คำศัพท์

Spatiality

การศึกษาพื้นที่ในทางมานุษยวิทยา

ความสนใจเรื่องพื้นที่ในแวดวงมานุษยวิทยาเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน (Geertz, 1996) ประเด็นที่มีการศึกษา เช่น สภาพภูมิประเทศและถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ รูปแบบของสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฎอยู่ในสภาพแวดล้อม การกำหนดเขตและพรมแดนของการใช้พื้นที่ในกิจกรรมของมนุษย์ การให้ความหมายต่อพื้นที่และสถานที่ การเคลื่อนย้ายของผู้คนข้ามพื้นที่ และระบบวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับการใช้พื้นที่ เป็นต้น (Aucoin, 2017) วิธีการศึกษาของนักมานุษยวิทยามักจะมองบริบททางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับการใช้พื้นที่ในรูปแบบต่างๆ และอาศัยกรอบแนวคิดทฤษฎีที่หลากหลายมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และสร้างคำอธิบายที่ต่างกัน รวมทั้งการทำความเข้าใจบริบทของท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับการใช้พื้นที่ที่ตอบสนองการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลา การศึกษาการใช้พื้นที่ในมิติทางวัฒนธรรมจึงช่วยให้นักมานุษยวิทยามองเห็น “พื้นที่” ที่มีลักษณะไม่หยุดนิ่ง มิได้มองเป็นเพียงพรมแดนทางภูมิศาสตร์ที่วัดความกว้างยาวทางตัวเลข หากแต่มองเห็นพลวัตของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในการกำหนดความหมายของพื้นที่ ซึ่งอาจดำรงอยู่ในพรมแดนของเทคโนโลยีและสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (Lembek, 2011) และการศึกษาที่เชื่อมโยงหลายพื้นที่เข้าด้วยกัน (multi-sited ethnography) (Marcus, 1998)

ในมุมมองทางมานุษยวิทยา

การศึกษาพื้นที่คือการศึกษาพรมแดนของการใช้ชีวิตทางสังคมของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย (Aucoin, 2017) การศึกษาดังกล่าวช่วยทำให้เกิดความเข้าใจว่ามนุษย์มีความคิดและประสบการณ์กับสภาพแวดล้อมและอาณาบริเวณอย่างไร ช่วยทำให้เห็นวิธีปฏิบัติต่อพื้นที่ในช่วงเวลาต่างๆและรูปแบบต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับเงื่อนไขทางความเชื่อ กิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจและสุนทรียะ การดำรงอยู่ในพื้นที่จึงเสมือนเป็นการขับเคลื่อนความหมายและระเบียบที่มนุษย์มีต่อลักษณะภูมิประเทศ (geo-symbolic order) ตลอดจนการกำหนดขอบเขตพื้นที่ (framed space) ภายใต้โครงสร้างสถาปัตยกรรมและรูปแบบของสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมนุษย์จะใช้ประโยน์ในกิจกรรมต่างๆ และเป็นภาพสะท้อนความคิด จินตนาการ โลกทัศน์ ความรู้สึกและความฝันให้ปรากฏอยู่ในสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อตอกย้ำสถานการณ์มีตัวตนและการดำรงอยู่ในโลก (Thornton, 2008)

ในสถานการณ์ปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาพบเห็นการเดินทางข้ามพื้นที่ของผู้คนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความสนใจศึกษา “พื้นที่” ในบริบทของการเคลื่อนย้ายและการไม่หยุดนิ่ง ตัวอย่างเช่น การศึกษาชีวิตแรงงานข้ามชาติที่อพยพย้ายที่อยู่อาศัยและที่ทำงานไปตามฤดูกาลและบริบททางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องตามเก็บข้อมูลชีวิตของแรงงานในพื้นที่ที่เปลี่ยนไป (mobile field-work) (Khosravi, 2010) การศึกษาชีวิตของคนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกำหนดให้อยู่อาศัยในเขตอนุรักษ์ตามนโยบายของรัฐ ส่งผลให้คนเหล่านี้ถูกควบคุมให้อยู่กับพื้นที่ที่จำกัดเหสมือนการถูกักขังภายใต้นิยามแบบใหม่ (Aurylaite, 2015) รวมถึงการศึกษาชีวิตผู้อพยพข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายซึ่งต่อสู้ดิ้นรนเพื่อทำงานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก (Campkin, 2013)

แนวคิดเรื่องพื้นที่ในวงวิชาการ

การตั้งคำถามเกี่ยวกับ “พื้นที่” (space) และ “สถานที่” (place) ในแวดวงวิชาการอื่นๆ เช่น วงการศิลปะ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และปรัชญา มีผลต่อการศึกษาของนักมานุษยวิทยาเป็นอย่างมาก แนวคิดต่างๆที่นักมานุษยวิทยานำมาใช้อธิบายปรากฎการณ์ของพื้นที่ เช่น รูปทรงเชิงลึก (deep geometry) (Geertz, 1980), รูปทรงสถาปัตย์ (architectonics) (Fernandez, 2003), พื้นที่แปลกแยก (heterotopia) (Foucault, 1984; Relph, 1992), ภูมิทัศน์ชาติพันธุ์ (ethnoscapes) (Appadurai 1991, 1995), ภูมิทัศน์การงาน (taskscape) (Ingold, 1993) การละเมิดเชิงพื้นที่ (spatial transgression) (Aucoin, 2002) การเคลื่อน (dislocation) ระบอบควบคุมชายแดน (border regimes) (Hall, 2012; Khosravi, 2010) เป็นต้น คำอธิบายเหล่านี้ช่วยขยายขอบเขตเรื่อง “พื้นที่” ให้กว้างไปกว่าการรับรู้แบบเดิมที่มักจะมองเพียงพื้นที่ตายตัวที่จับต้องได้เชิงกายภาพเท่านั้น รวมทั้ง ช่วยให้เกิดการตั้งคำถามและชี้ให้เห็นพลวัตและความซับซ้อนของพื้นที่ในเชิงการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (Low, 2000) ชี้ให้เห็นจินตนาการเกี่ยวกับพื้นที่ภายใต้นิยามของ “ธรรมชาติ” และ “ถิ่นทุรกันดาร” ที่ห่างไกลความเจริญ (Hastrup, 2013) พื้นที่ที่เคยเป็นสนามรบ (Wool, 2013) การสร้างพื้นที่ภายใต้ความเชื่อทางศาสนา (Johnson, 2003) พื้นที่ที่อยู่บนพรมแดนโลกและพรมแดนนอกโลก (Battaglia et al., 2015) เศรษฐศาสตร์การเมืองของพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย (Andersson, 2014) การทำความเข้าใจพื้นที่ในมิติที่หลากหลายดังกล่าวนี้ ช่วยทำให้เห็นการประกอบสร้าง “พื้นที่” ที่อยู่นอกขนบของการศึกษาแบบแผนทางวัฒนธรรมแบบเดิมๆ (Feld & Basso, 1996) ในแง่นี้ นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องมีมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อความหมายของพื้นที่และชี้ให้เห็นกลไกและกระบวนการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่ภายใต้ระบอบอำนาจและโครงสร้างสังคมโลกที่ไม่หยุดนิ่ง (Gupta, 2003)

ประสบการณ์ของพื้นที่ต่างวัฒนธรรม

นักมานุษยวิทยาสนใจประสบการณ์ของมนุษย์ในการใช้พื้นที่ ซึ่งแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ประสบการณ์ดังกล่าวจะแตกต่างกันในแต่ละสังคม ในบางสังคม พื้นที่อยู่อาศัยอาจมีความหมายมากกว่าที่หลับนอน ในบางสังคมพื้นที่จิตวิญญาณจะถูกควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด บริบทของการใช้พื้นที่ที่ไม่เหมือนกันนี้คือเรื่องราวที่นักมานุษยวิทยาพยายามเข้าไปศึกษาเปรียบเทียบและทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในการศึกษาของ Raffles (2002) พบว่าชนพื้นเมืองในเขตลุ่มน้ำอะเมซอน มองและสัมผัสกับถิ่นที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมในฐานะเป็นสิ่งที่เคลื่อนตัวตลอดเวลา สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติจึงเสมือนมีชีวิตและสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ Rodman (1992) อธิบายว่าความหมายของพื้นที่จะเปลี่ยนไปตามวิธีปฏิบัติและประสบการณ์ของผู้ใช้พื้นที่ และพื้นที่เดียวกันก็สามารถบ่งบอกถึงประสบการณ์คนของที่แตกต่างหลากหลาย ในการทำความเข้าใจความซับซ้อนของความหมายและประสบการณ์ของพื้นที่ จำเป็นต้องค้นหาเรื่องเล่าและความรู้สึกของผู้คนที่แสดงออกมาในพื้นที่เหล่านั้น

การศึกษาของ Lila Abu-Lughod (2005) พบว่าในสังคมอียิปต์ การชมโทรทัศน์ได้สร้างพื้นที่ทางสังคมขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการทำให้คนในครอบครัวใช้เวลาร่วมกันและยังรับรู้เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นผ่านจอโทรทัศน์ รวมทั้งการเป็นพื้นที่บริโภคข้อมูลข่าวสารภายใต้บริบทเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ เป็นทั้งการตอกย้ำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเป็นชาติอียิปต์ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยรัฐและผู้ปกครอง การใช้เวลาชมโทรทัศน์ในครัวเรือนของชาวอียิปต์เป็นภาพสะท้อนของการสร้างพื้นที่ครอบครัวที่พ่อแม่ลูกกำลังมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการชมรายการต่างๆที่เกิดขึ้น การศึกษาของ Gordillo (2004) พบว่าในเขตชาโค ประเทศอาร์เจนติน่า ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชนพื้นเมืองชาวโทบา พวกเขามีประสบการณ์กับพื้นที่ในฐานะเป็นความทรงจำของการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถิ่นที่อยู่ของพวกเขาคือสัญลักษณ์ของความเศร้าและความโหดเหี้ยม รวมถึงการเป็นพื้นที่ของโรคระบาดและการย้ายของของชาวบ้านเพื่อไปเป็นแรงงานในเมือง ชาวโทบามีประสบการณ์เกี่ยวกับที่อยู่ของพวกเขาในเชิงลบอันเป็นผลมาจากการถูกชาวตะวันตกเข้ามาปกครองตั้งแต่ยุคอาณานิคม การเข้ามาของคนผิวขาวจากตะวันตกนำเอาความปวดร้าวมาสู่ท้องถิ่น ทำให้ชาวโทบาเผชิญหน้ากับการถูกเอารัดเอาเปรียบ ชาวตะวันตกจึงเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจร้ายที่สิงสถิตอยู่ในถิ่นที่อยู่ของชาวโทบา ความทรงจำที่หดหู่และน่าเวทนาดังกล่าวนี้ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมของชาวโทบา

Eduardo Kohn (2003) อธิบายว่าชนพื้นเมืองเผ่ารูน่าในเขตป่าฝนเมืองร้อนในประเทศเอกวาดอร์ พวกเขาให้ความหมายกับพื้นที่ป่าในฐานะที่อาศัยของต้นไม้ซึ่งล้วนมีชีวิตและมีความรู้สึก ต้นไม้แต่ละต้นสามารถได้ยินเสียงที่อยู่รอบตัวมัน สามารถคิดถึงสิ่งต่างๆที่อยู่ในเขตป่า สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆต้นไม้เปรียบเสมือนเป็นโลกที่ต้นไม้ใช้อ้างอิง โลกดังกล่าวนี้ไม่เหมือนกับโลกที่มีมนุษย์ ในแง่นี้พื้นที่ป่าจึงดำรงอยู่ในฐานะเป็นความจริงอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างไปจากประสบการณ์ที่มนุษย์มี ในการศึกษาของ Cruikshank (2005) พบว่าชนพื้นเมืองเผ่าอะธาปาสกันและทลิงกิต (Athapaskan and Tlingit) ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศแคนาดา พวกเขามองภูมิประเทศในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก ธารน้ำแข็งที่พบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อมแถบขั้วโลกเหนือสามารถรับรู้และได้ยินเสียงที่เกิดขึ้น รวมทั้งมันสามารถเข้าใจและตอบสนองต่อสิ่งที่มนุษย์แสดงออกและปฏิบัติต่อมัน โดยเฉพาะการกระทำในเชิงลบ ตัวอย่างการศึกษาพื้นที่ป่าของชาวรูน่าและพื้นที่ธารน้ำแข็งของชาวอะธาปาสกันและทลิงกิต ชี้ให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาพยายามอธิบาย “พื้นที่” ในฐานะเป็น “ตัวบท” ที่บอกเล่าเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการใช้อุปมาอุปไมย เพื่ออธิบายการมีตัวตนและความรู้สึกของพื้นที่ (Low, 2000)

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง “คำเรียก” และการให้ความหมายของพื้นที่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจ Worsley (1997) กล่าวว่าคำเรียกลักษณะของพื้นที่ในแต่ละวัฒนธรรมมีความหมายที่ไม่เหมือนกัน เช่น ในวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองบนเกาะ Groote Eyland ในประเทศออสเตรเลีย จะเรียก “มุม” ด้วยคำที่มีความหมายถึงการคดเคี้ยวของแม่น้ำ พวกเขาจะไม่รู้จักคำว่าเส้นแนวตั้งหรือแนวนอน แต่รู้จักคำว่าเอน, พิง, ยืน, นอน เป็นต้น คำเรียกคุณลักษณะของพื้นที่ที่ต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมคือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจ เพราะการรับรู้ถึงพื้นที่ในแต่ละวัฒนธรรมจะถ่ายถอดด้วยคำเรียกที่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างนี้บ่งบอกว่าความหมายของพื้นที่เกิดขึ้นจากโลกทัศน์และประสบการณ์ที่มนุษย์มีต่อสภาพแวดล้อม เราไม่อาจนำประสบการณ์ของพื้นที่ในวัฒนธรรมหนึ่งไปใช้เป็นตัวแทนของการดำรงอยู่ของพื้นที่ในวัฒนธรรมอื่นได้ (Roberge, 2011)

Low (2000) กล่าวว่าในการศึกษาพื้นที่ สถานที่ และภูมิประเทศ นักมานุษยวิทยาอาศัยกระบวนทัศน์การตีความเพื่อเข้าใจสัญลักษณ์และความหมายที่ถูกสร้างขึ้นจากโลกทัศน์ของคนท้องถิ่น ในแง่นี้ พื้นที่จึงเป็นเครื่องมือสื่อสารทางสังคมและวัฒนธรรม Feld and Basso (1996) กล่าวว่าการทำความเข้าใจพื้นที่ภายใต้ระบบความหมายของคนท้องถิ่น เปรียบเสมือนการศึกษาญาณวิทยาและการแสวงหาความรู้ของคนท้องถิ่น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากวิธีการที่คนท้องถิ่นปฏิบัติต่อพื้นที่ในลักษณะต่างๆ ในการปฏิบัติเหล่านี้จะบ่งบอกถึงอารมณ์ ความคิดและปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ เช่น การศึกษาของ Feld (1996) พบว่าชนเผ่าคาลูลี (Kaluli) ในปาปัวนิวกีนีมองเห็นความสัมพันธ์ของพื้นที่กับเสียงที่เกิดขึ้นในภูมิประเทศ โดยเชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าดงกิบที่ชาวคาลูลีอาศัยอยู่มีอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความทรงจำ เสียงของป่าในโลกทัศน์ของชาวคาลูลีมาจากน้ำตก เสียงน้ำไหลในลำห้วย เสียงนกร้อง เสียงสัตว์ป่า เสียงเหล่านี้ประสานกันเป็นบทเพลงและทำให้ชาวคาลูลีเรียกพื้นที่เหล่านั้นตามเสียงที่ได้ยิน สำนึกของการมีอยู่ของพื้นที่จึงเกิดขึ้นจากเสียงในธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เสียงต่างๆช่วยทำให้ชาวคาลูลีตระหนักถึงการอยู่ในโลกและการมีตัวตน สภาพแวดล้อมของเสียงจึงเป็นประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในโลกของชาวคาลูลี เสียงต่างๆยังเชื่อมโยงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นความทรงจำจากรุ่นสู่รุ่น เสียงในภูมิประเทศจึงสร้างความทรงจำทางสังคม

การศึกษาของ Basso (1996) พบว่าชาวอาปาเช่ (Apache) ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา ใช้ภูมิประเทศและที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือสร้างการตระหนักรู้ในตัวตน โดยถิ่นอาศัยของพวกเขาคือผู้สร้างชีวิต สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในที่อยู่อาศัยจะถูกบอกเล่าผ่านคนรุ่นต่างๆ กลายเป็นความทรงจำของพื้นที่ ความทรงจำทั้งหมดจะเกี่ยวโยงถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ พื้นที่อาศัยของชาวอาปาเช่จึงเต็มไปด้วยคำเรียกขานที่ปู้ย่าตายายสร้างไว้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้พื้นที่กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียน เป็นกฎเกณฑ์ เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นภูมิปัญญา เป็นความรู้ที่ถ่ายทอดต่อๆกันมา ความผูกพันในพื้นที่ของชาวอาปาเช่จึงดำเนินไปพร้อมกับชีวิตของบรรพบุรุษซึ่งแฝงด้วยคำสอนในการปฏิบัติตัวและการใช้ชีวิตอยู่ในโลก การศึกษาของ Aucoin (2000, 2002) พบว่าชนพื้นเมืองในฟิจิมีการจัดระเบียบของเพศภาวะผ่านการใช้พื้นที่ทางสังคม ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายหญิง พื้นที่จะถูกควบคุมให้บุคคลแสดงพฤติกรรมตามลำดับชั้นและตำแหน่งสูงต่ำทางสังคม พื้นที่ของผู้ชายจะอนุญาตให้ผู้ชายทำกิจกรรมบางอย่างและพื้นที่ของผู้หญิงจะมีกิจกรรมบางอย่างที่ต่างกัน พื้นที่ของหัวหน้าเผ่าจะมีกฎเกณฑ์ที่ต่างไปจากพื้นที่ของคนธรรมดาสามัญ ในสังคมของชาวฟิจิซึ่งสืบตระกูลทางฝ่ายชาย พื้นที่ของผู้ชายจึงมีขอบเขตที่กว้างกว่าผู้หญิง เช่น พื้นที่พิธีกรรมเพื่อติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษจะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย พื้นที่ในครัวเรือนคือพื้นที่สำหรับผู้หญิง เป็นต้น

พลวัตและการเมืองของพื้นที่

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาพื้นที่ในวงวิชาการ ให้ความสนใจเรื่องกระบวนการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่ (spatial processes) ซึ่งสะท้อนภววิทยาและประสบการณ์ที่ต่างกันของผู้คน (Cresswell, 2010) ประเด็นนี้นำไปสู่การศึกษาการเมืองของพื้นที่ซึ่งคนกลุ่มต่างๆเข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กันอย่างต่อเนื่องและซับซ้อน ในพื้นที่เดียวกันจึงมีประสบการณ์ของคนหลายกลุ่ม ในแง่นี้ “ความเป็นพื้นที่” (spatiality) จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ผลลัพธ์จากปฏิสัมพันธ์และปฏิบัติการที่มนุษย์มีกับสิ่งต่างๆ กล่าวคือ เมื่อเกิดกิจกรรมใดๆ ที่มนุษย์สร้างความหมายให้กับมัน สภาพแวดล้อมและพรมแดนที่มีกิจกรรมเหล่านั้นปรากฎอยู่คือปริมณฑลของพื้นที่เชิงสังคม ตัวอย่างการศึกษาพื้นที่สังคมไอร์แลนด์เหนือของ Nagle and Clancy (2010) พบว่าเป็นพรมแดนที่มีความขัดแย้ง การก่อการร้าย การสร้างความรุนแรง อันเป็นผลมาจากความคิดทางการเมืองและการสร้างอัตลักษณ์ชาติที่ไม่ลงรอยกันซึ่งสะสมมายาวนานระหว่างกลุ่มนิยมเจ้าและกลุ่มนิยมสาธารณรัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างสร้างพื้นที่ของตนเองแยกขาดจากกัน ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างสร้างสัญลักษณ์ที่ต่างกัน จัดพิธีกรรมและกิจกรรมทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน ภายใต้พรมแดนที่คนเหล่านี้อาศัยและทำกิจกรรมต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยการตอกย้ำอุดมการณ์ชาติคนละชุดและได้ส่งต่อความหมายเหล่านั้นไปยังคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการสืบทอดอุดมการณ์ของตนเอง ความเป็นพื้นที่ของกลุ่มนิยมเจ้าและกลุ่มนิยมสาธารณรัฐจึงถูกสร้างขึ้นจากปฏิบัติการที่ตอกย้ำความเป็นชาติที่ต่างกัน และนำไปสู่ประสบการณ์เชิงพื้นที่ที่ต่างกันด้วย การเชื่อมโยงของสังคมและการใช้พื้นที่เพื่อกิจกรรมต่างๆ คือพรมแดนพื้นที่เชิงสังคม (socio-spatial spheres)

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ในระดับเล็กที่เกิดขึ้นในครอบครัวก็เป็นประเด็นที่นักวิชาการกำลังให้ความสนใจเพื่อวิเคราะห์ว่าแม้แต่ความไม่ลงรอยกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว และการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็คือการสร้างพื้นที่สังคมอีกแบบหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะกับความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติเสมอไป (Dover, 2008) การสร้างพื้นที่สังคมจึงไม่สามารถตัดขาดจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชนชั้น ช่วงวัย เพศสภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ และอุดมการณ์ทางการเมือง พื้นที่จึงมิใช่ภูมิประเทศที่รองรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ แต่มันคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยประสบการณ์และปฏิบัติการอันซับซ้อนและโยงใยกันของมนุษย์ที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พื้นที่ในฐานะเป็นปฏิบัติการร่วมทางสังคมของคนจำนวนมาก (collective constructions of place) จึงเป็นกระบวนการเชิงการเมืองที่คนต่างกลุ่มเข้ามาสร้างอัตลักษณ์และความหมายให้กับถิ่นอาศัยและพรมแดนที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยการสร้างคำเรียกพื้นที่ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต ประสบการณ์ ความทรงจำและแบบแผนทางวัฒนธรรมของคน กล่าวคือปฏิบัติการที่ดำรงอยู่ในพื้นที่คือประสบการณ์ที่สร้างตัวตน (Embodied Experience) ให้กับมนุษย์ (Jensen, 2009)


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Abu-Lughod, L. (2005). Dramas of Nationhood the Politics of Television in Egypt. Chicago: University of Chicago Press.

Andersson, R. (2014). Illegality, Inc. Clandestine Migration and the Business of Bordering Europe. Berkeley: University of California Press.

Appadurai, A. (1991). Global Ethnoscapes. Notes and Queries for a Transnational Anthropology. In Richard G. Fox, (Ed.), Recapturing Anthropology, (pp.191–210). Santa Fe, NM: School of American Research Press.

Appadurai, A. (1995). The Production of Locality. In Richard Fardon, (Ed.), Counterworks: Managing the Diversity of Knowledge, (pp.204–225). New York: Routledge.

Aurylaite, K. (2015). Spatial Politics and a Native American Reservation: Reading Red Power: A Graphic Novel with Author Brian Wright-McLeod. European Journal of American Studies, 10:2, Summer 2015.

Aucoin, P. M. (2000). Blinding the Snake. Women’s Myths as Insubordinate Discourse in Western Fiji. In Pauline McKenzie Aucoin, (Ed.), Articulated Meanings: Studies in Gender and the Politics of Culture, Special Issue. Anthropologica, 42(1), 11–27.

Aucoin, P. M. (2002). Gender and the Politics of Meaning in Western Viti Levu, Fiji. PhD dissertation. University of Toronto, Anthropology.

Aucoin, P. M. (2017). Toward an Anthropological Understanding of Space and Place. In Bruce B. Janz, (Ed.). Place, Space and Hermeneutics, (pp.395-412). Berlin: Springer.

Basso, K. (1996). Wisdom Sits in Places Landscape and Language among the Western Apache. Albuquerque: University of New Mexico Press.

Battaglia, D, Valentine, D. & Olson, V. (2015). Relational Space: An Earthly Installation. Cultural Anthropology, 30 (2), 245–256.

Campkin, B. (2013). Placing “Matter Out of Place”: Purity and Danger as Evidence for Architecture and Urbanism. Architectural Theory Review, 18(1), 46–61.

Cresswell, T. (2010). Towards a Politics of Mobility. Environment and Planning D: Society and Space, 28(1), 17–31.

Cruikshank, J. (2005). Do Glaciers Listen? Local Knowledge, Colonial Encounters, & Social Imagination. Vancouver: University of British Columbia Press.

Dover, K. (2008). Framing Places: Mediating Power in Built Form. London and New York: Routledge.

Feld, S. (1996). Waterfalls of Song: An Acoustemology of Place Resounding in Bosavi, Papua New Guinea. In Steven Feld and Keith Basso, (Eds.), Senses of Place, (pp.91–135). Santa Fe: School of American Research Press.

Feld, S., & Basso, K. (1996). Introduction. In Steven Feld and Keith Basso, (Eds.), Senses of Place, (pp.3–11). Santa Fe: School of American Research Press.

Fernandez, J. (2003). Emergence and Convergence in Some African Sacred Places. A Comparison of Architectonics. In Setha M. Low and Denise Lawrence-Zúñiga, (Eds.), The Anthropology of Space and Place. Locating Culture, (pp.187–203). London: Wiley- Blackwell Publishing.

Foucault, M. (1984). Of Other Spaces: Utopias and Heterotopias, Architecture/Mouvement/Continuité, 1984. [Des Espaces Autres, March 1967. (translated by Jay Miskowiec).

Geertz, C. (1980). Negara: The Theatre State in Nineteenth Century Bali. Princeton: Princeton University Press.

Geertz, C. (1996). Afterward. In Stephen Feld & Keith H. Basso, (Eds.), Senses of Place, Advanced Research Series, (pp,259–262). Santa Fe: School of American Research Press.

Gordillo, G. (2004). Landscapes of Devils. Tensions of Place and Memory in the Argentinean Chaco. Durham: Duke University Press.

Gupta, A. (2003). The Song of the Nonaligned World: Transnational Identities and the Reinscription of Space in Late Capitalism. In Setha M. Low and Denise Lawrence-Zúñiga, (Eds.), The Anthropology of Space and Place. Locating Culture. London: Wiley- Blackwell Publishing

Hall, A. (2012). Border Watch: Cultures of Immigration, Detention and Control. London: Pluto Press.

Hastrup, K. (Ed.). (2013). Anthropology and Nature. Routledge Studies in Anthropology. London: Routledge.

Ingold, T. (1993). The Temporality of Landscape. World Archaeology, 25(2), Conceptions of Time and Ancient Society, 152–174.

Jensen, O. (2009). Flows of Meaning, Cultures of Movements: Urban Mobility as Meaningful Everyday Life Practice. Mobilities, 4(1), 139–58.

Johnson, N. B. (2003). Mountain Temple, and the Design of Movement: 13th Century Japanese Zen Buddhist Landscapes. In Michel Conan, (Ed.), Landscape Design and the Experience of Motion, (pp.157–185). Washington, DC: Dumbarton Oaks

Khosravi, S. (2010). ‘Illegal’ Traveller: An Auto-Ethnography of Borders. London: Palgrave MacMillan. Kohn, E. (2013). How Forests Think. Toward an Anthropology Beyond the Human. Berkeley: University of California Press.

Lembek, M. (2011). Reflections on Hermeneutics and Translocality. ZMO Working Papers, No. 4, Retrieved from http://d-nb.info/1019244437/34.

Lembek, M. (2015). The hermeneutics of ethical encounters. Between traditions and practice. Journal of Ethnographic Theory, 5(2) Retrieved from https://www.haujournal.org/index.php/hau/article/view/hau5.2.014

Low, S. M. (2000). On the Plaza. The Politics of Public Space and Culture. Austin: The University of Texas Press.

Marcus, G. E. (1998). Ethnography Through Think & Thin. Princeton: Princeton University Press.

Nagle, J., & Clancy, M. (2010). Shared Society or Benign Apartheid: Understanding Peace- Building in Divided Societies. Basingstoke: Palgrave Macmillan.

Raffles, H. (2002). In Amazonia. A Natural History. Princeton: Princeton University Press.

Relph, E. (1992). Place, Postmodern Landscapes, & Heterotopia. Environmental and Architectural Phenomenology, 3(1), 14.

Roberge, J. (2011). What Is Critical Hermeneutics? Thesis Eleven, 106(1), 5–22.

Rodman, M. C. (1992). Empowering Place: Multilocality and Multivocality. American Anthropologist, 94(3), 640–656.

Thornton, T. F. (2008). Being and Place Among the Tlingit. Seattle: University of Washington Press.

Wool, Z. (2013). On Movement: The Matter of US Soldiers’ Being After Combat. Ethnos: Journal of Anthropology, 78(3), 403–433.

Worsley, P. (1997). Knowledges. Culture Counterculture Subculture. New York: The New Press.


หัวเรื่องอิสระ: พื้นที่, สังคม, สถานที่, ภูมิประเทศ, ปฏิบัติการทางสังคม