Sexual Violence
ข้อถกเถียงเรื่องการข่มขืนในโลกปัจจุบัน
ในการประชุมของนักมานุษยวิทยาสายสตรีนิยมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี 2005 มีการถกเถียงเรื่องความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและแอฟริกาใต้ ซึ่งต้องการให้วงวิชาการนำประเด็นเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อย่อยในการประชุมของสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันในปี 2006 (McChesney & Singleton, 2010) เมื่อมีการประชุมเกิดขึ้น มีนักมานุษยวิทยาส่งบทความมาทั้งสิ้น 10 เรื่องโดยนำเสนอปัญหาความรุนแรงทางเพศที่พบในเอเชีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และยุโปรมานำเสนอและชี้ให้เห็นปัญหาที่ซ่อนเร้นและไม่ถูกเปิดเผยเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่พบได้ในหลายสังคม ด้วยวิธีการศึกษาจากภาคสนามและประสบการณ์ของผู้ที่ถูกกระทำทางเพศ เป็นองค์ความรู้ที่เผยให้เห็นความรุนแรงที่ใกล้ตัวและพบเจอในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ในปี 2009 ในประเทศคองโกมีรายงานว่าพบผู้หญิง เด็กและผู้ชายถูกข่มขืนจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัญหานี้องค์การอนามัยโลกเคยออกมาประกาศว่าความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นความรุนแรงที่พบเห็นมากขึ้นในสังคมโลกปัจจุบัน
ความหมายของ “ความรุนแรงทางเพศ” ในมุมมองทางมานุษยวิทยาเป็นเรื่องที่คลุมเครือ เพราะการศึกษาที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยามิได้สนใจเก็บข้อมูลเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดจากกิจกรรมทางเพศ ความสนใจในประเด็นนี้จึงเริ่มต้นอย่างจริงจังจากกลุ่มนักมานุษยวิทยาแนวสตรีนิยมที่พยายามนำประสบการณ์ของผู้หญิงที่เคยถูกกระทำทางเพศหรือถูกข่มขืน รวมทั้งประสบการณ์ของผู้ที่ใช้ความรุนแรงทางเพศมาอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เจตนารมณ์ในระยะแรกก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าการศึกษาความรุนแรงทางเพศจากข้อมูลภาคสนามมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้มองไม่เห็นประสบการณ์ของผู้ที่กระทำและถูกกระทำทางเพศ ความรู้กระแสหลักในเวลานั้นจะมาจากคำอธิบายทางการแพทย์ จิตเวชศาสตร์ นิติศาสตร์ อาชญาวิทยา และสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ซึ่งชี้นำความรู้เรื่องการข่มขืนในฐานะเป็น “ปัญหาความผิดปกติทางจิต” ผู้กระทำการข่มขืนจึงถูกตีตราและถูกประณามเป็น “ผู้ป่วยทางจิต” ซึ่งจิตแพทย์ลงความเห็นว่าคนเหล่านี้มักจะมีความบกพร่องและมีปมด้อยในการแสดงความเป็นชาย (Albin, 1977) ขณะที่นักธรรมชาติวิทยามองว่าการข่มขืนเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตเพศผู้ ซึ่งใช้การข่มขืนเพสเมียเพื่อปลดปล่อยความกำหนัดตามธรรมชาติ (Travis, 2003)
การศึกษาของ Brownmiller (1975) อธิบายว่าการข่มขืนถูกมองในฐานะเป็นความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างอำนาจแบบปิตาธิปไตย การใช้กำลังของผู้ชายจึงกลายเป็นบรรทัดฐานที่สังคมมองเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ผู้หญิงถูกขัดเกลาให้อยู่ในระเบียบและสุภาพอ่อนหวาน ในขณะที่นักสตรีนิยมมองว่าการข่มขืนและความรุนแรงต่อผู้หญิงมักจะเกิดจากผู้ชายที่อยู่ใกล้ตัวผู้หญิง (Sanday, 1996) จากข้อสังเกตเหล่านี้ทำให้การศึกษาความรุนแรงทางเพศเปลี่ยนจากการมองในเชิงปัญหาทางจิตและสัญชาตญาณตามธรรมชาติไปสู่การอธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจและความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชายที่สังคมสร้างบรรทัดฐานไว้ การศึกษาของ Sanday (1981) ตั้งข้อสังเกตว่าในแต่ละสังคม รูปแบบและความถี่ของการข่มขืนแตกต่างกันไป นำไปสู่คำถามที่ว่าทำไมบางสังคมจึงพบเห็นการข่มขืนได้มากกว่าบางสังคม Sanday (1981) พยายามเสนอว่าในสังคมที่ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง โดยให้อำนาจแก่ผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ จะไม่ค่อยพบการข่มขืนมากนักเมื่อเทียบกับสังคมที่ผู้หญิงมีอำนาจน้อยกว่าผู้ชาย ข้อสันนิษฐานนี้อาจบ่งบอกว่ายิ่งผู้ชายมีอำนาจมากเท่าใด ยิ่งทำให้การใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงจะเพิ่มมากขึ้น เช่น ในสังคมอเมริกันที่ผู้ชายมีอำนาจทางสังคม ทำให้วัยรุ่นชายใช้ร่างกายของผู้หญิงเป็นที่ระบายความรู้สึกทางเพศและตอกย้ำอัตลักษณ์ความเป็นชายที่แข็งแกร่ง (Sanday, 1990)
อย่างไรก็ตามคำอธิบายข้างต้นอาจเป็นกระบวนทัศน์ที่ใช้บรรทัดฐานของตะวันตกมาตัดสิน หากศึกษาประสบการณ์ของหญิงชายในสังคมอื่น สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นการข่มขืนอาจทับซ้อนอยู่กับวิธีปฏิบัติทางสังคมแบบอื่นๆ เช่น การลักลอบมีชู้ การหลบหนีของคู่รักหนุ่มสาว และการฉุดหญิงสาวไปเป็นภรรยา วิธีปฏิบัติทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศเหล่านี้จำเป็นต้องมองจากบริบทที่พบในสังคมแต่ละแห่ง (Shadle, 2008) การศึกษาของ Helliwell (2000) ชี้ว่าวิธีคิดแบบตะวันตกทำให้การข่มขืนกลายเป็นสิ่งที่เหมือนกันทุกสังคม โดยมองข้ามเงื่อนไขในการแสดงออกและการกระทำต่อร่างกายที่ซับซ้อน เมื่อขาดแคลนความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมต่อประเด็นการข่มขืน ทำให้สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันนำมาเป็นประเด็นเพื่อถกเถียง ซึ่งนอกจากจะมีหัวข้อย่อยในปี 2006 แล้ว ยังมีการจัดประชุมในปี 2007 ในหัวข้อ “Beyond the Dominance of Rape: Epistemologies of Sexual Violence” และหนังสือของ Veena Das (2007) เรื่อง Life and Words: Violence and the Descent into the Ordinary ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้นักมานุษยวิทยาหันมาศึกษาประเด็นนี้อย่างจริงจังและไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป
คำอธิบายเกี่ยวกับการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศจากมุมมองมานุษยวิทยา พยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขและบริบทสังคมที่ทำให้การข่มขืนถูกให้ความหมายผ่านวาทกรรม การกำหนดนโยบาย การควบคุมลงโทษและการช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ นักมานุษยวิทยาต้องการศึกษาว่ามิติความรุนแรงทางเพศเกี่ยวข้องอย่างไรกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการสร้างกฎระเบียบโดยรัฐ ตัวอย่างการศึกษาของ Judi Singleton (2008) เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในแอฟริกาใต้ สะท้อนการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและระบบกฎหมายซึ่งหันมาสนใจประสบการณ์ของผู้หญิง ปัญหาชนชั้น ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ซึ่งสาธารณชนกำลังเพ่งเล็งไปที่ปัญหาการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ปัญหานี้สะท้อนความตื่นตัวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและบทบาทของรัฐที่ต้องเข้ามารับผิดชอบและคุ้มครองพลเมืองให้ปลอดภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามของชุมชนที่จะปกป้องและปกปิดผู้ที่ถูกกระทำทางเพศ เพื่อมิให้คนเหล่านั้นได้รับความอับอายและเสียชื่อเสียง ความไม่ลงรอยระหว่างกฎหมายและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่นคือสิ่งที่ทำให้การใช้ความรุนแรงทางเพศถูกให้ความหมายอย่างซับซ้อน ดังนั้น นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาความรุนแรงทางเพศจึงจำเป็นต้องเข้าใจบริบทสังคมที่เกี่ยวข้องกับสถานะของผู้หญิง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ความขัดแย้งทางสังคม และมิติของการใช้ความรุนแรง
บริบทของการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศ
ในยุคอาณานิคม ชาวผิวขาวจากตะวันตกยังยึดติดอยู่กับความแตกต่างทางเชื้อชาติและมองคนท้องถิ่นต่ำต้อยและป่าเถื่อน เช่น ผู้ชายผิวดำในหมู่เกาะโซโลมอนถูกมองว่าเป็นมนุษย์ที่ป่าเถื่อนดุร้าย ชาวตะวันตกที่เข้าไปปกครองชาวเกาะแห่งนี้จึงออกกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงผิวขาว โดยบัญญัติบทลงโทษว่าถ้าผู้หญิงผิวขาวถูกผู้ชายผิวดำข่มขืน ชายผู้นั้นจะถูกนำตัวมาประหารหรือเฆี่ยนตี เมื่อเปรียบเทียบกับการทำผิดของผู้ชายผิวขาวในกรณีเดียวกันจะพบว่าการลงโทษจะต่างกันมาก ซึ่งกฎหมายระบุว่าถ้าผู้ชายผิวขาวข่มขืนหญิงผิวดำ จะต้องดำเนินการไต่สวนหาความจริงก่อนจะมีการลงโทษ ความลำเอียงในกฎหมายนี้สะท้อนว่าชาวตะวันตกมีอคติทางเชื้อชาติ และตีตราผู้ชายผิวดำว่าเป็นคนชั่วร้ายทางสังคม (Boutilier, 1984; Stoler, 1991) วาทกรรมเรื่องการข่มขืนในฐานะเป็นความผิดทางกฎหมายและความรุนแรงทางเพศจึงสัมพันธ์กับอำนาจของชาวตะวันตกที่มองเชื้อชาติอื่นด้อยกว่าตนและผลักไสให้ผู้ชายชาวพื้นเมืองกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเหี้ยมโหด ส่วนการศึกษาของ Kolsky (2010) ชี้ว่าลัทธิอาณานิคมของตะวันตกทำให้การข่มขืนกลายเป็นการทำความผิดที่สั่นคลอนอำนาจของคนผิวขาว เช่น ในประเทศอินเดีย ชาวอังกฤษพยายามควบคุมร่างกายของผู้หญิงด้วยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน ซึ่งทำให้ผู้หญิงชาวอินเดียตกเป็นผู้ได้รับความอับอายในการเปิดเผยตัวต่อสาธารณะ
การศึกษาของ Singleton (2008) อธิบายให้เห็นว่าสังคมแอฟริกาใต้หลังผ่านพ้นการต่อสู้ระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาว บรรยากาศทางสังคมให้ความสนใจกับการสร้างความปรองดองและการแสวงหาความจริง มีความพยายามที่จะนำอาชญากรที่เคยทำร้ายมนุษย์มาเปิดเผยและสารภาพ พร้อมทั้งส่งตัวคนเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ที่ก่อความรุนแรงทุกรูปแบบถูกจับตาจากสาธารณะอย่างเข้มงวด บรรยากาศสังคมจะเต็มไปด้วยการไตร่สวนและการกดดันให้คนทำผิดได้รับโทษ ประกอบกับการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากเวทีนานาชาติ ส่งผลให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนและถูกกระทำความรุนแรงทางเพศออกมาพูดถึงปัญหาเหล่านี้ และส่งเสริมให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะปกป้องและดูแลชีวิตของตัวเอง ความพยายามดังกล่าวอาจทำให้เรื่องราวที่เจ็บปวดของผู้หญิงถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งอาจเป็นการตอกย้ำความรู้สึกอับอายที่เคยถูกข่มขืน การออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวอาจทำให้ผู้หญิงเผชิญหน้ากับการถูกตีตราทางสังคมหรือถูกปฏิเสธจากชุมชน ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงชนเผ่าซูลูที่เคยถูกข่มขืนจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากคนรอบข้าง ดังนั้น การทำความเข้าใจประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจำเป็นต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อการเปิดเผยและปกปิดเรื่องราวเกี่ยวกับการข่มขืน
การศึกษาของ McChesney (2007) พบว่าในสังคมของชาวโฮปี ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกา พวกเขามองการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิงเป็นประสบการณ์ที่เด็กไม่สามารถเข้าใจได้ว่าอะไรคือความรุนแรง เมื่อเด็กผู้หญิงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเธอจึงรู้สึกสับสนว่าประสบการณ์ดังกล่าวจะถูกนิยามอย่างไร ความรู้สึกผิด ความทุกข์ใจ และความอับอายที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อผู้หญิงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คือการตระหนักรู้จากคำบอกเล่าที่สังคมได้สร้างความหมายให้กับความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็น “ความเจ็บปวดเชิงโครงสร้าง” (formative trauma) สิ่งนี้คือเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อการให้ความหมายเกี่ยวกับการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงทางเพศ McChesney เชื่อว่าความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กสะท้อนความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจที่แสดงออกผ่านการปฏิบัติทางเพศ นั่นคือผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือกว่าเด็ก ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันและยังทำให้การเติบโตทางสังคมของบุคคลมีความทุกข์ทรมาน ในสังคมของชนเผ่าโฮปี ผู้หญิงจะมีหน้าที่ในครัวเรือนและทำเครื่องปั้นดินเผา ผู้หญิงที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กจะใช้การปั้นหม้อเป็นวิธีการเยียวยาจิตใจเพื่อทำให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีค่า เสมือนการปั้นหม้อขึ้นมาเป็นของที่ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน การปั้นหม้อจึงสร้างตัวตนทางสังคมให้กับผู้หญิงและเป็นการปลดปล่อยความทุกข์ทรมานที่อยู่ในใจ
ในการศึกษาของ Zraly (2010) พบว่าในสังคมของรวันดา ผู้หญิงที่เคยถูกข่มขืนจากเหตุการณ์นองเลือดและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 ล้วนเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงในชีวิต ผู้หญิงเหล่านี้มีชีวิตอยู่กับชุมชนที่พยายามสอบสวนการข่มขืน โดยมีระบบตรวจสอบที่เรียกว่า gacaca ซึ่งต้องการค้นหาผู้ที่ทำความผิดในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ระบบดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับจากชุมชนท้องถิ่นเนื่องจากสามารถนำความยุติธรรมมาให้ชุมชน เมื่อสภาของชาวบ้านในนาม gacaca นำผู้หญิงมาสอบสวนเพื่อค้นหาความจริง ผู้หญิงเหล่านี้กลับได้รับความรู้สึกเจ็บปวดและปราศจากความปลอดภัยในชีวิต หน่วยงานของรัฐที่พยายามสอบสวนผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศในช่วงที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้สร้างบรรยากาศทางสังคมที่ผู้หญิงรู้สึกหวาดกลัวต่อการถูกเปิดเผยเรื่องที่น่าอับอาย (Brouneus, 2008) หน่วยงานของรัฐจึงเป็นกลไกที่สร้างความรุนแรงซึ่งในเจตนาที่จะลงโทษคนทำผิดกลับทำให้ชีวิตของผู้หญิงพบกับความบอบช้ำ (Zraly, 2010)
การศึกษาของ Haney (2010) พบว่าการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กหญิงที่อยู่ในชุมชนของชนชั้นแรงงานในรัฐแท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาจะถูกอธิบายว่าเด็กหญิงยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่ยังขาดการหยั่งรู้เรื่องกฎระเบียบและการจัดการที่เป็นระบบ ความเป็นเด็กจึงถูกมองเป็นสภาวะได้ระเบียบและอันตราย ร่างกายของเด็กจึงกลายเป็นเป้าหมายในการกระทำทางเพศโดยผู้ใหญ่ เด็กที่ถูกกระทำทางเพศจะค่อยๆเรียนรู้และทำความเข้าใจคำอธิบายทางสังคมว่าการกระทำทางเพศที่เกิดขึ้นนั้นคือการทำให้เกิดความเสียหายและเป็นความรุนแรงภายใต้ระบอบอำนาจที่ผู้ชายเป็นใหญ่ Haney ได้นำความคิดเรื่องโครงสร้างอำนาจของฟูโกต์มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์เพื่อชี้ว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมถูกเรียนรู้ให้เป็นประสบการณ์ของผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศอย่างไร ซึ่งเสมือนเป็นการตอบสนองการสร้างตัวตนของเพศภาวะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
การคิดใหม่เกี่ยวกับเพศภาวะและความรุนแรงทางเพศ
McChesney and Singleton (2010) และ Adelman (2004) ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ความรุนแรงทางเพศอาจสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและบทบาทของผู้ทำงานที่ช่วยเหลือคนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนและถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจถูกใช้เป็นเหยื่อเพื่อผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมทางสังคม เห็นได้จากวาทกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นกับการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศซึ่งมักจะนำเรื่องราวของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดหรือผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมาตอกย้ำการใช้อำนาจของผู้ชาย ตัวตนของผู้หญิงที่ถูกสร้างขึ้นในกรณีนี้จะถูกอธิบายในลักษณะของผู้เสียเปรียบ ผู้อ่อนแอ และผู้ที่ไร้อำนาจ หลายๆครั้ง คำอธิบายเกี่ยวกับการเป็นผู้หญิงมักจะผลิตซ้ำสภาวะคู่ตรงข้ามกับผู้ชายเสมอ “ความเป็นหญิง” จะถูกทำให้กลายเป็นสิ่งเดียวกับสรีระและเรือนร่างของเพศทางชีววิทยาซึ่งตกอยู่ใต้ฐานคิดแบบสารัตถะนิยมที่สถาปนาความจริงแท้ของผู้หญิงบนเนื้อตัวร่างกาย การสร้างคำอธิบายของผู้หญิงในกรณีข่มขืนจึงตกอยู่ในวาทกรรมเพศภาวะคู่ตรงข้ามและผลิตซ้ำความหมายของ “ผู้หญิง” ที่นุ่มนวลอ่อนหวานและความบริสุทธิ์ของพรหมจารี ส่วนผู้ชายจะถูกตอกย้ำให้เป็นผู้ใช้ความรุนแรงและเหี้ยมโหดเนื่องจากมีกำลังและแข็งแรงมากกว่า เพศภาวะแบบคู่ตรงข้ามนี้คือเรื่องเล่าหลักที่เกิดขึ้นในการอธิบายถึงการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงทางเพศ
นอกจากนั้น ผู้หญิงจำนวนมากที่มีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศมักจะไม่เปิดเผย ไม่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในชนชั้นล่างทางสังคม การล่วงละเมิดจึงเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและซ่อนเร้นอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ตัวอย่างในชุมชนชาวแอฟริกันในประเทศแอฟริกาใต้ ถ้าผู้ชายที่เป็นเครือญาติมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงในครอบครัวโดยการจ่ายเงินและให้สิ่งตอบแทน การกระทำดังกล่าวจะถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศหรือไม่ ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่าเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงถูกควบคุมจากใคร ผู้หญิงมีอำนาจและสิทธิในการปกป้องร่างกายของตัวเองอย่างไร ผู้หญิงสามารถให้ความหมายเกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศของตัวเองที่ต่างไปจากคำว่า “การข่มขืน” “ความรุนแรงทางเพศ” “การเป็นเหยื่อทางเพศ” ได้หรือไม่ และความหมายของคำที่ต่างไปจากนี้จะช่วยทำให้เห็นโลกทัศน์และประสบการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร (Sanday, 2003) ประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกกระทำทางเพศในลักษณะต่างๆ จะถูกเล่าผ่านมุมมองของผู้หญิงอย่างไรที่อาจต่างไปจากวาทกรรมทางสังคมที่มักจะสร้างคู่ขัดแย้งระหว่างผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงกับผู้ที่ใช้ความรุนแรง
McChesney and Singleton (2010) กล่าวว่าในการทำความเข้าใจความรุนแรงทางเพศ เราไม่จำเป็นต้องคิดถึงคู่ขัดแย้งระหว่างผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อกับผู้ชายที่เป็นผู้กระทำความรุนแรง แต่ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นกับเพศภาวะและเพศวิถีแบบใดก็ได้ เช่นระหว่างเพศเดียวกัน ระหว่างผู้หญิงที่เป็นฝ่ายกระทำกับผู้ชายที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ดังนั้น การศึกษาความรุนแรงทางเพศจำเป็นต้องเข้าใจบทบาทของมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และพยายามไม่ผลิตซ้ำวาทกรรมที่แยกคู่ตรงข้ามระหว่างผู้หญิงที่อ่อนแอกับผู้ชายที่แข็งแรง นอกจากนั้น ในการศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจขอบเขตและความหมายของสิ่งที่ถูกเรียกว่า “กิจกรรมทางเพศ” และ “การใช้ความรุนแรง” เนื่องจากเงื่อนไขและบริบทของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบนมาตรฐานเดียวกัน ในปี 1981 Peggy Reeves Sanday เคยศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมเกี่ยวกับการข่มขืน ได้พบว่าในแต่ละวัฒนธรรมให้ความหมายต่อการข่มขืนที่ต่างกัน ในสถานการณ์ที่เรียกว่าเป็นการกระทำทางพศมักจะเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงหรือไม่ก็ได้ สิ่งที่เรีกยว่า “ข่มขืน” อาจหมายถึงการแสดงออกทางเพศในรูปแบบหนึ่งซึ่งผู้ชายอาจกำลังเผชิญกับความเสียสมดุลในการดำเนินชีวิตหรือกำลังประสบปัญหาในการแสวงหาความสุขทางกามารมณ์
การศึกษาทางมานุษยวิทยาในประเด็นความรุนแรงทางเพศในปัจจุบัน หันมาสนใจบริบทที่ทำให้เกิดการเปิดเผยและปกปิดเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศซึ่งถูกให้ความหมายผ่านสังคม หน่วยงาน และปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความรุนแรง บริบทดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างอำนาจและการชี้นำขององค์กรที่ครอบงำการสร้างนิยามเรื่อง “ข่มขืน” และ “การล่วงละเมิดทางเพศ” โดยเฉพาะในสถาบันกฎหมาย พฤติกรรมที่เรียกว่า “การข่มขืน” จึงถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็นการกระทำความผิดและการใช้ความรุนแรงที่สังคมมุ่งประณามผู้ใช้ความรุนแรงและแสดงความเห็นใจผู้ที่ถูกกระทำ (Baxi, 2014) นักมานุษยวิทยา เช่น Sanday (2007, 2010) ตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์จำเป็นต้องก้าวข้ามวิธีคิดแบบสารัตถนิยม และมองดูกิจกรรมทางเพศภายใต้บริบทวัฒนธรรม หรือเรียกว่า “วัฒนธรรมทางเพศ” เช่นวัฒนธรรมอเมริกัน ผู้ชายที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยไม่แสดงความเข้มแข็งแบบชายชาตรีมักจะถูกล้อเลียนว่าเป็น “ตัวประหลาด” ผู้ชายอเมริกันจึงต้องพิสูจน์ความเป็นชายของตัวเองด้วยการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิง วิธีการพิสูจน์ที่พบได้เช่นการรวมกลุ่มกันเพื่อจีบสาว ผู้ชายต้องแสดงออกต่อหน้าเพื่อนว่าเขาสามารถชักจูงผู้หญิงให้มาสนใจในตัวเขา หรือการทดลองคบหาเพื่อนหญิงและทำกิจกรรมทางเพศ ปฏิบัติการเหล่านี้คือวิธีการสร้างตัวตนของผู้ชายที่มีแบบแผนที่หลากหลาย
ตัวอย่างในชนเผ่าซูลู Singleton (2008) กล่าวว่าวัฒนธรรมทางเพศแสดงออกผ่านวิธีการแต่งตัวของผู้หญิงซึ่งนุ่งกระโปรงสั้นที่เรียกร้องความสนใจจากผู้ชาย เมื่อผู้ชายได้กระทำการบางอย่างที่มีการสัมผัสเรือนร่างของผู้หญิง การกระทำนี้อาจเป็นความปรารถนาของฝ่ายชายในขณะที่ฝ่ายหญิงอาจเป็นเพียงการแสดงตัวตน สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่ลงรอยและความคลุมเครือของการยินยอมกับการปฏิเสธให้กระทำต่อเรือนร่าง ในกฎหมายและกระบวนการไต่สวนของตะวันตกจึงมีการนิยามเรื่องการยินยอมไว้อย่างชัดเจน และมีแนวโน้มที่จะทำให้การยินยอมแสดงออกด้วยวาจา (Sanday, 2007) กระบวนการทางกฎหมายนี้ได้สร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับการข่มขืนด้วยการพิสูจน์ว่าผู้หญิงให้การยินยอมหรือไม่ ซึ่งจะมีตำรวจ ทนายความ ผู้พิพากษา จิตแพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาไต่สวนและเรียบเรียงด้วยภาษาทางกฎหมาย ในการไต่สวนและค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับการข่มขืน ร่างกายของผู้หญิงจะถูกระทำในฐานะวัตถุทางเพศที่เป็นแหล่งรวมของอาการบาดเจ็บทางร่างกาย ซึ่งแพทย์จะเข้ามาเขียนบันทึกอย่างละเอียด (Du Mont & Parnis, 2001; Winkler, 2002) ประเด็นนี้ Baxi (2014) กล่าวว่าในโลกปัจจุบัน กระแสสังคมที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนและตรวจสอบต่อการใช้ความรุนแรงทางเพศอาจเป็นรูปแบบใหม่ของการสร้างการรับรู้ของสาธารณะ ในสังคมที่เคยชินกับการเพิกเฉยต่อความรุนแรงทางเพศซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวอาจกำลังถูกท้าทายจากกระบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศที่พบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Adelman, M. (2004). Domestic Violence and Difference. American. Ethnologist, 31(1), 131-141.
Albin, R.S. (1977). Psychological studies of rape. Signs: Journal of Women in Culture and Society, 3, 423–35.
Baxi, P. (2014). Sexual Violence and its Discontents. Annual Review of Anthropology, 43, 139- 154.
Boutilier, J. (1984). European women in the Solomon Islands, 1900–1942. In D. O’Brien, & S. Tiffany, (eds.), Re-Thinking Women’s Roles: Perspectives from the Pacific, (pp. 173– 99). Berkeley: University of California Press.
Brownmiller, S. (1975). Against Our Will: Men, Women and Rape. New York: Simon & Schuster.
Brouneus, K. (2008). Truth-Telling as Talking Cure? Insecurity and Retraumatization in the Rwandan Gacaca Courts. Security Dialogue, 39(1), 55-76.
Das, V. (2007). Life and Words: Violence and the Descent into the Ordinary. Berkeley: University of California Press.
Du Mont, J, & Parnis, D. (2001). Constructing bodily evidence through sexual assault evidence kits. Griffith Law Review, 10, 63–76.
Haney, C. (2010). Child Sexual Abuse and the Reproduction of Femininity in the United States. Voices, 10(1), 27-30.
Helliwell, C. (2000). It’s only a penis: rape, feminism, and difference. Signs: Journal of Women in Culture and Society, 25, 789–816.
Kolsky, E. (2010). The rule of colonial indifference: rape on trial in early colonial India. Journal of Asian Studies, 69, 1093–117.
McChesney, L.S. (2007).The Power of Pottery: Hopi Women Shaping the World. Women’s Studies Quarterly Special Issue on Activisms, 35(3-4), 230-247.
McChesney, L.S. & Singleton, J. (2010). Introduction: Assessing Anthropological Perspectives on Sexual Violence and Bodily Health. Voices, 10(1), 1, 5-9.
Sanday, P.R. (1981). The Socio-Cultural Context of Rape: A Cross-Cultural Study. Journal of Social Issues, 37(4), 5-27.
Sanday, P.R. (1990). Fraternity Gang Rape: Sex, Brotherhood, and Privilege on Campus. New York: New York University Press.
Sanday PR. (1996). A Woman Scorned: Acquaintance Rape on Trial. Berkeley: University of California Press.
Sanday, P. R. (2003). Rape-Free versus Rape=Prone: How Culture Makes a Difference. In Cheryl Brown Travis, (ed.) Evolution, Gender, and Rape. (Pp. 337-362). Cambridge, MA: The MIT Press.
Sanday, P. R. (2007). Fraternity Gang Rape: Sex, Brotherhood, and Privilege on Campus. New York: New York University Press.
Sanday, P. R. (2010). Afterword: Steps Forward. Voices, 10(1), 41-46.
Shadle, B.L. (2008). Rape in the courts of Gusiiland, Kenya, 1940s–1960s. African Studies Review, 51, 27–50.
Singleton, J. L. (2008). “I Love You”: Coercion and Consent in Sexual Relations in Post- apartheid South Africa. Ph.D. dissertation, Department of Anthropology, Northwestern University.
Stoler, A. (1991). Carnal knowledge and imperial power: gender, race, and morality in colonial Asia. In M. Leonardo, (Ed.), Gender at the Crossroads of Knowledge: Feminist Anthropology in the Postmodern Era, (pp. 55–101). Berkeley: University of California Press.
Travis, C.B. (2003). Evolution, Gender, and Rape. Cambridge, MA: MIT Press.
Winkler, C. (2002). One Night: Realities of Rape. Oxford: Alta Mira.
Zraly, M. (2010). Danger Denied: Everyday Life and Everyday Violence among Rwandan Genocide-Rape Survivors. Voices, 10(1), 18-23.
หัวเรื่องอิสระ: ความรุนแรงทางเพศ, การข่มขืน, เพศภาวะ, สตรีนิยม, ผู้หญิง, อำนาจ