Erotic Anthropology
ความเป็นมาในการศึกษาเพศและกามารมณ์
ในการทำความเข้าใจของนักวิชาการเกี่ยวกับความรู้สึก ความปรารถนาทางเพศ เพศสัมพันธ์และกามารมณ์ของมนุษย์ มักจะเน้นการอธิบายในมิติของความสัมพันธ์ชายหญิง บทบาทของเพศภาวะและเพศวิถีทางสังคม การแสดงออกเกี่ยวกับอำนาจ อัตลักษณ์ ความเชื่อ และการแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ (Spronk, 2014) ในแวดวงเพศภาวะและเพศวิถีศึกษา สตรีศึกษา เกย์และเลสเบี้ยนศึกษา การวิเคราะห์เซ็กส์ของมนุษย์มีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นระบอบอำนาจที่ควบคุมและสร้างบรรทัดฐานให้มนุษย์จัดหมวดหมู่อารมณ์และพฤติกรรมทางเพศตามความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การเปิดเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำและมายาคติที่มีต่ออารมณ์ทางเพศของคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และผู้ที่อยู่นอกบรรทัดฐานชายเป็นใหญ่ การศึกษาที่พยายามอธิบายผัสสะทางร่างกายและอารมณ์ของเซ็กส์ยังมีอยู่จำกัด (Tuzin, 1995)
การศึกษาของ Malinowski (1982 [1929]) เรื่อง The sexual life of savages in north-western Melanesia และการศึกษาของ Mead (1950) เรื่อง Sex and temperament in three primitive societies คืองานบุกเบิกในการอธิบายประสบการณ์ทางเพศของมนุษย์ โดยวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ที่บ่งชี้ถือความสัมพันธ์ของชายหญิงผ่านพิธีแต่งงาน การทำหน้าที่ในครัวเรือนและระบบเครือญาติ การศึกษาของ Benedict (1934) ที่นำทฤษฎีของฟรอยด์มาอธิบายพฤติกรรมทางเพศภายใต้พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ รวมถึงการศึกษาของ Evans-Pritchard (1972) ในประเด็นความสัมพันธ์เชิงกามารมณ์ของคนเพศเดียวกันในชนเผ่า Azande ในแอฟริกา ต่อมาในทศวรรษ 1970 ความสนใจของนักมานุษยวิทยาในประเด็นเพศมาพร้อมกับข้อถกเถียงของนักวิชาการด้านสตรีศึกษาและเกย์เลสเบี้ยนศึกษา รวมทั้งข้อโต้แย้งของ Michel Foucault (1976) ที่วิพากษ์ระบอบอำนาจความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่สร้างวาทกรรมเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชายหญิงและเพศนอกบรรทัดฐาน งานศึกษานี้มีอิทธิพลต่อการวิเคราะห์ความรู้สึกและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมตะวันตก ประกอบการการเกิดขึ้นของขบวนการเรียกร้องสิทธิของเกย์เลสเบี้ยน ส่งผลให้วงวิชาการตื่นตัวในการศึกษาเซ็กส์ กามรมณ์ เพสภาวะและเพศวิถีภายใต้สังคมสมัยใหม่
ข้อถกเถียงที่ปรากฏอยู่ในวงวิชาการด้านเพศภาวะและเพศวิถีในช่วงทศวรรษ 1970 คือการโต้แย้งคำอธิบายเพศที่ถูกครอบงำด้วยกระบวนทัศน์สารัตถะนิยม (essentialism) ซึ่งเป็นการยึดเอาข้อกำหนดทางชีววิทยาและพันธุกรรมมาตัดสินความจริงเกี่ยวกับเพศภาวะและเพศวิถี (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2563; Vance, 1991) รวมทั้งข้อโต้แย้งจากนักวิชาการเฟมินิสต์ที่ชี้ว่าผู้หญิงถูกกดทับภายใต้โครงสร้างและบรรทัดฐานของชายเป็นใหญ่ ส่งผลให้ผู้หญิงขาดสิทธิทางสังคมและไม่มีโอกาสเลื่อนฐานะตัวเอง ในขณะที่นักมานุษยวิทยา เช่น Ortner (1974) และ Rubin (1975) เสนอว่าในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ทางเพศจะต้องแยกเรื่องเพศภาวะออกจากเรื่องเพศวิถี นอกจากนั้น การศึกษาของ Katz (1976) และ Weeks (1977) เสนอการทำความเข้าใจแบบแผนวัฒนธรรมของชายรักชายที่ปรากฎขึ้นในสังคมตะวันตก เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของพฤติกรรมและอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางสังคมที่ต่างกัน การศึกษาเหล่านี้มีเป้าหมายร่วมกันคือการวิพากษ์การเมืองของเพศภาวะและเพศวิถีที่ทำให้เกิดการจัดลำดับชั้นของมนุษย์ไม่เท่ากัน และปัญหาจากการกีดกันผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานทางสังคม
ในช่วงทศวรรษ 1980 ประเด็นการศึกษาเรื่องเพศถูกครอบงำด้วยความรู้ทางการแพทย์ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมตะวันตกกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ กลุ่มชายรักชายจะถูกตีตราและถูกเหยียดหยามในฐานะเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรม “ส่ำส่อนทางเพศ” ยิ่งเป็นการตอกย้ำมายาคติเรื่องความผิดปกติทางจิตและการทำผิดคำสอนของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาออกมาโต้แย้งว่าการศึกษาทางการแพทย์ไม่สามารถทำความเข้าใจมิติความสัมพันธ์ทางเพศของคนรักเพศเดียวกันในช่วงที่พบการระบาดของเชื้อเอชไอวี (Parker & Aggleton, 1999) ในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อโรคเอดส์กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ อิทธิพลความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขเข้าไปมีอิทธิพลต่อการศึกษาพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ นำไปสู่คำอธิบายเกี่ยวกับการเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการตีตรากลุ่มคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันให้เป็นผู้ที่น่ารังเกียจ และเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมเสียทางศีลธรรม รวมถึงปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ การทำแท้งของผู้หญิง การล่อลวงผู้หญิงไปสู่การค้าประเวณี ซึ่งสังคมมักจะประณามว่าเป็นการกระทำที่ชั่วร้ายและไร้มนุษยธรรม ในประเด็นนี้ Vance (1991) กล่าวว่าการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ทางเพศและพฤติกรรมเซ็กส์ของมนุษย์ภายใต้กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ นำไปสู่การเหมารวมและมองข้ามบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ซับซ้อน ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจึงเสนอให้ศึกษาเปรียบเทียบการแสดงออกทางเพศในสังคมต่างๆ (Manderson et al., 1999; Morris, 1995; Weston, 1993)
ในการศึกษาของ Hastings and Magowan (2010) อธิบายให้เห็นปรากฎการณ์เกี่ยวกับเซ็กส์ ความปรารถนาทางเพศ รูปแบบความสัมพันธ์ การสร้างตัวตน และการแสวงหาความสำราญทางเพศในรูปแบบใหม่ๆในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เช่น การเรียกร้องของผู้ค้าบริการทางเพศที่ต้องการให้รัฐรับรองเป็นอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อุตสาหกรรมความงามและศัลยกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสรีระทางเพศ การใช้สื่อออนไลน์เพื่อติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนเซ็กส์ของคนกลุ่มต่างๆ การท่องเที่ยวเชิงเซ็กส์ การเสพสื่อโป๊เปลือย หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต้องการเสรีภาพในการเปลือยกายในที่สาธารณะ เป็นต้น ปรากฎการณ์ทางเพศเหล่านี้ชี้ให้เห็นกระบวนการทำให้เพศสรีระ เรือนร่าง และอารมณ์ทางเพศกลายเป็นวัตถุที่สั่นคลอนบรรทัดฐานทางศีลธรรม รวมทั้งการมาบรรจบกันของพื้นที่ร่างกาย ความรู้สึก และกฎระเบียบทางสังคมที่เกิดขึ้นในปฏิบัติการของมนุษย์ที่ส่งผลในเชิงบวกและลบ นอกจากนั้น ยังมีการถกเถียงด้วยแนวคิดใหม่ เช่น transactional sex, sexual capital และ sexual economies ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมเซ็กส์ยังเป็นพื้นที่ของทุนและการประกอบการทางธุรกิจ (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2560; Arnfred, 2007; Cole, 2003)
ประสบการณ์และผัสสะของเรือนร่าง
จากข้อถกเถียงของ Foucault (1979) ทำให้เกิดการตรวจสอบสิ่งที่เป็นตัวตนทางเพศของมนุษย์ ซึ่งมิใช่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากแต่ปรากฏขึ้นในเครือข่ายความรู้และระบอบอำนาจที่ชี้นำโดยนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในสังคมตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งร่างกายของมนุษย์กลายเป็นพื้นที่สำหรับการสถาปนาความจริงเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึกและตัวตนทางเพศ (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2558) Rubin (1984) กล่าวว่าข้อวิจารณ์ของ Foucault (1979) สร้างประโยชน์ต่อวงวิชาการด้านเพศภาวะและเพศวิถึ เนื่องจากทำให้มีการตรวจสอบมายาคติและวาทกรรมที่ใช้สร้างความรู้เกี่ยวกับอารมณ์และวิธีปฏิบัติทางเพศของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ช่องว่างความเข้าใจที่ยังไม่มีการอธิบายอย่างชัดเจนคือ การกระทำทางเพศที่มนุษย์มีต่อบุคคล วัตถุสิ่งของ และจินตนาการ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ขาดการวิเคราะห์ (Parker, 2009) การศึกษาเพศกระแสหลักในปัจจุบันจึงยังคงสนใจพรมแดนความรู้ การผลิตวาทกรรม และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่คนกลุ่มต่างๆ ช่วงชิงการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศและแสวงหาเสรีภาพในการแสดงความรู้สึกทางเพศ (Knauft, 1994)
ในแวดวงมานุษยวิทยา การศึกษาเพศวิถีส่วนใหญ่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการทับซ้อนของเศรษฐกิจ การเมือง และความเชื่อในระบบทุนนิยมที่สร้าง ผลิตซ้ำ และท้าทายอัตลักษณ์ทางเพศแบบต่างๆ (Boellstorff, 2007) แต่แนวคิดเพศวิถีภายใต้การวิเคราะห์ระบอบอำนาจอาจไม่สามารถทำความเข้าใจสิ่งที่มนุษย์ปฏิบัติในกิจกรรมทางเพศ เพราะวาทกรรมอาจเป็นเพียงประสบการณ์ของกฎระเบียบที่สังคมกำหนดขึ้น แต่มิใช่สิ่งที่พบในอารมณ์ความรู้สึกที่มนุษย์แสดงออกในยามที่มีเซ็กส์ (Allen, 2012) ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าสิ่งที่มนุษย์ใช้สร้างอัตลักษณ์กับวิธีปฏิบัติในเรื่องเพศอาจไม่สอดคล้องกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติและการกระทำทางร่างกาย การแสดงอารมณ์ ความปรารถนา ความพึงพอใจในการแสวงหาความสุขและความรื่นรมย์ทางเพศ อาจใช้แนวคิดเพศภาวะและเพศวิถีแบบโดดๆ ไม่ได้ ในการศึกษาของ Dean (2009) และ Wekker (2006) พยายามค้นหาความเกี่ยวโยงกันของเรือนร่างและอารมณ์ความรู้สึกทางเพศที่ทำให้เกิดการกระทำบางอย่างระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งของ ในขณะที่ Valentine (2007) เสนอว่าการทำความเข้าใจอารมณ์และความต้องการทางเพศ อาจต้องแสวงหาวิธีวิทยาและวิธีศึกษาใหม่ๆที่สามารถมองเห็นผัสสะและความรู้สึกที่ปรากฎอยู่ในกิจกรรมทางเพศ เนื่องจากประสบการณ์ทางร่างกายขณะมีอารมณ์ทางเพศย่อมจะถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือไม่ได้อย่างตรงไปตรงมา
จากข้อวิจารณ์ที่ว่าร่างกายคือพื้นที่เชิงการเมืองและเป็นที่รองรับระบอบอำนาจความรู้ที่สังคมใช้ควบคุมมนุษย์ สิ่งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทบทวนว่า “ร่างกาย” ยังเป็นรอยต่อของพรมแดนผัสสะและอารมณ์ที่ซับซ้อน ในช่วงที่นักมานุษยวิทยาเริ่มสนใจประสบการณ์ทางอารมณ์ การวิเคราะห์ผัสสะแห่งเรือนร่างที่สัมพันธ์กับอารมณ์อาจช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับเพศวิถีของมนุษย์ออกไปจากเรื่องวาทกรรมและระบอบอำนาจ (Howes, 2003) ในการศึกษาของ Porcello et al. (2010) และ Csordas (1990) กล่าวว่าการศึกษาผัสสะและความสัมพันธ์ทางความรู้สึกคือเบ้าหลอมของชีวิตทางสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นบนเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์คือเรื่องราวประสบการณ์ทางสังคมที่มีความสำคัญพอๆกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการใช้สติปัญญาและความคิด ผัสสะของเรือนร่างจึงเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างตัวตนและสำนึกของการดำรงอยู่ในโลก Spronk (2014) อธิบายว่าร่างกายเปรียบเสมือนผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยทางวัฒนธรรม และเป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่มนุษย์เติบโตและอาศัยอยู่ รวมทั้งยังทำให้อารมณ์และความรู้สึกทางเพศปรากฏเป็นรูปร่างและมีความหมายต่อการปฏิบัติ ในขณะที่ Brown and Tucker (2010) กล่าวว่าความสัมพันธ์ทางอารมณ์ต้องพึ่งพาอาศัยเรือนร่างและการมองดูด้วยสายตา ซึ่งจะทำให้เกิดการตอบโต้ไปมาระหว่างผู้กระทำการ กระบวนการเหล่านี้คือพรมแดนของความรู้ที่ทับซ้อนกันระหว่างผัสสะ อารมณ์ ร่างกาย กฎระเบียบทางสังคม และปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มี
การศึกษาเซ็กส์และกิจกรรมทางเพศ
ตัวอย่างการศึกษาของ Spronk (2014) เกี่ยวกับชีวิตคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางในกรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า ชี้ว่าความรักและความสัมพันธ์ทางเพศเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ประเด็นที่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันระหว่างชาวเคนย่าและ Spronk จะเกี่ยวข้องกับชีวิตครอบครัว อาชีพการงาน ความเชื่อทางศาสนา กิจกรรมทางเพศ ความสุขในชีวิต ความคาดหวัง ความกังวลและการยับยั้งชั่งใจในเรื่องเซ็กส์และกามารมณ์ โดย Spronk จะเข้าไปสังเกตแบบมีส่วนร่วมกับคนหนุ่มสาวในกิจกรรมต่างๆ หนุ่มสาวชาวเคนย่าอธิบายว่าเซ็กส์คือความสำราญทางร่างกายและเกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณ ในขณะที่ Spronk พยายามพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกในการมีเซ็กส์ เธอก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าคำตอบที่ได้รับจากชาวเคนย่าคือภาพตัวแทนความจริงเกี่ยวกับเซ็กส์ใช่หรือไม่ เธอเชื่อว่าคำพูดกับการกระทำอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับ คำบอกเล่าเกี่ยวกับเซ็กส์อาจถูกอธิบายด้วยภาษา ในขณะที่อารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะมีเซ็กส์อาจอธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด ข้อสงสัยนี้ทำให้ Spronk ไม่แน่ใจว่าการศึกษากามารมณ์และความรู้สึกเกี่ยวกับเซ็กส์จะเกิดขึ้นจากคำบอกเล่า ในประเด็นนี้ Bolton (1992) เคยตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องราวของเซ็กส์จะถูกลอดทอนให้เป็นเพียงคำบอกเล่า ในขณะที่ประสบการณ์ทางร่างกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะเลือนหายไป
Spronk (2014) อธิบายว่าคนหนุ่มสาวในเมืองไนโรบีมีชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆเหมือนสังคมตะวันตก ดังนั้น พวกเขาจึงเป็นคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาเสรีภาพในการแสดงออกและทำสิ่งต่างๆ มีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในการงาน ความรัก การแต่งงาน การมีครอบครัว และมีชีวิตเซ็กส์ที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะผู้หญิงคาดหวังว่าตนเองสามารถมีสิทธิในการแสดงความรักและเซ็กส์ได้เท่าเทียมผู้ชาย โดยการบอกและแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองต่อผู้ชายที่มีสัมพันธ์ด้วยอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น เดินจูงมือ จูบปากจูบแก้ม และโอบกอดกัน สิ่งนี้ช่วยให้ผู้หญิงค้นพบตัวตนผ่านความสัมพันธ์ทางเพศแบบใหม่ที่ต่างไปจากจารีตนิยมซึ่งผู้หญิงต้องไม่แสดงออกในเรื่องเพศและต้องรักนวลสงวนตัว Spronk มีโอกาสพูดคุยและติดตามการใช้ชีวิตของคู่รักชาวเคนย่า และเห็นกิจกรรมทางเพศที่พวกเขาปฏิบัติต่อกัน รวมทั้งมีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มผู้ชายที่อธิบายว่าเซ็กส์คือเครื่องพิสูจน์ความเป็นชายของเขา ผู้ชายชาวเคนย่าคิดว่าการไม่มีประสบการณ์เซ็กส์คือการทำลายความเป็นชาย รวมถึงหน้าที่ของผู้ชายจะต้องทำให้ผู้หญิงมีความสุขและพึงพอใจจากการร่วมรัก ผู้ชายคนใดมีความช่ำชองในการปรนปรนความสุขทางเพศให้กับผู้ชายจะถือว่าผู้ชายคนนั้นมีทักษะทางเพศ เหตุผลนี้ทำให้ผู้ชายชาวเคนย่าแสวงหาหนังโป๊ในโลกออนไลน์มาศึกษาและเลียนแบบกิจกรรมเซ็กส์ที่พบเห็น ผู้ชายเคนย่ายังให้ความหมายของการมีเซ็กส์ที่ดี หมายถึงการที่คู่ชายหญิงรู้ว่าคู่ขาของตัวเองชอบและพึงพอใจสิ่งใดขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นความหมายที่ถูกบอกเล่าในตำราเซ็กส์ที่แพร่หลายในคนรุ่นใหม่ และเป็นความหมายที่ส่งต่อมาจากสังคมตะวันตก
นอกจากนั้น ผู้ชายเคนย่าจะคิดว่าการถึงจุดสุดยอดคือเครื่องบ่งชี้ในความสำเร็จของเซ็กส์และพิสูจน์ความเป็นชายในตัวเอง การแสวงหาความสำราญทางเพศของชายหญิงชาวเคนย่ายังสะท้อนวิธีคิดเกี่ยวกับการมีตัวตน กล่าวคือ พวกเขารู้สึกว่า “เป็นตัวของตัวเอง” อย่างมากเมื่อได้ปลดปล่อยอารมณ์และความต้องการทางเพศกับคนที่ชอบและพึงพอใจ การร่วมรักและการมีเซ็กส์จึงเป็นพื้นที่ของการเสริมอำนาจของหญิงชาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เซ็กส์ของหนุ่มสาวชาวเคนย่าคือเครื่องบ่งชี้ความสุขของชีวิต หนุ่มสาวชาวเคนย่ารุ่นใหม่จึงพยายามหาวิธีปรนเปรอความสุขทางเพศให้กันและกัน เซ็กส์และกามารมณ์จึงสร้างประสบการณ์ที่ประทับรอยบนเรือนร่าง ร่างกายจึงเป็นพื้นที่รองรับความรู้สึก ทั้งสองสิ่งนี้ได้ก่อตัวร่วมกันและกลายเป็นความรู้ (body-sensorial knowledge) ที่ทำให้หนุ่มสาวเคนย่ารู้ว่าตัวเองคือใคร (Spronk, 2014)
Keane (2003) วิเคราะห์ว่าประสบการณ์ของเรือนร่าง (corporeal experiences) และความสำราญทางกามารมณ์สำหรับคนรุ่นใหม่ในประเทศเคนย่าคือภาพสะท้อนแบบแผนของเพศภาวะและเพศวิถีของสังคมหลังยุคอาณานิคมในดินแดนที่เคยตกอยู่ใต้การปกครองของชาวตะวันตก กล่าวคือ ความรู้สึกในการเป็นหญิงและชายที่มีความสุขสำราญ มีอิสระที่จะแสดงความปรารถนาทางเพศ พร้อมกับการใช้เรือนร่างเป็นพื้นที่เพื่อยืนยันการมีตัวตนล้วนเกี่ยวโยงกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้วัฒนธรรมบริโภคและการแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุ Spronk (2014) อธิบายว่าเซ็กส์และกิจกรรมทางเพศคือ “ตัวกลาง” ที่เชื่อมโยงร่างกายของมนุษย์เข้ากับความรู้สึกและกฎระเบียบทางสังคม ในแง่นี้ เซ็กส์จึงเป็นพื้นที่ของความรู้ที่ทำให้บุคคลเข้าใจว่าตนเองมีความหมายอย่างไรและต้องสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร ขณะเดียวกัน เซ็กส์ก็ทำให้บุคคลจัดระเบียบตัวเองเข้ากับบรรทัดฐานของเพศภาวะและเพศวิถีที่สังคมสร้างขึ้น นั่นคือ ความเป็นรักต่างเพศที่สร้างความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม Spronk (2014) ตั้งข้อสังเกตว่าในการทำความเข้าใจชีวิตทางเพศของมนุษย์ไม่ควรตัดทอนกิจกรรมเซ็กส์และกามารมณ์ให้กลายเป็นเพียงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่ควรมองเซ็กส์ในฐานะประสบการณ์ทางร่างกายที่สร้างความรู้เกี่ยวกับการมีตัวตนของมนุษย์
กามารมณ์ที่เกิดจากวัตถุสิ่งของ
Gajewska (2020) ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมีการอธิบายประสบการณ์เซ็กส์และกามารมณ์ของมนุษย์ นักวิชาการมักจะมองดูเฉพาะพฤติกรรมและวิธีปฏิบัติที่มนุษย์มีต่อกัน ทำให้มองข้ามวัตถุสิ่งของที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมเซ็กส์และกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ดังนั้น การทำความเข้าใจบทบาทผู้กระทำการของวัตถุสิ่งของ (non-human actors) ที่ช่วยปลดปล่อยความใคร่และความต้องการทางเพศ ตัวอย่างเช่น ชุดชั้นใน ถุงน่อง เสื้อผ้า อุปกรณ์สำหรับใช้เพื่อการมีเซ็กส์ (sex toy) ภาพเปลือยและหนังโป๊ ตุ๊กตายาง อวัยวะเพศปลอม วัตถุต่างๆเหล่านี้คือผู้ที่ต่อเติมและขยายจินตนาการทางเพศให้กับมนุษย์ เมื่อวัตถุถูกนำมาใช้ในกิจกรรมทางเพศ มันจะทำหน้าที่สร้างความตื่นเต้น ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ความเร้าใจ ความอยากในทางกามารมณ์ โดยมันจะเข้าไปเชื่อมต่อกับเรือนร่างของมนุษย์ทำให้เกิดสภาวะของการผนวกร่วมสิ่งที่เป็นมนุษย์กับมิใช่มนุษย์ ผลที่เกิดขึ้นคือการสร้างความสุขทางเพศ
ในการศึกษาของ Terry (2010) อธิบายว่ากามารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการอาศัยวัตถุสิ่งของเพื่อทำให้มนุษย์บรรลุถึงความสุขและความหฤหรรษ์ทางเพศ คือเพศวิถีเชิงวัตถุ (objectum-sexuality) พรมแดนเซ็กส์ในลักษณะนี้ มนุษย์จะนำวัตถุเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อให้เซ็กส์มีความเร้าใจหรือมีจินตนาการที่แปลกใหม่ ในความเข้าใจแต่เดิม นักวิชาการมักจะมองวัตถุที่มนุษย์ใช้ในกิจกรรมทางเพศเป็นเพียงสิ่งที่รองรับอารมณ์ของมนุษย์เท่านั้น ทำให้มองข้ามบทบาทเชิงรุกของวัตถุที่สามารถทำให้เซ็กส์ของมนุษย์เปลี่ยนความหมายไปจากเดิม ดังนั้น กามารมณ์ที่มีวัตถุเข้ามาเกี่ยวข้อง “วัตถุ” จึงดำรงอยู่ในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำการที่น่าหลงใหล เพราะมันทำให้อารมณ์ทางเพศดำเนินไปข้างหน้า และยังเข้าไปเสริมการมีตัวตนทางเพศของมนุษย์ให้เข้มข้นขึ้น เมื่อวัตถุถูกนำมาใช้ในกิจกรรมเซ็กส์ มันจะมิใช่วัตถุอีกต่อไป หากแต่มันจะกลายสภาพไปเป็น “บางสิ่ง” (things) ที่ช่วยสร้างอารมณ์และความรู้สึก(sensuous presence) โดยตัวมันเองมิได้ทำหน้าที่เพียงตอบสนองการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ แต่มันกำลังสร้างอารมณ์ให้กับมนุษย์ (Brown, 2001) การเชื่อมต่อกันระหว่างร่างกายมนุษย์กับวัตถุอื่นภายใต้การกระทำทางเพศ ช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของวัตถุในฐานะเป็นสิ่งที่มีพลังที่สร้างตัวตนทางเพศให้กับมนุษย์ ในประเด็นนี้ Haraway (1990) เคยกล่าวว่าการกระทำการร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ ทำให้เกิดการตระหนักรู้ถึงบางสิ่ง ในกรณีเซ็กส์และกามารมณ์ มนุษย์กับวัตถุคือผู้ร่วมสร้าง ร่วมแสดง และร่วมถ่ายทอดอารมณ์ทางเพศ
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2558). อารมณ์ปรารถนาคือเครื่องมือของอำนาจ. รัฐศาสตร์สาร, 36(2), 154-194.
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2560). เพศในเขาวงกต แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค. กรุงเทพฯ: ศูนย์ มานุษยวิทยาสิรินธร.
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2563). แนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศในกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์และ สังคมศาสตร์. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 28(3), 312-339.
Allen, J. (2012). One way or another: erotic subjectivity in Cuba. American Anthropologist, 39(2), 325–38.
Arnfred, S. (2007). Sex, Food and Female Power. Sexualities, 10(2), 141-158.
Benedict, R. (1934). Patterns of culture. New York: Houghton Mifflin.
Boellstorff, T. (2007). Queer studies in the house of anthropology. Annual Review of Anthropology, 36, 17–35.
Bolton, R. (1992). Mapping terra incognita: sex research for AIDS prevention, in G. Herdt and S.Lindenbaum (Eds.), The time of AIDS: social analysis, theory and method, (pp.125– 58).Newbury Park: Sage.
Brown, B. (2001). Thing Theory. Critical Inquiry, 28(1), 1-22.
Brown, S. & Tucker, I. (2010). Eff the ineffable: affect, somatic management and mental health service users, in M. Gregg and G. Seigworth (Eds.), The affect reader, (pp.229–49). Durham: Duke University Press.
Cole, J. (2004). Fresh Contact in Tamatave, Madagascar: Sex, Money and Intergenerational Transformation. American Ethnologist, 31(4), 573-588.
Csordas, T. (1990). Embodiment as a paradigm for anthropology. Ethos, 18, 5–47.
Dean, T. (2009). Unlimited intimacy: reflections on the subculture of barebacking. Chicago: University of Chicago Press.
Evans-Pritchard, E. E. (1972). Man and woman among the Azande. London: Faber and Faber.
Foucault, Michel (1979[1976]). The History of Sexuality Volume 1: An Introduction. London: Allen Lane.
Gajewska, G. (2020). Eroticism of More- and Other-than-Human Bodies: A Study of the Anthropology of Things. London: Palgrave Macmillan.
Haraway, D. J. (1990). Situated Knowledges: The Science Question in Feminism and the Privilege of Partial Perspective. in Simians, Cyborgs, and Women: The Reinvention of Nature. (pp. 183-201). New York: Routledge.
Hasting, D. & Magovan, F. (2010). The Anthropology of Sex. Oxford: Berg.
Howes, D. (2003). Sensual relations. Engaging the senses in culture and social theory. Ann Arbor: University of Michigan Press.
Katz, J. (1976). Gay American history: lesbians and gay men in the USA. New York: Crowell.
Keane, W. (2003). Semiotics and the social analysis of material things. Language and Communication, 23, 409–25.
Knauft, B. (1994). Foucault meets South New Guinea: knowledge, power, sexuality. Ethos, 22(4), 391–438.
Malinowski, B. (1982 [1929]). The sexual life of savages in north-western Melanesia. An ethnographic account of courtship, marriage and family life among the natives of the Trobriand Islands. London: Routledge.
Manderson, L., Bennett, L. & Sheldrake, M. (1999). Sex, social institutions and social structure: anthropological contributions to the study of sexuality. Review of Sex Research, 10, 184–210.
Mead, M. (1950). Sex and temperament in three primitive societies. New York: The American Library.
Morris, R. (1995). All made up: performance theory and the new anthropology of sex and gender. Annual Review of Anthropology, 24, 567–92.
Ortner, S. (1974). Is female to male as nature is to culture? in M. Rosaldo and L. Lamphere (Eds.), Woman, culture and society, (pp.67–87). Stanford: Stanford University Press.
Parker, R. (2009). Bodies, pleasures and passions: sexual culture in contemporary Brazil. Boston: Beacon Press.
Parker, R. & Aggleton, P. (1999). Culture, society and sexuality: a reader. London: UCL Press.
Porcello, T., Meintjes, L., Ochoa, A. M. & Samuels, D. (2010). ‘The reorganization of the sensory world. Annual Review of Anthropology, 39, 51–66.
Rubin, G. (1975). The traffic in women: notes on the political economy of sex, in R. Reiter (Ed.), Towards an anthropology of women, (pp.157–210). New York: Monthly Review Press.
Rubin, G. (1984). Thinking sex: notes for a radical theory of the politics of sexuality, in C. Vance (Ed.), Pleasure and danger. Exploring female sexuality, (pp.267–319). London: Pandora.
Spronk, R. (2014). Sexuality and subjectivity: Erotic practices and the question of bodily sensations. Social Anthropology, 22(1), 3-21.
Terry, J. (2010). Loving Objects. Trans-Humanities Journal, 2(1), 33-75.
Tuzin, D. (1995). Discourse, intercourse and the excluded middle: anthropology and the problem ofsexual experience, in P. Abramson and S. Pinkerton (Eds.), Sexual nature, sexual culture, (pp.257–75). Chicago: University of Chicago Press.
Vance, C. (1991). Anthropology rediscovers sexuality: a theoretical comment. Social Science and Medicine, 33(8), 875–84.
Valentine, D. (2007). Imagining transgender: an ethnography of a category. Durham: Duke University Press.
Weeks, J. (1977). Coming out: homosexual politics in Britain from the nineteenth century to the present. London: Quartet Books.
Wekker, G. (2006). The politics of passion. New York: Columbia University Press.
Weston, K. (1993). Lesbian/gay studies in the house of anthropology. Annual Review of Anthropology, 22, 339–67.
หัวเรื่องอิสระ: เพศภาวะ, เพศวิถี, เซ็กส์, อารมณ์ทางเพศ, การปฏิบัติทางเพศ, ผัสสะ, เรือนร่าง