คำศัพท์

Prostitution

การศึกษาชีวิตของผู้ขายบริการทางเพศ

ช่วงกลางทศวรรษ 1990 นักมานุษยวิทยาเริ่มศึกษาชีวิตของผู้ขายบริการทางเพศอย่างจริงจัง โดยนำกรอบแนวคิดของเฟมินิสต์มาเป็นแนวทางวิเคราะห์บทบาทของเพศภาวะและเพศวิถีในสังคมสมัยใหม่ (Dewey, 2013) การศึกษาของ Allison (1994) พบว่าพนักงานบริหารหญิงในคลับของกรุงโตเกียวจำนวนมากจะทำหน้าที่ปรนนิบัติและบริการผู้ชายที่เข้ามาแสวงหาความสำราญยามค่ำคืน พวกเธอจะมีหน้าที่รินเหล้า จุดไฟแช็ค คลอเคลีย พูดคุยเอาใจ สร้างความสุขสนานให้กับแขกที่มาใช้บริการ แขกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่ทำงานบริษัทธุรกิจที่ต้องการมาผ่อนคลายความเครียด สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหญิงบริการหรือสาวโฮสเตสปรนนิบัตินักธุรกิจเหล่านั้นคือความเพลิดเพลินและรื่นรมย์ Allison มองว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ทำให้เห็นว่าการแสดงความเป็นชายในสังคมญี่ปุ่นต้องพึ่งพาอาศัยความนุ่มนวลอ่อนหวานและการปรนเปรอจากผู้หญิง ชีวิตกลางคืนที่พบในสถานเริงรมย์ของชาวญี่ปุ่นเป็นภาพสะท้อนของระบบเศรษฐกิจที่ผู้ชายมีอำนาจ ซึ่งพวกเขาสามารถจับจ่ายใช้สอยและซื้อบริการความสุขทางเพศ

การศึกษาของ Manderson (1992) อธิบายให้เห็นว่าหญิงขายบริการทางเพศในย่านพัฒน์พงศ์ซึ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจและการท่องเที่ยวทางเพศที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ ผู้หญิงที่เข้ามาทำงานในบาร์ที่ขายบริการทางเพศ พวกเธอต้องใช้เรือนร่างเพื่อแสดงกิจกรรมทางเพศให้ชาวต่างชาติมองดูด้วยความตื่นเต้น สนุกสนานและเร้าใจ ผู้หญิงกลุ่มนี้เปรียบเสมือน “จินตนการทางเพศ” สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเข้ามาใช้บริการ การแสดงออกของพวกเธอถูกจับจ้องและถูกให้ความหมายหลายลักษณะ มีทั้งการแสดงความแปลกประหลาด พิสดาร ความหวาดเสียว ความตื่นเต้นเร้าใจ ไปจนถึงความน่าอายและเสื่อมเสียศีลธรรม Manderson กล่าวว่าการแสดงกิจกรรมทางเพศของหญิงบริการในย่านพัฒน์พงศ์คือเซ็กส์ในพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปดูเพื่อความตื่นตาตื่นใจ

ในสังคมไทยซึ่งมีการควบคุมเรื่องเพศอย่างเคร่งครัด แต่พื้นที่พัฒน์พงศ์คือแหล่งธุรกิจทางเพศที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก ชีวิตของหญิงขายบริการเหล่านี้สวนทางกับบทบาททางวัฒนธรรมที่ผู้หญิงถูกสอนให้ทำหน้าที่เป็นภรรยาและแม่ที่ต้องเลี้ยงดูสามีและบุตร บทบาทของผู้หญิงจึงเสมือนเป็นผู้ค้ำจุนครอบครัว ในกรณีของหญิงขายบริการซึ่งส่วนใหญ่มาจากชนชั้นล่างที่มีฐานะยากจน พวกเธอจะนำเงินที่ได้จากการขายบริการส่งไปให้พ่อแม่ หญิงขายบริการจึงทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจ Manderson ตั้งข้อสังเกตว่าหญิงขายบริการในสังคมไทยดำเนินชีวิตอยู่นอกบรรทัดฐานการแต่งงานและการสร้างครอบครัว เนื่องจากการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศเกิดขึ้นในเขตเมือง ตัดขาดจากเครือข่ายสังคมที่พบในชุมชนหมู่บ้าน การทำงานขายบริการทางเพศจึงทำให้ผู้หญิงชนชั้นล่างเปลี่ยนสถานะทางสังคมจากการเป็นลูกสาว ภรรยา และแม่ ไปเป็นผู้ใช้แรงงานในธุรกิจบริการทางเพศ การทำงานขายบริการทางเพศจึงเป็นกลไกที่ทำให้ผู้หญิงสามารถเดินออกจากกรอบจารีตประเพณี

การศึกษาของ Kaye (2007) กล่าวว่าผู้ชายที่ขายบริการทางเพศตามท้องถนนยามค่ำคืน คนกลุ่มนี้มีประสบการณ์ชีวิตที่ต่อสู้กับความเสี่ยงและอันตรายในลักษณะต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เขาสามารถเอาตัวรอดจากอันตรายและภัยคุกคามที่เกิดขึ้น เช่น แก็งอันธพาล ผู้มีอิทธิพล ผู้ค้ายาเสพติด ตำรวจ เป็นต้น คนกลุ่มนี้จะสร้างกลุ่มเพื่อนที่ทำงานขายบริการบนท้องถนน กลุ่มเพื่อนจะช่วยให้เขาได้รับการปกป้องดูแล ผู้ชายขายบริการตามท้องถนนมีวิธีให้บริการลูกค้าหลายลักษณะทั้งการใช้มือสำเร็จความใคร่ ใช้ปากดูดอวัยวะเพศของลูกค้าไปจนถึงมีเซ็กส์ในโรงแรม พวกเขาไม่ต้องการถูกเรียกว่า “ผู้ชายขายตัว” ในทางกลับกันเขารู้สึกว่างานที่ทำต้องมีทักษะและความสามารถที่จะทำให้ลูกค้าพึงพอใจ เสมือนเป็นผู้สร้างความสุขและจินตนาการ งานเหล่านี้ทำให้พวกเขามีรายได้จำนวนมาก นอกจากนั้น ยังพบว่าในกลุ่มผู้ชายที่ขายบริการมีความแตกต่างทางเชื้อชาติและสีผิว ซึ่งหน่วยงานรัฐมักจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ชายผิวขาวมากกว่าผู้ชายผิวดำ สิ่งนี้คือการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน

การขายบริการทางเพศในมุมมองเฟมินิสต์

มุมมองแบบเฟมินิสต์มีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจบทบาททางเพศที่สัมพันธ์กับมิติสังคม เศรษฐกิจและระบอบอำนาจชายเป็นใหญ่ เป้าหมายสำคัญของการศึกษาในแนวนี้ก็คือการชี้ให้เห็นสิทธิของผู้หญิงและการล้วงละเมิดทางเพศ (Comte, 2014) นักวิชาการเฟมินิสต์มีความคิดต่อการขายบริการทางเพศเป็น 2 กระแส กระแสแรกคือกลุ่มที่ต้องการล้มล้างระบบการค้าประเวณี (Abolitionists) เน้นปัญหาผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อธุรกิจการค้าประเวณีซึ่งถือเป็นความรุนแรงทางเพศ การขายบริการเปรียบเสมือนการนำผู้หญิงมาข่มขืน เป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงให้เป็นเพียงวัตถุทางเพศ (objectification of women) ร่างกายผู้หญิงจะถูกมองเป็นสิ่งที่ปรนเปรอความต้องการของผู้ชายเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของผู้หญิง และเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาควบคุมและกำจัดการขายบริการทางเพศที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ (Brock, 1998) เฟมินิสต์กลุ่มนี้ต้องการทำลายธุรกิจทางเพศที่นำผู้หญิงมาเป็นสินค้า (Barry, 1997; Dworkin, 1993)

กระแสที่สอง สนใจระบบอำนาจชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำผู้หญิงให้อยู่ในกฎระเบียบและบรรทัดฐานที่ผู้ชายสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมผู้หญิงให้เป็นฝ่ายยอมจำนน การตีตราผู้หญิงที่ทำผิดกฎเกณฑ์สังคม นักวิชาการกลุ่มนี้จึงเรียกร้องให้ผู้หญิงออกมาทวงสิทธิและเสรีภาพ โดยไม่ยอมจำนนต่อบรรทัดฐานและกฎของผู้ชาย รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้หญิงมีความภูมิใจในเนื้อตัวร่างกายและความปรารถนาทางเพศของตัวเอง (Califia, 1994; Pheterson, 1989) การศึกษาของเฟมินิสต์สองกระแสนี้ทำให้เกิดการถกเถียงระหว่างขั้วเฟมินิสต์หัวรุนแรงที่มองการขายบริการในฐานะเป็นปัญหาอาชญากรรมและต้องการให้ยุติธุรกิจทางเพศ รวมถึงการนำผู้ซ้อบริการทางเพศมาลงโทษ (Farley, 2003; Jeffreys, 2009) กับขั้วที่เชื่อว่าการขายบริการคือสิทธิของผู้หญิง โดยผู้หญิงควรแสดงตัวตนในแบบที่ตนเองเลือกได้ รวมถึงมองว่าการขายบริการทางเพศเป็นวิธีที่ผู้หญิงสามารถต่อรองและท้าทายอำนาจผู้ชายได้ เฟมินิสต์ที่สนับสนุนการค้าประเวณีจึงคิดว่าเซ็กส์มิใช่เรื่องผิด และมิได้ทำให้ผู้หญิงไร้ค่าหรือเป็นวัตถุ แต่เป็นกลไกที่ผู้หญิงสามารถมีอำนาจในตัวเองได้ เฟมินิสต์กลุ่มนี้จึงเรียกร้องให้การขายบริการทางเพศเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย เพราะอาชีพขายบริการเสมือนเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจที่ผู้หญิงสามารถมีรายได้และนำมาพัฒนาชีวิตของตัวเอง (Guillaumin, 1995)

การขายบริการทางเพศที่ท้าทายระบบเพศ

การศึกษาของ Kulick (1997) ชี้ให้เห็นชีวิตของคนข้ามเพศ (ชายที่แต่งกายเป็นหญิง) ที่ทำงานขายบริการทางเพศในประเทศบราซิล ในภาษาลาตินเรียกชื่อคนเหล่านี้ด้วยคำว่า maricdn, cochon, joto, marica, pajara, loca, frango, bicha คนกลุ่มนี้ทำหน้าที่ให้ความสุขทางเพศกับลูกค้าที่เป็นชายซึ่งพวกเขาสามารถแสดงบทบาทได้ทั้งเป็นฝ่ายรุกและฝ่ายรับ พฤติกรรมดังกล่าวท้าทายความเชื่อเกี่ยวกับบทบาทของเพศที่สังคมมีตีตราว่าผู้ชายที่มีกิริยาท่าทางเป็นหญิงจะต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำทางเพศเมื่อมีเซ็กส์กับผู้ชายเท่านั้น ชีวิตของคนข้ามเพศที่ทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการขายบริการทางเพศ บทบาทหญิงและชายมิได้ตัดสินจากสรีระและอวัยวะสืบพันธุ์ แต่มาจากพฤติกรรมที่แสดงออก คนข้ามเพศจึงไม่สามารถจัดอยู่ในระเบียบบรรทัดฐานของหญิงชาย คนกลุ่มนี้แสดงพฤติกรรมที่สลับไปมาและอยู่ระหว่างกลางของความเป็นหญิงและชาย Kulick กล่าวว่าสังคมบราซิลมักจะมองชายที่มีแสดงออกแบบหญิงว่า “ไม่ใช่ผู้ชาย” ขณะที่ผู้ชายที่ซื้อบริการทางเพศจากกลุ่มคนข้ามเพศเหล่านี้มักจะนิยามตนเองเป็น “ชายรักต่างเพศ” ที่นิยมเป็นฝ่ายกระทำทางเพศ และปฏิบัติต่อคนข้ามเพศเหมือนพวกเธอเป็นหญิงที่ต้องปรนเปรอความสุขให้ผู้ชาย เมื่อผู้ชายมีเซ็กส์กับกลุ่มคนข้ามเพศที่ขายบริการ ผู้ชายจะคิดว่านั่นคือวิธีการแสดงออกถึงความเป็นชายในตัวเอง

การศึกษาของ Victor Minichiello and John Scott (2014) ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจทางเพศกระแสหลักที่ถูกครอบงำด้วยบรรทัดฐานแบบชายคู่หญิง ทำให้สังคมไม่เข้าใจผู้ขายบริการที่เป็นผู้ชาย เมื่อผู้ชายให้บริการทางเพศกับลูกค้าซึ่งมีทั้งเพศชาย เพศหญิง คนข้ามเพศ และคนรักเพศเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการรื้อความหมายของความเป็นชาย ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ชายที่ให้บริการทางเพศกับลูกค้าก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาวะของการมีตัวตน โดยที่ผู้ชายจะรู้สึกว่าการให้บริการทางเพศคือวิธีปฏิบัติที่สร้างความรู้สึกแบบใหม่ ทำให้ค้นพบความหมายใหม่ของการแสดงความเป็นชายที่ต่างไปจากกฎเกณฑ์เดิม ผู้ชายที่ขายบริการจะไม่ยึดติดกับแบบแผนอัตลักษณ์ที่ตายตัว แต่พยายามแสวงหาตัวตนใหม่ๆในขณะที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ใช้บริการ ความเป็นชายจึงมีลักษณะเคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพศภาวะที่เกิดขึ้นในการขายบริการทางเพศจึงมิใช่สิ่งที่มั่นคงถาวร (Laing, Pilcher, & Smith, 2015) นอกจากนั้น ยังพบว่าประสบการณ์ขายบริการทางเพศ ทำให้ผู้ชายนิยามตนเองเป็นเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ เช่นการฝึกฝนเป็นนักเต้นเปลื้องผ้าที่มีลีลาประทับใจและดึงดูดลูกค้าที่เข้ามาชม (Pilcher, 2016)

การศึกษาของ Frembgen (2008) อธิบายให้เห็นว่าผู้ชายมุสลิมในรัฐปัญจาบ ประเทศปากีสถานที่ประกอบอาชีพเป็นหมอนวดที่คอยให้บริการความสุขทางเพศแก่ผู้ชาย คือภาพสะท้อนของประสบการณ์ทางร่างกายที่ผู้ชายนำมาใช้เพื่อสร้างตัวตน อารมณ์ความรู้สึก และความสัมพันธ์ทางสังคม ทักษะ เทคนิค และความสามารถของหมอนวดชายในปากีสถานคือทุนที่สำคัญที่ทำให้ผู้ชายได้รับความสุขและความผ่อนคลาย ในสังคมปากีสถาน การนวดถือเป็นการสร้างสุขภาวะและเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ผู้ที่ได้รับการนวดจะรู้สึกเป็นเกียรติ ผู้นวดจะรู้สึกภูมิใจที่ให้บริการ ในทางความเชื่อ ชาวปากีสถานมองว่าการนวดคือการส่งพรวิเศษ หรือ baraka จากผู้นวด (malshia) ไปให้ผู้ที่ถูกนวด ตามธรรมของชาวปัญจาบ การนวดเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันในกลุ่มผู้ชายที่เรียกว่า zat ซึ่งถือเป็นภูมิปัญาที่มีค่า แต่ในศาสนาอิสลามตีความเรื่องร่างกายต่างไปจากวัฒนธรรมการนวด โดยมองว่าการนวดเป็นพฤติกรรมที่ต่ำช้า (ganda kam) เพราะคลุกคลีกับสิ่งสกปรก

หมอนวดชายในปากีสถานมีรูปแบบที่หลากหลายและมีการแบ่งแยกกันระหว่างหมอนวดมืออาชีพ กับหมอนวดที่แฝงตัวเข้ามาเพื่อขายบริการทางเพศ หมอนวดส่วนใหญ่เป็นชายที่มีฐานะยากจนจะแสวงหาลูกค้าตามสวนสาธารณะและริมถนนในช่วงเย็น พื้นที่บริเวณนี้ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ตำรวจจะไม่เข้ามาจับกุม ลูกค้าบางรายจะเรียกหมอนวดไปที่บ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว หมอนวดคือผู้ที่ต้องสัมผัสกับอวัยวะต่างๆในร่างกายของลูกค้า ซึ่งทำให้การนวดเกี่ยวข้องกับการจับต้องอวัยวะเพศ ลูกค้าบางรายอาจเสนอให้หมอนวดที่อยู่ในวัยหนุ่มสำเร็จความใคร่เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ หมอนวดที่แฝงตัวเข้าขายบริการทางเพศจะเตร็เตร่หาลูกค้าบริเวณสถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารประจำทาง ลานจอดรถ ตามโรงแรมราคาถูก ที่พักของคนขับรถบรรทุก ลูกค้าที่มีฐานะบางรายจะขับรถผ่านมาและเรียกหมอนวดหนุ่มๆและหน้าตาดีเข้าไปในรถและเดินทางไปยังที่พักของลูกค้าเพื่อบริการทางเพศ ลูกค้าบางรายจะติดต่อพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารเพื่อให้หาหมอนวดมาให้บริการทางเพศในโรงแรม สังคมจึงมักมองอาชีพหมอนวดเสมือนเป็นโสเภณีที่น่ารังเกียจและเป็นพฤติกรรมที่ผิดบาป (liwat) ขัดต่อคำสอนของศาสนาอิสลาม (Wafer, 1997)

ในวัฒนธรรมอิสลาม เรียกความสัมพันธ์เชิงกามารมณ์ระหว่างผู้ชายว่า “munda-bazi” ซึ่งเกี่ยวโยงกับพฤติกรรมผู้ชายที่ชอบเต้นรำและแสดงออกเหมือนผู้หญิง (khusras) ผู้ชายที่มีลักษณะนี้จะแสดงบทบาทเป็นฝ่ายรับหรือเป็นผู้ถูดสอดใส่อวัยวะเพศทางทวารหนัก ลูกค้าชายที่มีอายุมักชอบสอดใส่อวัยวะเพศเข้าไปทางทวารหนักของหมอนวดหนุ่มวัยเยาว์ แต่บางกรณี ลูกค้าก็ให้หมอนวดหนุ่มเป็นฝ่ายกระทำโดยสอดใส่อวัยวะเพศเข้าทาวารหนักของเขา บทบาททางเพศของหมอนวดและลูกค้าจึงไม่แน่นอน อารมณ์ทางเพศที่เกิดขึ้นกับลูกค้าชายกับหมอนวดหนุ่มถือเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา และไม่ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกค้าและหมอนวดจะมีอัตลักษณ์โฮโมเซ็กช่วลถาวรตามความคิดของตะวันตก (Pfeffer, 1995)

การขายบริการทางเพศในมิติมานุษยวิทยา

Dewey (2013) กล่าวว่าการทำความเข้าใจชีวิตของผู้ที่ขายบริการทางเพศ จำเป็นต้องศึกษาบริบทที่เกิดขึ้นในสังคมและวัฒนธรรมที่คนเหล่านั้นเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ ทำให้รูปแบบ ความหมายและลักษณะของการขายบริการทางเพศมีความแตกต่างกัน การนำมุมมองแบบตะวันตกไปอธิบายการขายบริการทางเพศอาจไม่ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ ในการศึกษาชีวิตของหญิงขายบริการในประเทศเม็กซิโก Kelly (2008) ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงท้องถิ่นในเขต Tuxtla Gutiérrez กำลังเผชิญหน้ากับระบบทุนนิยมของลัทธิเสรีนิยมใหม่และการเข้ามาควบคุมของรัฐบาล ส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ต่อรองและไกล่เกลี่ยกับความคิดสมัยใหม่ที่รัฐต้องการทำให้สถานประกอบการที่มีการขายบริการทางเพศมีระเบียบมากขึ้นภายใต้พื้นที่ควบคุมที่เรียกว่า Galactic Zone การศึกษาชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ทำให้เห็นว่าพวกเธอเป็นทั้งผู้ถูกควบคุมและผู้มีอิสระ ในพื้นที่ที่รัฐเข้ามาจัดระเบียบ พวกเธอจะถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงออกทางเพศและความปรารถนาได้ตามที่พวกเธอต้องการ ในทางตรงข้าม นอกพื้นที่ควบคุมที่หญิงขายบริการพยายามประกอบอาชีพของตนเองจะถูกตำรวจไล่จับและคุกคาม การอยู่ใน Galactic Zone จึงทำให้หญิงขายบริการมีความมั่นคงในอาชีพของตัวเองมากกว่า

การศึกษาของ Zheng (2009) อธิบายให้เห็นว่าผู้หญิงชนบทในสังคมจีนย้ายเข้ามาทำงานขายบริการและเป็นพนักงานในบาร์คาราโอเกะในเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่สังคมสมัยใหม่ที่ทำให้พวกเธอสามารถแสดงตัวตนและแสวงหาการมีชีวิตภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม รายได้จากการทำงานขายบริการช่วยทำให้เธอจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่สนองความต้องการ แต่งตัวสวยงามและสร้างสังคมของเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเหลือกัน การอยู่ในเมืองทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ค้นพบคุณค่าในตัวเองแบบใหม่ที่แสดงออกผ่านสินค้าบริการและวัฒนธรรมบริโภค สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมการค้าและการตลาดแบบทุนนิยม ทำให้เมืองขยายตัว เกิดการลงทุนภาคบริการและการเติบโตของอุตสาหกรรมทางเพศ การศึกษาของ Katsulis (2008) พบว่าในเมืองเศรษฐกิจ Tijuana ประเทศเม็กซิโก ผู้ขายบริการทางเพศทั้งหญิง ชาย และคนข้ามเพศ ต่างเผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงในชีวิต ผู้ที่เลือกทำงานขายบริการทางเพศเห็นว่าเป็นช่องทางที่จะทำให้ชีวิตของตัวเองมีรายได้เพียงพอและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ดีกว่าเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ผู้ชายบริการต้องใช้ชีวิตกับความเสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับกุมและถูกแก็งตามท้องถนนทำร้าย รวมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการของรัฐ

การศึกษาของ Dewey (2011) อธิบายสภาพชีวิตของหญิงที่ทำงานเป็นนักเต้นระบำเปลื้องผ้าและขายบริการในคลับ Vixens กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยชี้ว่าพวกเธอกำลังยึดอาชีพนี้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและทำหน้าที่แม่ ซึ่งเป็นงานที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับบทบาทความเป็นแม่ตามที่สังคมคาดหวัง สำหรับผู้หญิงกลุ่มนี้เชื่อว่าพวกเธอกำลังสร้างตัวตนจากอาชีพที่สังคมดูหมิ่นเหยียดหยาม และผิดหลักคำสอนทางศาสนา พวกเธอจึงต่อสู้ดิ้นรนภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ตีตราอาชีพขายบริการว่าเป็นความเสื่อมเสีย แต่พวกเธอคิดว่าอาชีพนี้คือช่องทางที่จะทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้น จากอาชีพขายบริการและเต้นระบำเปลื้องผ้าในบาร์ช่วยสร้างตัวตนให้กับผู้หญิงโดยพวกเธอคิดว่าได้ใช้ความสามารถทางร่างกายเป็นทุนในการทำมาหากิน เธอรู้สึกมั่นใจและภูมิใจที่สามารถทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมีความสุขสำราญและได้รับการนิยมชมชอบว่าเธอคือผู้ที่เซ็กซี่และดึงดูดทางเพศ อาชีพนี้จึงสร้างตัวตนให้พวกเธอ อย่างไรก็ตาม Dewey พยายามสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันที่คนจนจำนวนมากกลายเป็นผู้ต่อสู้ดิ้นรนเพียงลำพังโดยปราศจากการดูแลจากรัฐ

นักมานุษยวิทยาหลายคน (Aggleton & Parker, 2015; Cabezas, 2009; Weitzer, 2000; Zheng, 2010) ชี้ให้เห็นว่า การขายบริการทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมยากจนสะท้อนการดิ้นรนเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งคนจนที่หันมาขายบริการต่างเห็นโอกาสจากอุตสหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นพื้นที่ที่นำลูกค้าต่างชาติที่มีรายได้เข้ามาจับจ่ายในประเทศ เช่นการศึกษาของ Allen (2007) พบว่าชายหนุ่มผิวดำในประเทศคิวบาจะแสวงหารายได้ด้วยการเข้าไปสร้างสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยหรือชาวคิวบาที่มีฐานะดี เพื่อพวกเขาจะได้รับเงินจำนวนมากพร้อมวัตถถุสิ่งของมีค่า ชายผิวดำเหล่านี้จึงทำงานขายบริการทางเพศเพื่อแลกกับรายได้สำหรับการยังชีพในสังคมทุนนิยม การศึกษาของ Padilla (2007) อธิบายว่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ชายหนุ่มที่ยากจนจะเข้าไปทำงานขายบริการทางเพศให้กับนักท่องเที่ยว การศึกษาของ Mitchell (2010) ผู้ชายในบราซิลจะแสวงหารายได้ด้วยการขายบริการทางเพศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นเกย์ซึ่งพร้อมจะจ่ายเงินให้เขาจำนวนมาก โดยที่ผู้ชายที่ขายบริการเหล่านั้นยังคงมีภรรยาและครอบครัว Dennis (2008) กล่าวว่าธุรกิจทางเพศในสังคมโลกปัจจุบันไม่ค่อยสนใจชีวิตของผู้ชายที่ขายบริการ ซึ่งถือเป็นช่องว่างของความรู้ที่จำเป็นต้องเร่งศึกษาและสร้างความเข้าใจใหม่ๆ

นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยายังตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาการค้าประเวณีในปัจจุบันตกอยู่ใต้วาทกรรม “การค้ามนุษย์” ซึ่งทำให้ละเลยชีวิตของผู้ขายบริการในฐานะผู้กระทำการ มิใช่เป็นผู้ที่ถูกกระทำหรือตกเป็นเหยื่อของธุรกิจเพียงฝ่ายเดียว (Mahdavi, 2011) ในการศึกษาของ Montgomery (2001) อธิบายว่าสังคมไทยสร้างวาทกรรมเรื่องเด็กที่บริสุทธิ์และพรหมจารีของผู้หญิงซึ่งถูกทำให้เสียหายจากธุรกิจการค้าประเวณีและการค้ามนุษย์ ส่งผลให้สังคมมองเด็กสาวคือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศ สิ่งนี้ตรงข้ามกับการให้ความหมายของหญิงสาวที่คิดว่าธุรกิจการขายบริการทางเพศคือช่องทางที่ทำให้เธอสามารถมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว ในทางปฏิบัติเมื่อหน่วยงานรัฐเข้าไปนำหญิงสาวเหล่านี้ออกมาจากธุรกิจการค้าประเวณี กลับทำให้ชีวิตของเธอตกอยู่ในความทุกข์ยาก ท่ามกลางความยากจนและไม่มีทางเลือก ผู้หญิงหลายคนจึงดิ้นรนไปทำงานอื่นที่มีรายได้น้อยกว่าการขายบริการ ประสบการณ์ชีวิตของหญิงขายบริการอาจจะไม่ตรงกับเรื่องราวในนิยายและภาพยนตร์ที่นำเสนอความรันทดเจ็บปวดของผู้หญิงที่ถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ ในทางปฏิบัติ การทำความเข้าใจบริบทสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงที่เลือกขายบริการทางเพศ อาจช่วยทำให้เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงเหล่านั้นจึงคิดว่าการขายบริการคือโอกาสที่ทำให้ชีวิตและครอบครัวดีขึ้นกว่าเดิม (Anderson, 2002; Davidson, 2005)


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Aggleton, P., & Parker, R. (Eds.). (2015). Men who sell sex: Global perspectives. London: Routledge. Allen, J. S. (2007). Means of Desire's Production: Male Sex Labor in Cuba. Identities, 14(1-2), 183-202.

Allison, A. (1994) Nightwork: Sexuality, pleasure, and corporate masculinity in a Tokyo hostess club. Chicago: University of Chicago Press.

Anderson, S, A., (2002). Prostitution and Sexual Autonomy: Making Sense of the Prohibition of Prostitution. Ethics, 112, 748-780.

Barry, K. (1979). Female sexual slavery. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.

Brock, D.R. (1998). Making Work, Making Trouble: Prostitution as a Social Problem. Toronto: University of Toronto Press.

Cabezas, A. L. (2009). Economies of Desire: Sex and Tourism in Cuba and the Dominican Republic. Philadelphia: Temple University Press.

Califia, P. (1994). Whoring in Utopia. In Califia, P., Public Sex. The culture of radical sex , (pp.242-248). Pittsburg & San Francisco: Cleis Press.

Comte, J. (2014). Decriminalization of Sex Work: Feminist Discourses in Light of Research. Sexuality & Culture, 18(1), 196-217.

Davidson, J. O. (2005). Children in the Global Sex Trade. Malden, MA: Polity Press.

Dennis, J. (2008). Women are victims, men make choices: The invisibility of men and boys in the global sex trade. Gender Issues, 25(1), 11–25.

Dewey, S. (2011). Neon Wasteland: On Love, Motherhood, and Sex Work in a Rust Belt Town. Berkeley CA: University of California Press

Dewey, S. (2013). Anthropological Research with Sex Workers: An Introduction. In Susan Dewey & Tiantian Zheng. Ethical Research with Sex Workers: Anthropological Approaches, (pp.1-22). New York, NY: Springer.

Dworkin, A. (1993). Prostitution and male supremacy. Michigan Journal of Gender & Law, 1, 1– 12. Farley, M. (2003). Prostitution and the Invisibility of Harm. Women & Therapy, 26(3), 247-280.

Frembgen, J. W. (2008). Marginality, Sexuality and the Body: Professional Masseurs in Urban Muslim Punjab. The Asia Pacific Journal of Anthropology, 9(1), 1-28.

Guillaumin, C. (1995). Racism, Sexism, Power, and Ideology. London; New York: Routledge.

Jeffreys, S. (2009). The Industrial Vagina: The Political Economy of the Global Sex Trade. New York: Routledge.

Katsulis, Y. (2008). Sex Work and the City: The Social Geography of Health and Safety in Tijuana, Mexico. Austin: University of Texas Press.

Kaye, K. (2007). Sex and the Unspoken in Male Street Prostitution. Journal of Homosexuality, 53(1-2), 37-73.

Kelly, P. (2008). Lydia’s Open Door: Inside Mexico’s Most Modern Brothel. Berkeley, CA: University of California Press.

Kulick, D. (1997). The Gender of Brazilian Transgendered Prostitutes. American Anthropologist, 99(3), 574-585.

Laing, M., Pilcher, K., & Smith, N. (2015). Queer sex work. London: Routledge.

Mahdavi, P. (2011). Gridlock: Labour, Migration and Human Trafficking in Dubai. Palo Alto, CA: Stanford University Press.

Manderson, L. (1992). Public sex performances in Patpong and explorations of the edges of imagination. The Journal of Sex Research, 29(4), 451-475.

Montgomery, H. (2001). Modern Babylon? Prostituting Children in Thailand. New York: Berghahn Press.

Minichiello, V. & Scott, J. (Eds.). (2014). Male Sex Work and Society. New York: Harrington Park Press.

Mitchell, G. (2010). Fare tales and fairy tails: How gay sex tourism is shaping the Brazilian dream. Wagadu, 8, 93–114.

Padilla, M. (2007). Tourism and Tigueraje:: The Structures of Love and Silence among Dominican Male Sex Workers. In M. Padilla et al. (Eds.), Love and Globalization: Transformations of Intimacy in the Contemporary World, (pp.38-69). Nashville: Vanderbilt University Press.

Pheterson, G. (Ed.). (1989). A vindication of the rights of whores. Seattle, WA: Seal.

Pilcher, K. (2016). Erotic performance and spectatorship: New frontiers in erotic dance. London: Routledge.

Pfeffer, G. (1995) Manliness in the Punjab: male sexuality and the khusra, Sociologus, 45(1), 26- 39.

Weitzer, R. (Ed.). (2000). Sex for Sale: Prostitution, Pornography, and the Sex Industry. New York: Routledge.

Wafer, J. (1997) ‘Muhammad and male homosexuality’, in St. O. Murray & W. Roscoe, (Eds.), Islamic homosexualities. Culture, history, and literature, (pp. 87-96). New York: New York University Press,

Zheng, T. (2009). Red Lights: The Lives of Sex Workers in Postsocialist China. Minneapolis: University of Minnesota Press.


หัวเรื่องอิสระ: โสเภณี, การขายบริการทางเพศ, เพศวิถี