Eco-Cultural Lanscapes
ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม
ภูมิประเทศของโลกประกอบด้วยสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต และกิจกรรมของมนุษย์ที่ประทับรอยบนกายภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์ ระบบนิเวศทางธรรมชาติ และโลกทางกายภาพมีความสำคัญในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 พร้อมกับคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนและการอยู่รอดในความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของมนุษย์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Agnoletti, 2006; Bridgewater & Rotherham, 2019; Merçon et al., 2019) ธรรมชาติและวัฒนธรรมไม่อาจแยกขาดจากกันได้ สิ่งสำคัญคือมนุษย์คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมรดกทางวัฒนธรรมภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามชาติ การบริโภคสินค้าที่เข้มข้นและการคุกคามของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เท่าที่ผ่านมาองค์การยูเนสโกแสดงความห่วงใยต่อการสูญหายไปของภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้เกิดนโยบายการอนุรักษ์และคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) (UNESCO, 2018) พร้อมกับการสนับสนุนให้วัฒนธรรมเหล่านี้ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต นำไปสู่การคุ้มครองวิถีวัฒนธรรมให้อยู่คู่กับระบบนิเวศ (Agnoletti, & Rotherham, 2015)
ความพยายามที่จะโอบอุ้มธรรมชาติให้คงอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของมนุษย์ เริ่มต้นอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 1980 ในการประชุมเกี่ยวกับชีวชาติพันธุ์ ( the First International Congress of Ethnobiology) ที่เมืองเบเล็ม ประเทศบราซิล ปี 1988 ซึ่งมีนักวิชาการและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั่วโลกได้มาร่วมสนทนากัน ข้อเสนอสำคัญคือการแสวงหาวิธีการที่ชนเผ่าพื้นเมืองยังคงมีสิทธิในที่อยู่อาศัยและใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตัวเองได้อย่างยั่งยืน (Berkes, Folke, & Gadgil, 1995) ข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้นำไปสู่แนวคิดเรื่อง “ชีววัฒนธรรม” (biocultural) ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นการดำรงอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมและธรรมชาติซึ่งมีความหลากหลายในภูมิประเทศและระบบนิเวศต่างๆของโลก (Pretty et al., 2009) การให้ความสำคัญของทั้งสองมิตินี้ท้าทายกระบวนัทศน์ของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะแต่เดิมธรรมชาติกับวัฒนธรรมจะถูกแบ่งแยกออกจากกัน ภายใต้ฐานคิดที่ว่าทรัพยากรธรรมชาติต้องไม่ถูกรบกวนจากการกระทำของมนุษย์ (Rotherham, 2008, 2014, 2014a, 2015)
ปฏิญญาของเบเล็ม (the Declaration of Belém) ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกริดรอนสิทธิและถูกคุกคามจากการพัฒนาสมัยใหม่ หลังจากนั้น ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเกิดขึ้นในเวทีนานาชาติหลายครั้ง ประเด็นที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางคือขอบเขตในสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาอยู่อาศัย มีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการธำรงรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ (IPBES, 2016) ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งค่อนข้างวิตกกังวลเกี่ยวกับคำว่า “ความหลากหลายทางชีววัฒนธรรม” (biocultural diversity) เนื่องจากเกรงว่าทรัพยากรธรรมชาติจะไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง นักอนุรักษ์ธรรมชาติวิตกกังวลว่าการยอมให้มนุษย์เข้าไปอาศัยหรือใช้ทรัพยากรเพื่อทำมาหากินจะเป็นการทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนสภาพและขาดความอุดมสมบูรณ์ เสมือนกับเป็นการดัดแปลงธรรมชาติให้กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความบริสุทธิ์ (Hobbs, Higgs, & Hall, 2013)
Nassauer (1995) อธิบายว่าภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม หมายถึงการทำกิจกรรมของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศซึ่งต่างมีผลต่อกัน มนุษย์จะคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ขณะที่ธรรมชาติจะกำหนดวิธีการที่มนุษย์จะปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อม ประเด็นสำคัญคือความหมายที่มนุษย์ให้กับธรรมชาติดำรงอยู่ในโลกทัศน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ระบบนิเวศในที่ต่างๆมิใช่ทรัพยากรในความหมายสากล หากแต่หมายถึงคุณค่าบางอย่างที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่แตกต่างกัน ความเข้าใจนี้ เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เพิกเฉยและมองข้าม ทำให้เกิดความไม่ลงรอยในการอนุรักษ์ธรรมชาติกับการคุ้มครองวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ (Bridgewater & Walton, 1996) ในขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มพยายามผลักดันแนวคิดเรื่อง “ความหลากหลายทางชีววัฒนธรรม” และ “ภูมิทัศน์ทางชีววัฒนธรรม” (biocultural landscapes) เพื่อทำให้การคุ้มครองวีถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่อาศัยในระบบนิเวศดำเนินไปพร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (Poe, Norman, & Levin, 2014)
Loh and Harmon (2005) กล่าวว่าความหลากหลายทางชีวภาพดำรงอยู่ร่วมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์และนักสังคมศาสตร์จำเป็นต้องเห็นความสำคัญในเรื่องนี้และควรร่วมแสวงหาแนวทางที่จะสนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อกัน เพื่อทำให้ธรรมชาติและวัฒนธรรมไม่แยกขาดจากกัน เช่นเดียวกับ Cocks (2006) กล่าวว่าความหลากหลายทางชีววัฒนธรรมบ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพและสังคมของมนุษย์ หากธรรมชาติถูกทำลาย สังคมของมนุษย์ก็จะอยู่รอดได้ยาก ขณะเดียวกันวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในระบบนิเวศที่หลากหลายก็ย่อมจะมีวิธีการให้คุณค่ากับธรรมชาติที่หลากหลายด้วย รวมทั้ง การตั้งคำถามเกี่ยวกับความซับซ้อนทางวัฒนธรรมที่โลกเชื่อมโยงและหลอมรวมเข้าด้วยกัน ทำให้ความเป็นท้องถิ่นเจือปนและแทรกตัวอยู่ในความเป็นวัฒนธรรมโลก การทำความเข้าใจ “วัฒนธรรม” จึงไม่ควรมองเชิงภาพนิ่ง แต่ควรตรวจสอบความสัมพันธ์แบบใหม่ๆที่มนุษย์กับธรรมชาติมีปฏิกิริยาต่อกัน
ในช่วงทศวรรษ 2010 องค์การยูเนสโก สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites) และสหพันธ์สถาปนิกภูมิทัศน์นานาชาติ ได้นำแนวคิดความหลากหลายทางชีววัฒนธรรมไปเป็นกรอบในการทำงานและขับเคลื่อนเพื่อการรักษาภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเห็นการดำรงอยู่ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้า ซึ่งมนุษย์มีระบบทางสังคมและศีลธรรมที่จะพึ่งพาอาศัยพืชและสัตว์ในการดำรงชีพ Rotherham (2014a, 2014) กล่าวว่าภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม หมายถึงระบบนิเวศที่มนุษย์กับธรรมชาติมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จนทำให้เกิดแบบแผนและลักษณะเฉพาะทางสังคมและวัฒนธรรมในถิ่นที่อยู่อาศัย ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและรูปลักษณ์ทางกายภาพของภูมิประเทศ แบบแผนทางสังคมวัฒนธรรมจึงเปลี่ยนไปพร้อมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ กล่าวคือในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปตลอดเวลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่บริบทสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี เช่นการเพิ่มจำนวนประชากร การขยายตัวของเมือง การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น
Rozzi (2018) ตั้งข้อสังเกตว่าทิศทางการพัฒนาของโลกภายใต้ระบอบการค้าข้ามชาติและลัทธิเสรีนิยมใหม่ กำลังทำให้เกิดการสร้างภูมิทัศน์เชิงนิเวศวัฒนธรรมที่ดูเหมือนกันในทุกพื้นที่ (Biocultural Homogenization) ลักษณะเฉพาะที่เคยปรากฏอยู่ในท้องถิ่นต่างๆค่อยๆเปลี่ยนเป็นลักษณะร่วมที่พบได้ในพื้นที่อื่นๆ ปรากฎการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลของทุนนิยมข้ามชาติและวัฒนธรรมบริโภคได้แทรกตัวและส่งต่อไปยังชีวิตของคนท้องถิ่น ทำให้แบบแผนวัฒนธรรมของคนเหล่านั้นขยับเข้าใกล้แบบแผนชีวิตของชาวตะวันตก ในขณะที่ระบบนิเวศทางธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคม การเคลื่อนย้ายแรงงาน ระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การทำปศุสัตว์ เพื่อส่งผลผลิตไปยังตลาดโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้พืชและสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่กับพืชและสัตว์ท้องถิ่น พร้อมกับการทำลายความสมดุลทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการฟื้นฟูภูมิทัศน์ทางนิเวศวัฒนธรรม ในหมู่นักวิชาการจึงเสนอแนวคิดเรื่อง “การทำให้ธรรมชาติกลับคืนมา” (rewilding) (Monbiot, 2013; Sandom et al., 2018)
ช้อพิจารณาเรื่องภูมิทัศน์เชิงนิเวศวัฒนธรรม
ในวงวิชาการกระแสหลักที่ยึดโยงอยู่กับองค์การระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น มักจะสนใจการสร้างสมดุลและการพึ่งพาอาศัยระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (Cocks & Wiersum, 2014; Redford & Painter, 2006) ฐานคิดนี้นำไปสู่การสร้างมาตรการและกลไกเพื่อการปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศวัฒนธรรมที่มีภูมิปัญญาและความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองปรากฎอยู่อย่างต่อเนื่อง และเรียกพื้นที่เหล่านั้นเป็น “เขตอนุรักษ์คุ้มครอง” ในขณะที่มีการโจมตีการพัฒนาสมัยใหม่และไม่ต้องการให้ความทันสมัยจากภายนอกเข้าไปเจือปนกับนิเวศวัฒนธรรม แต่พยายามเก็บรักษาประเพณีวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองให้อยู่คู่กับธรรมชาติและถิ่นอาศัย (บุญยงค์ เกศเทศ, 2550; วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, 2556; อนุกูล ตันสุพล, 2559; Rapport & Maffi 2010) อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีการพูดถึงน้อยคือ ความสามารถของมนุษย์ที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไขธรรมชาติให้สอดคล้องกับวิธีการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ต่างไปจากจารีตประเพณี
การพิจารณาความทันสมัยจากภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางวัฒนธรรม อาจต้องมองในมิติของการปรับตัวที่มนุษย์และธรรมชาติเข้าไปมีส่วนในการกลไกการพัฒนา เพราะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและแบบแผนทางวัฒนธรรมล้วนสัมพันธ์กับกิจกรรมที่มนุษย์กระทำขึ้นเพื่อที่จะทำให้ชีวิตอยู่รอดได้ในสภาวะใหม่ สิ่งเหล่านี้จึงไม่เคยหยุดนิ่ง (Laird et al., 2011; Turnhout et al., 2013) การทำความเข้าใจภูมิทัศน์เชิงนิเวศวัฒนธรรมจึงต้องเห็นพลวัตของ “การใช้ชีวิต” (livelihood) ซึ่งมนุษย์พยายามต่อสู้ดิ้นรนด้วยวิธีการต่างๆภายใต้เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การผูกโยงนิเวศวัฒนธธรรมเข้ากับ “วัฒนธรรมแบบจารีตประเณี” เพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้เข้าใจพลวัตของธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มนุษย์เข้าไปจัดการและปรุงแต่ง
ตัวอย่างการศึกษาของ Cocks & Wiersum (2014) พบว่าในสังคมของชนเผ่า Amaxhosa ในประเทศแอฟริกาใต้ พวกเขายังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้า พืชกว่า 200 ชนิดถูกนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งเป็นอาหาร ยารักษาโรค ใช้ในพิธีกรรม และเป็นเชื้อเพลิง พวกเขานับถือวิญญาณของบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในธรรมชาติ สัตว์เลี้ยงของพวกเขามีความหมายต่อการสร้างสังคมและเครือญาติ ปัจจุบันชนเผ่า Amaxhosa เข้ามาทำงานในเมือง ซึ่งมีแบบแผนชีวิตที่ต่างไปจากการอยู่ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในชนบท แต่พวกเขาก็มีการเดินทางติดต่อกับญาติพี่น้องที่อยู่ในชนบท พวกเขาจึงสามารถใช้วัฒนธรรมเดิมมาประยุกต์เข้ากับการใช้ชีวิตสมัยใหม่ ในแง่นี้จะเห็นว่านิเวศวัฒนธรรมเกิดขึ้นภายใต้กิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง กิจกรรมบางอย่างอาจเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น ขณะที่กิจกรรมบางอย่างเป็นการเก็บรักษาธรรมชาติ กิจกรรมของมนุษย์จึงสร้างขอบเขตของนิเวศวัฒนธรรมแคบกว้างไม่เท่ากัน ดังนั้น การธำรงรักษาสมดุลของธรรมชาติและวัฒนธรรมจึงดำเนินไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและวัฒนธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อทางศาสนา จักรวาลวิทยา ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ไม่สามารถแยกขาดจากกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในบริบทโลกที่เปลี่ยนไป (Pretty et al., 2009)
ความหลากหลายของนิเวศวัฒนธรรมไม่ควรถูกครอบงำด้วยกระบวนทัศน์ “การอนุรักษ์” (conservation-oriented) แต่ควรขยายขอบเขตความเข้าใจใหม่ไปสู่การมองเห็นปฏิสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งระหว่างมนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และแบบแผนทางวัฒนธรรม (อรัญญา ศิริผล, 2564) นอกจากนั้น ควรทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของระบบนิเวศในฐานะเป็นการปรับเปลี่ยนภูมิประเทศภายใต้กิจกรรมที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ ไม่ควรมองระบบนิเวศในมิติแคบๆที่เห็นแต่ภูมิประเทศของพืชและสัตว์ที่ตัดขาดจากมนุษย์ ควรมองเห็นความหลากหลายของชีวทางเกษตกรรม (agrobiodiversity) ที่ดำเนินไปพร้อมกับกิจกรรมทางสังคม (Cocks & Wiersum, 2014; Wiersum, 2010)
การทำความเข้าใจความหลากหลายของชีววัฒนธรรมต้องพิจารณาเงื่อนไขของ “การใช้ชีวิตทางสังคม” ของคนแต่ละกลุ่ม และเชื่อมโยงให้เห็นถึงการนำเอาความรู้ดั้งเดิมและความรู้สมัยใหม่มาใช้นิยามความหมายของวัฒนธรรมและธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นว่า “ชีววัฒนธรรม” มีความซับซ้อนและเคลื่อนตัวไปตลอดเวลา ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติมิได้เกิดขึ้นภายใต้โลกทัศน์และจักรวาลวิทยาแบบจารีตประเพณีเท่านั้น หากแต่มันยังปรากฏขึ้นในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปในสังคมที่เปลี่ยนแปลงและมีเงื่อนไขใหม่ๆ (Cocks & Wiersum, 2014) สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวตลอดเวลา การขีดเส้นแบ่งให้มนุษย์อยู่ในพรมแดนที่มีขอบเขตชัดเจนอาจไม่ช่วยทำให้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนแบบใหม่ๆที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
บุญยงค์ เกศเทศ. (2550). ภูมินิเวศสร้างค่า ภูมิปัญญาสร้างคน. มหาสารคาม : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย มหาสารคาม.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2556). นิเวศวัฒนธรรมในความเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
อนุกูล ตันสุพล” (2559). นิเวศวิทยาวัฒนธรรม: กุญแจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน. วารสารวิชาการคณะ มนุษยศาสตรืและสังคมศาสตร์, 12(1), 193-221.
อรัญญา ศิริผล. (2564). มานุษยวิทยานิเวศ: พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Agnoletti, M. (Ed.) (2006). The conservation of cultural landscapes. Wallingford, Oxon: CAB International.
Agnoletti, M., & Rotherham, I. D. (2015). Landscape and biocultural diversity. Biodiversity and Conservation, 24, 3155– 3165.
Berkes, F., Folke, C., & Gadgil, M. (1995). Traditional ecological knowledge, biodiversity, resilience and sustainability. In: C. A. Perrings, K.-G. Mäler, C. Folke, C. S. Holling, & B.- O. Jansson (Eds.), Biodiversity conservation (pp.281– 300). Dordrecht, The Netherlands: Kluwer.
Bridgewater, P., & Walton, D. W. (1996). Towards a new framework for vertebrate conservation. In D. J. Kitchener, & A. Suyanto (Eds.), Proceedings of the 1st Eastern Indo-Australian Conference on Vertebrates, (pp. 59– 63). Western Australian Museum, Perth.
Bridgewater, P & Rotherham, I.D. (2019). A critical perspective on the concept of biocultural diversity and its emerging role in nature and heritage conservation. People and Nature, 1(3), 291-304.
Cocks, M. L. (2006). Biocultural diversity: Moving beyond the realm of ‘indigenous’ and ‘local’ people. Human Ecology, 34(2), 185– 200.
Cocks, M. L. & Wiersum, F. (2014). Reappraising the Concept of Biocultural Diversity: a Perspective from South Africa. Human Ecology, 42(5), 727-737.
Hobbs, R. J., Higgs, E. S., Hall, C. M. (eds.) (2013). Novel ecosystems: Intervening in the new ecological world order (p. 380). New Jersey, NJ: John Wiley & Sons.
IPBES. (2016). Summary for policymakers of the assessment report of the intergovernmental science-policy platform on biodiversity and ecosystem services (IPBES) on pollinators, pollination and food production. Bonn, Germany: Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services.
Laird, S. A., Awung, G. L., Lysinge, R. J., and Ndive, L. E. (2011). The interweave of people and place: biocultural diversity in migrant and indigenous livelihoods around Mount Cameroon. International Forestry Review, 13(3), 275–293.
Loh, J., & Harmon, D. (2005). A global index of biocultural diversity. Ecological Indicators, 5, 231– 241
Merçon, J., Vetter, S., Tengö, M., Cocks, M., Balvanera, P., Rosell, J. A., & Ayala-Orozco, B. (2019). From local landscapes to international policy: Contributions of the biocultural paradigm to global sustainability. Global Sustainability, 2(e7), 1– 11.
Monbiot, G. (2013). Feral: Searching for enchantment on the frontiers of rewilding. London, UK: Allen Lane. Nassauer, J. I. (1995). Culture and changing landscape structure. Landscape Ecology, 10, 229– 238.
Poe, M. R., Norman, K. C., & Levin, P. S. (2014). Cultural dimensions of socioecological systems: Key connections and guiding principles for conservation in coastal environments. Conservation Letters, 7, 166– 175.
Pretty, J., Adams, B., Berkes, F. F., de Athayde, S., Dudley, N., Hunn, E., Maffi, L., et al. (2009). The intersections of biological diversity and cultural diversity: Towards integration. Conservation and Society, 9(2), 100–11 2.
Rapport, D., & Maffi, L. (2010). The dual erosion of biological and cultural diversity: implications for the health of ecocultural systems. In Pilgrim, S., and Pretty, J. (eds.), Nature and culture, rebuilding lost connections. (pp. 103–119) London: Routledge and Earthscan.
Redford, K.H., & Painter, M. (2006). Natural alliances between conservationists and indigenous peoples. Wildlife conservation society. WCS Working Paper No. 25, New York.
Rotherham, I. D. (2008). The importance of cultural severance in landscape ecology research. In: A. Dupont & H. Jacobs (Eds.), Landscape ecology research trends (pp. 71– 87). Hauppauge, NY: Nova Science Publishers Inc.
Rotherham, I. D. (2014). Eco-History: A short history of conservation and biodiversity. Cambridge, UK: The White Horse Press.
Rotherham, I. D. (2014a). The call of the wild. Perceptions, history people & ecology in the emerging paradigms of wilding. ECOS, 35(1), 35– 43.
Rotherham, I. D. (2015). Bio-cultural heritage & biodiversity – Emerging paradigms in conservation and planning. Biodiversity & Conservation, 24, 3405– 3429.
Rozzi, R. (2018). Biocultural homogenization: A wicked problem in the anthropocene. In: R. Rozzi, R. H. May, F. S. ChapinIII, F. Massardo, I. Klaver, A. Pauchard, M. A. Nuñez, & D. Simberloff (Eds.), From biocultural homogenization to biocultural conservation. Ecology and ethics (Vol. 3). Cham, Switzerland: Springer.
Sandom, C. J., Dempsey, B., Bullock, D., Ely, A., Jepson, P., Jimenez-Wisler, S., … Senior, R. A. (2018). Rewilding in the English uplands: Policy and practice. Journal of Applied Ecology, 00, 1– 8.
Turnhout, E., Waterton, C., Neves, K., and Buizer, M. (2013). Rethinking biodiversity: from goods and services to ‘living with’. Conservation Letters, 6(3), 154–161.
UNESCO. (2018). What is Intangible Cultural Heritage? Retrieved from https://ich.unesco.org/en/what-is-intangible-heritage-00003
Wiersum, K. F. (2010). Forest dynamics in southwest Ethiopia: Interfaces between ecological degradation and resource enrichment. In Bongers, F., and Tennigkeit, T. (eds.), Degraded forests in eastern Africa. Management and restoration. (pp. 323–342). London and Washington: Earthscan.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, นิเวศวัฒนธรรม, ธรรมชาติ, ภูมิทัศน์, มนุษย์, ชีววัฒนธรรม