Exorcism
การอธิบายผีสิงด้วยทฤษฎีสัญลักษณ์และนิเวศทางร่างกาย
การถูกผีสิงคือประสบการณ์ทางร่างกายที่เชื่อมโยงกับแบบแผนทางวัฒนธรรมและการแสดงตัวตนทางสังคม ในการทำความเข้าใจประสบการณ์ประเภทนี้ในแต่ละวัฒนธรรมมีคำอธิบายที่แตกต่างกัน Alter (2014) ตั้งข้อสังเกตว่าประสบการณ์เกี่ยวกับการถูกผีสิงที่แสดงออกในร่างกายของมนุษย์อาจจะคล้ายกับความรู้สึกและพฤติกรรมของคนที่ดื่มสุราจนเมาและควบคุมตัวเองไม่ได้ ดังนั้น การศึกษาประสบการณ์ดังกล่าวอาจมองในฐานะเป็น “ปฏิบัติการทางสังคม” ของผู้ที่ถูกผีสิงซึ่งกำลังแสดงการมีตัวตนในสภาวะหนึ่ง สังคมจะมีวิธีการจัดการกับปฏิบัติการนี้ด้วยวิธีการที่ต่างกัน ในสังคมที่เชื่อในภูตผีและวิญญาณ จะจัดการกับคนที่ถูกผีสิงด้วยพิธีกรรมทางศาสนาและใช้คาถาอาคมในการขับไล่วิญญาณที่เข้ามาอาศัยอยู่ในตัวมนุษย์ ซึ่งเรียกว่าพิธีไล่ผี การปฏิบัติดังกล่าวต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติและเวทมนต์คาถา ซึ่งนักมานุษยวิทยาทางการแพทย์เชื่อว่าคนที่ถูกผีสิงคือผู้ที่กำลังประสบสภาวะวิกฤตทางอารมณ์และความรู้สึก จะมีการแสดงออกทางสีหน้า กิริยาท่าทาง การส่งเสียงร้อง และการดิ้นทุรนทุราย ปรากฎการณ์ดังกล่าวสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อทางศาสนา กฎระเบียบทางสังคม และพฤติกรรมของบุคคล
การไล่ผีในฐานะเป็นวิธีการเยียวยาให้มนุษย์รอดพ้นจากอาการลืมตัวหรือสภาวะปั่นป่วนทางจิตใจและความรู้สึก ในเชิงสังคม การไล่ผีจึงคล้ายกับวิธีการเข้าไปช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อนให้พบกับความสงบสุขหรือปลอดภัยจากอันตราย ในสภาวะที่คนกำลังถูกผีสิง เขาจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เกิดอาการหลงลืมและควบคุมตัวเองไม่ได้ คล้ายกับคนที่มึนเมาที่ขาดสติ เป็นช่วงที่บุคคลจะมีตัวตนที่แตกสลาย (schismogenic selfhood) (Bateson, 1971) สภาวะนี้คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่คาดเดาไม่ได้ คนที่ถูกผีสิงจะสามารถทำสิ่งต่างๆอย่างที่ไม่คาดคิดและไม่ใช่การกระทำในวิสัยปกติ เป็นการแสดงพลังบางอย่างที่เข้มข้นรุนแรงมากกว่าในยามปกติ พลังดังกล่าวถือเป็นการปฏิบัติที่ตอกย้ำและยืนยันการอยู่ในสังคมของบุคคล การไล่ผียังเป็นการทำให้สภาวะวิกฤตลดความรุนแรงและนำบุคคลกลับมาสู่สภาวะที่รู้จักตัวเอง (Dow, 1986) อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีตัวตนของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมอาจต่างไปจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์แบบตะวันตกซึ่งมักจะมองตัวตนในฐานะเป็นผลผลิตจากการหยั่งรู้คิดด้วยเหตุผล แต่ในวัฒนธรรมอื่น ความเป็นบุคคลอาจมิได้มาจากเรื่องสติปัญญาและการคิดด้วยเหตุผลเสมอไป
สภาวะของการถูกผีสิงเกี่ยวข้องกับอาการทางร่างกายและอารมณ์ ขณะเดียวกันก็สัมพันธ์กับเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ต่างไปจากช่วงเวลาปกติ การศึกษาที่ผ่านมา นักวิชาการมักจะตีความการถูกผีสิงด้วยความคิดเรื่องการมีตัวตน โดยชี้ว่าพฤติกรรมของคนถูกผีสิงเป็นภาพสะท้อนความหมายทางวัฒนธรรม กล่าวคือ การถูกผีสิงจะต้องแสดงออกด้วยกิริยาอาการที่ผิดปกติและอาการเหล่านี้จะบ่งบอกว่าบุคคลกำลังเผชิญปัญหาอะไรในชีวิต ในขณะที่ผู้ประกอบพิธีกรรมไล่ผีจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือและปลดปล่อยให้ผู้ที่ถูกผีสิงหายจากอาการหลอนและไม่เป็นตัวของตัวเอง การตีความในเชิงสัญลักษณ์นี้ (Biosemiotics) มีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจเรื่องการถูกผีสิงและการไล่ผีในวงวิชาการ การแสวงหาความรู้ดังกล่าววางอยู่บนทฤษฎีแบบแยกส่วน (reductionism) โดยค้นหาและแยกองค์ประกอบต่างๆที่เกิดขึ้นในการถูกผีสิงและการไล่ผี และเชื่อว่าส่วนย่อยต่างๆ คือตัวกำหนดความหมายทางวัฒนธรรมของการถูกผีสิง (Alter, 2014)
Barbieri (2008) และ Hoffmeyer (2008) กล่าวว่าการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงออกจากพฤติกรรมทางร่างกาย เช่น อาการชักเกร็ง แขนขาบิดเบี้ยว การร้องครวญคราง การขู่ตะคอก และการตะโกน พฤติกรรมเหล่านี้เป็นกลไกอัตโนมัติทางร่างกาย อาการทางร่างกายของคนถูกผีสิงคือสิ่งที่บ่งชี้ว่าระบบประสาทและการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายมีความเชื่อมโยงกัน อวัยวะต่างๆพึ่งพากันและกันคล้ายกับระบบนิเวศของร่างกาย (bioecology) เมื่ออวัยวะหนึ่งกระตุ้นการทำงานของอีกอวัยวะหนึ่ง ร่างกายก็จะเปลี่ยนสภาพไป ความเชื่อมโยงนี้มิได้มีรูปแบบที่ตายตัว และสามารถแสดงปฏิสัมพันธ์ได้อย่างไร้ขอบเขต ดังนั้น อาการของคนถูกผีสิงจึงเกิดขึ้นอย่างไร้การควบคุม อวัยวะของคนถูกผีสิงต่างแสดงอาการออกมาด้วยความสัมพันธ์ที่บ่งบอกความหมาย (ecological relations of communication)
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการตีความด้วยแนวคิดนิเวศวิทยาร่างกายคือการลดทอนบุคคลให้เป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ที่ทำหน้าที่ควบคุมกิริยาท่าทางและพฤติกรรมของคนๆนั้น จนทำให้อวัยวะมีความสำคัญเหนือการมีตัวตนของบุคคล Alter (2014) ตั้งข้อสังเกตว่าคำอธิบายแนวนี้สนใจระบบการทำงานของร่างกายที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรม ทำให้การตีความการถูกผีสิงกลายเป็นเรื่องการค้นหาว่าร่างกายแสดงปฏิกิริยาอย่างไร นำไปสู่การตอกย้ำว่าผู้ที่กำลังถูกผีสิงคือบุคคลที่มีความผิดปกติทางความคิดจนทำให้จินตนาการว่าตนเองถูกวิญญาณร้ายเข้ามาครอบงำและบังคับให้ทำสิ่งต่างๆอย่างไร้การควบคุม นักวิชาการที่ใช้กรอบคิดเรื่องสัญลักษณ์และนิเวศทางร่างกายมักเชื่อว่าการถูกผีสิงมีโครงสร้างบางอย่างที่สะท้อนปัญหาทางจิตของปัจเจกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาในชีวิต คำอธิบายที่มักพบเสมอคือการชี้ว่าคนที่ถูกผีสิงคือผู้ที่สร้างภาพหลอนที่บิดเบี้ยวโดยคิดว่าตนเองกำลังถูกผีร้ายเข้ามาสิงสู่ หรือกล่าวได้ว่าคนถูกผีสิงคือคนที่กำลังหลอกตัวเอง (deceptive Reification) ซึ่งตรงข้ามกับผู้ที่มีสติสัมปชัญญะครบสมบูรณ์
Michael Taussig (1993a, 1993b) อธิบายว่าการศึกษาคนถูกผีสิงด้วยทฤษฎีโครงสร้างมีรากฐานมาจากความคิดของ Durkheim (1995) ซึ่งมองว่าสังคมและความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันเกิดขึ้นจากวิธีคิดที่จัดจำแยกสิ่งต่างๆเป็นคู่ตรงข้าม เช่น ความดีกับความชั่ว เหตุผลกับความไร้เหตุผล ความจริงกับความลวง เป็นต้น วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามในทัศนะของ Durkheim ได้ทำให้ความคิดเชิงศาสนาดำรงอยู่คู่กับความคิดทางโลก ซึ่งเป็นการแบ่งพรมแดนสิ่งศักดิ์ศิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติออกจากสิ่งที่เป็นวัตถุวิสัยที่พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ฐานคิดนี้มีอิทธิพลต่อการอธิบายประสบการณ์ของมนุษย์ที่เชื่อในพระเจ้าและภูตผีวิญญาณ โดยนักสังคมศาสตร์แนวโครงสร้างหน้าที่จะมองปรากฎการณ์ทางความเชื่อและอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นความบกพร่องทางเหตุผลส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของบุคคล คำอธิบายในแนวนี้เป็นวิธีให้เหตุผลแบบนิรนัย (Deductive reasoning) โดยนำทฤษฎีที่สร้างไว้มาเป็นกรอบเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ (Kevelson, 1996)
พิธีไล่ผีในฐานะการเยียวยา
ในการศึกษาของ Alter (2014) อธิบายว่าหมอผีหรือผู้ประกอบพิธีกรรมไล่ผีในเขตเทือกเขาหิมาลัยตอนกลาง ซึ่งมีนามว่าทุลซี ดาส (Tulsi Das) เขาถูกฝึกให้รู้วิชาคาถาอาคมและติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขามีสัมผัสพิเศษที่ทำให้สื่อสารกับเทพเจ้าต่างๆ ทำให้เขารู้ว่าเทพเจ้ากำลังบอกให้รู้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เขาเป็นผู้พยากรณ์สิ่งต่างๆ และมีพลังวิเศษที่จะประกอบพิธีกรรมไล่ผีและวิญญาณที่ชั่วร้าย ทุลซีเกิดในครอบชาวชาวนาที่ยากจนซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบทางสังคม สิ่งที่ทุลซีทำเป็นกิจวัตรคือการสานตะกร้า การดื่มเหล้า การเล่าเรื่องเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ และประกอบพิธีเพื่อติดต่อกับวิญญาณ ในวัฒนธรรมของชาวหิมาลัย การดื่มสุราเป็นธรรมเนียมปกติที่ผู้ชายทุกคนคุ้นเคยและปฏิบัติกันเป็นปกติในพิธีกรรมและงานสังคมต่างๆ การดื่มจะเกิดขึ้นในกิจกรรมหนึ่งและเมื่อผู้ชายเริ่มกิจกรรมใหม่ก็จะดื่มต่อเนื่องเป็นวัฎจักร อาการมึนเมาจึงเป็นเรื่องการแสดงออกทางสังคม มิใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ กล่าวคือการดื่มสุราคือกลไกของชีวิตที่สร้างความสัมพันธ์ทางสังคม เสมือนเป็นโครงสร้างสังคมของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเขตหิมาลัย Bateson (1971) เคยตั้งข้อสังเกตว่าชาวหิมาลัยมีชีวิตอยู่กับสุรา วัฒนธรรมของการเมาจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและดูเหมือนจะเป็นสภาวะที่สำคัญต่อการมีตัวตนที่ไร้ระเบียบและขาดความมั่นคง
ทุลซีอธิบายว่าเมื่อมีคนถูกผีสิง พวกมันจะกระโดดโลดเต้นอยู่บริเวณศรีษะของคนๆนั้น เหล่าภูตผีปีศาจ (bhairav) จะประสงค์ร้ายต่อมนุษย์ แต่ทุลซีจะรู้คาถาอาคม (rakhwali) ที่จะใช้ขับไล่และปราบเหล่าผีร้ายให้พ่ายแพ้ไป คาคาต่างๆที่ทุลซีร่ำเรียนมาจะมีหลายแบบ นอกจากจะช่วยป้องกันผีร้ายแล้วยังช่วยรักษาเยียวยาคนป่วย Alter (2008) และ Sax (2009) อธิบายว่าในประสบการณ์และโลกทัศน์ของทุลซี ปีศาจ bhairav เป็นผู้ที่โหดเหี้ยมดุร้าย บางครั้งพวกมันจะแปลงกายเป็นคนที่ไร้สติสัมปชัญญะ ทุลซีจึงท่องบทดสอดและคาถาเพื่อปกป้องมิให้มนุษย์ถูกครอบงำโดยปีศาจและเทพเจ้าที่ดุร้าย รวมทั้งจัดพิธีกรรมขับไล่ภูตผีปีศาจโดยการฆ่าสัตว์ 8 ตัวเพื่อเซ่นสังเวยต่อปีศาจที่แสดงตัวเป็นสายฟ้าในยามค่ำคืน โดยจะจัดพิธีไล่ผีบริเวณริมฝั่งน้ำและขุดหลุมเพื่อนำไก่และหมู่ที่ถูกฆ่าไปฝังดิน เพื่อให้ปีศาจมากินเป็นอาหาร นอกจากนั้นจะนำเอากิ้งก่าฝังดินทั้งเป็นพร้อมกับนำเขาแพะและหูของแกะฝังในดินพร้อมกัน เลือดของสัตว์ที่ถูกฆ่าจะนำไปราดบนหลุมและวัตถุสิ่งของต่างๆที่อยู่ในพิธีไล่ผี พิธีกรรมนี้จะเต็มไปด้วยภาพสยดสยองและคนที่เข้าร่วมพิธีจะถูกเตือนว่าปีศาจร้ายอาจติดตามไปอยู่ด้วย
เมื่อทุลซีถูกปีศาจสิงร่าง เขาจะเริ่มแสดงอาการสั่นไปทั่วร่างกาย เขาจะเริ่มโยกลำตัวไปมา แขนขาและอวัยวะต่างๆจะเริ่มควบคุมไม่ได้ อาการขั้นรุนแรงคือการมีน้ำลายฟูมปาก ตาถล่นออกมาชัดเจน เขาจะแสดงอาการชัดเกร็งอย่างรุนแรง ผู้ที่ดูอยู่รอบๆจะเกิดความกลัวและเดินหนีออกไปอยู่ที่ไกลๆ หลังจากที่ร่างกายของทุลซีชักกระตุก ผู้ตีกลองจะเร่งจังหวะเสียงดังมากขึ้น ต่อจากนั้นทุลซีจะเพ็งมองไปยังกลุ่มฝูงชนและวิ่งกระโจนเข้าเป้าหมาย ช่วงเวลานี้ผู้เฒ่า 2 คน จะเดินออกมาจากฝูงชนเพื่อทำหน้าที่รักษาขับไล่และปัดเป่าผีร้ายที่อยู่ในร่างของทุลซี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ดำรงอยู่ท่ามกลางสายตาของฝูงชนจำนวนมาก การไล่ผีจึงเสมือนเป็นวิธีการสื่อสารทางสังคมที่ซับซ้อน มีการการเสื่อสารระหว่างมนุษย์กับปีศาจ มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ มนุษย์กับสิ่งของ ผู้ที่เป็นหมอผีกับผู้ที่ถูกผีสิง และญาติพี่น้องของคนที่ถูกผีสิง การทำหน้าที่ของหมอผีคือการขับไล่ปีศาจที่อยู่ในร่างของทุลซี หมอผีจะท่องคาถาและใช้คำพูดหยาบคายเพื่อไล่ผีร้าย ใช้มือกำข้าวสารและสาดเข้าไปที่ใบหน้าของทุลซีอย่างรุนแรง พร้อมกับถามผีร้ายในร่างของทุลซีว่าแม่ของมันคือใคร มันคือสิ่งใด มันต้องการอะไร บรรยากาศในช่วงเวลานี้จะเต็มไปด้วยความสยดสยอง ร่างของทุลซีจะถูกตีและเหนื่อยล้าจากการแฝงร่างของผีร้าย สภาพของทุลซีจะมีดวงตาแดงก่ำ เลือดไหลตามร่างกาย น้ำลายไหลออกจากปากตลอดเวลา ทุลซีจะร้องครวญครางด้วยอำนาจของผีร้ายและส่งเสียงคำว่า เลือด เนื้อ และสุรา การทำให้ผีร้ายพอใจ หมอผีจะต้องนำไส้ของสัตว์ใส่เข้าไปในลำคอของทุลซีเพื่อให้ผีร้ายได้กินเป็นอาหารตามที่มันต้องการ
พิธีไล่ผีในวัฒนธรรมของชาวหิมาลัยคือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นการดำรงอยู่ของสิ่งที่อยู่ตรงข้ามระหว่างความดีและความชั่ว ความเป็นกับความตาย อำนาจเหนือธรรมชาติกับวัตถุที่จับต้องได้ สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบของจำเป็นต่อการเยียวยารักษาผู้ที่ถูกผีสิงซึ่งเป็นบุคคลที่เผชิญกับความชั่วร้าย คนที่ถูกผีสิงจึงเป็นสภาวะและอาการของการแฝงร่าง (Embodied symptoms) ที่จำเป็นต้องได้รับการชำระล้างให้สะอาด กล่าวคือการถูกผีสิงคือการทำให้ร่างกายมนุษย์แปดเปื้อนจากความชั่ว หมอผีจึงทำหน้าที่นำความสกปรกของผีร้ายออกไปจากตัวมนุษย์ อาการแฝงร่างเช่นนี้แสดงออกด้วยอาการกระตุกชัก การอาเจียน การโยกส่ายแขนขาแบบไร้การควบคุมซึ่งคล้ายอาการของคนที่ดื่มสุราจนเมาไม่มีสติ (Gilbert et al., 1998)
ปฏิบัติของร่างกายในการถูกผีสิงและการไล่ผี
ในการศึกษามานุษยวิทยาการแพทย์ สิ่งที่สำคัญคือการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวิธีปฏิบัติทางสังคมและคติความเชื่อที่แสดงออกในพิธีกรรมต่างๆ การตีความจึงสนใจระบบสัญลักษณ์และการให้ความหมายที่เกิดขึ้นในความเจ็บป่วยและการเยียวยารักษาผู้ป่วย อาการที่ผู้ป่วยแสดงออกจะมีนัยยะเชิงสังคมและวัฒนธรรม สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือพฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึกและอาการต่างๆเหล่านั้นบ่งบอกถึงวิธีคิดและการรับรู้ของตัวตน เมื่อบุคคลมีความเจ็บป่วยทางร่างกาย พวกเขาจะแสดงออกด้วยอาการและความรู้สึกบางอย่าง พฤติกรรมและอารมณ์คือวิธีการทำให้อาการทางร่างกายจับต้องได้และมีความเป็นตัวตนที่ชัดเจน (embodiment of symptoms) (Alter, 2014) ในแง่นี้ “อาการทางร่างกาย” จึงมีนัยยะสำคัญของการเป็นผู้กระทำการ การถูกผีสิงและการไล่ผีที่เป็นปฏิบัติการเชิงร่างกายคือกระบวนการสร้างตัวตนของมนุษย์ที่อาศัยวัตถุสิ่งของ และอารมณ์ความรู้สึก สิ่งนี้จะต่างไปจากการตีความแบบเดิมที่มองการไล่ผีและการถูกผีสิงเป็นเพียงภาพสะท้อนระบบความเชื่อทางสังคม
Alter (2014) กล่าวว่าการก่อตัวขึ้นของอาการถูกผีสิงและการขับไล่ผี คือวิธีการสำนึกและผัสสะที่แยกความแตกต่างสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ออกจากสิ่งที่เป็นความรู้สึก กล่าวคือ ร่างของคนที่ถูกผีสิงคือปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งสะท้อนกลไกเกี่ยวกับการรับรู้และการตระหนักรู้ในความจริง ดังที่ Baer (1988) ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่มนุษย์รู้ได้คือสิ่งที่ไม่รู้ อาการของคนถูกผีสิงจึงเสมือนเป็นสภาวะของการไม่รู้ เนื่องจากการแสดงออกด้วยท่าทาง อารมณ์ และปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายล้วนเต็มไปด้วยสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ประสบการณ์เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับภูตผีและอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดการสร้างสัญลักษณ์ของผีและความรู้สึกหวาดกลัว ประสบการณ์ดังกล่าวเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หากจะทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของผีในฐานะสิ่งที่มองไม่เห็น ผีจะเกี่ยวข้องกับชีวิตหลังความตาย ความตายคือสิ่งที่เป็นจุดหมายของมนุษย์ ความตายจึงสะท้อนการเปลี่ยนจากการมีชีวิตไปสู่การไร้ชีวิต Alter (2014) กล่าวว่าเมื่อบุคคลถูกผีสิงจึงเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์จะแสดงอาการของคนที่ตายไปแล้ว ช่วงเวลานี้สัญลักษณ์ของความตายถูกแสดงออกผ่านร่างกาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อาการถูกผีสิงคือสัญลักษณ์ของชีวิตที่จากโลกนี้ไปแล้วซึ่งบุคคลที่ถูกผีสิงจะแสดงอารมณ์และความรู้สึกที่บ่งชี้ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เข้าใจว่า “ความตายกำลังใกล้เข้ามา”
การถูกผีสิงจึงเป็นสัญญาณของการมีชีวิตที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าสงสัยและสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ (aporiatic sign of existence) และยังเป็นดัชนีบ่งบอกให้รู้ว่ายังมีสิ่งที่ไม่ปรากฏและสิ่งที่มองไม่เห็นดำรงอยู่ในโลก (Alter, 2014) อย่างไรก็ตาม หาตีความด้วยทฤษฎีโครงสร้างนิยมแบบ Levi-Strauss (1963) จะได้คำตอบว่าการถูกผีสิงคือความหลอกลวงที่มนุษย์สร้างความหมายขึ้นเพื่อต่อต้านความจริงทางสังคม ในทางกลับกัน หากมองการถูกผีสิงเป็นปฎิบัติการทางร่างกาย จะมองเห็น “ร่างกาย” ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ทางกายภาพที่บ่งบอกเกี่ยวกับ “สิ่งที่ไม่รู้” แบบแผนของความกลัวที่มีหลายมิติ ความพยายามของภูตผีที่กำลังปลอมตัวหรือแปลงร่างให้เป็นสิ่งอื่น ส่วนหมอผีและผู้ประกอบพิธีไล่ผีคือบุคคลที่มีทักษะและสามารถเข้าใจว่าอาการทางร่างกายของคนถูกผีสิงคือสภาวะความไม่ลงรอยของการมีตัวตนระหว่างมนุษย์กับภูตผีปีศาจ สภาวะนี้ทำให้เกิดการมีบุกลิคภาพที่เข้ากันไม่ได้ (discrete personhood) (Sax, 2009) การไล่ผีจึงเป็นความพยายามที่จะแยกตัวตนทั้งสองแบบนี้ออกจากกัน
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Alter, A. (2008). Dancing with Devtas: Drums, Power and Possession in the Music of Garhwal, North India. Burlington, VT: Ashgate.
Alter, J.S. (2014). Spirits and Exorcism: On the Semiotics of Healing and Recovery. Ethos, 42(4), 399–414.
Baer, E. (1988). Medical Semiotics. Lanham, MD: University Press of America.
Barbieri, M. (2008). Introduction to Biosemiotics: The New Biological Synthesis. Dordrecht, Neth.: Springer
Bateson, G. (1971). The Cybernetics of “Self”: A Theory of Alcoholism. Psychiatry, 34, 1–8.
Dow, J. (1986). Universal Aspects of Symbolic Healing: A Theoretical Synthesis. American Anthropologist, 88, 56–69.
Durkheim, E. (1995). The Elementary Forms of Religious Life (trans. K. E. Fields). New York: Free Press.
Gilbert, D. G., B. O. Gilbert, and V. L. Schultz. (1998). Withdrawal Symptoms: Individual Differences and Similarities Across Addictive Behaviors. Personality and Individual Differences, 24, 351–356.
Hoffmeyer, J. (2008). Biosemiotics: An Examination into the Signs of Life and the Life of Signs. Scranton, PA: University of Scranton Press.
Kevelson, R. (1996). Peirce, Science, Signs. Semiotics and the Human Sciences. New York: P. Lang.
Lévi-Strauss, C. (1963). Structural Anthropology. New York: Basic Books.
Sax, W. S. (2009). God of Justice: Ritual Healing and Social Justice in the Central Himalayas. New York: Oxford University Press.
Taussig, M. T. (1993a). Malefecium: State Fetishism. In Emily Apter and William Pietz, (Eds.) Fetishism as Cultural Discourse. (Pp. 217–47). Ithaca, NY: Cornell University Press.
Taussig, M. T. (1993b). Mimesis and Alterity: A Particular History of the Senses. New York: Routledge.
หัวเรื่องอิสระ: ผี, การไล่ผี, พิธีกรรม, ผีสิง, ร่างกาย