทยาอนาคตกาล (futures anthropology) คือพื้นที่ปฏิบัติการที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนเพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่มีทางเลือกที่หลากหลาย เป้าหมายมิใช่การทำให้วิชามานุษยวิทยาอยู่รอด แต่เพื่อทำให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปร่วมสร้างสังคมแห่งอนาคต

ตั้งแต่ที่ Alvin Toffler ตีพิมพ์หนังสือ Future Shock ในปี 1970 ซึ่งบ่งบอกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างผลักผันในยุคหลังอุตสาหกรรม หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลมากในทศวรรษ 1970 ส่งผลให้สาธารณะ องค์กรต่างๆ และนักวิชาการจำนวนมากออกมาถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติ (Valentine, 2015) เช่นเดียวกับแวดวงมานุษยวิทยาที่เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับแบบแผนทางสังคมและวัฒนธรรมในอนาคต (Collins, 2008) ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอนาคต เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งมีชีวิตนอกโลกและการสำรวจอวกาศ กลายเป็นโจทย์ใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา (Maruyama & Harkins, 1975) แต่ช่วงเวลานั้นคำถามเกี่ยวกับอนาคตยังไม่ใช่สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจ ยกเว้นการเข้าไปดูปรากฎการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ นักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆที่สนใจเรื่องอนาคต เช่น Robert Textor และ Reed Riner (1987) พยายามนำทฤษฎีเกี่ยวกับอนาคตเข้ามาใช้ร่วมกับระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยาเพื่อชี้ให้เห็นว่าการทำความเข้าใจอนาคตคือสิ่งที่คล้ายกับการศึกษาเชิงวัฒนธรรมในรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้อาศัยข้อมูลสังคมในปัจจุบันมาเป็นแว่นตาสำหรับการคาดคะเนเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ในแง่นี้ อนาคตจึงวางอยู่บนหลักฐานที่พบในปัจจุบันและนำมาวิเคราะห์เพื่อประเมินถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับแบบแผนสังคมและวัฒนธรรมที่จะปรากฎตัวในอนาคต การทำความเข้าใจลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น (Razak, 2000)

ในช่วงทศวรรษ 1980 จุดเปลี่ยนสำคัญทางมานุษยวิทยาคือการวิพากษ์วัฒนธรรมการเขียนของนักมานุษยวิทยา (Clifford & Marcus, 1986; Fabian, 1983) ซึ่งวิพากษ์อำนาจของผู้เขียนที่นำเสนอภาพแทนเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม ในขณะที่มีการทบทวนวิธีการเขียนงานทางชาติพันธุ์ การตั้งคำถามต่อเวลาในอดีตที่นักมานุษยวิทยาใช้บอกเล่าสังคมของมนุษย์ก็เริ่มเป็นสิ่งสำคัญ เวลาในอดีตที่สร้างแบบแผนการศึกษาทางมานุษยวิทยาอาจมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้การศึกษาอนาคตซึ่งถือเป็นเวลาที่ยังมาไม่ถึงเป็นกระจกสะท้อนวิธีคิดเกี่ยวกับเวลาซึ่งอาจจะไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนเหมือนอย่างที่เคยเชื่อกันมา (Munn, 1992) ข้อสงสัยนี้ได้ปูทางไปสู่การทบทวนเรื่องเวลาที่ทับซ้อนของอดีตกับปัจจุบันซึ่งนักมานุษยวิทยามักจะใช้พรรณาถึงวัฒนธรรมอื่น และการนำความทรงจำของคนมาบอกเล่าผ่านประสบการณ์ในปัจจุบัน (Guyer, 2007) และประกอบสร้างเรื่องราวของอดีตให้เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องเป็นเส้นตรงมาถึงปัจจุบัน (Hodges, 2008)

Valentine (2012) ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อนึกถึงเวลาแห่งอนาคต นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่มักจะสงสัยถึงสภาวะที่ยึดโยงอยู่กับความทันสมัยและการดำรงอยู่ของทุนนิยม ทำให้หันไปทตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากลัทธิอาณานิคมตะวันตกที่ส่งผลกระทบต่อวิถีวัฒนธรรมของชนพื้นบ้าน สิ่งนี้ทำให้โจทย์เรื่องอนาคตมิได้รับการศึกษาอย่างจริงจังในหมู่นักมานุษยวิทยา (Pels, 2015) วิธีคิดกระแสหลักของมานุษยวิทยาจึงดำรงอยู่กับการแกะรอยประสบการณ์ในอดีตที่มีหลักฐานชัดแจ้ง Hannerz (2003) อธิบายว่าสิ่งสำคัญสำหรับนักมานุษยวิทยาก็คือการเข้าไปมีส่วนกับสาธารณะเพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นภาพเหตุการณ์ระดับโลกที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน และเชิญชวนให้คนทุกกลุ่มร่วมกันถกเถียงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดต่อไปในอนาคต ในขณะที่ Nielsen (2011) และ Appadurai (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าการเขียนเรื่องราวของมนุษย์อาจบ่งบอกให้ทราบว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรและมนุษย์ปัจจุบันกำลังคาดการณ์และตั้งความหวังในสิ่งที่ตนเองจะพบเจอในอนาคตอย่างไร

ศึกษาอนาคตอย่างไร

ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การศึกษาอนาคตและคำถามเกี่ยวกับเวลาเริ่มเข้ามาทับซ้อนกัน (Gell, 1992; Wallman, 1992) ซึ่งเป็นการเน้นย้ำระเบียบวิธีวิจัยทางชาติพันธุ์วรรณาในฐานะเป็นวิธีการทำความเข้าใจโลก โดยเฉพาะการศึกษาประสบการณ์ของคนปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการคาดเดาถึงเวลาในอนาคต ในความคิดของ Wallman (1992) เรื่องของอนาคตคือระบบความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อทำให้การมีชีวิตปัจจุบันไม่สูญเปล่า การตีความสัญลักษณ์และระบบความหมายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ในแง่นี้อาจทำให้เห็นว่าการศึกษาอนาคตด้วยการทำความเข้าใจระบบความหมายต่างๆ ค่อนข้างจะเป็นการย้อนกลับไปหาวิธีคิดแบบ Geertzian ในขณะที่ทิศทางของมานุษยวิทยากำลังมุ่งไปสู่การรื้อถอนวัฒนธรรมที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ “วัฒนธรรม” ในฐานะเป็นคุณลักษณะที่คงที่และมีการสืบทอดถูกนำไปเป็นโจทย์เพื่อที่จะวิเคราะห์มุมมองของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมว่าให้ความหมายเกี่ยวกับอนาคตอย่างไร ภายใต้กระบวนทัศน์วัฒนธรรม สิ่งที่เกี่ยวข้องกับอนาคตจึงถูกตีความด้วยแบบแผนทางวัฒนธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์มีวิธีสร้างเรื่องราวของอนาคตภายใต้กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ตนเองถูกหล่อหลอมขึ้นมา (Appadurai, 2013) อย่างไรก็ตาม การผูกโยงอนาคตเข้ากับแบบแผนทางวัฒนธรรมจึงอาจเป็นการผลิตซ้ำความคิดเรื่องเอกภาพและความคงที่ของวัฒนธรรม

ในขณะที่ข้อกถเถียงเรื่องภววิทยา วัตถุภาวะและผู้กระทำการ เป็นโจทย์ใหญ่ของมานุษยวิทยาในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ข้อถกเถียงนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “อนาคต” คือภววิทยาอีกแบบหนึ่งหรือไม่ (Maurer, 2005) ในขณะที่มีการสงสัยว่าอนาคตคือความไม่แน่นอน เป็นิส่งที่มนุษย์ไม่มีทางเข้าใจได้ การศึกษาอนาคตจึงวางอยู่บนจินตนาการที่ไม่อาจตัดสินได้จากหลักฐานใดๆ รวมทั้งมีข้อสังเกตว่าการศึกษาอนาคตควรจะเป็นการปฏิบัติอย่างมีความหวังเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าเดิมให้ปรากฎ (Adam & Groves, 2007) ในการศึกษาทางภูมิศาสตร์มนุษย์เสนอว่าชีวิตถูกควบคุมด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่คงที่ มนุษย์ได้กระทำต่อภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป (Anderson & Adey, 2012) ในการศึกษาภูมิศาสตร์วัฒนธรรมเสนอว่ามนุษย์คิดถึงอนาคตด้วยการลงมือทำสิ่งต่างๆให้เห็นในปัจจุบัน (Anderson, 2010)นอกจากนั้น ยังมีการเสอนว่าอนาคตมิใช่วัตถุที่จับต้องได้ ฉะนั้นการทำความเข้าใจอนาคตคือการตระหนักถึงกระบวนการและปฏิสัมพันธ์ที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า (Merriman, 2012) อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงว่าการทำความเข้าใจอนาคตจำเป็นต้องมองเห็นความซับซ้อนและความแตกต่างของมนุษย์ซึ่งมีประสบการณ์และศักยภาพที่จะกระทำการต่างๆได้ไม่เท่ากัน สังคมแห่งอนาคตในแต่ละมุมมองอาจมิได้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่เหมือนกัน

การทำงานทางชาติพันธุ์เพื่อบันทึกบริบทเฉพาะของสังคมและวัฒนธรรมยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำความเข้าใจอนาคตที่มนุษย์มองเห็นต่างกัน Rabinow (2008) อธิบายว่าอนาคตคือสภาพของควาไม่แน่นอนต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ (contingent set of possibilities) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นการคาดคะเนเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตโดยอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีการรวบรวมในปัจจุบัน การออกแบบเมืองและสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การศึกษาเทคโนโลยีชีวภาพที่จะช่วยทำให้มนุษย์มีร่างกายที่คงทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ การสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคที่เชื่อมต่อกับอวัยวะของมนุษย์ การสำรวจอวกาศและค้นหาสิ่งมีชีวิตที่อยู่ดาวเคราะห์อื่น เป็นต้น ในการศึกษาของ Valentine et al. (2012) เสนอความคิดเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ในอวกาศของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเงื่อนไขที่อยู่นอกพื้นที่โลกอาจสร้างอนาคตในแบบที่ต่างไปจากประสบการณ์บนโลกมนุษย์

Ferguson (2014) เสนอว่าการแสวงหาอนาคตที่ดีสำหรับมนุษย์ นักมานุษยวิทยาในปัจจุบันจำเป็นต้องชี้ให้เห็นระบอบอำนาจที่กำลังทำให้มนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน สิ่งที่ทำให้นักมานุษยวิทยาแตกต่างไปจากนักวิชาการที่นิยมการพยากรณ์อนาคต เช่นแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจหรือการสร้างประชาธิปไตย ก็คือการที่นักมานุษยวิทยามองเห็นความหลากหลายของอนาคตที่มนุษย์จะเดินไปถึง ซึ่งความเป็นไปได้มิได้มีข้อกำหนดที่ตายตัวหรือมีช่องทางเดียว Wolf-Meyer (2019) ตั้งข้อสังเกตว่าภายใตโลกที่ถูกควบคุมด้วยระบบทุนนิยม มนุษย์ไม่สามารถจินตนาการข้ามพ้นไปจากเงื่อนไขของทุนนิยมได้ ดังนั้น การคาดเดาอนาคตที่ปราศจากกฎเกณฑ์ของทุนนิยมจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย นอกจากนั้น วิธีคิดเรื่องเวลาที่เป็นเส้นตรงที่นำเหตุการณ์ต่างๆมาเรียงต่อกันและมีความสัมพันธ์ต่อกัน กับเวลาที่เป็นการวกกลับมาใหม่ของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว การมองเวลาที่ไม่เหมือนกันนี้ก็อาจทำให้เห็นอนาคตที่ต่างกันได้ Oman-Reagan (2018) กล่าวว่าปัจจุบันเครือข่ายเทคโนโลยีสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญของการแสวงหาผลกำไรภายใต้ระบบทุนนิยมซึ่งผลิตระบอบอำนาจที่กักขังให้มนุษย์อยู่ในความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฉะนั้น หากต้องการหนีไปจากระบอบอำนาจนี้ เราจำเป็นต้องล้มล้างระบอบอำนาจทุนนิยมเพื่อสร้างอนาคตที่ต่างไปจากเดิม ในแง่นี้การคาดคะเนถึงอนาคตจำเป็นต้องนำเอาวิธีคิดแบบกบฎและการต่อต้านขัดขืนเข้ามาประกอบเพื่อที่จะทำให้คนที่ด้อยโอกาสมีอนาคตที่ดีขึ้น


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Adam, B. & C. Groves. (2007). Future Matters: Action, Knowledge, Ethics. Leiden: Brill

Anderson, B. (2010). Preemption, precaution, preparedness: Anticipatory action and future geographies. Progress in Human Geography, 34 (6), 777–98.

Anderson, B. & P. Adey. (2012). ‘Future geographies. Environment and Planning, A 44 (7), 1529– 35.

Appadurai, A. (2013). The Future as Cultural Fact. London and New York: Verso.

Clifford, J. & G. Marcus (Eds). (1986). Writing Culture: The Poetics and Politics of Ethnography. Berkeley, CA: University of California Press.

Collins, S. G. (2008). All Tomorrow’s Cultures: Anthropological Engagements with the Future. Oxford and New York: Berghahn Books.

Dobbert, M.L. (2000). Anticipatory anthropology and world peace: a view from 2050. Future, 32(8), 793-807.

Fabian, J. (1983). Time and the Other: How Anthropology Makes its Object. New York: Columbia University Press.

Ferguson J. (2014). A Rightful Share: Beyond Gift and Market in the Politics of Distribution. Keynote address at The Future with/of Anthropologies, Japanese Society of Cultural Anthropology (JASCA) 50th Anniversary Conference, Tokyo 15–18 May.

Firth, R. (1992). A future for social anthropology? In S. Wallman, (Ed.). Contemporary Futures Perspectives from Social Anthropology. London: Routledge.

Flechtheim, O.K. (1966). History and futurology. Hain.

Gell, A. (1992). The Anthropology of Time: Cultural Constructions of Temporal Maps and Images. Oxford: Berg.

Gidley, J., Bateman, D. & Smith, C. (2004). Futures in Education: Principles, Practice and Potential. Melbourne: Australian Foresight Institute.

Guyer, J. I. (2007). Prophecy and the near future: Thoughts on macroeconomic, evangelical, and punctuated time. American Ethnologist, 34 (3), 409–21.

Hannerz, U. (2003). Macro-scenarios. Anthropology and the debate over contemporary and future worlds. Social Anthropology, 11 (2), 169–87.

Hodges, M. (2008). Rethinking time’s arrow: Bergson, Deleuze and the anthropology of time. Anthropological Theory, 8 (4), 399–429.

Ingold, T., (2000). The Perception of the Environment. London: Routledge.

Maruyama, M. & Harkins, A. M. (1975). Cultures beyond the earth. New York, NY : Vintage Books.

Maurer, B. (2005). Introduction to ethnographic emergences. American Anthropologist, 107 (1), 1–4.

Merriman P. (2012). Human geography without time-space. Transactions of the Institute of British Geographers, 37, 13–2.

Munn, N. D. (1992). The Cultural Anthropology of Time: A Critical Essay. Annual Review of Anthropology, 21, 93–123.

Nielsen, M. (2011). Futures within: Reversible time and house-building in Maputo, Mozambique. Anthropological Theory, 11 (4), 397–423.

Nietzsche, F. (2006). Thus Spoke Zarathustra A Book for All and None. Trans Adrian Del Caro. Cambridge: Cambridge University Press.

Oman-Reagan, M.P. (2018). Speculative Ethnography and First Contact with Possible Futures. Fieldsights, December 18. https://culanth.org/fieldsights/first-contact-with-possible- Futures

Pels, P. (2015). Modern Times: Seven Steps toward in Anthropology of the Future. Current Anthropology, 56 (6), 779–96.

Pink, S. & Salazar, J. F. (2017). Anthropologies and Futures: Setting the Agenda. In J. F. Salazar et al. (Eds.), Anthropologies and Futures: researching emerging and uncertain worlds (pp.3-22). London: Bloomsbury.

Razak, V. M. (2000). Essays in anticipatory anthropology. Futures, 32 (8), 717–28. Riner, R. D. (1987). Doing futures research anthropologically. Futures, 19 (3), 311–28.

Riner, R.D. (1991). Anthropology about the Future: Limits and Potentials. Stover, L. E. (1973). Anthropology and Science Fiction. Current Anthropology, 14(4), 471-474.

Strzelecka, C. (2013). Anticipatory anthropology – anthropological future study. Race Etnograficzne, 41(4), 261–269.

Textor, R. B. (1978). Cultural futures for Thailand: An ethnographic enquiry. Futures, 10 (5), 347–60.

Toffler, A. (1970). Future Shock. New York: Amereon.

Valentine, D. (2012). Exit strategy: Profit, cosmology, and the future of humans in space. Anthropolo


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, อนาคต, เวลา, ความเป็นไปได้