Chiefdom
Chiefdom หมายถึงรูปแบบการจัดระบบสังคมและการเมือง โดยมีผู้นำที่มีอำนาจเพียงคนเดียวที่ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการคนอื่นๆที่อยู่ใต้การปกครอง ผู้นำจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม การปกครองแบบผู้นำคนเดียวพบได้ในสังคมชนเผ่าที่มิใช่สังคมสมัยใหม่แบบตะวันตก และส่วนใหญ่จะมีการสืบทอดตำแหน่งผู้นำผ่านระบบเครือญาติ โดยผู้ที่อยู่ในตระกูลผู้นำและมีอาวุโสที่สุดจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจ แนวคิดเรื่องผู้นำได้รับความนิยมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งตกอยู่ใต้กระบวนทัศน์เรื่องวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ที่อธิบายว่าความเจริญของสังคมดูได้จากพัฒนาการของเศรษฐกิจและการเมือง สังคมระดับต้นจะมีความเรียบง่าย สมาชิกรวมตัวกันด้วยระบบเครือญาติ (Band) สังคมระดับต่อมาคือสังคมชนเผ่า (Tribe) หรือสังคมปกครองโดยผู้นำ (Chiefdom) ที่ประกอบด้วยกลุ่มญาติหลายกลุ่มและมีหัวหน้าเผ่าปกครอง และระดับสูงสุดคือระดับรัฐชาติที่มีการแบ่งสถาบันทางสังคมอย่างซับซ้อน
คำว่า chief มาจากภาษาลาติน คำว่า caput หมายถึง “หัวหน้า” ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีการใช้คำนี้เพื่ออธิบายลักษณะของผู้นำกลุ่ม ซึ่งมีอำนาจสูงสุด นับจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา คำนี้ก็ถูกใช้ในความหมายทางชาติพันธุ์ หมายถึง คนที่เป็นหัวหน้า หรือผู้ปกครองประจำเผ่า ตระกูล หรือชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งยังคงใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน นักสำรวจชาวอังกฤษและสเปนที่เดินทางไปถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้กล่าวถึงอำนาจและความมั่งคั่งของหัวหน้าเผ่า และการเคารพนับถือหัวหน้าเผ่าของคนพื้นเมือง
หัวหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนมีฐานะทางเศรษฐกิจต่างจากชาวบ้านธรรมดา ลักษณะสังคมของเผ่าซึ่งมีการยังชีพด้วยตัวเองภายในกลุ่มครัวเรือน และในหมู่บ้าน ทำให้หัวหน้ามีทรัพยากรที่ได้จากชาวบ้าน สถานะทางสังคมจึงบ่งบอกความแตกต่างของบุคคล สังคมที่มีหัวหน้าจะมีการควบคุมทางเศรษฐกิจภายในชุมชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสภาพแวดล้อม สังคมที่มีหัวหน้าอาจมีระบบของการเลือกผู้นำ มีการแบ่งลำดับชั้นตามอำนาจลดหลั่นกัน หัวหน้าจะดูแลลูกน้องในเขตปกครองของตัวเอง ในดินแดนที่อยู่ใต้ปกครองจะประกอบด้วยชุมชนหลายแห่ง ซึ่งแต่ละชุมชนจะมีหัวหน้าของตัวเอง แต่ละชุมชนจะปฏิบัติตามคำสั่งและกฎระเบียบที่ผู้นำสั่งการ ดังนั้น หัวหน้าชุมชนแต่ละแห่งต้องแสดงความเคารพผู้นำสูงสุด เช่น การส่งบรรณาการ
สังคมที่มีหัวหน้าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และมีการปรับตัวที่ต่างกัน การยังชีพในเขตชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนืออาจเอื้อให้เกิดการเก็บของป่าล่าสัตว์ และตั้งหลักแหล่งในเขตที่เหมาะกับการหาปลา เป็นตัวอย่างที่หายากสำหรับสังคมเร่ร่อนที่มีหัวหน้า อย่างไรก็ตาม ชุมชนในเขตชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือไม่มีอาณาเขตที่แน่นอน นักวิชาการบางคนตั้งคำถามว่า สังคมในพื้นที่เหล่านี้จะมีหัวหน้าได้หรือไม่ ในโพลินีเซียและไมโครเนเชียมีหัวหน้าทำการปกครองโดยอาศัยการเพาะปลูกและหาปลาเป็นพื้นฐาน สังคมหลายแห่งในเขตทะเลทรายซาฮาร่าในแอฟริกามีหัวหน้า แต่มีการปรับตัวที่ต่างกัน บางแห่งมีการเพาะปลูก บางแห่งอาจมีการเลี้ยงสัตว์ผสมผสานกับการเพาะปลูก ในเขตตะวันออกกลางที่มีสังคมเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ มีหัวหน้าและช่วงชั้นทางสถานะ สังคมที่มีหัวหน้าในเขตพื้นที่อื่นๆอาจศึกษาได้จากหลักฐานทางโบราณคดี เช่นในยุคหินใหม่ในยุโรปและอเมริกากลาง
บทบาททางการเมืองของหัวหน้าอาจมีลักษณะที่ต่างไปจากหัวหน้าแบบไม่เป็นทางการที่พบในสังคมแบบกลุ่มหรือเผ่า ตัวอย่างเช่น ในเมลานีเซีย หัวหน้ากลุ่มจะหมายถึงการมีผู้นำ การปกครองแบบผู้นำไม่มีลักษณะถาวร แต่อาจชี้นำเรื่องต่างๆได้ ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร และสร้างพันธมิตร มาร์แชล ซาลินส์ อธิบายสังคมของชาวเมลานีเซียนว่า ผู้นำไม่มีอำนาจมากนัก ผู้นำจะถูกเลือกมาจากชาวบ้าน ส่วนสังคมที่มีหัวหน้ามีสถาบันการปกครองที่ชัดเจนและมักจะมีการสืบทอดทายาทการเป็นผู้นำด้วย ตัวอย่างตำแหน่งการเป็นข่าน หรือหัวหน้าของชาวบาสสารีในอิหร่าน เฟรดริค บาร์ธอธิบายว่า ข่านคือผู้ที่มีสิทธิพิเศษและมีอำนาจในการสั่งการต่างๆ
สังคมที่มีหัวหน้าจะมีการจัดการเรื่องอำนาจอย่างเป็นระบบ มีการสืบต่ออำนาจโดยยึดหลักเครือญาติ พอล เคิร์ชฮอฟฟ์ ทำการศึกษาสังคมหลายแห่งในปี ค.ศ.1935 พบว่ามีการปกครองด้วยระบบช่วงชั้นโดยใช้เครือญาติเป็นเกณฑ์ ระบบดังกล่าวมีการแบ่งสายตระกูลโดยดูความใกล้ชิดกับบรรพบุรุษของตระกูล สายที่ใกล้ชิดบรรพบุรุษจะได้รับตำแหน่งสูง และผู้อาวุโสในสายตระกูลนี้ก็จะได้รับตำแหน่งหัวหน้าของกลุ่มทั้งหมด คนอื่นๆในตระกูลก็จะถูกจัดให้มีตำแหน่งลดหลั่นกันไป สังคมแบบกลุ่มตระกูลนี้จะยึดกฎการสืบทอดทายาทสายตรง อย่างไรก็ตาม หลายๆสังคม การเป็นสมาชิกของกลุ่มมีลักษณะสืบทอดทั้งสายพ่อและแม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายไหนจะก่อประโยชน์ให้กลุ่ม จากการศึกษาพบว่าเงื่อนไขของการจัดสรรทรัพยากร การจัดระบบกองกำลังทหารเพื่อสู้รบ และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับหัวหน้าเพื่อการควบคุมทรัพยากรที่มีจำกัดทำให้เกิดระบบหัวหน้า
นักมานุษยวิทยาตั้งข้อสังเกตว่า สังคมที่ปกครองแบบผู้นำค่อนข้างจะมีความไม่มั่นคงและไร้เสถียรภาพ เพราะผู้ที่อยู่ใต้ปกครองพร้อมที่จะฝ่าฝืนกฎระเบียบและไม่เชื่อฟัง เช่น เกิดการล้มล้างอำนาจของผู้นำและแยกตัวออกไปตั้งการปกครองของตัวเอง สังคมแบบผู้นำจึงง่ายต่อการล่มสลาย และมีความผันแปรในการสร้างความเข้มแข็ง ในการควบคุมดินแดน พื้นที่ที่อยู่ใต้ปกครองจะมีการเพิ่มและลดได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้นำ
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Carneiro, R. L. 1981. "The Chiefdom: Precursor of the State", The Transition to Statehood in the New World / Ed. by G. D. Jones and R. R. Kautz, Cambridge: Cam-bridge University Press. pp. 37–79.
Earle, T. K. 1997. How Chiefs Came to Power: The Political Economy of Prehistory. Stanford, CA: Stanford University Press.
Robert H.Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.30-32.
หัวเรื่องอิสระ: การปกครองแบบผู้นำ