Aging Society
การเพิ่มประชากรสูงวัยในโลก
ในปี ค.ศ.2012 กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) ชี้ว่าสังคมโลกปัจจุบัน จำนวนประชากรผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือยากจนต่างมีแนวโน้มที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ อัตราการเพิ่มประชากรสูงอายุจะมีสูงมาก จาก 15 ประเทศที่มีประชากรสูงอายุเกิน 10 ล้านคน พบว่ามีประเทศกำลังพัฒนาถึง 7 ประเทศ ประเทศที่มีประชากรอายุเฉลี่ย 80 ปี มีมากถึง 33 ประเทศ ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นคือประเทศที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด คาดว่าภายในปี ค.ศ.2050 จะมีประเทศที่มีประชากรสูงอายุเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ประมาณ 64 ประเทศ เหตุผลสำคัญที่ทำให้โลกมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีเด็กเกิดใหม่ลดน้อยลง ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่าย จากข้อมูลอายุเฉลี่ยนของประชากรโลกในช่วงปี ค.ศ.2010-2015 พบว่าอายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว คือ 78 ปี และในประเทศกำลังพัฒนามีอายุเฉลี่ย 68 ปี คาดว่าในปี ค.ศ.2050 ประชากรในประเทศพัฒนาจะมีอายุเฉลี่ยถึง 83 ปี และประเทศกำลังพัฒนามีอายุเฉลี่ย 74 ปี รวมทั้ง คาดว่าในปี ค.ศ.2050 ประชากรประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ในทวีปแอฟริกาจะมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 60 ปี ในกลุ่มประชากรสูงอายุ พบว่าผู้หญิงคือกลุ่มที่มีอายุยืนมากกว่าผู้ชาย
สังคมของคนสูงวัย
Freedman et al (2002) ระบุว่าสังคมปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้สูงอายุลดอาการเจ็บป่วยและมีสุขภาพที่เสื่อมลงช้ากว่าในอดีต เมื่อเปรียบเทียบกับคนสูงอายุที่ยังคงทำงานและใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่างๆได้อิสระกับกลุ่มคนสูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา พบว่าคนสูงอายุที่ทำงานและพึ่งตัวเองจะมีสุขภาพที่แข็งแรงมากกว่า ในการศึกษาของ Rantz et al (2005) พบว่าคนสูงอายุต้องการอยู่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีลูกหลานและเพื่อนบ้าน (aging-in-place) เนื่องจากบ้านคือพื้นที่ที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรู้สึกมั่นใจและมีอิสระที่จะทำสิ่งต่างๆ ผู้สูงอายุคิดว่าการได้ทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองคือวิธีการที่จะทำให้มีชีวิตอยู่อย่างมีค่า โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากใคร รวมทั้งไม่ต้องการใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในสถานสงเคราะห์ สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สุขภาพไม่แข็งแรง ลูกหลานไม่มีเวลาอยู่ดูแล ถูกทิ้งให้อยู่บ้านตามลำพัง ผู้สูงอายุอาจถูกส่งตัวไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล
Gitlin (2003) และ Davey et al (2004) อธิบายว่า “บ้าน” คือสถานที่ที่ผู้สูงอายุมีความผูกพัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงอัตลักษณ์ เก็บความทรงจำ สร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างความหมายให้กับชีวิต ส่งเสริมการมีตัวตนทางสังคม Cutchin (2003) และ Dyck et al (2005) อธิบายว่าบ้านคือพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ลดความเสี่ยง และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง ทำกิจกรรมที่คุ้นเคย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา ส่งเสริมการมีอำนาจในตัวเอง บ้านจึงช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีคุณภาพตราบที่ยังคงได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน ในขณะที่ Gilleard et al (2007) ตั้งข้อสังเกตว่าบ้านของผู้สูงอายุยังสัมพันธ์กับชุมชนที่เป็นแหล่งอาศัย ชุมชนที่ประกอบด้วยคนกลุ่มต่างๆ กลุ่มอาชีพ ศาสนสถาน เพื่อนบ้านและกิจกรรมทางสังคม ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับชุมชน พวกเขาจะรู้สึกว่าสถานที่ที่เติบโตมาคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ยิ่งคนมีอายุมากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็จะรู้สึกผูกพันกับชุมชนมากเท่านั้น การมีเพื่อนบ้านอยู่ในชุมชนจะช่วยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีสังคม การอยู่ในชุมชนยังบ่งบอกถึงสภาวะที่มีที่พึ่ง ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและมีอิสระที่จะคิดและทำสิ่งต่างๆ
Cutchin (2004) อธิบายว่ามุมมองของผู้สูงอายุ การมีอายุมากขึ้นในบ้านเกิดและชุมชนของตัวเองหมายถึงความสามารถที่จะจัดการและควบคุมชีวิตของตัวเองได้ตามที่ต้องการ และยังทำให้รักษาตัวตนที่เคยเป็นให้ดำเนินต่อไปอย่างภาคภูมิใจ ในทางกลับกัน หากผู้สูงอายุต้องย้ายออกจากบ้านของตัวเองเพื่อไปอยู่ในสถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นชิน พวกเขาจะรู้สึกว่ากำลังสูญเสียสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยมีในบ้านเกิด เช่น การเข้าไปอยู่บ้านพักคนชราหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสถานที่เหล่านั้นจะเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว ปราศจากเพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง ที่สำคัญคือ การอยู่ในบ้านพักคนชราเท่ากับเป็นการเสียอิสรภาพของชีวิต นำไปสู่อารมณ์เศร้าหมองและว้าเหว่ (Clarity, 2007) สำหรับหน่วยงานรัฐมองว่าการสร้างบ้านพักคนชราใช้งบประมาณมหาศาล จึงเสนอให้ผู้สูงอายุยังคงพักอาศัยอยู่ที่บ้านและให้คนในครอบครัวเป็นผู้ดูแล เพื่อที่รัฐจะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณจำนวนมากสร้างบ้านพักคนชราและจ้างเจ้าหน้าที่จำนวนมาก (Chappell et al., 2004) จากความคิดนี้ทำให้เกิดการส่งเสริมชุมชนให้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้ดูแลคนสูงอายุ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชุมชนจะช่วยดูแลผู้สูงอายุ แต่มิใช่ชุมชนทุกแห่งจะมีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุเสมอไป ในประเด็นนี้ Phillipson (2007) โต้แย้งว่าในกรณีที่ชุมชนขาดความกลมเกลียว ต่างคนต่างอยู่ มีปัญหาทางเศรษฐกิจ คนมีภาระที่ต้องต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาตัวรอด ผู้สูงอายุก็จะไม่ได้รับการเอาใจใส่ ชุมชนก็อาจกลายเป็นพื้นที่อันตรายและทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถูกทอดทิ้ง Golant (2011) กล่าวว่าการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับพื้นที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องมองเห็นวิธีการที่ผู้สูงอายุสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ชุมชนจะต้องตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ หากชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและอำนาจ สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วย Burns et al (2012) อธิบายว่าชุมชนมิเคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขและเหตุการณ์ของยุคสมัย คนกลุ่มใหม่เข้ามาแทนคนกลุ่มเดิม ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ยังคงอยู่ในชุมชนจะเผชิญหน้ากับคนกลุ่มใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากคนเหล่านั้น
ครอบครัวกับการดูแลผู้สูงอายุ
ปัจจุบัน โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไปจากเดิม ญาติพี่น้องและลูกหลานของผู้สูงอายุมีหน้าที่การงานและภาระต่างๆที่ต้องออกไปอยู่ที่อื่น ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ สมาชิกในครอบครัวจึงพยายามแสวงหาช่องทางอื่นในการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่และปู่ย่าตายาย เช่น จ้างพี่เลี้ยงเข้ามาดูแล ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้สูงอายุ จ้างบริษัทที่รับดูแลผู้สูงอายุเข้ามาจัดการ เป็นต้น (Doty, 2010) การศึกษาผู้สูงอายุในสังคมอเมริกันของ Noelker and Bass (1989) อธิบายว่าผู้สุงอายุที่มีร่างกายทรุดโทรมและมีโรคเรื้อรังจะถูกส่งไปดูแลในสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเป็นระบบ ในครอบครัวที่ลูกหลานต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ผู้สูงอายุจึงอาศัยตามลำพัง ทำให้หลายชุมชนกลายเป็นที่อยู่ของผู้สูงอายุจำนวนมาก ปรากฎการณ์นี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น (Black, 2008) บริษัทเอกชนที่ให้บริการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังจึงมีจำนวนมากขึ้น รูปแบบการให้บริการยังมีลักษณะที่ต่างกัน เช่น การบริการอาหารเพื่อสุขภาพ การสร้างกิจกรรมสันทนาการ การดูแลรักษาโรคให้กับผู้สูงอายุ การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ การติดกล้องวงจรปิดในบ้านของผู้สูงอายุเพื่อติดตามการใช้ชีวิต เป็นต้น (Mahoney, 2011)
การมีชีวิตและการสร้างตัวตนของผู้สูงอายุ
นักมานุษยวิทยาตระหนักว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีความหวังและมีความปรารถนาที่จะทำสิ่งต่างๆ ทำให้ปัจจุบัน มีการศึกษาเรื่องราวเชิงบวกที่ปรากฏอยู่ในผู้สูงอายุ และเพื่อมิให้เป็นการตอกย้ำสภาวะชายขอบหรือสภาพร่างกายที่ร่วงโรย นักมานุษยวิทยาจึงสนใจเรื่องการใส่ใจดูแล ความห่วงใย และความหวังที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ (Danely, 2016, 2017;Robbins, 2013; Suzuki, 2013) แนวทางศึกษาดังกล่าวได้ท้าทายความรู้กระแสหลักเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่มักจะเน้นเรื่องปัญหาสุขภาพ การจัดระบบสวัสดิการ การสงเคราะห์ และการช่วยเหลือดูแล ซึ่งเกี่ยวโยงกับนโยบายด้านเศรษบกิจของหลักเป็นสำคัญ การศึกษากระแสหลักที่ผ่านมาจึงทำให้ผู้สูงอายุเป็นเสมือนภาระทางสังคมและเศรษฐกิจที่หน่วยงานต่างๆต้องการสร้างมาตรฐานเพื่อควบคุมดูแลชีวิตของผู้สูงอายุให้เป็นไปตามมาตรฐานความรู้ทางการแพทย์ภายใต้วาทกรรมความชราภาพและการสูงวัยที่ประสบความสำเร็จ (successful aging) (Lamb, 2014; Martin et al., 2014)
การขยายความเข้าใจเกี่ยวการมีอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยนักมานุษยวิทยาได้ชี้ว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้นคือผู้ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวตนภายใต้เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ผู้สูงอายุจึงไม่มีมาตรฐานชีวิตแบบเดียวที่การแพทย์ได้หยิบยื่นให้ (Danely, 2017) การศึกษาชีวิตของผู้สูงอายุควรมองดูที่บริบทและปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อคนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งวิธีคิดและความเชื่อที่ผู้สูงอายุนำมาปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป (Vincent, Phillipson and Downs, 2006) การสร้างสำนึกและตัวตนของผู้สูงอายุยังสัมพันธ์กับความทรงจำ สถานที่ แบบแผนการใช้ชีวิต ระเบียบกฎเกณฑ์สังคม จารีตประเพณี ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน การดูแลเนื้อตัวร่างกาย สิ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกันตลอดเวลา (Leibing, 2014) ตัวตนของผู้สูงอายุจึงประกอบสร้างขึ้นบนความรู้และอำนาจที่ซับซ้อน ซึ่งมิใช่ร่างกายทางชีววิทยาที่มักถูกอธิบายจากความรู้ทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว นักมานุษยวิทยาพยายามชี้ว่าสำนึกของการมีอายุมิได้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางร่างกาย หากแต่ยังเกิดจากปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุด้วย (Lynch & Danely, 2013)
การศึกษาความชราภาพไม่ควรมองเงื่อนไขทางชีววิทยาเป็นสำคัญ แต่ควรทำความเข้าใจว่าภายใต้สภาวะที่ร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลงไปนั้น ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างไรภายใต้กฎระเบียบทางสังคมและเศรษฐกิจ การศึกษาวิธีปฏิบัติทางสังคมของผู้สูงอายุจะช่วยทำให้ว่าตัวตนของผู้สูงอายุมีความซับซ้อน มิใช่เป็นตัวตนที่ถูกตัดสินจากความเสื่อมของร่างกาย แต่เป็นตัวตนที่มีพลวัตผ่านการกระทำของผู้สูงอายุ (aging subjectivity) (Twigg & Martin, 2014) ซึ่งสัมพันธ์กับประสบการณ์ทางสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ บทบาทและสถานะทางเพศ และคุณค่าทางศีลธรรม ปฏิสัมพันธ์ต่างๆเหล่านี้ผู้สูงอายุเป็นทั้งผู้ที่เลือกและถูกเลือกในผลประโยชน์และเป้าหมายต่างๆ ทั้งหมดนี้คือกระบวนการสร้างตัวตนของผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เชิงการเมืองแบบหนึ่ง
การทำความเข้าใจตัวตนของผู้สูงอายุจึงต้องพิจารณาบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้พบว่าการเป็นผู้สูงอายุในแต่ละวัฒนธรรมมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ในสังคมญี่ปุ่น จะมีวันของเทศกาลกีฬาที่เรียกว่า “ไทอิกุ โนฮิ” (taiiku no hi) เป็นวันที่ที่เด็กและผู้สูงอายุจะเข้ามาร่วมกิจกรรมแข่งกีฬาที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัย เช่นกีฬาที่ชื่อว่าหน่วยพิทักษ์ หรือ “มิมาโมริไต” (mimamoritai) เด็กจะวิ่งร่วมกับผู้สูงอายุ ซึ่งสะท้อนว่าเด็กๆ ต้องช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ และเป็นระบบศีลธรรมของการตอบแทนบุญคุณที่ผู้น้อยต้องช่วยเหลือผู้ใหญ่ ในการศึกษาของ Hashimoto (1996) กล่าวว่าในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผู้สูงอายุถูกนิยามว่าเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแล ญาติพี่น้องและลูกหลานในครอบครัวจะต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ทั้งนี้ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีบทบาทในการเลี้ยงดูลูกหลาน เมื่อถึงวัยชรา ลูกหลานจึงต้องตอบแทนผู้สูงอายุโดยไม่ทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว อย่างไรก็ตาม ค่านิยมนี้ค่อยๆลดความสำคัญลงในปัจจุบัน คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่คิดว่าผู้สูงอายุคือภาระที่เพิ่มขึ้นในการดำรงชีวิต ในขณะที่ผู้สูงอายุเริ่มคิดว่าไม่ต้องการเป็นภาระให้ลูกหลานและหาทางที่จะแยกตัวเองออกไปอยู่ตามลำพัง
ปัจจุบัน ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้สิทธิเพื่อการคุ้มครองดูแล และได้รับเงินเดือนละ 5,000 เยน ผู้สูงอายุสามารถเลือกรับบริการจากรัฐตามรายการต่างๆที่เตรียมไว้ เช่น การส่งผู้ดูแลไปเยี่ยมบ้าน และการตรวจสุขภาพ ในทางปฏิบัติ ผู้สูงอายุไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในระบบดูแลของรัฐ พวกเขาต้องการมีชีวิตอิสระและอยู่อาศัยในบ้าน รวมทั้งไม่ต้องการเป็นภาระให้กับลูกหลาน ผู้สูงอายุหลายคนจึงพยายามใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองและยอมรับสภาพที่ต้องจากโลกนี้ไปตามลำพัง ผู้สูงอายุบางคนหันมาเข้ากลุ่มชมรมและสมาคมที่มีผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมต่างๆเพื่อคลายเหงาและช่วยเป็นเพื่อนดูแลกันและกัน จากประเด็นนี้ทำให้เห็นว่า ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันคิดว่าการไม่เป็นภาระให้กับลูกหลานคือสิ่งที่สำคัญ ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากแสวงหาวิธีที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง การมีตัวตนของผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่นซึ่งแสดงออกผ่านการมีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน สะท้อนว่าผู้สูงอายุต้องการอิสระที่จะดูแลตัวเอง การต้องให้ผู้อื่นมาดูแลเสมือนเป็นการไร้อิสรภาพ นอกจากนั้น ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นยังคิดว่าชีวิตบั้นปลายของพวกเขาจะสัมผัสกับบรรพบรุษที่ล่วงลับไปแล้ว วิญญาณของบรรพบุรุษจะเฝ้ามองพวกเขาอยู่ (Danely 2014, 2016)
Danely (2017) อธิบายว่าชีวิตและตัวตนของผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่นเชื่อมโยงกับโลกทัศน์ของการมีชีวิตที่เป็นอิสระ และความเชื่อเรื่องวิญญาณของบรรพบุรุษที่จะคอยปกป้องดูแลให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข โลกทัศน์นี้คือประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและเป็นระบบศีลธรรมของการมีชีวิตในช่วงบั้นปลายของชีวิต ดังนั้น คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวชี้วัดตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เสมอไป ผู้สูงอายุในแต่ละวัฒนธรรมย่อมมีวิธีสร้างคุณค่าและสร้างตัวตนภายใต้ความเชื่อ ประสบการณ์ และโลกทัศน์ที่หลากหลาย สิ่งสำคัญคือ การเข้าไปรับฟังเสียงของผู้สูงอายุที่กำลังแสวงหาหนทางสำหรับการมีชีวิตในแบบที่พวกเขาเลือกเอง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Black, K. (2008). Health and aging in place: Implications for community practice. Journal of Community practice, 16(1), 79–95.
Burns, V. F., Lavoie, J.P. & Rose, D. (2012). Revisiting the role of neighbourhood change in social exclusion and inclusion of older people. Journal of Aging Research 2012.
Chappell, N. L., Dlitt, B. H., Hollander, M. J., Miller, J. A. & McWilliam, C. (2004).Comparative costs of home care and residential care. The Gerontologist, 44(3), 389–400.
Clarity. (2007). Attitudes of seniors and baby boomers on aging in place. http://americareinfo.com/site/wpcontent/uploads/2009/09/Clarity_Aging_in_Place_20 07.pdf. A
Cutchin, M. P. (2003). The process of mediated aging-in-place: A theoretically and empirically based model. Journal of Social Sciences & Medicine, 57, 1077–90.
Danely, J. (2014). Aging and loss: Mourning and maturity in contemporary Japan. New Brunswick, NJ: Rutgers University Press.
Danely, J. (2016). Hope in an ageing Japan: Transience and transcendence. Contemporary Japan, 28 (1), 13-31.
Danely, J. (2017). Aging and Subjectivity: Ethnography, Experience and Cultural Context. In Tannistha Samanta (Ed.). Cross-Cultural and Cross-Disciplinary Perspectives in Social Gerontology, (pp.69-83). Singapore: Springer.
Davey, J., Joux, V. D., Nana, G., & Arcus, M. (2004). Accommodation options for older people in Aotearoa/New Zealand. Wellington, New Zealand: NZ Institute for Research on Ageing/Business & Economic Research Ltd, for Centre for Housing Research Aotearoa/New Zealand.
Doty, P. (2010). The evolving balance of formal and informal, institutional and non-institutional long-term care for older Americans: A thirty-year perspective. Public Policy & Aging Report, 20(1), 3–9.
Dyck, I., Kontos, P., Angus, J. & McKeever, P. (2005). The home as a site for long-term care: meanings and management of bodies and spaces. Health & Place, 11, 173–85.
Freedman, V. A., Martin, L.G. & Schoeni, R. F. (2002). Recent trends in disability and functioning among older adults in the United States: A systematic review. Journal of the American Medical Association, 288(24), 3137–46.
Gilleard, C., Hyde, M. & Higgs, P. (2007). The impact of age, place, aging in place and attachment to place on the well being of the over 50s in England. Research on Aging, 29(6), 590– 605.
Gitlin, L. N. (2003). Conducting research on home environments: Lessons learned and new directions. The Gerontologist, 43(5), 628–37.
Golant, S. M. (2011). The changing residential environments of older people. In: Robert H. Binstock & Linda K. George (Eds.), Handbook of aging and the social sciences. (pp. 207– 20) .Burlington MA: Elseiver Academic Press.
Hashimoto, A. (1996). The gift of generations: Japanese and American perspectives on aging and the social contract. Cambridge: Cambridge University Press.
Lamb, S. (2014). Permanent personhood or meaningful decline? Toward a critical anthropology of successful aging. Journal of Aging Studies, 29, 41–52.
Iecovich, E. (2014). Aging in place: From theory to practice. Anthropological Notebooks, 20 (1), 21–33.
Leibing, A. 2014. Heterotopia and illness: Older women and hypertension in a Brazilian favela. Anthropology & Aging Quarterly, 34(4), 225-237.
Lynch, C., & Danely, J. (Eds.). (2013). Transitions and transformations: Cultural perspectives on aging and the life course. Oxford: Berghahn Books.
Mahoney, D. F. (2011). An evidence-based adoption of technology model for remote monitoring of elders’ daily activities. Ageing International, 36(1), 66–81.
Martin, P., Kelly, N., Kahana, B., Kahana, E., Willcox, B. J., Willcox, D. C., & Poon, L. W. (2015). Defining successful aging: a tangible or elusive concept? The Gerontologist, 55(1),14- 25.
Noelker, L. S. & Bass, D. M. (1989). Home care for elderly persons: Linkages between formal and informal caregivers. Journal of Gerontology: Social Sciences, 44(2), S63–70.
Phillipson, C. (2007). The ‘elected’ and the ‘excluded’: Sociological perspectives on the experience of place and community in old age. Ageing & Society, 27, 321–342.
Rantz, M. J., Marek, K.D., Aud, M.A., Johnson, R. A., Otto, D. & Porter, R. (2005). Tiger place: A new future of older adults. Journal of Nursing Care Quality, 20, 1–4.
Robbins, J. (2013). Beyond the suffering subject: toward an anthropology of the good. Journal of the Royal Anthropological Institute, 19(3), 447–462.
Suzuki, N. (2013). Preface. In N. Suzuki, (Ed.), The anthropology of aging and well-being: Searching for the space and time to cultivate life together, Senri Ethnological Studies 80. (pp.i-ix). Osaka: National Museum of Ethnology.
Twigg, J., & Martin, W. (2014). The Challenge of Cultural Gerontology. The Gerontologist, 55(3) doi:10.1093/geront/gnu061
United Nations Population Fund. (2012). Ageing in the Twenty-First Century: A Celebration and A Challenge. New York: United Nations Population Fund.
Vincent, J. A., Phillipson, C., & Downs, M. (2006). The futures of old age. Thousand Oaks: SAGE Publications Ltd.
หัวเรื่องอิสระ: ผู้สูงอายุ ชราภาพ สุขภาพ การดูแล