Multispecies Care
นับตั้งแต่บทความชิ้นสำคัญเรื่อง The Emergence of Multispecies Ethnography (Kirksey & Helmreich, 2010) ได้นำเสนอให้เห็นการก่อตัวของวิธีการทำงานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่เรียกว่า “หลากสายพันธุ์นิพนธ์” อย่างเป็นรูปเป็นร่าง กล่าวได้ว่านับจากนั้นการศึกษาในแนวทางนี้ก็มีที่ทางในวงวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างชัดเจนมากขึ้น และมีงานศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลัง หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการสนใจมากขึ้นคือการใส่ใจดูแลชีวิตหลากสายพันธุ์ (multispecies care) เนื่องจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่มีมนุษย์เป็นตัวการกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่การทำให้พืชและสัตว์ไม่อาจอยู่อาศัยในถิ่นที่อยู่เดิม เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม เสียชีวิต ไปจนถึงขั้นสูญพันธุ์ จนกล่าวกันว่าปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (the Sixth Extinction) (Schroer, van Dooren, Münster, & Reinert, 2021)
หลากสายพันธุ์นิพนธ์ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจการพัวพัน (engagement) ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเช่นจุลชีพ ไปจนถึงพืชและสัตว์ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อที่มักยึดถือกันว่ามนุษย์เป็นผู้กระทำการเพียงหนึ่งเดียวหรือเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งนั้นต้องถูกทบทวนและคิดใหม่ ฐานคิดสำคัญอันหนึ่งที่งานศึกษากลุ่มนี้ชวนให้หันกลับมาทบทวนคือการจัดหมวดหมู่สปีชีส์ (species categories) ที่ตั้งอยู่บนการแยกมนุษย์ออกจาก “ธรรมชาติ” ซึ่งฐานคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสิ่งมีชีวิตอื่นในลักษณะที่ชัดเจนตายตัว เช่น เป็นสัตว์ป่า (wild) หรือสัตว์เชื่อง (domestic) เป็นสัตว์เลี้ยง (pet) หรือเป็นศัตรู (pest) ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วการสร้างเขตแดนระหว่างมนุษย์-พืช-สัตว์ไม่ได้เกิดขึ้นและเป็นไปโดย “ธรรมชาติ” หากแต่มีความยืดหยุ่น ลื่นไหล เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขที่แวดล้อม การจัดหมวดหมู่และความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตต่าง ๆ เคลื่อนไหวไปมาตามเงื่อนไขที่แตกต่างหลากหลายทั้งทางวัตถุและทางวัฒนธรรม ดังนั้น จะพบว่ารูปร่างของชีวิต (life-forms) และโลกของชีวิต (life-worlds) เป็นสิ่งที่ทบทวีและมีมากกว่าหนึ่ง (multiplicity) (Benson et. al, 2017: 5) ตัวอย่างที่ชัดเจนหนึ่งคือการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ว่าในอดีตเมื่อประมาณ 3,200-3,500 ปีก่อน ที่บ้านโนนวัด ประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่พบหลักฐานว่าไก่ถูกทำให้เชื่อง (domesticated) และมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ในฐานะสัตว์ที่มีความใกล้ชิด พวกมันอยู่ในสถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นเพื่อนของมนุษย์ โดยไก่ป่าเข้ามาใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากการทำนาข้าวซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไก่ แต่การบริโภคไก่ในฐานะอาหารนั้นเกิดขึ้นเมื่อราว 500 ปีที่ผ่านมา หลังจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่าง ๆ (Gibbon, 2022; Heidt, 2022)
การพัวพันและความสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แสดงให้ว่าความเป็นมนุษย์ ทั้งตัวตน และร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการยึดโยงกับสิ่งมีชีวิตอื่น การเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับชีวิตอื่น (mutual dependence) ด้วยเหตุนี้ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชนหลากสายพันธุ์ในประเด็นที่ว่าด้วยการใส่ใจดูแล คำถามที่ว่า เหตุใด? เราถึงต้องใส่ใจดูแล และเราจะดูแลกันและกันอย่างไร? จึงกลายเป็นคำถามพื้นฐานที่เรียกร้องให้มนุษย์หันมาสนใจภาคปฏิบัติการ (action) ของการใส่ใจดูแลมากกว่าที่จะขบคิดถึงมันในฐานะที่เป็นแนวคิดนามธรรมเท่านั้น (Benson et. al, 2017; Mol, Moser, & Pols, 2010) ที่สำคัญ การใส่ใจดูแลไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงามหรือโรแมนติก แต่การใส่ใจดูแลในโลกแห่งความเป็นจริงเต็มไปด้วยความกดดันและความขัดแย้ง ทั้งยังมีด้านที่ไม่สวยงามซึ่งสะท้อนให้เห็นการเมืองของการใส่ใจดูแล อาทิ ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ดูแลและผู้ที่ได้รับการดูแล (Martin, Myers, & Viseu, 2015) ในแง่นี้ หากย้อนกลับมามองในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างสปีชีส์ จะพบว่าหากจัดจำแนกบนพื้นฐานทางสปีชีส์ มนุษย์ปฏิบัติต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันแตกต่างกับการที่เราปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอื่น โดยเฉพาะการมองว่าสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ในสถานะด้อยกว่า (มิพักต้องกล่าวว่าภายในเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันเอง ยังเต็มไปด้วยอคติและการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ เพศ หรือชนชั้น) ด้วยเหตุนี้ การกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์และการจัดหมวดหมู่ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ๆ คืออะไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ (practices) ที่มนุษย์จะกระทำต่อสิ่งนั้น
การท้าทายให้มนุษย์หันมาทำความเข้าใจและปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ในฐานะที่เป็น “วัตถุแห่งการใส่ใจดูแล” (matters of care) เป็นข้อเสนอสำคัญในการรื้อถอนความคิดว่าด้วยสถานะการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่น มุมมองดังกล่าวถูกนำเสนอโดย María Puig de la Bellacasa ซึ่งพัฒนามาจากข้อเสนอของ Bruno Latour ที่เสนอว่าการทำความเข้าใจสถานะของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhuman) ภายใต้ความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นทำให้มนุษย์ (โดยเฉพาะมนุษย์สมัยใหม่) ปฏิบัติต่อสิ่งอื่นในฐานะ “วัตถุแห่งข้อเท็จจริง” (matters of fact) ที่แน่นิ่งและปราศจากความเป็นการเมือง แต่มุมมองดังกล่าวนั้นไม่เพียงพอ Latour จึงเสนอว่าเราควรปฏิบัติต่อวัตถุเหล่านั้นในฐานะ “วัตถุแห่งความเกี่ยวพัน” (matters of concern) ที่ตระหนักถึงความสัมพันธ์โยงใยกับสิ่งอื่น (Latour, 2004)
อย่างไรก็ดี Puig de la Bellacasa เสนอเพิ่มเติมไปอีกว่าเราควรมีมุมมองและปฏิบัติต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่มากไปกว่าแค่การเปิดเผยให้เห็นความเกี่ยวพันและการเมืองที่รายล้อมความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ หากแต่ต้องคำนึงถึงและปฏิบัติต่อสิ่งนั้นในฐานะ “วัตถุแห่งการใส่ใจดูแล” ที่ชักชวนให้มนุษย์คิดและปฏิบัติในเชิงคาดการณ์ (speculative) ว่าเราจะเข้าไปพัวพันกับสิ่งนั้น ๆ ในวิถีทางที่ตั้งอยู่บนการใส่ใจดูแลได้อย่างไร โดย Puig de la Bellacasa ยกตัวอย่างการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ดิน (soil scientist) กลุ่มหนึ่งที่บุกเบิกการสร้างความรู้ว่าด้วยดินที่มองว่าดินเป็นสิ่งมีชีวิต (living organism) ซึ่งเป็นต้นทางของการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลดินที่ต่างจากการจัดการดินในการเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่มองว่าดินเป็นทรัพยากร (resource) โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะการคำนึงถึงฝีเท้า (pace) ซึ่งหมายถึงความเร็วในการฟื้นตัวของดินตามธรรมชาติที่ไม่ได้อยู่บนเส้นเวลาเดียวกับการผลิตในระบบทุนนิยม (Puig de la Bellacasa, 2017)
การหันมาสนใจประเด็นที่ว่าด้วยการใส่ใจดูแลชีวิตหลากสายพันธุ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้เปิดเผยให้เห็นความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ ความไม่เป็นธรรม และผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ที่มนุษย์บางกลุ่มกระทำต่อสิ่งมีชีวิตอื่นและมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น การจัดการพื้นที่เพื่อทำอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของบรรษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศอินโดนีเซียได้ทำลายวิถีการดำรงอยู่ที่ตั้งอยู่บนการใส่ใจดูแลกันของชนพื้นเมืองชาวมารินด์ (Marind) กับต้นสาคู (Sago Palm) ที่ต่างฝ่ายต่างส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสิ่งอื่น กล่าวคือ ในขณะที่ชนพื้นเมืองมีส่วนช่วยในการขยายพันธุ์ต้นสาคู ต้นสาคูก็เป็นแหล่งอาหาร ทั้งยังเป็นพืชที่มีความใกล้ชิดทางจิตวิญญาณและอารมณ์ความรู้สึก เมื่อสิ่งมีชีวิตทั้งสองถูกพรากออกจากกัน จึงทำให้เกิดความโดดเดี่ยวและความเศร้าโศก (Chao, 2021)
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพืชแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เองก็เช่นกัน อาทิ การสร้างระบบตรวจตราสอดส่องวัวและโรคระบาดในสหราชอาณาจักรซึ่งตั้งอยู่บนความรู้ทางระบาดวิทยาของผู้เชี่ยวชาญที่พยายาม “ควบคุม” กลับกลายเป็นสิ่งที่เข้าปะทะและไม่สอดคล้องกับวิถีการเลี้ยงดูสัตว์ของเกษตรกรที่เกิดจากใส่ใจดูแลในภาคปฏิบัติ อาทิ การบังคับให้เกษตกรต้องติดเบอร์หู (ear tag) ซึ่งเป็นเปรียบเหมือนบัตรประชาชนของลูกวัวที่เพิ่งคลอดในระยะเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ขัดกับช่วงเวลาที่เหมาะสมและความพร้อมของสัตว์และเกษตรกร จนมีเหตุการณ์ที่เกษตรกรถูกวัวทำร้ายจนเสียชีวิตเพราะพยายามติดเบอร์หู หรือแบบฟอร์มการจดบันทึกทางระบาดวิทยาที่วางอยู่บนข้อมูลเชิงประจักษ์ อาจไม่สามารถบันทึกความรู้ในการใส่ใจดูแลที่ไม่สามารถพูดถึงหรือเขียนได้ เพราะความรู้บางอย่างถูกส่งผ่านเกษตรกรรุ่นสู่รุ่นด้วยการลงมือทำ เช่น การสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของวัวแม่พันธุ์ขณะตกลูกแต่ละรุ่น (Singleton, 2010)
การใส่ใจดูแลชีวิตต่างสายพันธุ์ไม่เพียงแต่วิพากษ์ให้เห็นฐานคิดแบบสมัยใหม่ที่แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ และวิธีการดูแลที่ตั้งอยู่ฐานคิดแบบสมัยใหม่ที่มนุษย์พยายามควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่น แต่ขณะเดียวกันยังพยายามชี้ให้เห็นทางเลือกใหม่ ๆ ในการดูแล เช่น การเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีเลี้ยงผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) ซึ่งเป็นผึ้งที่เลี้ยงในทวีปยุโรปเพื่อเก็บน้ำผึ้ง โดยผู้เลี้ยงผึ้งในประเทศเยอรมันพบการระบาดของไรวาร์รัว (Varroa Mite) ซึ่งแพร่กระจายมาจากทวีปเอเชียใต้ในปี ค.ศ. 1977 ไรชนิดนี้เป็นปรสิตที่ทำลายผึ้งจากภายนอกและเปิดโอกาสให้มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้ปีกผิดรูป (deformed wing virus – Iflaviridae) สำหรับวิธีการจัดการของนักวิทยาศาสตร์และผู้เลี้ยงผึ้งคือการฉีดพ่นกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ภายในรัง ซึ่งจะทำให้ไรจำนวนมากตายในวันรุ่งขึ้น วิธีนี้จัดเป็นปฏิบัติการที่ทำให้รังสะอาดบริสุทธิ์ (practice of purifying) (Remter, 2021)
อย่างไรก็ดี ระบอบของการควบคุมที่วางอยู่บนความรู้ทางการแพทย์ข้างต้นไม่ได้เป็นวิธีการเดียวในยุโรป ในประเทศเวลล์ซึ่งพบการระบาดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 ระยะแรกผู้เลี้ยงผึ้งใช้วิธีการเดียวกัน แต่พวกเขาก็ไม่ได้คล้อยตามอย่างเต็มที่ ผู้เลี้ยงผึ้งกลุ่มหนึ่งจึงทดลองวิธีอื่น คือการเพิ่มระยะห่างระหว่างผึ้งแต่ละรังเพื่อลดการระบาด ลดการเข้าไปแทรกแซง และให้ความไว้วางใจว่าผึ้งของพวกเขามีความสามารถในการดูแลตัวเอง แม้จะมีผึ้งจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถรอดชีวิต แต่ในเวลาไม่กี่ปี ในกลุ่มรังที่รอดชีวิตพบว่าผึ้งได้สร้างความรู้ในการใช้ชีวิตท่ามกลาง ไรวาร์รัว เช่น การช่วยกันทำความสะอาด (groom) ร่างกายของผึ้งตัวอื่น หรือเรียนรู้ที่จะจู่โจมไร ขณะเดียวกันก็พบว่ามีแมงป่อง book scorpion (Chelifer cancroides) ที่เข้ามาคอยกินไรวาร์รัว นั่นทำให้เกิดภาวะพึ่งพาระหว่างผึ้งและแมงป่องขึ้น และนี่ก็เผยให้เห็นความเป็นไปได้อีกแบบหนึ่งของการดูแลผึ้ง เมื่อระบอบของการควบคุมดูแลแบบสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนการทำให้ปราศจากการปนเปื้อน (hygiene) ใช้ไม่ได้ผล นอกจากนี้ กรณีดังกล่าวยังสะท้อนว่าการใส่ใจดูแลเป็นปฏิบัติการที่สร้างและแสดงให้เห็นความไว้วางใจ (trust) ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น อย่างไรก็ดี ความไว้วางใจและการใส่ใจดูแลที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม เพราะยังเกี่ยวข้องกับการฆ่าและการสูญเสีย (Remter, 2021)
โดยสรุป การหันมาให้ความสนใจกับการใส่ใจดูแลชีวิตหลากสายพันธุ์จึงเป็นสิ่งที่เรียกร้องให้มนุษย์ย้อนกลับมาทบทวนถึงการจัดหมวดหมู่และการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่การสร้างความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนการใส่ใจดูแลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการบ่มเพาะศิลปะของการจดจ่อ (arts of attentiveness) โดยการจดจ่อในที่นี้ตั้งอยู่บนปฏิบัติการ 2 ลักษณะที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ การเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักความเฉพาะเจาะจงของชีวิตอื่นอย่างใกล้ชิดและการฝึกฝนที่จะตอบสนองต่อชีวิตอื่นให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือหากจะกล่าวอย่างกระชับ ศิลปะของการจดจ่อคือการทำความรู้จักและใช้ชีวิตด้วยการพัวพันอย่างลึกซึ้งกับชีวิตอื่น นี่นับเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างประณีต (van Dooren, Kirksey, & Münster, 2016: 17) ถึงที่สุดแล้ว การศึกษาการใส่ใจดูแลชีวิตหลากสายพันธุ์จึงเป็นการชักชวนให้เราเริ่มขบคิดปัญหาเชิงจริยศาสตร์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมต่อสรรพชีวิตอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกลับมาตั้งคำถามกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ความชอบธรรมของวิธีการที่มนุษย์ปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอื่น และความเป็นไปได้ที่ความไม่เป็นธรรมซึ่งเกิดจากการแสวงหาประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตอื่นจะถูกทบทวนและเปลี่ยนแปลง
ผู้เขียน: ชัชชล อัจนากิตติ
เอกสารอ้างอิง:
Benson, E. S., Braun, V., Langford, J. M., Münster, D., Münster, U., & Schmitt, S. 2017. Introduction. In B. Black, H. Robertson, S. Rothbart, H. Windley (Eds.), Troubling Species Care and Belonging in a Relational World (pp. 5-10). Rachel Carson Center.
Chao, S. 2021. They Grow and Die Lonely and Sad. Theorizing the Contemporary, Fieldsights, January 26. Retrieved from https://culanth.org/fieldsights/they-grow-and-die-lonely- and-sad
Gibbon, A. 2022. How the wild jungle fowl became the chicken: new studies propose surprisingly late date, and link to rice growing, for chicken domestication. Retrieved from https://www.science.org/content/article/how-wild-jungle-fowl-became-chicken
Heidt, A. 2022. Domesticated Chickens Were Initially Friends, Not Food. Retrieved from https://www.the-scientist.com/news-opinion/domesticated-chickens-were-initially-friends-not-food-70105
Kirksey, E., Helmreich, S. 2010. The emergence of multispecies ethnography. Cultural Anthropology, 25(4), 545-576.
Latour, B. 2004. Why has critique run out of steam? From matters of fact to matters of concern. Critical inquiry, 30(2), 225-248.
Martin, A., Myers, N., & Viseu, A. 2015. The Politics of Care in Technoscience. Social Studies of Science, 45, no. 5, 625-641.
Mol, A., Moser, I. & Pols, J. 2010. Care in Practice: On Tinkering in Clinics, Homes and Farms. Bielefeld: transcript.
Puig De La Bellacasa, M. 2017. Matters of Care: Speculative Ethics in More Than Human Worlds. Minneapolis: University of Minnesota Press.
Remter, F. (2021). "Ecologizing Honeybee Care: Multi-Species-Bodies and Trust in the Varroa Pandemic." Theorizing the Contemporary, Fieldsights, January 26. Retrieved from https://culanth.org/fieldsights/ecologizing-honeybee-care-multi-species-bodies-and-trust-in-the-varroa-pandemic
Schroer, S. A., van Dooren, T., Münster, U., & Reinert, H. 2021. Introduction: Multispecies Care in the Sixth Extinction. Theorizing the Contemporary, Fieldsights, January 26. Retrieved from https://culanth.org/fieldsights/introduction-multispecies-care-in-the-sixth-extinction
Singleton, V. 2010. Good farming Control or Care? In A. Mol, I. Moser, & J. Pols (Eds.), Care in Practice: On Tinkering in Clinics, Homes and Farms (pp. 235-256). Transcript.
van Dooren, T., Eben, K., & Münster, U. 2016. Multispecies Studies: Cultivating Arts of Attentiveness. Environmental Humanities, 8(1), 1-23.
หัวเรื่องอิสระ: มนุษย์, สิ่งมีชีวิต, หลากสายพันธุ์, การดูแล