Qurban
การทำกุรบาน (Qurban) หรืออุฎฮียะ (udhiyah) คือพิธีกรรมการเชือดสัตว์พลีทานของศาสนาอิสลาม (Islamic ritual sacrifice) เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระเจ้า โดยจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงวันอีดิ้ลอัฎฮา (และถัดจากนั้นอีกสามวัน) ซึ่งเป็นวันที่ผู้แสวงบุญทั่วโลกได้เดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ โดยการทำกุรบานถือเป็นสิ่งที่เน้นหนักเน้นให้มุสลิมทั่วโลกพึงกระทำหากมีความสามารถ ซึ่งสัตว์ที่จะใช้ในการทำกุรบานต้องเป็นปศุสัตว์ อันได้แก่ อูฐ วัว แพะ และแกะ และต้องเป็นสัตว์ตัวที่มีอายุถึงเกณฑ์ คือ อูฐต้องมีอายุย่างเข้าปีที่หก วัวและแพะต้องมีอายุย่างเข้าปีที่สาม ส่วนเงื่อนไขของแกะนั้นต้องมีอายุย่างเข้าปีที่สอง หรือฟันหน้าร่วงคือผลัดฟันหน้า แม้อายุยังไม่ถึงกำหนดก็ตาม อีกทั้งต้องเป็นสัตว์ที่มีลักษณะสมบูรณ์สวยงาม ไม่พิการ และจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียก็ได้ แต่ห้ามนำสัตว์ตัวเมียที่ตั้งท้องหรือเพิ่งคลอดลูกมาทำกุรบาน ทั้งนี้ สัตว์ที่จะนำมาเชือดพลีต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี ต้องได้รับอาหาร น้ำดื่ม อีกทั้งสถานที่เชือดต้องสะอาด สัตว์ต้องถูกเชือดอย่างไม่ทรมาน มีดต้องมีความคมที่สุดเพื่อให้สัตว์ปวดเจ็บน้อยที่สุด สัตว์จะต้องไม่เห็นมีดหรือเห็นตัวอื่น ๆ ที่ถูกเชือด
การทำกุรบานถือเป็นการปฏิบัติทางศาสนาที่มุสลิมจะได้ระลึกถึงเรื่องราวความเต็มใจและความศรัทธาของอิบรอฮีม (อับราฮัม) และลูกชาย ที่จะยอมเสียสละชีวิตได้ตามบัญชาของพระเจ้าได้ โดยท้ายที่สุดพระเจ้าได้ส่งแกะมาให้อิบรอฮีมเชือดพลีแทนลูกชาย ขณะที่บางคนก็เน้นถึงการทำกุรบานที่เป็นการทำให้รายรับหรือปัจจัยยังชีพที่ได้มานั้นมีความบริสุทธิ์โดยการพลีทาน อีกทั้ง กุรบานยังเป็นดั่งของขวัญจากพระเจ้า (divine gift) ที่แสดงถึงความเมตตากรุณาของพระเจ้า (act of God’s hospitality) ซึ่งไม่ใช่การที่เรามอบของขวัญแก่พระเจ้าแล้วจึงได้รับการตอบแทนคืน เพราะในความเชื่อของชาวมุสลิมนั้นการทำกุรบานไม่ใช่พิธีการบูชายัญหรือการเซ่นไหว้บวงสรวง ตามคำนิยามของคำว่า sacrifice แบบที่นักมานุษยวิทยาชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งเข้าใจ
มุสลิมไม่ได้เชื่อว่าพระเจ้าไม่ได้ต้องการรับเลือดเนื้อของการพลี เพียงแต่ต้องการดูความเสียสละและการน้อมรับต่อคำบัญชาของพระองค์ โดยเนื้อที่ได้จากการทำกุรบานจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับคนยากจนขัดสน แบ่งปันให้คนอื่น ๆ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสได้ลิ้มรสชาติของเนื้อซึ่งอาจจะไม่มีความสามารถที่จะหามารับประทานได้บ่อยครั้ง และสามารถแจกจ่ายให้กับคนที่ไม่ใช่มุสลิมได้รับประทานได้ด้วยเช่นกัน หรือจะแช่แข็งส่งไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่มีคนขัดสนยากจนก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อเท็จจริงแล้วก็จะพบว่าการทำกุรบานในแต่ละพื้นที่บนโลกใบนี้ก็อาจจะมีรายละเอียดของกิจกรรมที่แตกต่างกันไปตามขนบธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ (a specific local religious culture) ซึ่งเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิม (อรุณ, 2559; Tayob; 2019,2020; Vlaisavljevic, 2020; Friedlander, 2020)
งานมานุษยวิทยาที่ศึกษาการทำกุรบาน
นักมานุษยวิทยาและผู้ทำงานภาคสนามในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้ศึกษาการทำกุรบานในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก โดยแสดงให้เห็นถึงลักษณะการปฏิบัติพิธีกรรมและการให้ความหมายต่อการทำกุรบาน รวมทั้งเผยให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนและต่อรองกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การทำกุรบานสามารถดำเนินต่อไปได้ อาทิ งานของ Combs- Schilling (1989) เรื่อง Sacred Performances: Islam, Sexuality, and Sacrifice โดยเขาวิเคราะห์ว่า พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการทำกุรบานนั้นมีบทบาทในการสร้างตัวตนและรักษาอำนาจของสถาบันกษัตริย์โมร็อกโก (the Moroccan monarchy) โดยเฉพาะตั้งแต่การปกครองภายใต้ราชวงศ์อลาวี (Alawi dynasty) ในช่วงคริสศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา และการทำกุรบานที่โมร๊อกโกยังแสดงถึงบทบาทนำของผู้ชาย
ขณะที่งานของ Abdullah Hammoudi (1993) เรื่อง The Victim and Its Masks: An Essay on Sacrifice and Masquerade in the Maghreb ได้ท้าทายต่องานของนักชาติพันธุ์นิพนธ์ในยุคอาณานิคมในช่วงทศวรรษ 1920 งานของเขามีส่วนหนึ่งได้ศึกษาการทำกุรบานของกลุ่ม Berber ที่ Ait mizane ทางตอนใต้ของโมร็อคโก โดยเขาพบว่าที่นั่นขนบธรรมเนียมบางอย่างของท้องถิ่นในการทำกุรบาน เช่น ส่วนไหนของสัตว์จะถูกกินก่อนและวิธีเตรียมเนื้อกุรบานที่มีความเฉพาะ อีกทั้งเขามองว่าการทำกุรบานที่โมร๊อกโกมีความซับซ้อนของบทบาททางเพศมากกว่าที่ Combs- Schilling เสนอไว้ เช่นเดียวกับงานของ John Bowen (1992) เรื่อง On Scriptural Essentialism and Ritual Variation: Muslim Sacrifice in Sumatra and Morocco ที่ทำงานภาคสนามในสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเขาตั้งข้อสังเกตต่อการอธิบายของ Combs- Schilling ที่เสนอว่าการทำกุรบานนั้นแสดงถึงบทบาทนำของเพศชาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นในทุก ๆ ที่ โดยเขาเสนอว่าที่อินโดนีเซียนั้นการทำกุรบานแสดงถึงการติดต่อกันและความสัมพันธ์ของเครือญาติทั้งสองฝั่ง ซึ่งมีพิธีกรรมท้องถิ่นที่เรียกว่า kenduris เป็นงานกินเลี้ยงตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ โดอได้นำเสนอถึงการท้าทายจากกระแสการฟื้นฟูศาสนาด้วยเช่นกัน
ในยุโรป Anne-Marie Brisebarre (1993) ได้เขียนงานเรื่อง The Sacrifice of ’Id Al-Kabir: Islam in the French Suburbs โดยเขาพบว่าการทำกุรบานของชาวมุสลิมที่อพยพมาอยู่ที่ตัวเมืองและชานเมืองของปารีส ประเทศฝรั่งเศสนั้นเต็มไปด้วยความกดดันและความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาสัตว์ การหาสถานที่เชือดสัตว์และชำแหละที่ต้องทำอย่างลับ ๆ เช่น ในห้องใต้ดิน โรงรถ หรือต้องย้ายสัตว์ไปทำที่ไกล ๆ รวมทั้งมีการกดดันให้มุสลิมต้องทำกุรบานที่โรงฆ่าสัตว์และเป็นไปตามหลักสุขอนามัย ซึ่งย่อมส่งผลต่อเทศกาลการเฉลิมฉลองของพวกเขาด้วยเช่นกัน
ขณะที่ Shaheed Tayob (2019) นักมานุษยวิทยาสังคม ได้ศึกษาการทำกุรบาน (Bakri Id) ของชาวมุสลิมที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่กำลังอยู่ภายใต้วาทกรรมของชาตินิยมฮินดูซึ่งมองว่าชาวมุสลิมนั้นต่ำต้อยและโหดร้าย โดยเขามีความสนใจในประเด็นของหลักปฏิบัติทั่วไปในธุรกิจ (market practice) การกำหนดทิศทางและปรับตัวทางศาสนา (religious orientation) เทศการเฉลิมฉลอง รวมทั้งเรื่องของการใส่ใจดูแล (caring) โดยเฉพาะระหว่างคนกับสัตว์ และเขามองว่าการทำกุรบานในเมืองมุมไบจะทำให้เห็นประเด็นของจริยธรรมและการเมืองของความน่าขยะแขยง (politics of disgust) การเมืองของคนไร้เสียง (subaltern politics) การทำให้เป็นชายขอบ และปัญหาของโครงสร้างพื้นฐานได้อีกด้วย
เขาได้เริ่มศึกษาการทำกุรบานของชาวมุสลิมมุมไบตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 โดยพบว่าชาวมุสลิมที่มุมไบมีการทำกุรบานด้วยแพะ (goats) โดยช่วงก่อนวันที่จะมีการทำกุรบานนั้น เรียกได้ว่าในเมืองแห่งนี้ ผู้คนจะให้ความสนใจหรือคลั่งไคล้ในเรื่องแพะ (crazy about goats) เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเอาแพะออกมาเล่น ออกมาดูแล มาอวดเพื่อน ๆ ในเรื่องของความสวยงาม แข็งแรง และลักษณะต่าง ๆ ของแพะที่ตนเองจะเอามาทำกุรบาน รวมทั้งเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนแพะเป็นจำนวนมากในเมือง อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 2013 การฆ่าวัวยังไม่ได้ถูกห้ามอย่างสิ้นเชิง ทว่าถูกจำกัดไว้ โดยในช่วงวันอีดหรือวันเฉลิมฉลองและทำกุรบานนั้น ในเมือง Deonar ซึ่งเป็นย่านชานเมืองและแออัดของมุมไบก็จะเต็มไปด้วยการฆ่าวัว ชำแหละ การเคลื่อนย้ายแจกจ่ายชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้รับการดูแลให้มีความถูกสุขลักษณะอนามัยมากนัก
Shaheed Tayob เล่าว่าเขาได้สัมภาษณ์พี่น้องชาวปากีสถานชื่อ Aleem และ Mukhtar ที่ย้ายมาทำงานที่นี่และมีสถานะเป็นชนชั้นกลาง (new post-liberalisation Indian middle class) ในเมืองมุมไบ ซึ่งแตกต่างจากมุสลิมทั่วไปในเมือง โดยทั้งสองให้ความเห็นว่า ในอนาคตเขาอยากจะทำกุรบานที่โรงฆ่าสัตว์นอกเขตมุมไบ ซึ่งมีผู้คนพลุกพล่านน้อยลงและมีความสะอาดมากขึ้น และสำหรับเขาแล้วการฆ่าสัตว์พลี (Animal sacrifice) หรือการทำกุรบานที่หลายคนดูจะเป็นเรื่องของความรุนแรงนั้น มันเป็นเรื่องที่แสนปกติ แต่เพราะปัญหาเรื่องการขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก (the lack of facilities) หรือการละเลยต่อโครงสร้างพื้นฐานที่ดี (infrastructural neglect) จึงทำให้การทำกุรบานดูเป็นสิ่งที่น่าสะอิดสะเอียน และจากปัญหาในเรื่องของการจัดการที่ไม่ดีนั้นทำให้ภาพและกลิ่น รวมทั้งสัตว์ที่ตื่นตระหนกเหล่านี้ ยิ่งสร้างความไม่พอใจต่อชาวฮินดูชาตินิยมที่มองว่ามุสลิมโหดร้ายและไร้ระเบียบ
Shaheed Tayob ระบุว่าสำหรับมุสลิมในมุมไบแล้ว กุรบานไม่ใช่สัญลักษณ์ของความรุนแรงอันบริสุทธิ์และความโหดร้าย แต่กุรบานคือแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่แสดงถึงการไปด้วยกันได้ระหว่างการพลีและการปฏิบัติที่เอาใจใส่ดูแล (practices of care) หรือกล่าวได้ว่า ความเอาใจใส่และความสนิทสนมใกล้ชิดเป็นหัวใจสำคัญของการเสียสละหรือการพลีทานในฐานะความรู้สึกสูญเสีย โดยการดูแลสัตว์ที่จะนำมาเชือดพลีอย่างดีด้วยความรักและการดูแลเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเพียงสามวัน เป็นเดือน หรือเป็นปี ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ต้องปฏิบัติในฐานะของคุณค่าเชิงจริยธรรม ทั้งนี้ การเชือดสัตว์พลีแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการใช้ความรุนแรงที่จำเป็น (a necessary ordained violence) หรือ ความรุนแรงที่ถูกควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม (properly contained violence) มากกว่าการเป็นความรุนแรงที่มากเกินควร (excessive violence) หรือถูกจัดการอย่างไม่ตั้งใจ หรือปราศจากการดูแลเอาใจใส่ กุรบานจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าสะอิดสะเอียน อย่างไรก็ตาม Shaheed Tayob พบว่า การปฏิบัติต่อสัตว์ที่เตรียมมาเชือดพลีอย่างดีนั้นก็แสดงถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้นและวรรณะที่เกิดขึ้นในมุมไบอีกด้วย โดยพวกพ่อค้าร่ำรวยอาจจะทำไปเพื่ออวดแสดง คนจนที่เลี้ยงแพะอาจจะทำไปเพื่อการค้า ขณะที่บางคนก็ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างดีเพราะเป็นเรื่องของความชื่นชอบ
นอกจากนี้ Ugo Vlaisavljevic (2020) นักวิชาการด้านปรัชญา ประจำ the University of Sarajevo ซึ่งได้ศึกษาการทำกุรบานชาวมุสลิมในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เขามองว่า กุรบานไม่ได้มีความหมายเหมือนกับการบูชายัญ (gift-sacrifice) ที่เป็นการมอบของกำนัลแก่พระเจ้า/เทพเจ้าดังที่นักมานุษยวิทจำนวนหนึ่งเข้าใจ ทั้งนี้ กุรบานเป็นเหมือนของขวัญจากพระเจ้าที่ช่วยระบุและสานต่อพันธะทางสังคมที่ไม่เพียงแค่กับญาติสนิทแต่รวมถึงกับเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านอีกด้วย อีกทั้งเขามองว่าการเชือดสัตว์ (The act of slaughtering) และการแบ่งปันเนื้อไม่ใช่กิจกรรมเดียวกัน โดยการเชือดคือการที่มนุษย์สื่อสาร (ความยำเกรง) ไปยังพระเจ้า ส่วนการชำแหละและแบ่งปันแจกจ่ายเนื้อจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงการแลกเปลี่ยนของมนุษย์อย่างชัดเจนขึ้นอีกด้วย
Ugo Vlaisavljevic (2020) ได้ศึกษาการทำกุรบานชาวมุสลิมในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา หรือที่เรียกว่า Kurban Bayram โดยเขาพบว่าหลังจากบรรยากาศของลัทธิคอมมิวนิสต์ (the post-communist climate) ในเทศกาลวันอีดิ้ลอัฎฮาของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนานั้นจะมีกิจกรรมที่ถือเป็นขนบธรรมเนียมสำคัญอยู่สองอย่าง คือ การมอบเงินเป็นของขวัญจำนวนเล็กน้อยแก่เด็ก ๆ ที่ช่วยแจกเนื้อกุรบานหรือที่เรียกว่า Bajramluk และ การมอบเนื้อกุรบานให้คนที่ไม่ใช่มุสลิม
โดยที่บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาจะมีขนบธรรมเนียมในการแบ่งปันเนื้อกุรบาน ได้แก่ หนึ่งในสามของเนื้อกุรบานของแต่ละคนจะถูกแบ่งไว้แจกจ่ายโดยทางอ้อมให้กับเพื่อนบ้านและเพื่อน ๆ โดยผู้ให้ไม่ควรส่งเนื้อให้ผู้รับเป็นการส่วนตัว แต่ควรทำโดยผ่านตัวกลางที่เป็นเด็ก ๆ หรือสมาชิกในครอบครัวที่อายุน้อยกว่า หรือที่เรียกว่า bayramluk ซึ่งการใช้เด็กเป็นตัวกลางในการแบ่งปันแจกจ่ายเนื้อนั้นเพราะว่าเด็กมีความไร้เดียงสากว่าผู้ใหญ่ จึงเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจ (economic exchange) และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือเด็ก ๆ ควรจะต้องสวมเสื้อผ้าใหม่ในขณะที่ทำสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็น 'ภารกิจ' อย่างภาคภูมิใจ โดยเด็ก ๆ เหล่านี้จะได้รับเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ จากผู้ที่เขาเอาเนื้อไปมอบให้ ซึ่งเงินดังกล่าวจะต้องไม่กลับไปยังผู้ให้เนื้อ (ผู้ทำกุรบาน) ขณะที่เรื่องของการให้เนื้อกุรบานแก่เพื่อนบ้านที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งเป็นประเด็นที่มีข้อขัดแย้งกันทางศาสนานั้น ก็ปรากฏว่าที่บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มีขนบธรรมเนียมที่เก่าแก่ซึ่งจะให้เนื้อกุรบานแก่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่หลากหลายศาสนามาหลานศตวรรษ โดยขนบธรรมเนียมนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้วินิจฉัยทางศาสนาสูงสุดของประเทศมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม Nuri Friedlander (2020) ได้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ Harvard University เรื่อง “Sharpen Your Blade and Put Your Animal at Ease”: Islamic Ethics and Rituals of Killing Non-Human Animals ก็ได้ตั้งข้อสังเกตต่องานวิชาการที่วิเคราะห์ข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งงานด้านสังคมศาสตร์ที่มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับการทำกุรบาน ไว้ว่า งานเหล่านี้มีประโยชน์ในแง่ของการแสดงให้เห็นถึงการทำกุรบานที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนต่าง ๆ และพยายามทำความเข้าใจในบริบทเหล่านั้น โดยงานวิจัยทางชาติพันธุ์นิพนธ์ช่วยให้เห็นวิธีการปฏิบัติหรือการดำเนินการทำกุรบานของชุมชนมุสลิมที่ต่าง ๆ ได้ดี ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงบทบาทของพิธีกรรมเหล่านั้น รวมทั้งเข้าใจวิธีที่การทำกุรบานถูกตีความ หรือตีความใหม่ และจินตนาการใหม่ในบริบทที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม งานจำนวนหนึ่งก็ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ชีวิตของชาวมุสลิมบางกลุ่มบางพื้นที่มากเสียจนมักจะละเลยการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับหลักการหรือบัญญัติของอิสลาม (Islamic legal literature) เกี่ยวกับการทำกุรบาน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในบริบทของสังคมไทย สำนักจุฬาราชมนตรี (2562) ก็ได้ออกเอกสารเรื่องการเชือดกุรบาน (สัตว์พลีทาน) : ข้อพึงปฏิบัติและพึงระวังในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม อันแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อประเด็นการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยระบุว่า การเชือดสัตว์พลีทาน (กุรบาน) จะต้องเป็นไปตามที่บทบัญญัติศาสนากำหนด ต้องมีความบริสุทธิ์ใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางความเชื่อและศาสนา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบในการปฏิบัติพิธีกรรมอันสำคัญนี้ และป้องกันมิให้ผลของพิธีกรรมกลายเป็นประเด็นความไม่เข้าใจและนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพิธีกรรมการเชือดกุรบาน ให้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม และไม่ถ่ายภาพหรือเผยแพร่ภาพการเชือดกุรบานทุกขั้นตอนในสื่อทุกชนิด ทุกประเภท เนื่องจากการกระทำเช่นนี้ นอกจากจะมีผลในทางลบต่อการปฏิบัติอิบาดะห์ (ศาสนกิจ) นี้แล้ว จะเป็นเหตุนำไปสู่ความไม่บริสุทธิ์ใจและทำให้ผลบุญที่ได้รับบกพร่องอีกด้วย
ผู้เขียน: สัมพันธ์ วารี
เอกสารอ้างอิง:
สำนักจุฬาราชมนตรี. (2562). การเชือดกุรบาน (สัตว์พลีทาน) : ข้อพึงปฏิบัติและพึงระวังในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม. สำนักจุฬาราชมนตรี. สืบค้นจาก shorturl.at/otyF4
อรุณ บุญชม. (2559). อุดฮียะฮ์ (สัตว์กุรบาน). สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร. สืบค้นจาก shorturl.at/isBY2
Bowen, J. R. (1992). On Scriptural Essentialism and Ritual Variation: Muslim Sacrifice in Sumatra and Morocco. American Ethnologist, 19(4), 656–671.
Brisebarre, A.M. (1993). The Sacrifice of ’Id al-kabir: Islam in the French Suburbs. Anthropology Today, 9(1), 9–12.
Combs- Schilling, M.E. (1989). Sacred performances: islam, sexuality, and sacrifice. New York: Colombia University Press.
Friedlander, N. (2020). “Sharpen Your Blade and Put Your Animal at Ease”: Islamic Ethics and Rituals of Killing Non-Human Animals (Doctoral dissertation, Harvard University, Graduate School of Arts & Sciences). Cambridge: Harvard University.
Hammoudi, A. (1993). The victim and its masks : an essay on sacrifice and masquerade in the Maghreb. Chicago: University of Chicago Press.
Tayob, S. (2019). Disgust as Embodied Critique: Being Middle Class and Muslim in Mumbai. South Asia: Journal of South Asian Studies, 42(6), 1192-1209.
Tayob, S. (2020). Muslim Food Culture. Oxford Research Encyclopedia of Anthropology. Retrieved from https://oxfordre.com/anthropology/view/10.1093/acrefore/9780190854584.001.0001/acrefore-9780190854584-e-131.
Vlaisavljevic, U. (2020). The Gift of Qurbani Meat: Ethnological Reflections. Illuminatio, 2, 162-209.
หัวเรื่องอิสระ: พิธีกรรม ความเชื่อ อิสลาม การเชือดสัตว์