Animality
การแยกมนุษย์ออกจากสัตว์
คำถามสำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ที่นักวิชาการมีต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของมนุษย์ คือ ทำไมโลกจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและเอาเปรียบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ต้องพึ่งพาอาศัยโลกใบนี้ คำถามนี้ทำให้เกิดการทบทวนบทบาท สถานะ และการดำรงอยู่ของมนุษย์ซึ่งถูกยกให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปัญญา (Guillaume, 2013) ในเชิงชีววิทยามนุษย์คือสายพันธุ์ชนิดหนึ่งที่มีพัฒนาการและปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย มีความสามารถในการคิดประดิษฐ์เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้เกิดการสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่ซับซ้อน คุณสมบัตินี้ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ด้วยกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์และระบบเหตุผลของตะวันตก สัตว์ชนิดต่างๆที่อยู่บนโลกจะถูกมองว่าฉลาดน้อยกว่ามนุษย์ ในความคิดของ Descartes สัตว์คือเครื่องจักรที่มีชีวิตด้วยการทำตามสัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอด ปราศจากใช้เหตุผลในการไตร่ตรองและวิเคราะห์สิ่งต่างๆ (Guillaume, 2013) คำว่า animal ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน คือ anima มีความหมายว่า “ลมหายใจของชีวิต” (breath of life) ซึ่งมีนัยยะถึงการมีจิตวิญญาณ ชีวิตทุกชีวิตล้วนมีลมหายใจ
ในวัฒนธรรมตะวันตก สัตว์จะถูกมองเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไร้ความคิด เช่น ในความคิดของอริสโตเติล สัตว์ไม่มีจิตวิญญาณแห่งปัญญา (intellective soul) แต่เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่เติบโตตามสัญชาตญาณและทำสิ่งต่างๆเพื่อให้มีชีวิตรอด การแยกมนุษย์ออกจากสัตว์โดยอาศัยสติปัญญาเป็นตัวกำหนด ส่งผลให้มนุษย์มีอคติต่อสัตว์ ฐานคิดนี้มาจากการแยก “ร่างกาย” กับ “จิตใจ” เป็นคู่ตรงข้าม โดยที่มนุษย์จะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถทางความคิด เป็นสัญลักษณ์ของปัญญา และถูกสถาปนาให้เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ที่เรียกว่า Homo sapiens ขณะที่สัตว์จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแต่ร่างกายที่ปราศจากปัญญา (Morris, 2005) ในแง่นี้สัตว์จึงมีชีวิตอยู่เพื่อกินอยู่หลับนอน เติบโต ร่วงโรยและตายจากไป ส่วนมนุษย์จะมีชีวิตเพื่อคิดและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อให้ตัวเองเจริญก้าวหน้า การแบ่งแยกนี้ทำให้สัตว์เป็นเพียงสิ่งไร้ค่า และทำให้มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ ในกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ “สัตว์” จะถูกมองเป็นสายพันธุ์ที่ถูกจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบในอนุกรมวิธาน Heidegger (1995) เคยอธิบายว่าสัตว์มีชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณที่หากินอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้การมีชีวิตไม่ต้องตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนอยู่บนโลกเหมือนมนุษย์ Heidegger เชื่อในทำนองเดียวกับอริสโตเติลว่ามนุษย์ดำรงอยู่ในโลกด้วยการใช้ความคิดและการใช้ภาษาซึ่งเป็นการแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ (Steeves, 1999)
นอกจากนั้น อิทธิพลความรู้จิตวิทยาแบบตะวันตก ส่งผลให้การอธิบาย “สัตว์” ถูกครอบงำด้วยความคิดเรื่องปัจเจกบุคคล กล่าวคือ สัตว์จะถูกแยกออกจากกลุ่มของมันเพื่อที่จะให้มนุษย์ศึกษาในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเอกเทศ เช่น การเฝ้าสังเกตดูพฤติกรรมการกินอยู่หลับนอน การหาอาหาร การผสมพันธุ์ การคลอดลูก การเจ็บป่วย เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้คือแบบจำลองที่นักจิตวิทยานำความคิดเรื่อง “ความเป็นปัจเจกบุคคล” มาตีความลักษณะและพฤติกรรมของสัตว์ (animal individuality) (Buss, 1987) ในการศึกษาทางพันธุกรรมและวิวัฒนาการของเซลล์ของสิ่งมีชีวิตโต้แย้งว่าคุณลักษณะทางสายพันธุ์ถูกกำหนดจากยีนส์และโครโมโซมที่มีวิวัฒนาการจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตายตัวทางพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตจึงไม่มีจริง เนื่องจากสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นจากการผสมทางพันธุกรรมที่สืบทอดและส่งต่อมาจากพ่อแม่และบรรพบุรุษ สิ่งมีชีวิตจึงมีร่องรอยทางพันธุกรรมที่เกิดจากผู้ให้กำเนิด (Russon, 2003) ในแง่นี้ บ่งบอกให้เข้าใจว่าลักษณะทางกายภาพของสัตว์มีส่วนผสมของยีนส์จากสิ่งมีชีวิตที่ให้กำเนิดมา และเมื่อมันถือกำเนิดขึ้นและมีชีวิตรอด มันจะมีร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย ร่างกายของสิ่งมีชีวิตจึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่นอนว่าร่างที่เกิดขึ้นจะคงสภาพเหมือนเดิม ร่างกายของสัตว์แต่ละตัวจึงไม่มีความเสถียรทางสรีระซึ่งทำให้ความเป็นอัตลักษณ์ไม่คงที่ถาวร Buss (1987) กล่าวว่าการเปรียบเทียบสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีกลไกทางร่างกายและระบบชีววิทยาเหมือนมนุษย์ เป็นการเปรียบเทียบที่ใช้แบบแผนของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้สัตว์ชนิดอื่นถูกให้ความหมายผ่านวิธีคิดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสืบพันธุ์และการสร้างสังคม ส่งผลให้สัตว์มีวงจรชีวิตเหมือนมนุษย์และถูกจัดวางให้อยู่ในลำดับชั้นทางสติปัญญาที่ต่ำกว่ามนุษย์
de Waal (2001, 2003) ตั้งข้อสังเกตว่าในสังคมตะวันตก การศึกษาไพรเมทและสิ่งมีชีวิตที่มียีนส์ใกล้เคียงกับมนุษย์ จะให้ความสนใจลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในร่างกายของไพรเมท และมักหาข้อสรุปร่วมกันว่าไพรเมทชนิดต่างๆล้วนมีสังคมและพฤติกรรมที่เหมือนกัน ในขณะที่แนวทางการศึกษาของนักวิชาการญี่ปุ่นจะสนใจศึกษาไพรเมทในเชิงกลุ่มเพื่อทำความเข้าใจการอยู่ร่วมกันเป็นฝูง รวมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าการนำเอาไพรเมทมาอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับมนุษย์และอธิบายชีวิตของไพรเมทด้วยบรรทัดฐานของความเป็นมนุษย์ อาจทำให้ไพรเมทเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่มีพัฒนาทางสังคมและความคิดต่ำกว่ามนุษย์ตลอดเวลา ในทางกลับกัน ไพรเมทย่อมจะมีชีวิตในแบบที่ต่างไปจากมนุษย์โดยไม่จำเป็นต้องนำเอาแบบแผนของมนุษย์ไปเปรียบเทียบแต่อย่างใด
วิถีของสัตว์
Shanker & King (2002) ศึกษาภาษาและการสื่อสารของเอป เช่น กอริลล่าและชิมแพนซี พบว่าภาษาที่ใช้สื่อสารเกิดขึ้นคล้ายเป็นท่วงทำนองดนตรีที่เอปมีไว้สำหรับตอบโต้กัน การสื่อสารลักษณะนี้ต่างไปจากวิธีการพูดของมนุษย์ซึ่งมีไว้สำหรับสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในการศึกษาของ Johnson (2001) อธิบายว่าระบบความคิดของไพรเมทมีลักษณะเป็นการกระจายตัวมากกว่าจะเป็นการหยั่งรู้ภายในหรือเป็นกลไกที่ดำรงอยู่ในสมอง การคิดของไพรเมทเป็นวิธีติดต่อเชื่อมโยงถึงเพื่อนในกลุ่มเพื่อทำให้รู้ว่าไพรเมทแต่ละตัวต้องตอบสนองการมีอยู่ของตัวอื่น การคิดและการสื่อสารของสัตว์จึงเป็นพฤติกรรมรวมหมู่ ซึ่งทำให้เห็นการสอดประสานและการเกี่ยวโยงกัน สัตว์แต่ละตัวจึงมิได้แยกอยู่เป็นเอกเทศ มิได้แสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเองหรือเอาตัวเองเป็นแกนกลาง สิ่งเหล่านี้คือวิถีของ “การมีชีวิตอยู่เป็นกลุ่ม” (group life) สัตว์ทุกตัวในกลุ่มจึงดำรงอยู่ในฐานะเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน ดังที่ Morris (2005) เรียกว่า “ตัวอื่นเป็นเครื่องมือสำหรับการมีชีวิต” (tooling up others) สิ่งนี้ต่างไปจากวิถีของการเป็นมนุษย์ ซึ่งคนแต่ละคนไม่คิดว่าคนอื่นจะเป็นส่วนที่ส่งเสริมการมีชีวิต ในทางตรงกันข้าม มนุษย์จะแสวงหาวิธีสร้างอุปกรณ์และเครื่องมืออำนวยความสะดวกมาใช้ในการดำรงชีพ และอาศัยอุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อสิ่งที่ช่วยเหลือให้ตัวเองมีชีวิตที่สะดวกสบาย วิธีคิดของมนุษย์จึงเน้นความสำคัญของปัจเจกและแสวงหาวัตถุมาช่วยค้ำจุนให้ปัจเจกดำรงอยู่ได้ (tool-centric and lone-body prejudice)
Morris (2005) อธิบายว่าวิถีของสัตว์เป็นวิถีของการอยู่เพื่อคนอื่นๆ โดยเห็นการมีอยู่ของคนอื่นในฐานะเป็นเครื่องมือค้ำจุนให้ชีวิตของกลุ่มดำเนินต่อไปได้ ในขณะที่วิถีของมนุษย์เป็นการทำให้ตัวเองแยกขาดจากคนอื่น และหันมาใช้วัตถุสิ่งของเป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการมีชีวิตของตัวเอง ความแตกต่างนี้นำไปสู่การทบทวนชีวิตของสัตว์ในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการคิดใหม่ว่าสัตว์มิใช่สิ่งมีชีวิตที่ไร้ปัญญา หากแต่สัตว์มีวิธีสร้างปัญญาด้วยรูปแบบที่ต่างไปจากมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์ประเมินทักษะทางปัญญาด้วยการทำงานของสมองที่คนแต่ละคนมีไม่เท่ากัน และพยายามผลักดันให้คนๆนั้นเดินไปสู่เส้นชัยของสติปัญญา (Dennett, 1991) แต่สัตว์แสดงออกทางปัญญาและความคิดด้วยการสร้างความเชื่อมโยงและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของกลุ่ม Varela (1999) กล่าวว่าความสามารถทางการคิดมิได้มีจุดสุดท้าย เพราะสมองของสิ่งมีชีวิตมิใช่อุปกรณ์ทางเครื่องจักร จากการศึกษาของนักประสาทวิทยาพบว่าสมองสามารถสร้างเซลล์ เชื่อมประสานเซลล์และเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตัวเองได้ (Goldberg, 2001; Holloway, 2003)
การดำรงอยู่ของมนุษย์และสัตว์
Merleau-Ponty (1965) ตั้งข้อสังเกตว่าโลกของมนุษย์และโลกของสัตว์ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ เนื่องจากทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีพเหมือนกัน อาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่มีบนโลกแบบเดียวกัน มนุษย์กับสัตว์จึงดำรงอยู่ในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพากันภายใต้ภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา Morris (2005) ตั้งข้อสังเกตว่าความสามารถในการคิดคือสิ่งที่มีอยู่ในสัตว์ สติปัญญามิใช่สิ่งที่ทำให้มนุษย์สูญสิ้นความเป็นสัตว์แต่อย่างใด กลไกทางสมองคือส่วนที่ธรรมชาติสร้างมา ดังนั้น มนุษย์เพียงแต่ใช้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ชีวิตอยู่ในโลกเท่านั้น Prieur (1986) กล่าวว่าสัตว์มีจิตวิญญาณเช่นเดียวกับมนุษย์ เห็นได้จากปฏิกิริยาที่สัตว์มีต่อสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการตื่นกลัว การหลีกหนีภัยอันตราย การมีคู่ การเลี้ยงลูก การอยู่เป็นสังคม เป็นต้น เมื่อสัตว์ทุกชนิดล้วนมีความสามารถที่จะคิดได้ สิ่งที่น่าค้นหาต่อไปก็คือ ทำไมวิธีคิดแบบมนุษย์จึงมีความแตกต่างไปจากวิธีคิดของสัตว์ การศึกษาเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับกลไกการทำงานของอวัยวะของสัตว์ชนิดต่างๆ ทำให้พบว่าสัตว์แต่ละชนิดล้วนมีพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสรีระร่างกายที่ธรรมชาติสร้างมาให้ต่างกัน เช่น รูปทรงและขนาดของขามีผลต่อวิธีการเดินและการเคลื่อนไหว สีตาที่ต่างกันมีผลต่อการมองเห็นภาพที่ต่างกัน เป็นต้น (Thompson, 1995; Thompson, Palacios, & Varela, 1992) ในแง่นี้ พฤติกรรมของสัตว์และมนุษย์จึงดำรงอยู่ในพรมแดนเดียวกัน เพียงแต่มีเงื่อนไขและวิธีการที่ต่างกัน
Russon (1997) อธิบายความคิดในสังคมตะวันตก มองอวัยวะต่างๆในร่างกายของสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่มีความตึงเครียด ที่เจ้าของร่างกายจำเป็นต้องควบคุมดูแลเพื่อให้อวัยวะต่างๆทำงานได้อย่างปกติ วิธีคิดนี้นำไปสู่การเน้นปัจเจกบุคคลให้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากร่างกายของคนอื่น ในทางกลับกัน หากมองร่างกายเป็นส่วนเสริมเพื่อให้ชีวิตของคนอื่นดำรงอยู่ร่วมกันได้ ร่างกายจะมิใช่สมบัติส่วนบุคคล หากแต่เป็นสมบัติของส่วนรวมและเกี่ยวโยงกับสภาพแวดล้อมที่ร่างกายต้องพึ่งพาอาศัย Morris (2005) กล่าวว่าวิธีคิดเกี่ยวกับร่างกายของสิ่งมีชีวิตในสังคมตะวันตก ได้จัดวาง “ร่างกาย” ในฐานะเป็นกลไกทางชีววิทยาที่ทำให้ปัจเจกมีชีวิตอยู่ได้ แต่การนำวิถีของสัตว์มาเป็นบทเรียนการมีชีวิต อาจทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ว่า “ร่างกาย” คือส่วนที่สร้างสัมผัสถึงการเชื่อมโยงโลกที่ดำรงอยู่ (making sense of the world) นอกจากนั้น ยังเสนอว่าอวัยวะของมนุษย์ เสมือนสัตว์ที่ดำรงอยู่ในร่างกายซึ่งล้วนมีการเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกัน
มานุษยวิทยากับวิธีศึกษาสัตว์
การศึกษาของ Madden(2014) ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อนักมานุษยวิทยาพยายามนำระเบียบวิธีทางชาติพันธุ์วรรณนาไปศึกษาชีวิตของสัตว์ (Anthrozoology) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วิธีการดังกล่าวอาจไม่สามารถนำมาใช้ศึกษาสัตว์ได้อย่างตรงไปตรงมา ปัญหาคือ สัตว์มิได้มีแบบแผนชีวิตเหมือนมนุษย์ การเข้าถึงและทำความเข้าใจชีวิตสัตว์จึงไม่อาจใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่นักมานุษยวิทยาคุ้นเคย Arluke and Sanders (1996) ตั้งข้อสังเกตว่าหากมองสัตว์ในฐานะเป็น “ผู้กระทำการทางสังคม” และมิใช่เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไร้ศักยภาพในการรับรู้เกี่ยวกับโลก ฉะนั้น การศึกษาสัตว์ก็จำเป็นต้องมีวิธีการที่ต่างออกไป คำอธิบายของ Haraway (2008) ระบุว่าในความสัมพันธ์ทางสังคมที่มนุษย์มีกับสัตว์ สัตว์คือผู้ร่วมกระทำการ ร่วมสร้าง และร่วมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัขและแมว ต่างชี้ว่าสัตว์เหล่านี้ล้วนมีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์และทำให้มนุษย์ปฏิบัติต่อสุนัขและแมวในฐานะเป็น “บุคคล” (Alger and Alger, 1999ม 2003; Sanders, 1999) ความพยายามที่จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในมิติของการสร้างตัวตนข้ามสายพันธุ์ (interspecies intersubjectivity) เริ่มมีข้อถกเถียงในวงวิชาการอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 1990 (Arluke and Sanders, 1993) ข้อถกเถียงนี้นำไปสู่การทบทวนวิธีวิทยาและแนวทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาว่ามีข้อจำกัดมากน้อยเพียงใด เนื่องจากวิธีวิทยาที่ใช้ศึกษาสัตว์อาจต่างไปจากวิธีศึกษาชีวิตของมนุษย์ รวมถึงวิธีวิทยาทางสังคมศาสตร์ที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นภายใต้กระบวนทัศน์แบบเหตุผลนิยมในยุคสมัยใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับมนุษย์เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น
ในแวดวงมานุษยวิทยาของสัตว์ นักมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจ “สัตว์” ด้วยวิธีคิดการมีตัวตนและการเป็นบุคคล เช่น ใช้คำว่า “ความเป็นมนุษย์ของสัตว์” (human animals) ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายคือเรื่องจิตสำนึกและการรับรู้ในตัวตนซึ่งมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หากแต่เป็นปฏิสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตมีต่อสิ่งอื่นและทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ว่าตนเองคือใคร ส่งผลให้ “ตัวตน” มีลักษณะที่ไม่คงที่และคาดเดาได้ยาก (Jackson, 1998) การทำความเข้าใจตัวตนของสัตว์ภายใต้ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จึงเกิดขึ้นบนวิถีของการสร้าง การรื้อ และการเปลี่ยนแปลง ในแง่นี้ ตัวตนของสัตว์จึงถูกรื้อทิ้งและสร้างใหม่เสมอผ่านวิธีปฏิบัติที่สัตว์มีต่อมนุษย์และมนุษย์มีต่อสัตว์ (Irvine, 2007; Taylor, 2007) ในปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสัตว์จึงมีความซับซ้อน ยุ่งเหยิง และไร้เสถียรภาพ ดังนั้น การศึกษาชีวิตของสัตว์จึงต้องทบทวนและระมัดระวังเรื่องขอบเขตของการมีตัวตนที่ชัดเจนและการแบ่งแยกสัตว์ออกจากมนุษย์แบบคู่ตรงข้าม การศึกษาสัตว์ควรจะมองเห็นความเกี่ยวโยง การทับซ้อนและการตอบโต้ไปมาระหว่างสัตว์กับมนุษย์ (Crist, 1999)
Kosek (2010) กล่าวว่าการศึกษาชีวิตสัตว์ไม่ควรมองสัตว์ในฐานะเป็น “บุคคล” หรือมีตัวตนที่ชัดเจนภายใต้ปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ที่มนุษย์ใช้ประสบการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมไปครอบงำ หากแต่ควรเป็นการทำความเข้าใจสภาวะที่ไม่แน่นอนของสัตว์ที่สามารถสร้างและรื้อทำลายการมีตัวตน วิธีวิทยาที่นำไปใช้ศึกษาสัตว์จึงมิใช่แบบแผนเดียวกับที่นักมานุษยวิทยาใช้ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นในการศึกษาสัตว์คือทำความเข้าใจวิธีที่สัตว์กระทำและสื่อสารกับมนุษย์ (Ingold, 1998) ปัญหาของการสร้างความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ ยังเกิดขึ้นกับวิธีการที่มนุษย์พยายามอธิบายสัตว์ในแบบที่มนุษย์คุ้นชิน นั่นคือการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์และวิเคราะห์ด้วยแนวคิดทางสังคมที่เหมือนกับมนุษย์ (Fuentes, 2010) อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อการศึกษาสัตว์ก็คือ การเชื่อมโยงชีวิตต่างสายพันธุ์ล้วนดำเนินไปด้วยความไม่แน่นอน ความรู้สึกที่ได้สัมผัสใกล้ชิดและเข้าถึงปฏิบัติการของสัตว์ อาจทำให้เห็นผลกระทบในช่วงเวลาที่มนุษย์และสัตว์พยายามเข้าใจกันและกัน (Shapiro, 2008)
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Alger, J. & Alger, S. (1999). Cat culture, human culture: An ethnographic study of a cat shelter. Society & Animals, 7(3), 199–218.
Alger, J. & Alger, S. (2003). Cat Culture: The Social World of a Cat Shelter. Philadelphia: Temple University Press.
Arluke, A. & Sanders, C. (1993). If lions could speak: Investigating the animal–human relationship and the perspectives of nonhuman others. Sociological Quarterly, 34(3), 337–390.
Arluke, A. & Sanders, C. (1996). Regarding Animals. Philadelphia: Temple University Press.
Buss, L. W. (1987). The Evolution of Individuality. Princeton: Princeton University Press.
Crist, E. (1999). Images of Animals: Anthropomorphism and Animal Mind. Philadelphia: Temple University Press.
Dennett, D. (1991). Consciousness Explained. Boston: Back Bay Books/Little, Brown and Company.
de Waal, F. (2001). The Ape and the Sushi Master: Cultural Reflections of a Primatologist. New York: Basic Books.
de Waal, F. (2003). Silent Invasion: Imanishi's primatology and cultural bias in science. Animal Cognition. 6, 293-299.
Fuentes, A. (2010). Naturalcultural encounters in Bali: Monkeys, temples, tourists, and ethnoprimatology. Cultural Anthropology, 25(4), 600–624.
Full, R. J., & Farley, C. T. (2000). Musculoskeletal dynamics in rhythmic systems: A comparative approach to legged locomotion. In: J. M. Winters and P. E. Crago (Eds), Biomechanics and Neural Control of Posture and Movement, (pp. 192-205). Berlin: Springer Verlag.
Goldberg, E. (2001). The Executive Brain: Frontal Lobes and the Civilized Mind. Oxford: Oxford University Press.
Guillaume, A. (2013). Humanity and Animality A Transdisciplinary Approach. HSS, 2(3), 13-32.
Haraway, D. (2008). When Species Meet. Minneapolis: University of Minnesota Press.
Holloway, M. (2003). The mutable brain. Scientific American, 288, 79-85.
Heidegger, M. (1995). The Fundamental Concepts of Metaphysics: World, Finitude, Solitude. Translated by W. McNeill and N. Walker. Bloomington: Indiana University Press.
Ingold, T. (1998). The animal in the study of humanity. In T. Ingold. (Ed.), What is an Animal? (pp.84–99). London: Routledge.
Irvine, L. (2007). The question of animal selves: Implications for sociological knowledge and practice. Qualitative Sociological Review, 3(1), 5–22.
Jackson, M. (1998). Minima Ethnographica: Intersubjectivity and the Anthropological Project. Chicago: The University of Chicago Press.
Johnson, C. M. (2001). Distributed primate cognition: A review. Animal Cognition, 4,167-183.
Kosek, J. (2010). Ecologies of Empire: On the new uses of the honeybee. Cultural Anthropology, 25(4), 650–678.
Madden, R. (2014). Animals and the Limits of Ethnography. Anthrozoos, 27(2), 279–293.
Merleau-Ponty, M. (1965). The Structure of Behaviour. Translated by A. L. Fisher. London: Methuen.
Morris, D. (2005). Animals and Humans, Thinking and Nature. Phenomenology and the Cognitive Sciences, 4(1), 49-72.
Prieur, J. (1986). L'âme des animaux. Paris: Robert Laffont,
Russon, J. (1997). The Self and its Body in Hegel's Phenomenology of Spirit. Toronto: University of Toronto Press.
Russon, J. (2003). Human Experience: Philosophy, Neurosis, and the Elements of Everyday Life. Albany: State University of New York Press.
Sanders, C. (1999). Understanding Dogs: Living and Working with Canine Companions. Philadelphia: Temple University Press.
Shanker, S. G., & King, B. J. (2002). The emergence of a new paradigm in ape language research. Behavioral and Brain Sciences, 25, 605-656.
Shapiro, K. (2008). Human Animal Studies: Growing the Field, Applying the Field. Ann Arbor: Animals and Society Institute.
Steeves, H.P. (Ed.). (1999). Animal Others: On Ethics, Ontology and Animal Life. Albany: SUNY Press.
Taylor, N. (2007). “Never an It”: Intersubjectivity and the creation of animals personhood in animal shelters. Qualitative Sociological Review, 3(1), 59–73.
Thompson, E. (1995). Colour Vision: A Study in Cognitive Science and the Philosophy of Perception. London: Routledge.
Thompson, E., Palacios, A., and Varela, F. J. (1992). Ways of coloring: Comparative color vision as a case study for cognitive science. Behavioral and Brain Sciences ,15, 1-74.
Varela, F. J. (1999). The specious present: A neurophenomenology of time consciousness. In J. Petitot, F. J. Varela, B. Pachoud and J.-M. Roy (Eds), Naturalizing Phenomenology: Issues in Contemporary Phenomenology and Cognitive Science, (pp. 266-314). Stanford: Stanford University Press.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, สัตว์, สิ่งมีชีวิต, สายพันธุ์