คำศัพท์

Foucauldian Anthropology

อิทธิพลของมิเชล ฟูโกต์ ต่อนักมานุษยวิทยา

นักวิชาการในทวีปเอริกาเหนือชื่นชมและให้ความสนใจในงานเขียนของมิเชล ฟูโกต์เป็นอย่างมาก รวมทั้งฟูโกต์ยังมีโอกาสไปบรรยายในภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1970- ต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่นักมานุษยวิทยาอเมริกันกำลังสนใจแนวคิดหลังโครงสร้างนิยมและความคิดเชิงวิพากษ์ของสำนักแฟรงค์เฟิร์ต ความคิดเรื่องอำนาจและชีวะการเมือง (bio-politics) ของฟูโกต์ถูกนำไปใช้ศึกษาทางมานุษยวิทยาอย่างกว้างขวาง (Abeles, 2008; 2009) ในขณะที่ นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสกลับมองฟูโกต์เป็นเพียงนักปรัชญาที่มีความคิดที่แปลกแยกและไม่น่าเชื่อถือ ในแวดวงมานุษยวิทยา ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์แบ่งเป็นสองกระแส คือ (1) กระแสที่สนใจธรรมชาติและทิศทางของมนุษย์ และ (2) กระแสที่สนใจความรู้เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ ความสนใจเหล่านี้ทำให้นักมานุษยวิทยาใช้กรอบคิดทางปรัชญามาเป็นแนวทางศึกษาสังคมมนุษย์ พร้อมมีข้อถกเถียงสำคัญคือมนุษย์สร้างสังคมขึ้นมาได้อย่างไร และอะไรที่ทำให้สังคมมนุษย์ในแต่ละแห่งมีพัฒนาการต่างกัน การศึกษาของนักมานุษยวิทยาในระยะแรกจึงมุ่งไปที่การเสนอทฤษฎีทางสังคมโดยอาศัยกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์มาค้นหากฎระเบียบและโครงสร้างสังคม เช่นการศึกษาของ Evans-Pritchard, E.E. & Fortes (1940) และ Radcliffe-Brown (1952)

ในช่วงที่กระแสศึกษาสังคมด้วยทฤษฎีโครงสร้างนิยมซึ่งมี Levi-Strauss (1963) เป็นผู้บุกเบิกและมีอิทธิพลต่อนักวิชาการในช่วงทศวรรษ 1950-1960 นักมานุษยวิทยาฝรั่งเศสมิได้สนใจข้อถกเถียงและคำวิพากษ์วิจารณ์ของนักปรัชญาในช่วงเวลานั้น ทำให้ความคิดของฟูโกต์กลายเป็นสิ่งที่อยู่นอกสายตา นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสหันมาศึกษาสังคมภายใต้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และใช้กระบวนทัศน์แบบปฎิฐานนิยมเพื่อค้นหาแก่นแท้และโรงสร้างที่มั่นคงที่มีอยู่ในสังคมทุกหนแห่ง ในขณะที่การศึกษาของนักมานุษยวิทยาในสหรัฐอเมริกาซึ่งคุ้นเคยกับการศึกษาแบบแผนทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง เกิดข้อถกเถียงและมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของ “วัฒนธรรม” ประกอบการปัญหาความขัดแย้งในสงครามเวียดนามในทศวรรษ 1970 ซึ่งการทำงานของนักมานุษยวิทยาถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ปัญหานี้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างความรู้ทางวัฒนธรรมที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปเก็บข้อมูลและนำเรื่องราวชีวิตของคนในวัฒนธรรมอื่นมาเขียน มีการวิจารณ์ว่าความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นถูกสร้างขึ้นจากวิธีคิดแบบตะวันตกที่มองวัฒนธรรมเป็นเหมือนวัตถุที่คงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และวิธีวิทยาที่ใช้ศึกษาก็วางอยู่บนตรรกะแบบเหตุผลที่นักมานุษยวิทยาจะตัดทอนความรู้สึกและประสบการณ์ของตนเองออกไป

เมื่อการการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของงานเขียนทางชาติพันธุ์ ทำให้นักมานุษยวิทยาหันกลับมาตรวจสอบวิธีการแสวงหาความรู้ของตนเองว่าเกิดขึ้นภายใต้โลกทัศน์และกระบวนทัศน์แบบไหน เช่น ในการวิพากษ์วัฒนธรรมการเขียนและอำนาจของผู้เขียนโดย Clifford and Marcus (1986) และ Geertz (1988) ข้อวิจารณ์ดังกล่าวคือจุดเปลี่ยนสำคัญในวงการมานุษยวิทยาในทวีปอเมริกาเหนือ ในช่วงทศวรรษ 1980 จึงเกิดการทบทวนตรวจสอบกระบวนทัศน์ที่นักมานุษยวิทยาใช้อธิบายสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับความคิดของฟูโกต์ถูกนำมาใช้ในวงวิชาการของสหรัฐอเมริกา นักมานุษยวิทยาที่มีบทบาทสำคัญในการนำความคิดของฟูโกต์มาอภิปราย คือ Paul Rabinow และ Hubert L. Dreyfus ซึ่งมีงานเขียนเกี่ยวกับฟูโกต์ ได้แก่ Michel Foucault (1982) Michel Foucault. Beyond structuralism and hermeneutics (1982) The Foucault reader (1984) ความสนใจของ Rabinow ที่มีต่อฟูโกต์เกิดขึ้นหลังจากที่เขาทำงานศึกษาวัฒนธรรมในโมร็อคโค เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีวิทยาทางชาติพันธุ์และการเก็บข้อมูลภาคสนามที่นักมานุษยวิทยายึดถือปฏิบัติมายาวนานภายใต้บริบทของลัทธิอาณานิคมที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษา โดยนักมานุษยวิทยาดำรงอยู่ในฐานะผู้เขียนความจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรมซึ่งขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของการเขียนที่นักมานุษยวิทยาใช้โลกทัศน์ของตัวเองถ่ายทอดเรื่องราวของคนอื่น

Rabinow วิจารณ์ว่างานเขียนของนักมานุษยวิทยาเป็นเพียงการผลิตซ้ำภาพแทนทางวัฒนธรรมที่นักมานุษยวิทยาบอกเล่าผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นในการลงพื้นที่ ในแง่นี้งานเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมจึงไม่ต่างกับงานวรรณกรรมประเภทหนึ่ง (literary genre) ข้อวิจารณ์นี้ทำให้เกิดการรื้อวิธีคิดเกี่ยวกับการทำงานของนักมานุษยวิทยาซึ่งมิได้มีความเป็นกลางอย่างที่เข้าใจ แต่การศึกษาวิถีชีวิตของคนในวัฒนธรรมล้วนเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ควบคุมมิได้ ข้อมูลที่ได้รับมาจากคำบอกเล่าของคนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงเป็นเพียงบทสนทนาที่เกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคม และมิได้เป็นตัวแทนความจริงของวัฒนธรรมแต่อย่างใด บริบทของการได้ข้อมูลจึงมีส่วนสร้างเรื่องราวที่ผู้เขียนนำไปอธิบาย ทั้งนี้ Rabinow (1999) อธิบายว่างานเขียนของนักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม โดยหยิบยืมแนวคิดเรื่อง problematization ของฟูโกต์มาเป็นกรอบในการวิพากษ์การเขียนความจริงทางวัฒนธรรม ดังนั้น “งานเขียน” จึงเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบเพื่อค้นหาที่มาที่ไปของสิ่งที่ถูกเขียนขึ้น

ในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาในสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มระมักระวังในการเขียนงานทางชาติพันธุ์ โดยตรวจสอบบริบททางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษา ประเด็นเรื่อง “อำนาจ” ที่ซ่อนเร้นในการเขียนจึงได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง อำนาจของการเขียนจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายขนบการทำงานทางมานุษยวิทยา และวิธีตรวจสอบอำนาจแบบฟูโกต์จะถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น รวมทั้งการนำข้อถกเถียงของ Derrida (1967) มาทำความเข้าใจ “ข้อเขียน” ในฐานะเป็นผลผลิตจากระบบคิดแบบคู่ตรงข้ามที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกสองสิ่งที่มีค่าไม่เท่ากัน ประเด็นนี้นำไปสู่การวิพากษ์ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับการเขียน กล่าวคือการเขียนที่ถูกเชื่อว่าเป็นการบอกเล่า “ความจริง” กำลังถูกมองในฐานะเป็นเครื่องมือของอำนาจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ฟูโกต์ชี้ให้เห็นว่า “อำนาจกับความรู้” เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้ ความเชื่อมั่นในระเบียบวิธีวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ที่นักมานุษยวิทยารุ่นก่อนเคยถือปฏิบัติมาจึงถูกรื้อถอนใหม่ โดยนำข้อถกเถียงเรื่องอำนาจมาตรวจสอบกระบวนทัศน์และญาณวิทยาแบบปฏิฐานนิยม เพื่อทำความเข้าใจว่างานเขียนทางมานุษยวิทยาคือกระบวนการเชิงอำนาจที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือสร้างความจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรม

Marcus and Fischer (1986) กล่าวว่าความคิดเรื่อง “วัฒนธรรม” และ ชาติพันธุ์วรรณนา คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากลัทธิจักรรนิยมตะวันตกซึ่งคนผิวขาวพยายามแบ่งแยกวัฒนธรรมของตนเองให้ก้าวหน้ากว่าวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง ข้อวิจารณ์นี้ทำให้นักมานุษยวิทยาเริ่มตรวจสอบบทบาทในการสร้างความรู้ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่สะท้อนตัวตนของนักมานุษยวิทยา (reflexive ethnography) รวมทั้งตรวจสอบบริบทสังคมตะวันตกที่สร้างวิธีวิทยาในการเขียนความจริงทางวัฒนธรรม จุดเปลี่ยนนี้ทำให้เกิดการทบทวนการแบ่งแยกระหว่าง “นักมานุษยวิทยาตะวันตก” กับ “คนอื่น” ที่เป็นคนพื้นเมืองต่างวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการสถาปนาภาพแทนของความศิวิไลซ์กับความป่าเถื่อนและล้าหลัง ทั้งนี้ ฟูโกต์ได้ปูทางให้การตรวจสอบตัวตนและความคิดของนักมานุษยวิทยาดำเนินไปได้โดยชี้ให้เห็นว่าความจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรมเป็นผลผลิตจากอำนาจและความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่ก่อตัวขึ้นในระเบียบวิธีวิจัยและการเขียนงานชาติพันธุ์นิพนธ์ (Vaccarino Bremner, 2019)

“อำนาจ” ในความคิดของมิเชล ฟูโกต์

ฟูโกต์ (1975, 2000) อธิบายว่า “อำนาจ” มิใช่สิ่งที่เป็นกฎหมายและข้อบังคับต่างๆที่หน่วยงานรัฐที่สร้างขึ้น และมิใช่เรื่องของการเมืองการปกครองที่นักการเมืองใช้กลไกราชการควบคุมและสั่งการ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจเท่านั้น หากแต่ “อำนาจ” ยังเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการอีกหลายรูปแบบที่ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ การกระทำและวิธีปฏิบัติทางสังคมจึงเป็นพื้นที่ของการแสดงอำนาจในการตอบโต้กันของคนกลุ่มต่างๆ คำอธิบายดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการคิดใหม่เกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองและรูปแบบของอำนาจ ฟูโกต์ยังเสนอว่าการควบคุมคนในสังคมเกิดขึ้นจากวิธีปฏิบัติที่มีกลไกซับซ้อน เป้าหมายของการควบคุมคือชีวิตของพลเมืองที่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับและระเบียบวินัย (disciplinary mechanism) ที่ถูกกำหนดโดยความรู้วิทยาศาสตร์ซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 การควบคุมพลเมืองจึงเกิดขึ้นจากกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนและปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา โดยที่พลเมืองปฏิบัติตามจนเคยชินในชีวิตประจำวัน กลไกของอำนาจจึงแสดงตัวอยู่ในพื้นที่ชีวิตของปัจเจกบุคคล ซึ่งถือเป็นการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของอำนาจที่ต่างไปจากเดิม

ความคิดเรื่องอำนาจที่ดำรงอยู่ในปฏิบัติของชีวิตประจำวันได้รับความสนใจจากนักมานุษยวิทยา เนื่องจากทำให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกันได้อย่างซับซ้อนมากขึ้น ในการศึกษารูปแบบและผลกระทบที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบ นักมานุษยวิทยายังมองเห็นสิ่งที่ฟูโกต์เรียกว่า “เทคโนโลยีของอำนาจ” ซึ่งหมายถึงวิธีการจัดระเบียบประชากรจำนวนมากให้อยู่ในหมวดหมู่ตามเพศภาวะ ช่วงวัย และฐานะทางเศรษฐกิจเพื่อที่รัฐสมัยใหม่จะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดสรรทรัพยากรและการให้สิทธิทางกฎหมาย การจัดระเบียบประชากรในลักษณะนี้รู้จักในนาม “ชีวะการเมือง” (bio-politics) ซึ่งรัฐใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาเป็นบรรทัดฐานเพื่อจัดระเบียบประชาชน เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมโรค การโภชนาการ อนามัยเจริญพันธุ์ สุขภาพของแม่และเด็ก และระบบสาธารณสุข หน่วยงานของรัฐที่เข้ามาทำหน้าที่เหล่านี้จะเป็นกลไกของอำนาจ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สถานสงเคราะห์ เป็นต้น เป้าหมายของอำนาจแบบชีวะการเมืองก็เพื่อทำให้ประชากรของรัฐมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนเพื่อเป็นแรงงานขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ฟูโกต์กล่าวว่าประชากรของรัฐแบบทุนนิยมคือตัวตนและชีวิตของมนุษย์แบบใหม่ที่ถูกจัดระเบียบด้วยความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์

ความเป็นมนุษย์ภายใต้ชีวะการเมือง มีลักษณะที่ต่างไปจากเดิม กล่าวคือ มนุษย์จะกลายเป็น “ร่างกายทางชีววิทยา” (man as body) ที่ถูกตรวจสอบและจัดการให้เป็นระเบียบตามบรรทัดฐานทางการแพทย์ พร้อมกับการทำให้มนุษย์จำนวนมากถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็น “ประชากร” อันหมายถึงเหล่าของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ (man as a species) ภายใต้อำนาจชีวะการเมือง มนุษย์จะถูกตรวจสอบตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันตาย ร่างกายของมนุษย์จะเป็นเป้าหมายของการพิสูจน์โรค ความเจ็ป่วยและการมีสุขภาพที่แข็งแรง ชีวิตมนุษย์ภายใต้อำนาจเหล่านี้จะต้องตอบสนองต่อการอยู่รอดเพื่อใช้ร่างกายในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาและทักษะในการทำงานด้านต่างๆที่ตอบสนองกลไกทางเศรษฐกิจ ร่างกายมนุษย์ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพคือร่างที่ไม่เป็นโรค สามารถทำงานที่สร้างผลผลิตให้กับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสามารถพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญและความรู้ไปได้เรื่อยๆ มนุษย์ที่เกิดมาในรัฐจะถูกจดทะเบียนในฐานะเป็นพลเมืองของชาติและจะถูกเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนจากสถาบันครอบครัว โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างประชากรของชาติที่พร้อมจะทำงานให้กับรัฐ รัฐชาติสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องควบคุมและส่งเสริมสุขภาพประชากรเพื่อให้รัฐเจริญก้าวหน้าและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Foucault, 1997)

ฟูโกต์กับการศึกษาสังคมสมัยใหม่

ในสังคมที่เชื่อมเข้าหากันอย่างรวดเร็วและซับซ้อนในยุคโลกาภิวัตน์ นักมานุษยวิทยาได้นำความคิดของฟูโกต์มาใช้วิเคราะห์กลไกอำนาจที่เกิดขึ้นจากรัฐชาติสมัยใหม่ เพื่อทำความเข้าใจว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆที่เกิดขึ้นในและนอกพรมแดนรัฐดำเนินไปอย่างไร Abeles (2009) อธิบายว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐสมัยใหม่จำนวนมากใช้เทคโนโลยีของอำนาจผ่านความรู้วิทยาศาสตร์และสถาบันสังคมที่สร้างกฎระเบียบและข้อบังคับที่ควบคุมพลเมืองอย่างเคร่งครัด ทำให้เกิดเครือข่ายอำนาจแบบข้ามรัฐ (supranational governmentality) ที่พลเมืองจำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ทางสัญชาติที่ชัดเจน การเคลื่อนย้ายข้ามแดนรัฐของพลเมืองกลุ่มต่างๆจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเข้ามาจัดการ ซึ่งความหมายของอำนาจรัฐในยุคโลกาภิวัตน์มิได้เกิดขึ้นบนเส้นขอบเขตของความเป็นชาติทางภูมิศาสตร์ หากแต่อำนาจรัฐขยายข้ามพรมแดนไปพร้อมกับกฎหมาย ข้อตกลง และพันธสัญญาระหว่างประเทศ ในประเด็นนี้ Appadurai (1996) เคยตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนที่ของประชาชนในยุคโลกาภิวัตน์สะท้อนระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบใหม่ ซึ่งแรงงานจำนวนมากพยายามแสวงหารายได้จากอาชีพที่อยู่ในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่ตามมาคือแรงงานข้ามชาติจำนวนมากถูกควบคุมภายใต้กฎหมายของรัฐที่เข้มงวด ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายเหล่านั้น แรงงานข้ามชาติจึงเผชิญกับความไม่มั่นคงในชีวิตและเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนและกระบวนการค้าแรงงาน

นักมานุษยวิทยาที่นำความคิดเรื่องอำนาจของชีวะการเมืองมาใช้ จะพบเห็นปรากฎการณ์ของความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของแรงงานข้ามชาติและคนพลัดถิ่น ในการศึกษาของ Ong (1999) พบว่าชาวจีนในฮ่องกงซึ่งในครั้งที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พวกเขาสามารถเดินทางไปอังกฤษได้อย่างอิสระในฐานะที่เป็นพลเมืองภายใต้การดูแลของอังกฤษ แต่หลังจากที่ฮ่องกงถูกส่งคืนให้จีนปกครอง ชาวจีนในฮ่องกงจะมีสถานะพลเมืองแบบครึ่งๆกลางๆ เนื่องจากยังคงมีสิทธิการเป็นพลเมืองของอังกฤษและต้องอยู่ภายใต้การปกครองของจีน Ong เรียกสิ่งนี้ว่า “ความเป็นพลเมืองแบบเศษเสี้ยว” (partial citizenship) ในปี 1990 รัฐบาลอังกฤษเคยแก้ไขกฎหมายสิทธิความเป็นพลเมืองเพื่อทำให้ชาวจีนในฮ่องกงสามารถเดินทางเข้ามาทำงานในอังกฤษได้เสรี สาเหตุก็คือรับบาลอังกฤษคาดการณ์ว่าเมื่อต้องคืนฮ่องกงให้กับจีนแล้ว ชาวจีนในฮ่องกงยังสามารถมีสิทธิในความเป็นพลเมืองอังกฤษและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้อังกฤษได้ต่อไป กฎหมายนี้ทำให้กลุ่มชนชั้นนายทุนชาวจีนในฮ่องกงที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปีและมีการศึกษาที่ดีได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองอังกฤษ Ong กล่าวว่ายุทธวิธีดังกล่าวนี้ทำให้อังกฤษสามารถใช้ประโยชน์จากชาวจีนในฮ่องกง ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีของอำนาจที่สร้างความเป็นพลเมืองให้กับชาวจีนที่ต้องการทำธุรกิจในอังกฤษ

อีกกรณีหนึ่งคือการศึกษาชีวิตของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงในชีวิต เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองจากประเทศที่อนุญาตให้อาศัยอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกันประเทศที่เข้าเดินทางจากมาก็ไม่ต้องการให้พวกเขาได้สิทธิความเป็นพลเมือง สภาวะดังกล่าวนี้ Agamben (1997) อธิบายว่าเป็น “ชีวตที่เปลือยเปล่า” (bare life) ชีวิตของผู้อพยพข้ามชาติจึงล่องลอยอยู่ในพื้นที่สังคมที่มิได้รับการยอมรับ เสมือนอยู่ในพื้นที่ที่ไร้ความเป็นพลเมืองและไม่อยู่ในสถานะของการมีตัวตนทางสังคม ลักษณะนี้คือความคลุมเครือและเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ปรากฎการณ์ของผู้อพยพในยุคโลกาภิวัตน์ยังท้าทายความคิดเดิมเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองซึ่งมักจะมองภายใต้ขอบเขตของดินแดนรัฐสมัยใหม่ แต่ชีวิตของผู้อพยพอยู่ในดินแดนที่อยู่นอกการับรองสถานะโดยรัฐ นักมานุษยวิทยาในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 จึงนำความคิดเรื่องชีวิตที่เปลือยเปล่าและชีวะการเมืองของฟูโกต์มาวิเคราะห์ปรากฎการณ์และประสบการณ์ของผู้อพยพในภูมิภาคต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกลไกของอำนาจที่กระทำต่อคนเหล่านี้ ซึ่งผู้อพยพจะถูกสร้างให้เป็นคนชายขอบของความเป็นพลเมือง ต้องเผชิญกับความยากจนและความขัดสนในชีวิต (Agier, 2002; Kleinman et al., 1997) ปัญหาของผู้อพยพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสะท้อนว่าภายใต้ชีวะการเมืองที่สร้างกฎเกณฑ์ความเป็นพลเมือง รัฐพยายามแบ่งแยกมนุษย์โดยใช้กฎหมายความเป็นพลเมืองมาควบคุมและกีดกันกลุ่มคนที่รัฐไม่ต้องการ

ท่ามกลางปัญหาผู้อพยพ มีกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นคานงัดกับหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนกลายเป็นคู่ตรงข้ามกับชีวะการเมือง กล่าวคือในส่วนที่เป็นกฎระเบียบของรัฐมีเป้าหมายเพื่อควบคุมความเป็นพลเมือง ส่วนการทำงานของภาคประชาชนมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม คู่ขัดแย้งนี้คือกลไกทางอำนาจที่ทำงานตอบโต้กันไปมาภายใต้การเมืองของสิทธิพลเมือง การทำความเข้าใจปฏิบัติการของอำนาจที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้อพยพช่วยทำให้การศึกษามานุษยวิทยาเห็นแง่มุมอำนาจที่ซับซ้อนที่แทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของคนที่เสียเปรียบ และมองเห็นการตอบโต้ การท้าทาย การขัดขืน และการต่อสู้ดิ้นรนระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาศัยเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการเข้ามาสร้างกลไกที่เป็นไปได้เพื่อช่วยให้กลุ่มคนที่เสียเปรียบได้มีโอกาสส่งเสียงต่อสาธารณะ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Abeles, M. (2008). Michel Foucault, Anthropology and the Question of Power. L'Homme, 187-188, (3-4), 105-122.

Abeles, M. (2009). Foucault and political anthropology. International Social Science Journal, 59(191), 59 – 68.

Agamben, G. (1997). Homo Sacer. Le pouvoir souverain et la vie nue. Paris: Seuil. [Trans. 1998 as Homo sacer: sovereign power and bare life. Stanford, CA: Stanford University Press].

Agier, M. (2002). Aux bords du monde, les re´fugie´s. Paris: Flammarion. [Trans. 2008 as On the margins of the world: the refugee experience today. Cambridge: Polity Press].

Appadurai, A. (1996). Modernity at large. Minneapolis, MI: University of Minnesota Press.

Clifford, J. & Marcus, G. (eds.). (1986). Writing cultures. Berkeley, CA: University of California Press.

Derrida, J. (1967). De la grammatologie. Paris: Editions de Minuit. [Trans. 1998 as Of grammatology. Corrected edition. Baltimore, MD: Johns Hopkins University Press].

Dreyfus, H. & Rabinow, P. (1982). Michel Foucault. London: Harvester.

Dreyfus, H. & Rabinow, P. (1982). Michel Foucault. Beyond structuralism and hermeneutics. Chicago, IL: University of Chicago Press.

Evans-Pritchard, E.E. & Fortes, M. (Eds.). (1940). African political systems. Oxford: Oxford University Press.

Foucault, M. (1975). Surveiller et punir: Naissance de la prison. Paris: Gallimard. [Trans. 1977 as Discipline and punish: the birth of a prison. New York: Random House].

Foucault, M. (1997). Il faut de´fendre la socie´te´. Cours au Colle`ge de France, 1976. Paris: GallimardSeuil. [Trans. 2003 as Society must be defended: lectures at the College de France, 1975–1976. Picador].

Foucault, M. (2000). The subject and power, In Faubion, J., (ed.), Power: essential works of Foucault, 1954–1984. Vol. 3. New York: New Press.

Geertz, C. (1988). Works and lives: the anthropologist as author. Stanford, CA: Stanford University Press.

Kleiman, A., Das, V. & Lock, M. (1997). Social suffering. Berkeley, CA: University of California Press.

Lévi-Strauss, C. (1963). Structural Anthropology, translated by C. Jacobson and B. G. Schoepf. New York: Basic Books.

Marcua, G. & Fischer, M. (1986). Anthropology as cultural critique. Chicago, IL: University of Chicago Press.

Ong, A. (1999). Flexible citizenship: the cultural logics of transnationality. Duke, NC: Duke University Press.

Rabinow, P. (1984). The Foucault reader. New York: Parthenon Books. Rabinow, P. (1999). American moderns. In Marcus, G., (ed.), Critical anthropology now. (pp.305–333). Santa Fe: School of American Research Press,

Radcliffe-Brown, A.R. (1952). Structure and Function in Primitive Society. Glencoe, Illinois: The Free Press.

Vaccarino Bremner, (2019). Anthropology as critique: Foucault, Kant and the metacritical tradition. British Journal for the History of Philosophy, Retrieved from https://svbremner.github.io/files/VBremner-Anthropology-as-Critique-BJHP-final- proofs.pdf


หัวเรื่องอิสระ: มิเชล ฟูโกต์, อำนาจ, ปรัชญา, มานุษยวิทยา, ชีวะการเมือง