Cosmopolitanism
ความหมายของการเป็นพลเมืองโลก
การทำความเข้าใจแนวคิด “การเป็นพลเมืองโลก” (Cosmopolitanism) จำเป็นต้องแยกออกจากประเด็นโลกาภิวัตน์ (Werbner, 2008; 2015) เนื่องจากบริบทและเงื่อนไขของการเป็นพลเมืองโลกมิใช่การเคลื่อนตัวข้ามชาติของกิจกรรมเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายแรงงาน การหมุนเวียนของทุนและเงินตรา แต่คุณลักษณะของการเป็นพลเมืองโลกวางอยู่บนความรู้สึกเห็นใจ เข้าใจ อดทนอดกลั้นและเคารพความต่างทางวัฒนธรรม เป้าหมายของการเป็นพลเมืองโลกจึงเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงและเข้าถึงวัฒนธรรมของคนอื่นซึ่งอาศัยการสนทนาอย่างเป็นมิตร โอบอ้อมอารีย์ สามารถเห็นคุณค่าของคนอื่น ทำกิจกรรมและใช้ชีวิตร่วมกับคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่นำความต่างมาเป็นความขัดแย้ง แต่เป็นแกนกลางเพื่อเรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกันเสมือนการอยู่ในชุมชนที่เต็มไปด้วยคนจากต่างถิ่นต่างที่ ในการศึกษาของ Beck (2006) Conversi (2000) และ Hall (2008) ชี้ให้เห็นว่าการเป็นพลเมืองโลกมิใช่กลไกเชิงอำนาจที่ถูกบ่งการและควบคุมโดยระบอบเสรีนิยมใหม่หรือลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ของตะวันตก ในทางกลับกัน การเป็นพลเมืองโลกมีมิติที่มักจะถูกมองข้ามไปจากคำอธิบายกระแสหลัก นั่นคือ การมีปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารข้ามแดนระหว่างคนท้องถิ่นที่อยู่ในวัฒนธรรมที่ต่างกัน วิธีการนี้คือรูปแบบใหม่ของการสร้างชีวิตทางสังคมและการเผชิญหน้ากันอย่างสร้างสรรค์
Hannerz (1992) อธิบายว่าชีวิตของผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติที่ยากจน แตกต่างจากชีวิตของนักท่องเที่ยวมีมีเงินใช้จ่ายสำหรับแสวงหาความสุขจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ชีวิตของคนสองกลุ่มนี้คือภาพสะท้อนของการเคลื่อนข้ามพื้นที่ของมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นไปแบบเท่าเทียมกัน กล่าวคือ กลุ่มผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติจะเดินทางไปแสวงหาอาชีพและความมั่นคงในพื้นที่ที่เป็นแหล่งงานและมีทางเลือกที่มากกว่าบ้านเกิดของตน ซึ่งการไปอยู่ในประเทศมิได้มีความสะดวกสบาย แต่เต็มไปด้วยความยากแค้นและเสี่ยงต่อการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ชีวิตของนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวตะวันตกที่ใช้เวลาว่างและเงินส่วนตัวเดินทางไปจับจ่ายและพักผ่อนอย่างสุขสำราญในดินแดนที่แปลกตา ข้อสังเกตของ Hannerz (1992) ตอกย้ำว่าชาวตะวันตกคือผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากคนที่ด้อยโอกาสในประเทศที่ยากจน
อย่างไรก็ตาม Werbner (2015) ตั้งข้อสังเกตว่าชนชั้นแรงงานชาวปากีสถานที่ทำงานในประเทศร่ำรวยในตะวันออกกลาง พวกเขาสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนแรงงานต่างชาติที่มีวัฒนธรรมต่างกันได้เป็นอย่างดี ในแคมป์คนงานก่อสร้างที่ประกอบด้วยแรงงานที่อพยยพมาจากประเทศต่างๆ คนเหล่านี้ล้วนมีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนาที่ต่างกัน แต่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยที่ยังคงเคารพความแตกต่างของกันและกัน ในแง่นี้ การเป็นพลเมืองโลกจากประสบการณ์ของชนชั้นแรงงานที่เดินทางมาอยู่ร่วมกันภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามชาติ สะท้อนให้เห็นวิธีการที่คนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมอาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้อัตลักษณ์ของผู้ใช้แรงงานซึ่งมักจะมีที่พำนักในเขตเมืองใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ เมืองใหญ่ๆในโลกปัจจุบันจึงกลายเป็นพื้นที่เปิดที่มีคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาพบเจอกัน ในเมืองที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนที่แตกต่างทางชนชั้นและเชื้อชาติ ย่อมจะมีการรวมกลุ่มทางสังคมในแบบใดแบบหนึ่ง กลุ่มคนที่มารวมตัวและอาศัยอยู่ร่วมกันเช่นแคมป์คนงานก่อสร้าง ผู้ค้าขายในตลาด หอพักของนักศึกษาต่างชาติ ชุมชนของแรงงานอพยพ ชุมชนของผู้ลี้ภัย ชุมชนของนักธุรกิจต่างชาติ ตัวอย่างเหล่านี้คือปรากฎการณ์ของการเป็นพลเมืองโลก
การเป็นพลเมืองโลกกับการเปิดกว้างทางสังคม
Singerman and Amar (2006) ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวทางสังคมในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ที่ประชาชนออกมาต่อต้านการทำสงครามในอีรัคในปี 2003 และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปรัฐธรรมใหม่ในปี 2005 การเคลื่อนไหวของประชาชนนี้คือการบ่งชี้ถึงสิทธิในการเป็นพลเมืองซึ่งประชาชนมิได้เป็นเพียงผู้ที่ถูกควบคุมและยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ แต่ประชาชนมีสิทธิต่อต้านและเรียกร้องให้รัฐแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต การรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวของประชาชนในอียิปต์มีทั้งกลุ่มนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักสตรีนิยม สื่อมวลชน ชนชั้นแรงงานและกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ การรวมกลุ่มของประชาชนเหล่านี้เป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของพลเมืองโลกที่พยายามเชื่อมโยงและแสวงหาเครือข่ายของคนในชาติอื่นๆที่พบเจอปัญหาสังคมในแบบเดียวกัน และนำคนเหล่านั้นเข้ามาในเครือข่ายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม Singerman and Amar (2006) กล่าวว่าการรวมตัวของประชาชนจากหลายเชื้อชาติคือการก่อตัวของโลกที่ประกอบขึ้นจากคนท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งท้าทายอำนาจศูนย์กลางที่ชาติตะวันตกเคยผูกขาด
Zubaida (1999) กล่าวว่าตัวอย่างเมือง Alexandria ของอียิปต์ เป็นเมืองท่าการค้าสำคัญที่มีคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาอาสัยและทำมาหากิน ทั้งพ่อค้าชาวตะวันตก แรงงานจากตะวันออกกลาง และคนท้องถิ่นต่างอาศัยอยู่ในเมือง Alexandria จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่ออียิปต์ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วัฒนธรรมของคนผิวขาวก็เข้ามามีอิทธิพลต่อคนท้องถิ่น ชาวอังกฤษกลายเป็นชนชั้นปกครองและมีอำนาจเหนือชาวอียิปต์ จนกระทั่งในปี 1956 ชาวอียิปต์รวมตัวเพื่อต่อสู้และผลักดันให้อังกฤษล่าถอยออกไปจากประเทศ หลังจากนั้น ผู้นำอิสลามเข้ามาปกครองอียิปต์ภายใต้นโยบายเชิดชูชาวมุสลิมและลดทอนบทบาทของชาวต่างชาติ จนถึงทศวรรษ 2000 ชาวอียิปต์รุ่นใหม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิและประชาธิปไตย ในช่วงนี้คนรุ่นใหม่อาศัยเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ข้ามชาติและวัฒนธรรมบริโภคเป็นกลไกสำหรับการต่อสู้กับรัฐบาลอนุรักษ์นิยม เป็นภาพสะท้อนคู่ขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองที่ยึดมั่นในหลักศาสนาอิสลามที่แข็งกร้าวกับคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาเสรีภาพในการใช้ชีวิต ตัวอย่างเมืองไคโรของอียิปต์ที่มีคนต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมากคือบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าในช่วงเวลาต่างๆ การรวมตัวของคนที่หลากหลายดำเนินไปพร้อมกับกฎระเบียบของรัฐที่พยายามสร้างบรรทัดฐานและกีดกันความหลากหลายของความเป็นพลเมืองในชาติ
Foucault (1990) อธิบายความเป็นเมืองในสมัยกรีกโบราณ พลเมืองจะมีชนชั้นและสถานะที่ตายตัว ผู้ชายจะแสดงบทบาททางสังคมของตนเองผ่านการสร้างวินัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่สังคมคาดหวัง ความรับผิดชอบในหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการแสดงความเป็นชายที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี การควบคุมตัวเองจึงเป็นสิ่งที่มีค่าและเป็นจริยธรรมของผู้ชายชาวกรีก แต่หลังจากที่กรีกถูกปกครองด้วยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เมืองต่างๆในกรีกเปิดรับคนต่างแดนเข้ามาอาศัยทำให้เมืองเต็มไปด้วยคนต่างเชื้อชาติอาสัยอยู่ร่วมกับชาวกรีก สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทและสถานะของผู้ชายที่มีมาแต่เดิม นั่นคือการลดช่องว่างของสถานะ คนแต่ละคนสามารถทำหน้าที่ต่างๆได้อย่างเท่าเทียมกัน วิธีคิดเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองจะเปลี่ยนจากการสร้างยศฐาบรรดาศักดิ์ ไปสู่การสร้างความสามารถของบุคคล Foucault เชื่อว่าการเปลี่ยนวิธีคิดนี้ทำให้สำนึกเกี่ยวกับการมีตัวตนทางสังคมมิได้วางอยู่บนความต่างของฐานะ แต่วางอยู่บนวิธีการทำงานและการใช้เหตุผลเพื่อตัดสินสิ่งต่างๆ จุดเปลี่ยนนี้คือรากฐานของลัทธิสโตอิกที่ก่อตัวในช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล ลัทธิสโตอิกเชื่อในสติปัญญาและกฎของธรรมชาติ การควบคุมอารมณ์จะเป็นสิ่งสำคัญโดยช่วยให้การตัดสินใจในสิ่งต่างๆเป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรม เป้าหมายสำคัญของลัทธิสโตอิกคือเสรีภาพ ความเท่าเทียมและการให้ความสำคัญกับความคิดของปัจเจก ลัทธินี้แพร่หลายมากในสมัยโรมันที่เปิดกว้างรับเอาชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง สังคมโรมันจึงเต็มไปด้วยพ่อค้า นักคิด และนักเดินทางจากเชื้อชาติต่างๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างศิลปวิทยาการและความรู้ที่หลากหลาย
ในยุคที่ระบบทุนนิยมกำลังเติบโตและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ เมืองต่างๆในตะวันตกล้วนเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่มีอาชีพที่หลากหลาย Simmel (1950) อธิบายว่าปัจเจกบุคคลที่อาศัยในเมืองที่พึ่งพาระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คนแต่ละคนจำเป็นต้องพึ่งตัวเองสูงโดยการแสวงหาความรู้ พัฒนาทักษะการทำงานให้เก่งและเชี่ยวชาญเพื่อที่จะมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคงในองค์กรทางธุรกิจ สภาพชีวิตเมืองแบบทุนนิยมจึงเต็มไปด้วยการแข่งขันที่สูง ผู้ที่มีเงินเท่านั้นที่จะสามารถความสุขกับการอาศัยอยู่ในเมืองที่ต้องจ่ายและซื้อสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิต ในแง่นี้ ชีวิตคนเมืองจึงเต็มไปด้วยแรงกดดัน ความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อกันจึงวางอยู่บนผลประโยชน์ทางเงินตราและวัตถุมากกว่าจะเป็นเรื่องของสภาพจิตใจและความรู้สึก Simmel เชื่อว่าเมืองคือพื้นที่สังคมที่สร้างมนุษย์ให้แปลกแยกและกลายเป็นศัตรูต่อกัน คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเท่าๆกันจะรวมกลุ่มกัน ในขณะที่คนต่างฐานะจะแยกขาดออกจากกัน เงินจะกลายเป็นสัญลักษณ์และตัวชี้วัดแบบแผนทางสังคมของมนุษย์ Wirth (1938) เคยเสนอว่าวิธีที่จะทำให้คนเมืองลดช่องทางทางสังคมและมีความสุขมากขึ้น คือการสร้างกลุ่มและทำกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการร่วมกัน
เมืองและพื้นที่ของคนต่างวัฒนธรรม
Werbner (2015) อธิบายว่าเมืองคือพื้นที่สังคมที่มีคนต่างกลุ่มเข้ามาอาศัยและอพยพย้ายออกตลอดเวลา และอาจเป็นสิ่งที่สั่นคลอนและรบกวนผู้อาศัยที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งคิดว่าคนแปลกหน้าหรือคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในเมืองคือคนที่ก่อความไม่สงบและทำลายกฎระเบียบ ชุมชนของแรงงานและผู้อพยพที่ประกอบขึ้นจากคนต่างเชื้อชาติจึงเป็นสิ่งที่คนเมืองที่เป็นเจ้าของดั้งเดิมรู้สึกไม่ปลอดภัย Diouf (2000) กล่าวว่ากลุ่มพ่อค้า Mouride ในประเทศเซเนกัลมีชุมชนของตัวเองและแยกขาดจากการอยู่ร่วมกับคนกลุ่มอื่น เช่นเดียวกับพ่อค้าชาวจีนที่ร่ำรวยที่อาสัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก เป็นกลุ่มคนที่คบค้าสมาคมเฉพาะคนจีนด้วยกัน (Ong, 1998) ในการศึกษาของ Nonini (1997) ชี้ว่าแรงงานชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนที่อพยพไปหางานทำในประเทศญี่ปุ่น คนกลุ่มนี้ก็มีชุมชนของตัวเองโดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับชาวญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของประเทศ การศึกษาของ Sakai (2000) พบว่าชาวญี่ปุ่นที่อพยพไปทำงานธนาคารในประเทศอังกฤษมีการรวมตัวแยกขาดจากคนกลุ่มอื่นๆ Werbner (2002) กล่าวว่าคนพลัดถิ่นที่มีฐานะดีซึ่งย้ายไปอาสัยในต่างประเทศ พวกเขามักจะแปลกแยกจากวัฒนธรรมที่อยู่รอบๆตัว ทำให้เกิดการใช้ชีวิตที่แยกขาดจากคนกลุ่มอื่นๆ
Riccio (2004) พบว่าชาวเซเนกัลที่อพยพไปทำงานในประเทศอิตาลี พวกเขาคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ได้พบสิ่งใหม่ที่ต่างไปจากเดิม เช่นเดียวกับชาวจีนที่เกิดในประเทศอินโดนีเซีย พวกเขาพร้อมรับวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน (Ang, 2001) ในความคิดของ Hawkins (2010) เชื่อว่าประสบการณ์เกี่ยวกับการแบ่งแยกหรือการอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรมเป็นประสบการณ์เฉพาะกลุ่ม เช่น พ่อค้าคิดว่าความสามารถในการสื่อสารพูดคุยกับคนต่างชาติและนักท่องเที่ยวได้คือสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้เขาสามารถค้าขายได้ง่าย อย่างไรก็ตาม พ่อค้าจะสร้างสัมพันธ์กับชาวต่างชาติเฉพาะในกรณีที่กำลังขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยว Stoller (2002) ตั้งข้อสังเกตว่าการที่พ่อค้าแม่ค้ายินยอมที่จะพูดคุยสื่อสารกับคนต่างชาติซึ่งดูเหมือนจะเป็นคนที่มีวัฒนธรรมต่างจากเขาอย่างสิ้นเชิง แต่ภายใต้การทำธุรกิจและการแสวงหารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ พ่อค้าแม่ค้าก็จำเป็นต้องพูดคุยกับคนเหล่านั้น ขณะที่นักท่องเที่ยวมองว่าการเจรจากับคนท้องถิ่นจะช่วยทำให้การอยู่อาศัยในต่างแดนประสบความสำเร็จ Fumanti (2010) อธิบายว่าชาวกาน่าที่อพยพไปเป็นแรงงานในอังกฤษ พวกเขาพยายามปฏิบัติตามกฎหมายของอังกฤษอย่างเคร่งครัดเพื่อที่จะได้รับเงินช่วยเหลือในการดำรงชีวิต ในกรณีนี้ทำให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรมเกิดขึ้นผ่านการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยกับผู้ปกครองที่ใช้กฎหมายควบคุมพลเมือง
ปัจจุบัน พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมในเมืองต่างๆทั่วโลกคือสภาพสังคมที่คนต่างชาติเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดความเป็นพลเมืองโลกที่วางอยู่บนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและชีวิตของแรงงานที่มีรายได้น้อย (Hall, 2008; Parry, 2008) Agier (2016) ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์โลกปัจจุบัน มีข้อจำกัดเกี่ยวกับพรมแดนของชาติและเส้นแบ่งของประเทศ เนื่องจากมนุษย์มีการเคลื่อนข้ามพื้นที่ตลอดเวลา การติดต่อและการรวมตัวทางสังคมของกลุ่มคนต่างๆทำให้เกิดรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไปไกลกว่าเรื่องการเป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาจากหลายส่วนของโลกต่างมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่พวกเขามีจุดร่วมในชะตาชีวิตที่คล้ายกัน แรงงานซึ่งเดินทางย้ายออกจากที่อยู่เดิมไปอาศัยในพื้นที่ใหม่เพื่อประกอบอาชีพ ล้วนเป็นผู้ที่มีสังคมที่ซับซ้อน ดังนั้น โลกที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตอยู่ได้ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม คนท้องถิ่นต่างๆที่เสียเปรียบจำเป็นต้องแสวงหาอาชีพและแหล่งรายได้ หรือแม้แต่หาที่อยู่ที่ปลอดภัยเพื่อที่จะสร้างชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ปรากฎการณ์นี้ทำให้ลักษณะความเป็นพลเมืองโลกขยายตัวในเขตเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งหารายได้
อย่างไรก็ตาม Agier (2016) Olwig and Olwig (2021) อธิบายว่าชาติสมัยใหม่พยายามสร้างนโยบายแบ่งแยกและกีดกันผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ผลักไสให้ผู้ด้อยโอกาสกลายเป็นคนชายขอบ ตัวอย่างกลุ่มแรงงานข้ามชาติสะท้อนให้เห็นว่า ตัวตนและการสร้างอัตลักษณ์ของพวกเขามิได้ยึดติดอยู่กับถิ่นกำเนิดและภูมิลำเนาเดิม แต่แรงงานข้ามชาติสามารถสร้างอัตลักษณ์เชิงซ้อนที่มีทั้งความเป็นเชื้อชาติ สำนึกทางวัฒนธรรม ลักษณะสังคมและการทำมาหากินในพื้นที่ใหม่ ชีวิตและกระบวนการสร้างตัวตนที่ไม่ติดพื้นที่ของกลุ่มแรงงานคือภาพสะท้อนของการมีชีวิตอยู่ในโลกที่เคลื่อนตัวข้ามเขตแดนชาติตลอดเวลา
ข้อจำกัดของแนวคิดพลเมืองโลก
Wardle (2000, 2010) กล่าวว่าแนวคิด “พลเมืองโลก” (cosmopolitanism) ที่ใช้อยู่ในแวดวงวิชาการปัจจุบันมีเรื่องท้าทายเชิงระเบียบวิธีวิจัยและความหมายของคำ นักมานุษยวิทยาหลายคนได้นำคำ cosmopolitanism มาใช้ราวกับเป็นแนวคิดสากลที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์สังคมได้ทุกเงื่อนไขและทุกพื้นที่ กล่าวคือ มีความพยายามที่จะจัดระเบียบโลกภายใต้แนวคิด “พลเมืองโลก” ซึ่งเสมือนเป็นกฎเกณฑืใหม่ทางศีลธรรมที่สร้างชุมชนของมนุษย์ที่เป็นสากล (universal human community) เมื่อนักมานุษยวิทยาลงไปศึกษาและเก็บข้อมูลชุมชนของแรงงานต่างชาติในเมืองใหญ่ สิ่งที่ได้มักจะเป็นการค้นหาลักษณะร่วมกันของผู้ที่เป็นแรงงานจนทำให้มองข้ามความแตกต่างหลากหลายของคน รวมทั้งเงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แวดล้อมอยู่กับชีวิตของแรงงาน เรื่องท้าทายคือ ความเป็นสังคมกับชีวิตส่วนตัวของปัจเจกภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์แบบใหม่ที่พบในกลุ่มคนต่างวัฒนธรรมซึ่งมาอยู่อาศัยร่วมกันคืออะไร
ความเป็นพลเมืองโลกเปรียบเสมือนการเมืองของอัตลักษณ์ประเภทหนึ่งซึ่งนักมานุษยวิทยาเคยตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้ ตัวอย่างการศึกษาของ Tremon (2009) ชี้ให้เห็นว่าชาวจีนพลัดถิ่นที่อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตหมู่เกาะโพลินีเซียของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก ชาวจีนมีการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมเพื่อติดต่อสื่อสารและใช้ชีวิตร่วมกับคนพื้นเมือง ในขณะเดียวกันก็พยายามธำรงความเป็นคนจีนเอาไว้ ในแง่นี้การอาศัยอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรมมิได้ทำให้อัตลักษณ์ของคนจีนเลือนหายไป เช่นเดียวกับการศึกษาของ Vink (2010) ชาวยิวที่มีเชื้อสายฝรั่งเศสผสมกับคนท้องถิ่นในประเทศซูรินาม คนกลุ่มนี้มิได้มีอัตลักษณ์ร่วมและเป็นที่ยอมรับของชาวยิวในสังคมตะวันตก แต่พวกเขาพยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็นยิวที่นำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นของซูรินามมาใช้
Josephides and Hall (2014) พยายามเสนอว่าการเป็นพลเมืองโลกคือการเปิดกว้าง การเห็นอกเห็นใจ การยอมรับและสามารถอดกลั้นที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย รวมทั้งยังทำให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนในโลกล้วนต่างเผชิญหน้ากับความยากลำบากร่วมกัน ในขณะที่ Schiller and Irving (2015) ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่นักวิชาการนำแนวคิด Cosmopolitanism มาอธิบายปรากฏารณ์ของการสร้างชุมชนของคนต่างวัฒนธรรม แต่สิ่งที่มองข้ามไปคือการพิจารณาว่าเป้าหมายของ Cosmopolitanism เป็นไปในทิศทางใด ใครคือผู้กำหนดความหมาย ประสบการณ์ของคนกลุ่มใดที่ถูกนำมาเป็นนิยามของการเป็นพลเมืองโลก และประสบการณ์ดังกล่าวต่างไปจากคนกลุ่มอื่นอย่างไร นอกจากนั้น ท่ามกลางสังคมที่กำลังเคลื่อนที่และปรับเปลี่ยนแบบแผนความสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เรียกว่า “พลเมืองโลก” คืออัตลักษณ์ที่สมบูรณ์และถาวรใช่หรือไม่ ความหมายของ Cosmopolitanism ถูกสร้างขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร และกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการต่อสู้และแสงหาเสรีภาพทางการเมืองอย่างไร
Irving and Reed (2010) กล่าวว่าแนวคิด Cosmopolitanism อาจเป็นระเบียบวิธีวิจัยประเภทหนึ่งที่ช่วยในการศึกษาชีวิตของมนุษย์ที่กำลังเผชิญหน้ากับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในช่วงเวลาที่มนุษย์กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและการแบ่งแยกทางสังคม การนำแนวคิด Cosmopolitanism มาเป็นเครื่องมือที่จะอธิบายประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างชุมชนแบบใหม่อาจทำให้เห็นวิธีที่มนุษย์กำลังสร้างนิยามการมีชีวิตทางสังคมที่ต้องเปิดรับผู้คนที่ไม่เหมือนกับเรา การเป็นพลเมืองโลกคือภาพสะท้อนของวาทกรรมที่บ่งชี้ว่าเครือข่ายของโลกกำลังก่อตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ (global-network-as-community) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการได้ประกอบสร้างขึ้น (Shirky, 2009) อย่างไรก็ตาม ความหมายของ Cosmopolitanism กำลังทำให้เกิดความเสี่ยงและความตึงเครียดแบบใหม่ๆ และเปิดเผยให้เห็นรอยแยกเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยซึ่งปราศจากความมั่นคง และวิธีการติดต่อสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะดำเนินไปอย่างไร (Beck, 2006) สิ่งนี้คือสภาวะที่ไม่แน่นอนที่ย้ำเตือนวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามระหว่าง “สังคม” กับ “ปัจเจกชน” ซึ่งในความรู้แบบตะวันตกได้แยกสองสิ่งนี้ขาดจากกัน อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์แบบ “พลเมืองโลก” คือกระจกสะท้อนพลวัตของตัวตนและสังคมที่ยังคงเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์อันยุ่งเหยิงที่มนุษย์จะต้องจัดการอยู่ตลอดเวลา (Latour, 2004)
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Ang, I. (2001). On Not Speaking Chinese. London: Routledge.
Beck, U. (2006). The Cosmopolitan Vision (trans. C. Cronin). Cambridge: Polity Press.
Conversi, D. (2000. Cosmopolitanism and nationalism. In A. Leoussi and A.D. Smith (Eds.), Encyclopaedia of Nationalism. (pp. 34–39). Oxford: Transaction Books.
Diouf, M. (2000). The Senegalese Murid trade diaspora and the making of a vernacular cosmopolitanism. Public Culture, 12 (3), 679–702.
Foucault, M. (1990 [1984]). The Care of the Self: The History of Sexuality Vol. 3. Hammersmith: Penguin.
Fumanti, M. (2010). ‘Virtuous citizenship’: Ethnicity and encapsulation among Akan-speaking Ghanaian Methodists in London. In M. Fumanti and P. Werbner (eds.), The Moral Economy of the African Diaspora, special issue of African Diaspora, 3 (1–2): 2–11.
Hall, S. (2008). Cosmopolitanism, globalisation and diaspora. In P. Werbner (Ed.), Anthropology and the New Cosmopolitanism: Rooted, Feminist and Vernacular Perspectives. ASA Monograph No. 45. (pp. 345–361). Oxford: Berg.
Hannerz, U. (1992). Cultural Complexity: Studies in the Social Organization of Meaning. New York: Columbia University Press.
Hawkins, S. (2010).Cosmopolitan hagglers or haggling locals? Salesmen, tourists, and cosmopolitan discourses in Tunis. City and Society, 22 (1). 1–24.
Irving, A. & Reed, A. (2010). Is it useful to talk of a ‘cosmopolitan method’? Social Anthropology/Anthropologie Sociale, 18(4), 454–463.
Josephides, L. & Hall, A. (Eds.). (2014). We the Cosmopolitans: Moral and Existential Conditions of Being Human. New York: Berghahn Books.
Latour, B. (2004). Whose cosmos, which cosmopolitics? Common Knowledge, 10: 450–62.
Nonini, D. (1997). Shifting identities, positioned imaginaries: Transnational traversals and reversals by Malaysian Chinese. In A. Ong and D.M. Nonini (eds.), Ungrounded Empires: The Cultural Politics of Modern Chinese Transnationalism. (pp.203–227). London: Routledge.
Olwig, K. R., & Olwig, K. F. (2021). Landscape, justice and the quality of life in emblematically embodied nation/states – the case of Denmark. Landscape Research, DOI:10.1080/01426397.2021.1893289
Ong, A. (1998). Flexible citizenship among Chinese cosmopolitans. In P. Cheah and B. Robbins (Eds.), Cosmopolitics: Thinking and Feeling Beyond the Nation. (pp 134–162). Minneapolis: University of Minnesota Press.
Parry, J. (2008). Cosmopolitan values in a Central Indian steel town. In P. Werbner (ed.), Anthropology and the New Cosmopolitanism: Rooted, Feminist and Vernacular Perspectives. ASA Monograph No. 45. (pp. 325–344). Oxford: Berg.
Riccio, B. (2004). Transnational Mouridism and the Afro-Muslim Critique of Italy. Journal of Ethnic and Migration Studies, 30 (5), 929–944.
Sakai, J. (2000). Japanese Bankers in the City of London: Language, Culture and Identity in the Japanese Diaspora. London: Routledge.
Schiller, N.G. & Irving, A. (2015). Whose Cosmopolitanism?: Critical Perspectives, Relationalities and Discontents. New York: Berghahn Books.
Shirky, C. (2009). Here comes everybody. London: Penguin.
Simmel, G. (1950). The metropolis and mental life. In K.H. Wolff (ed.), The Sociology of Georg Simmel. (pp. 409–424). Glencoe, IL: Free Press.
Singerman, D. & Amar, P. (Eds.). (2006). Cairo Cosmopolitan: Politics, Culture, and Urban Space in the New Globalized Middle East. Cairo: American University in Cairo Press.
Stoller, P. (2002). Money Has No Smell: The Africanization of New York City. Chicago: University of Chicago Press.
Tremon, A.-C. (2009). Cosmopolitanization and localization. Anthropological Theory, 9, 103– 25.
Vink, W. A. (2010). Creole Jews: Negotiating Community in Colonial Suriname. Leiden: KITLV Press.
Wardle, H. (2000). An ethnography of cosmopolitanism in Kingston, Jamaica. New York: Edwin Mellen.
Wardle, H. (2010). Introduction A cosmopolitan anthropology? Social Anthropology/Anthropologie Sociale, 18(4), 381–388.
Werbner, P. (2002). Imagined Diasporas among Manchester Muslims: The Public Performance of Transnational Identity Politics. Oxford: James Currey.
Werbner, P. (Ed.) (2008). Anthropology and the New Cosmopolitanism: Rooted, Feminist and Vernacular Perspectives. ASA Monograph No. 45. Oxford: Berg.
Werbner, P. (2015). Cosmopolitanism: Cosmopolitan Cities and the Dialectics of Living Together with Difference. in Donald M. Nonini (ed.) A Companion to Urban Anthropology. (pp. 306-326). Oxford: Wiley-Blackwell.
Wirth, L. (1938). Urbanism as a way of life. American Journal of Sociology, 44(1), 1–24.
Zubaida, S. (1999). Cosmopolitanism and the Middle East. In R. Meijer. (ed.), Cosmopolitanism, Identity and Authenticity in the Middle East. (pp. 15–34). London: Curzon.
หัวเรื่องอิสระ: การเป็นพลเมืองโลก, เมือง, การยอมรับความต่างทางวัฒนธรรม