คำศัพท์

Gender and Sexual Diversity

การพบเห็นพฤติกรรมทางเพศนอกสังคมตะวันตก

เอกสาร รายงาน บันทึกของมิชชันนารี พ่อค้าและนักเดินเรือซึ่งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม “แปลกประหลาด” ซึ่งแฝงด้วยอคติของผู้เขียน โดยเฉพาะความสัมพันธ์และพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกันและคนที่มิใช่ชายมิใช่หญิง ความรู้สึกที่มีต่อพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกอธิบายด้วยคำว่า “ความชั่วที่เอ่ยมิได้” “บาปที่น่ากลัวของการร่วมเพศทางทวารหนัก” หรือ “ผู้ชายที่มัวเมาอยู่กับการมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น” (Hekma, 2000) ทัศนะดังกล่าวเป็นผลมาจากอทธิพลความรู้จิตเวชศาสตร์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ชาวตะวันตกมองพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็น “ความเบี่ยงเบน” ในขณะที่นักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆ ต่างพบเห็นรูปแบบพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกันหลายแบบ ซึ่งแปลกไปจากการรับรู้ของชาวตะวันตก เช่น พฤติกรรมของคนแต่งตัวข้ามเพศของชนเผ่าในเขตอเมริกาเหนือ ซึ่งได้รับฉายาว่า เบอร์ดาเช่ (Berdache) (Roscoe, 1991; Williams, 1986) การศึกษาของ Devereux (1937) เคยอธิบายว่าเบอร์ดาเช่ หมายถึงวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งตอบสนองต่ออารมณ์แบบโฮโมเซ็กช่วลที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ผู้ที่มีสถานะดังกล่าวจะมีลักษณะทั้งชายและหญิงอยู่ในตัวเอง คนกลุ่มนี้ถูกเชื่อว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าและพยากรณ์อนาคตได้

การศึกษาของ Murray (1992) รวมบทความของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาพฤติกรรมคนรักเพศเดียวกันในช่วงทศวรรษ 1950-1970 ในเขตหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย ตอนใต้ของไซบีเรีย และเขตเอเชียบางแห่ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบความสัมพันธ์ของชายกับชาย และการศึกษาของ Dynes and Donaldson (1992) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมคนรักเพศเดียวกันในเขตเอเชียซึ่งมีการกล่าวถึงเรื่องราวที่พบในอารยธรรมโบราณ จนถึงปรากฎการณ์ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน พฤติกรรมข้ามเพศ และการขายบริการทางเพศที่พบในเขตตะวันออกกลาง สังคมมุสลิม อินเดีย เอเชียตะวันออก และฟิลิปปินส์ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือการอธิบายบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน การศึกษาทั้งสองชิ้นนี้ให้ตัวอย่างสังคมขนาดเล็กและสะท้อนความหลากหลายของพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลในรูปแบบต่างๆ

การศึกษาของ Evans-Pritchard (1970) เป็นความพยายามที่จะเก็บข้อมูลเรื่องราวของชนเผ่า Azande ทางตอนใต้ของซูดานช่วงทศวรรษ 1920-1960 ก่อนที่คนกลุ่มนี้จะติดต่อสื่อสารกับชาวตะวันตก ซึ่งทำให้เห็นพฤติกรรมทางเพศของท้องถิ่น เช่น การแสดงบทบาทเป็นภรรยาของเพศชาย หรือ Male Wive ซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมช่วงชั้นของกลุ่มนักรบที่สามารถแสดงความสัมพันธ์ทางเพศต่อกันได้ รวมถึงการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงก็ปรากฏอยู่ในครอบครัวที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคน (polygamous households) อย่างไรก็ตาม การศึกษาของ Evans-Pritchard ก็ยังคงเป็นเพียงการบอกเล่าถึงพฤติกรรมทางเพศที่ผิดแปลกไปจากปกติ (Vance, 1984) อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้ได้รับการศึกษาน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ระบบเครือญาติ และจารีตประเพณี (Howe, 2015)

รวมทั้งการศึกษาของ Herdt (1984) ในชนเผ่าเมลานีเซียที่พบพิธีกรรมเปลี่ยนช่วงวัยจากเด็กชายเป็นผู้ใหญ่ที่เปิดประสบการณ์ให้เด็กมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันที่มีอายุมากกว่า Herdt อธิบายว่าในสังคมชนเผ่าแซมเบีย (นามสมมติ) ในเขตปาปัวนิวกีนี เด็กชายอายุระหว่าง 6-12 ปี อาจเป็นคู่กับเด็กที่มีอายุมากกว่าที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายหลั่งน้ำอสุจิให้ การหลั่งน้ำอสุจิของเด็กชาวชาวแซมเบียถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเปลี่ยนฐานะเป็นชาย ชาวแซมเบียเชื่อเด็กชายที่กินน้ำอสุจิจะสามารถผลิตน้ำอสุจิได้ นอกจากนั้นยังพบพฤติกรรมทางเพศอื่นๆ เช่น การสอดใส่ทางทวารหนักและการอมองคชาต หรือการนำน้ำอสุจิมาถูกไถที่ผิวหนังจะทำให้ผู้นั้นเป็นชายเต็มตัว การศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศในวัฒนธรรมต่างๆ พบว่าอารมณ์ พฤติกรรม และการเกี้ยวพาราสีแบบคนรักเพศเดียวกันมีความหลากหลายตามเงื่อนไขของสังคม และรูปแบบที่สำคัญของพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน 4 ลักษณะ คือ (1) ความรักเพศเดียวกันที่มาจากโครงสร้างอายุ (2) ความสัมมพันธ์ที่มาจากโครงสร้างเพศสภาพ (3) รูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความเท่าเทียมกัน และ (4) ความสัมพันธ์ที่เกิดจากความไม่เทียมทางสังคม หรือความสัมพันธ์ที่มีโครงสร้างทางชนชั้น (Greenberg, 1988)

อย่างไรก็ตาม การศึกษาส่วนใหญ่จะอธิบายพฤติกรรมชายรักชาย ในขณะที่การศึกษาแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงยังมีไม่มากนัก Blackwood (1986, 2010) และ Blackwood and Wieringa (1999) กล่าวว่าในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ผู้หญิงแสดงออกต่อกันอาจเกิดขึ้นได้ในพิธีกรรมย่างเข้าสู่วัยสาว โรงเรียนหญิงล้วน ซ่องโสเภณี หอพักหญิง เป็นต้น Blackwood (2010) เคยศึกษาชีวิตของผู้หญิงในอินโดนีเซียที่แสดงพฤติกรรมเหมือนผู้ชาย ซึ่งมีคนรักเป็นผู้หญิงที่ใช้ชีวิตในสังคมเหมือนผู้หญิงทั่วไป ผู้หญิงที่มีความเป็นชายได้ต่อรองและพยายามไกล่เกลี่ยชีวิตทางเพศที่ท้าทายขนบธรรมเนียมในศาสนาอิสลามและบรรดทัดฐานสังคมแบบรักต่างเพศ ส่งผลให้พวกเธอต้องแสดงความเป็นชายและหญิงในสถานการณ์ที่แตกต่างกันทั้งการอยู่ในครอบครัวและเข้ารวมกิจกรรมทางสังคม การต่อรองเพศสภาพเช่นนี้คือกระบวนการที่ผู้หญิงที่มีจิตใจแบบผู้ชายใช้ดำเนินชีวิต ซึ่งต่างไปจากชีวิตของเลสเบี้ยนในสังคมตะวันตก ช่นเดียวกับการศึกษาของ Sinnott (2004) ที่อธิบายว่าความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิง หรือคู่ทอมดี้ในสังคมไทย สะท้อนการเกิดขึ้นใหม่ของอัตลักษณ์คนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันที่ผู้หญิงแสดงบทบาทเป็นชายและมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงซึ่งใช้ชีวิตแบบคู่รัก อัตลักษณ์ของ “ทอม” และ “ดี้” สะท้อนเพศภาวะของสังคมไทยสมัยใหม่ที่ผู้หญิงสามารถปรับการแสดงความเป็นหญิงและชายภายใต้เงื่อนไขครอบครัว ค่านิยมทางเพศและการใช้ชีวิตแบบเมือง

การท้าทายความคิดเรื่องเพศแบบตะวันตก

การศึกษาวัฒนธรรมทางเพศในสังคมนอกตะวันตกในช่วงอาณานิคม ทำให้นักมานุษยวิทยาหลายคนได้รับอิทธิพลความคิดเรื่อง “เพศสภาพ” และ “เพศวิถี” และนำไปใช้อธิบายพฤติกรรมของคนพื้นเมือง เช่น การศึกษารูปแบบพฤติกรรมทางเพศโดย Clellan S. Ford and Frank A. Beach (1951) เป็นการสำรวจเรื่องเพศในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก การสำรวจครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าพฤติกรรม “โฮโมเซ็กช่วล” เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศที่มีสาเหตุมาจากร่างกาย และมักจะเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง จากการสำรวจวัฒนธรรม 76 แห่ง มีอยู่ 28 แห่งที่ไม่พบพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล และมี 17 แห่งที่พบโฮโมเซ็กช่วลในเพศหญิง นอกจากนั้น ยังการสำรวจนี้ยังพบว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล พบมากในวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม Ford and Beach พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมตะวันตกที่รังเกียจโฮโมเซ็กช่วล แต่ในหลายวัฒนธรรมไม่ค่อยรังเกียจและให้บุคคลแสดงความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันได้ (Holmberg, 1951) จุดอ่อนในการศึกษาของ Ford and Beach คือไม่สามารถชี้ให้เห็นมิติเชิงสัญลักษณ์ที่ปรากฎอยู่ในพฤติกรรมทางเพศ และมองเซ็กเป็นเพียงพฤติกรรมทางร่างกายเท่านั้น (Bolin & Whelehan, 1999)

การศึกษาความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายกับชายในวัฒนธรรมเมลานีเซียของ Herdt (1984) ถึงแม้จะทำให้เห็นว่าสังคมชนเผ่ามีการแสดงพฤติกรรมชายรักชาย แต่ก็ถูกโต้แย้งว่าเป็นวิธีคิดที่นำเอาบรรทัดฐานโฮโมเซ็กช่วลแบบตะวันตกไปเหมารวมพฤติกรรมของคนวัฒนธรรมอื่น (Elliston, 1995) ทั้งนี้ความสัมพันธ์ของผู้ชายที่พบในชนเผ่าแซมเบียไม่ควรถูกตีความด้วยแนวคิด “โฮโมเซ็กช่วล” แต่ควรมองในฐานะเป็นสภาวะลื่นไหลทางเพศ ข้อวิจารณ์นี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักมานุษยวิทยากลับมาทบทวนกระบวนทัศน์ของเพศภาวะและเพศวิถีที่ถูกสร้างขึ้นในโลกวิชาการตะวันตก Stoler (1995) ตั้งคำถามว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ประเทศในยุโรปมีการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเพศ หรือ เพศศาสตร์ (Sexology) ทำให้เกิดการใช้ความรู้เพศสรีระและชีววิทยามาเป็นตัวพิสูจน์ความถูกผิดของเพศสภาพและเพศวิถี ส่งผลให้พฤติกรรมทางเพศในดินแดนต่างๆที่ชาวตะวันตกเข้าไปปกครองในช่วงอาณานิคมถูกตีความด้วยทฤษฎี “เบี่ยงเบนทางเพศ” เป็นการตอกย้ำความเสื่อมถอยและเผ่าพันธุ์ที่ต่ำต้อยของผู้ที่ผิดปกติทางเพศ เจ้าอาณานิคมตะวันตกจึงตีความและนำเสนอภาพชนพื้นเมืองในฐานะตัวประหลาดซึ่งไร้เหตุผล เต็มไปด้วยความใคร่ กามตัณหา ราคะ และส่ำส่อนทางเพศ ความคิดนี้ทำให้ชาวตะวันตกเชื่อว่าชนพื้นเมืองคือผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้

การศึกษาของ Fry (1986) ศึกษาพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลที่ปรากฎอยู่ในวัฒนธรรมและพิธีกรรมเข้าทรงของคนผิวดำในประเทศบราซิล ชี้ว่าอัตลักษณ์ของชายรักชายในสังคมคนผิวดำไม่สามารถนำคำว่า “โฮโมเซ็กช่วล” ไปจัดหมวดหมู่หรือใช้เป็นคำนิยามได้ เนื่องจากคนเหล่านี้มีวิธีคิดเรื่องบทบาททางเพศและการแสดงความเป็นชายและหญิงต่างไปจากตะวันตก รวมถึงงานศึกษาอีกหลายเรื่องในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศในวัฒนธรรมลาตินอเมริกาซึ่งมีแบบแผนความสัมพันธ์ทางกามารมณ์ที่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ชายในวัฒนธรรมลาตินอเมริกันสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกันโดยแสดงบทบาทเป็นฝ่ายรุกและตอกย้ำความเป็นชายโดยไม่นิยามตนเองเป็นโฮโมเซ็กช่วล (Carrier, 1995; MacRae, 1992; Taylor, 1985)

ในช่วงทศวรรษ 1970 กลุ่มนักมานุษยวิทยาอเมริกันได้ก่อตั้งกลุ่มวิจัยในประเด็นโฮโมเซ็กช่วล ชื่อว่า The Anthropology Research Group on Homosexuality เป้าหมายของกลุ่มวิจัยนี้คือการศึกษาและส่งเสริมให้ชุมชนเกย์และเลสเบี้ยนมีความมั่นใจในอัตลักษณ์ของตนเอง รวมทั้งพยายามต่อต้านการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน จนถึงทศวรรษ 1980 สมาชิกของกลุ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างสมาคมนักมานุษยวิทยาเกย์และเลสเบี้ยนขึ้น (The Society of Lesbian and Gay Anthropologist- SOLGA) สมาคมนี้คือรากฐานที่ทำให้การศึกษาวัฒนธรรมเกย์และเลสเบี้ยนในอเมริกาเติบโตและขยายไปสู่การศึกษาพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในสังคมอื่น (Blackwood, 2010; Boellstorff, 2005; Howe, 2013; Sinnott, 2004) จนถึงปี 2010 สมาคมนี้ก็ปรับชื่อใหม่เป็นสมาคมมานุษยวิทยาเควียร์ (the Association for Queer Anthropology – AQA) ในขณะเดียวกันก็เกิดการสะท้อนตัวตนทางเพศของนักมานุษยวิทยาที่สนใจประเด็นเพศวิถี เช่น Jim Wafer (1996, 2000) ทำการวิจัยแบบทดลองโดยการแสดงตัวตนและพูดถึงความเป็นเกย์ของตัวเองในงานวิจัย Kulick and Wilson (1995) กล่าวว่าในการทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา อัตลักษณ์และความรู้สึกทางเพศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีส่วนช่วยสร้างความรู้ คนกลุ่มต่างๆที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา อาจมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักมานุษยวิทยาได้เสมอ ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นความลับ แต่มันก็มีส่วนขับเคลื่อนการทำงานของนักมานุษยวิทยา

มานุษยวิทยากับข้อถกเถียงแบบเควียร์

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน การศึกษาเควียร์ในวงการมานุษยวิทยาจะช้ากว่าสาขาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดี วัฒนธรรมศึกษา และสตรีศึกษา Weston (1993) กล่าวว่าก่อนทศวรรษ 1960 นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ระมัดระวังที่จะไม่เอ่ยถึงประเด็นเพศวิถีและเพศสภาพในงานศึกษาของตน เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบที่จะตามมาจากการทำงานวิจัยและผลเสียต่อบทบาทนักวิชาการ แต่งานศึกษาวัฒนธรรมทางเพศที่สำคัญก็มาจากมานุษยวิทยา เช่นการศึกษาของ Herdt (1981, 1984, 1987) ที่อธิบายมิติเพศวิถีในบริบทของพิธีกรรมเปลี่ยนช่วงวัยและโครงสร้างสังคมของผู้ชาย หนังสือของ Lenore Manderson and Margaret Jolly (1997) เรื่อง Sites of Desire/Economies of Pleasure อธิบายพฤติกรรมรักเพศเดียวกันที่พบในเอเชียและเขตแปซิฟิก โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างความหมายของเพศภาวะและเพศพิถีภายใต้บริบทการติดต่อข้ามวัฒนธรรมระหว่างชาวตะวันตกและชาวตะวันออก การศึกษานี้พยายามตรวจสอบว่าพฤติกรรมและอัตลักษณ์ทางเพศที่ปรากฏอยู่ในท้องถิ่นเกี่ยวโยงกับระบบอำนาจของลัทธิอาณานิคม การเมืองแบบชาตินิยม การสร้างชาติให้ทันสมัย เศรษฐกิจทุนนิยม การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าประเวณี และขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของเกย์เลสเบี้ยนสากลที่ออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นพลเมืองในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ บริบทเหล่านี้มีความซับซ้อนที่บ่งชี้ว่าภายในกลุ่มคนที่มีเพศสภาพและเพศวิถีต่างไปจากบรรทัดฐานรักต่างเพศ ยังคงมีความแตกต่างทางฐานะ ชนชั้น ความเชื่อ อุดมการณ์ และวิถีชีวิต การเหมารวมว่าคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศทุกแห่งในโลกมีอัตลักษณ์แบบเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่พึงระวัง

Weston (1998) อธิบายว่าความรู้ทางสังคมศาสตร์และการศึกษาเรื่องครอบครัว เครือญาติและการแต่งงาน เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์ ประเด็นเพศภาวะและเพศวิถีจึงแฝงอยู่ในคำอธิบายทางสังคมมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับกระบวนทัศน์แบบเควียร์ นำไปสู่การตั้งคำถามต่อการจัดหมวดหมู่และการแบ่งประเภทของเพศภาวะและเพศวิถีตามบรรทัดฐานความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตกซึ่งเป็นการนำข้อวิพากษ์ของ Foucault (1978) มาเป็นกรอบคิด Rubin (1984) อธิบายว่าระบบคุณค่าทางสังคมที่มีการจัดระเบียบคู่ตรงข้ามระหว่างชายกับหญิง เหตุผลกับไร้เหตุผล ความเจริญกับความล้าหลัง ความดีกับความชั่ว ปกติกับผิดปกติคู่ตรงข้ามนี้ส่งผลให้พฤติกรรมทางเพศของมนุษย์มีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม สังคมผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางเพศราวกับเป็นกงล้อที่ถูกสาป (Charmed Circle of sexuality) ที่หมุนวนซ้ำไปซ้ำมา เพศที่ถูกยก่องว่าดีงามจะถูกเชิดชู เช่น ความเป็นหญิงพรมจารี ความรักเดียวกันใจเดียว ความเป็นชาย ความเป็นหญิง ต่างจากเพศที่ถูกตีตราและเหยีดหยามว่าเลวทรามและน่ารังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นโฮโมเซ็กช่วล การขายบริการทางเพศ การเปลี่ยนคู่นอน การมีชู้ การผลิตสื่อโป๊เปลือย สังคมตะวันตกจึงผลักไสกิจกรรมเซ็กให้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นการมองเซ็กในเชิงลบ (sex negativity) โดยความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามากำหนดและสร้างบรรทัดฐานว่าเซ็กที่ดีและถูกต้องจะต้องมีเพียงความสัมพันธ์ของคู่ชายหญิงที่แต่งงานตามกฎหมายและต้องรักเดียวใจเดียว

Rubin (1984) เสนอว่าการก้าวข้าววิธีคิดคู่ตรงข้ามจำเป็นต้องมองดูประสบการณ์ทางเพศของคนในวัฒนธรรมอื่น โดยไม่เอาตัวแบบศีลธรรมทางเพศของตะวันตกไปตัดสิน ไม่ควรมองพฤติกรรมที่อยู่นอกระบบเหตุผลแบบตะวันตกว่าเป็นสิ่งที่ต่ำช้าหรือน่ารังเกียจ ทั้งนี้ ภายใต้กรอบคิดแบบเควียร์ นักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องอธิบายความเป็นธรรมชาติและความเป็นสากลของ “โฮโมเซ็กช่วล” อีกต่อไป เพราะโฮโมเซ็กช่วลเป็นนิยามของอัตลักษณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน และถูกสร้างขึ้นจากสังคมตะวันตกและเป็นสิ่งที่แปลกแยกสำหรับคนท้องถิ่น หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาเควียร์ คือการเสาะแสวงหาและทำความเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมทางเพศในสังคมอื่นๆที่ต่างไปจากวิธีคิดเพศคู่ตรงข้ามหญิงชาย (Blackwood, 1986; Weston, 1993) สิ่งสำคัญที่การศึกษาทางมานุษยวิทยาได้มอบให้ในการศึกษาเพศภาวะและเพศวิถีนอกบรรทัดฐานในปัจจุบัน คือการชี้ให้เห็นบริบททางสังคมและการนำเสนอภาพของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน นิยามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันขึ้นอยู่กับความรู้ท้องถิ่นเป็นสำคัญ พฤติกรรมที่คล้ายๆกันอาจมีความหมายต่างกันในบริบทที่ต่างกัน หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาคือการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาถึงความหมายและบริบทของสิ่งนั้น นิยามของ “โฮโมเซ็กช่วล” อาจจะขึ้นในสถานการณ์และความรู้ท้องถิ่น

ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เมื่อสังคมตะวันตกหลายแห่งให้สิทธิกับกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนในการจดทะเบียนชีวิตคู่และแต่งงานตามกฎหมายได้ ทำให้เกิดการศึกษาการเคลื่อนไหวทางสิทธิของการสร้างครอบครัวของคนรักเพศเดียวกันแพร่หลายในตะวันตก นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ เช่น Weston (1991) ศึกษาการสร้างครอบครัวของคู่เกย์และเลสเบี้ยนในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้ย้ายมาอยู่ในเขตเดียวกันทำให้เกิดสัมพนธภาพที่ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องและมีความคุ้นเคยราวกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน การศึกษาของ Lewin (1993, 1998, 2009) ศึกษาการสร้างครอบครัวของคู่เกย์และเลสเบี้ยนในอเมริกา พบว่าพวกเขาแสดงความรักและจัดพิธีแต่งงานที่เหมือนกับคู่หญิงชาย ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำบรรทัดฐานและค่านิยมของรักต่างเพศ รวมถึงประสบการณ์การเป็นพ่อและแม่ของเกย์และเลสเบี้ยนที่สะท้อนสิ่งที่คล้ายและแตกต่างจากครอบครัวรักต่างเพศ

Boellstorff (2007) กล่าวว่าในข้อถกเถียงแบบเควียร์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการเมืองของความรู้ที่มีผลต่อการจัดระเบียบและกฎเกณฑ์ของเพศภาวะและเพศวิถี คำถามสำคัญของนักมานุษยวิทยาต่อการศึกษาพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ เห็นได้จากงานของ Herdt (2013) หยิบเรื่องอารมณ์และความปรารถนามาตั้งคำถาม ถ้าเราพิจารณาว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นผลของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดังนั้นอารมณ์รักเพศเดียวกันก็ต้องตกทอดมาด้วย Herdt ตั้งคำถามว่าเราจะทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์นี้ได้อย่างไรโดยไม่ใช้วิธีคิดวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก นอกจากนั้น คำถามเกี่ยวกับการขัดเกลาทางสังคมในเรื่องเพศเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นถามว่าเด็กๆเรียนรู้และจัดการกับเรื่องเพศในวัฒนธรรมของตนเองอย่างไร ในสถานการณ์โลกที่ขับเคลื่อนด้วยอำนาจของการค้า โลกภิวัตน์ของทุนนิยมและระบอบเสรีนิยมใหม่ ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือ กระบวนการสร้างตัวตนทางเพศ (sexual subjectivity) ภายใต้วัตถุสินค้าและวัฒนธรรมบริโภคที่กระตุ้นให้บุคคลแสวงหาการมีอิสระในการแสดงอารมณ์ความปรารถนาทางเพศ (Povinelli & Chauncey, 1999) ปรากฎการณ์นี้ทำให้เห็นกลไกของการแสดงตัวตนทางเพศซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการนำความรู้เรื่องเพศจากหลายแหล่ง ทั้งความเป็นสากลและความเป็นท้องถิ่นถูกหลอมรวมเข้าด้วยกัน การศึกษาของ Mark Padilla (2007) ชี้ให้เห็นว่าในการท่องเที่ยวสมัยใหม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความปรารถนาทางเพศของผู้ชายท้องถิ่นในประเทศแถบหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งผู้ชายเหล่านี้นิยามตนเป็นรักต่างเพศ แต่สามารถขายบริการและมีเพศสัมพันธ์กับเกย์ชาวตะวันตกที่เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการเดินทางเข้ามาพักผ่อนและแสวงหาความสุขทางเพศกับชายพื้นเมือง รวมถึงกลุ่มผู้อพยพชาวฟิลิปินส์ที่มีอัตลักษณ์เป็นเกย์ในความหมายตะวันตก เมื่อพวกเขาเข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เข้าได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ของเกย์ที่สามารถแสดงบทบาททั้งรุกและรับซึ่งต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่เคยอยู่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งทำได้เพียงการเป็นฝ่ายถูกสอดใส่ทางทวารหนัก (Manalansan, 2003) การเคลื่อนตัวของประสบการณ์ อารมณ์ พฤติกรรม และอัตลักษณ์ทางเพศในโลกที่ข้ามพ้นชาติ คือสถานการณ์ที่ทำให้ตัวตนทางเพศของมนุษย์ไม่หยุดนิ่งและยากต่อการจัดหมวดหมู่ที่ตายตัว

ในยุคสื่อดิจิทัล การแสดงและสร้างตัวตนทางเพศที่หลากหลายเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว คนบางกลุ่มสามารถเปิดเผยและกล้าแสดงออกทางเพศเมื่อพวกเขาอยู่ในกลุ่มลับในสื่อดิจิทัล (Boellstorff et al., 2003; Gray, 2009) รวมทั้งบทบาทของสื่อออนไลน์ที่ส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย แลกเปลี่ยน สื่อสาร ส่งต่อ และผลิตซ้ำอารมณ์และความรู้สึกทางเพศในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม นอกจากนั้น ประเด็นการเมืองข้ามชาติและการเคลื่อนไหวสิทธิทางเพศมีอิทธิพลต่อการต่อสู้ของกลุ่มคนที่มีเพศนอกบรรทัดฐาน และการโต้กลับของกลุ่มอนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนาที่ทำให้เกิดการสร้างอคติ ความรุนแรง การปิดกั้น และการเลือกปฏิบัติทางเพศ (Dave, 2012) ประเด็นเหล่านี้คือโจทย์ใหม่ของนักมานุษยวิทยาเควียร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Blackwood, E. (2010). Falling into the Lesbi World: Desire and Difference in Indonesia. Honolulu: University of Hawai‘i Press.

Blackwood, E. (Ed.). (1986). The Many Faces of Homosexuality: Anthropological Approaches to Homosexual Behavior. New York: Routledge.

Blackwood, E., & Wieringa, S. (Eds.). (1999). Female Desires: Same-Sex Relations and Transgender Practices across Cultures. New York: Columbia University Press.

Boellstorff, T., Berry, C., Martin, F., Yue, A. (Eds.), (2003). Mobile Cultures: New Media in Queer Asia. Durham: Duke University Press.

Boellstorff, T. (2005). The Gay Archipelago: Sexuality and Nation in Indonesia. Princeton: Princeton University Press.

Boellstorff, T. (2007). Queer studies in the house of anthropology. Annual Review of Anthropology, 36, 17–35.

Bolin, A. & Whelehan, P. (1999), Perspectives on Human Sexuality. New York: SUNY Press.

Carrier, J. M. (1995). De Los Outros: Intimacy and Homosexuality Among Mexican Men. New York: Columbia University Press.

Dave, N. (2012). Queer Activism in India: A Story in the Anthropology of Ethics. Durham: Duke University Press.

Devereux, G. (1937). Institutionalized homosexuality of the Mohave Indians. Human Biology, 9, 498-527.

Dynes, W. R. & Donaldson, S. (1992). Asian Homosexuality. New York: Garland.

Elliston, D. (1995). Erotic anthropology: ‘ritualized homosexuality’ in Melanesia and beyond. American Ethnologist ,22(4), 848–867.

Evans-Pritchard, E.E. (1970). Sexual inversion among the Azande. American Anthropologist, 72 (6), 1428–1434.

Ford, C. S. & Beach, F. A. (1951). Patterns of Sexual Behavior. New York: Harper & Brothers.

Foucault, M. (1978). The History of Sexuality. Translated from the French by Robert Hurley. New York: Pantheon Books.

Fry, P. (1986). Male Homosexuality and Spirit Possession in Brazil. London: Routledge.

Gray, M. (2009). Out in the Country: Youth, Media, and Queer Visibility in Rural America. New York: New York University Press.

Greenberg, D. (1988). The Construction of Homosexuality. Chicago: University of Chicago Press.

Hekma, G. (2000). Queering Anthropology. in Theo Sandfort et al. (Eds.) Lesbian and Gay Studies. (pp.81-93). London: SAGE Publication.

Herdt, G. H. (1981). Guardians of the Flutes: Idioms of Masculinity. New York: McGraw- Hill.

Herdt, G. H. (Ed..). (1984). Ritualized Homosexuality in Melanesia. University of California Press, Berkeley.

Herdt, G. H. (1987). The Sambia: Ritual and Gender in New Guinea. New York: Harcourt Brace Jovanovich.

Herdt, G. H. (2013). Human Sexuality. First edition. (With Nicole Polen-Petit.) New York: McGraw-Hill.

Holmberg, A. R. (1951). Patterns of Sexual Behavior. American Sociological Review, 16 (4), 578–579.

Howe, C. (2013). Intimate Activism: Sexual Rights in Postrevolutionary Nicaragua. Durham: Duke University Press.

Howe, C. (2015). Queer Anthropology. In International Encyclopedia of the Social & Behavioral Sciences, 2nd edition.

Kulick, D. & Willson, M. (1995). Taboo: sex, identity, and erotic subjectivity in anthropological fieldwork. London New York: Routledge.

Lewin, E. (1993). Lesbian Mothers: Accounts of Gender in America. Ithaca: Cornell University Press.

Lewin, E. (1998). Recognizing Ourselves: Ceremonies of Lesbian and Gay Commitment. New York: Columbia University Press.

Lewin, E. (2009). Gay Fatherhood: Narratives of Family and Citizenship in America. Chicago: University of Chicago Press.

MacRae, E. (1992). Homosexual identities in transitional Brazilian politics. In S. Alvarez and A. Escobar, (Eds) The Making of Social Movements in Latin America, (pp. 185-203). Boulder: Westview.

Manalansan IV, M. F. (2003). Global Divas: Filipino Men in the Diaspora. Durham: Duke University Press.

Manderson, L. & Jolly, M. (1997). Sites of Desire/Economies of Pleasure: Sexualities in Asia and the Pacific. Chicago: University of Chicago Press.

Murray, S. O. (1992). Oceanic Homosexualities. New York: Garland.

Padilla, M. (2007). Caribbean Pleasure Industry: Tourism, Sexuality, and AIDS in the Dominican Republic. Chicago: University of Chicago Press.

Povinelli, E. A., & Chauncey, G. (1999). Thinking sexuality transnationally: an introduction. GLQ: A Journal of Lesbian and Gay Studies, 5 (4), 439–450.

Roscoe, W. (1991). The Zuni Man-Woman. Albuquerque : University of New Mexico Press.

Rubin, G. (1984). Thinking Sex: Notes for a Radical Theory of the Politics of Sexuality, in Carole Vance, (Ed.), Pleasure and Danger. (pp.143-178). London: Routledge & Kegan.

Sinnott, M. (2004). Toms and Dees: Transgender Identity and Female Same-Sex Relationships in Thailand. Honolulu: University of Hawai‘i Press.

Stoler, A. U. (1995). Race and the Education of Desire: Foucault’s History of Sexuality and the Colonial Order of Things. Durham and London: Duke University Press.

Taylor, C. (1985) Mexican male homosexual interaction in public contexts. Journal of Homosexuality, 11, 117-136

Vance, C. (Ed.). (1984). Pleasure and Danger: Exploring Female Sexuality. New York: Routledge.

Wafer, J. (1996). Out of the closet and into print: sexual identity in the textual field. In Ellen Lewin, William L. Leap. (Eds.) Out in the Field: Reflections of Lesbian and Gay Anthropologists, (pp.261-273). Urbana and Chicago: University of Illinois Press.

Wafer, J., Southgate, E., & Coan, L. (2000). Out in the Valley: Hunter gay and lesbian histories. Newcastle: Newcastle Region Library.

Weston, K. (1991). Families We Choose: Lesbians, Gays, Kinship. New York: Columbia University Press.

Weston, K. (1993). Lesbian/Gay Studies in the House of Anthropology. Annual Review of Anthropology, 22, 339–367.

Weston, K. (1998). Long Slow Burn: Sexuality and Social Science. London: Routledge.

Williams, W. L. (1986). The Spirit and the Flesh: Sexual Diversity in American Indian Culture. Boston: Beacon Press.


หัวเรื่องอิสระ: เพศภาวะ, เพศวิถี, พฤติกรรมข้ามเพศ, คนรักเพศเดียวกัน