Child Development
วัยเด็กในมุมมองทางมานุษยวิทยา คือ บุคคลที่ถูกควบคุมดูแลโดยพ่อแม่ เครือญาติ และสถาบันทางสังคมซึ่งทำให้เด็กซึมซับรับเอาความคิดความเชื่อต่างๆไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าแต่ละสังคมจะมีวิธีการเลี้ยงเด็กแตกต่างกัน รวมทั้งการนิยามความหมายเกี่ยวกับเด็กก็สัมพันธ์กับวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ระบบการเมืองและเศรษฐกิจ มาร์กาเร็ต มื้ดเคยอธิบายว่าวัยเด็กจะมีพัฒนาการตามช่วงอายุ เริ่มจากวัยทารก มีอายุไม่เกิน 1 ปี ต่อมาเป็นวัยเด็กอ่อน อายุ 2-3 ปี วัยเด็กอนุบาล อายุ 4-5 ปี และวัยเด็กนักเรียนอายุ 6-12 ปี การแบ่งช่วงวัยของเด็กในแนวนี้จะอาศัยพฤติกรรมและการเติบโตทางสรีระเป็นเกณฑ์ แต่ในหลายสังคมอาจไม่ได้ใช้เกณฑ์นี้ในการนิยามความเป็นเด็ก
จากการเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยทางชาติพันธุ์ ทำให้นักมานุษยวิทยาสามารถสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเด็ก ข้อมูลเกี่ยวกับวัฏจักรชีวิตและคติชนวิทยาเกี่ยวกับพัฒนาการของวัยเด็ก งานศึกษาทางชาติพันธุ์ยังทำให้เกิดความรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่อธิบายพัฒนาการของวัยเด็กในแต่ละวัฒนธรรม นอกเหนือจากการอธิบายในเชิงภาพรวมแล้ว ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการของวัยเด็กในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วยซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 และนักมานุษยวิทยาแนวจิตวิทยาคือผู้ที่เข้าไปศึกษาเรื่องนี้มาก่อน
ในปี 1925 มาร์การเร็ต มี้ด ทำวิจัยในหมู่เกาะอเมริกันซามัว ซึ่งเป็นงานวิจัยแรกที่สนใจศึกษาวัฒนธรรมในเขตท้องทะเลใต้ มี้ดตั้งคำถามเกี่ยวกับความเครียดในวัยรุ่นและความเป็นสากลของวิธีคิดแบบเพ้อฝันของเด็กๆ ข้อสรุปของมี้ดค่อนข้างเป็นไปในเชิงลบ โดยสร้างภาพเหมารวมเกินไป เช่นอธิบายว่าความขัดแย้งทางอารมณ์จะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเด็กหญิงชาวซามัว และวิธีคิดแบบเพ้อฝันจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเด็กๆในหมู่เกาะมานัส ข้อสรุปของมี้ดนำไปสู่ข้อถกเถียงในวงวิชาการมาก รูธ เบเนดิกต์ (1938) อธิบายว่าวัฒนธรรมอเมริกันแตกต่างจากสังคมประเพณีส่วนใหญ่ และมักจะทำให้เกิดความเครียดเมื่อเจอกับสภาวะของความรับผิดชอบ การปกครองดูแล และพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูเด็กๆที่ไม่ต่อเนื่องและความคาดหวังของผู้ใหญ่
ในปลายทศวรรษ 1930 หลังจากที่มีการนำแนวคิดของฟรอยด์มาสู่วงการมานุษยวิทยาโดยอีริค เอช อีริคสัน(1958) และอะบรัม คาร์ดิเนอร์(1945) อีริคสันพยายามทำความเข้าใจวัฎจักรชีวิตและสภาวะของบุคคลที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงอายุ หรือช่วงเวลาต่างๆ แต่ยังไม่พบคำตอบที่น่าพอใจว่าแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร เพราะมีการอธิบายถึงผลกระทบระยะยาวที่เป็นอันตรายหรือการสร้างภาพตายตัวของช่วงวัย แนวทางการศึกษาเชิงพัฒนาการถูกนำมาใช้กับการวิจัยในสังคมอินเดียนเผ่า Sioux และ Yurok ในเขตอเมริกาเหนือ ซึ่งอีริคสันพยายามที่จะอธิบายถึงวิธีการที่ผู้ใหญ่แสดงออกซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งที่มาจากประสบการณ์วัยเด็ก
โคร่า บอยส์(1944) ทำวิจัยที่หมู่เกาะอาลอร์ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของดัตช์ พบว่าการเลี้ยงดูเด็กของชาวอาลอร์ ไม่ว่าจะเป็นการที่แม่ชอบละทิ้งลูก ทำให้เกิดบุคลิกภาพของคนที่ขาดความมั่นคง ขี้ระแวงและไม่มีความหนักแน่น ในทางกลับกันการเกิดขึ้นของบุคลิกภาพแบบคนขี้กลัวสอดคล้องกับความคิดเรื่องโลกของสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งคติความเชื่อของชาวอาลอร์แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความสับสน และความเกลียดกลัวระหว่างพ่อแม่และลูกๆ และเรื่องทางศาสนาซึ่งมีการสร้างรูปปั้นของคนที่เกลียดชังกัน
นักมานุษยวิทยาชื่อจอห์น ดับบลิว เอ็ม ไวท์ติงได้นำทฤษฎีการเรียนรู้นี้มาศึกษาสังคมชาวกะโวม่า ไวท์ติงและนักจิตวิทยาชื่อเออร์วิน แอล ไชลด์(1953) ใช้ทฤษฎีฟรอยด์เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการเรียนรู้และพฤติกรรม ไวท์ติงและไชลด์คือคนแรกๆที่สำรวจชีวิตของเด็กและอธิบายตามแนวทางจิตวิทยาจากตัวอย่างสังคมหลายๆแห่ง ในช่วงทศวรรษ 1950 โครงการวิจัย 6 วัฒนธรรมซึ่งมีเบียทริซ บลีธ ไวท์ติงเป็นหัวหน้าโครงการ ได้ส่งนักวิจัยออกไปในที่ต่างๆ ได้แก่ อินเดีย, เคนย่า, เม็กซิโก, โอกีนาว่า, ฟิลิปปินส์ และเขตนิวอิงแลนด์ เพื่อที่จะสำรวจเก็บข้อมูลเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก สัมภาษณ์ผู้เป็นแม่ และสังเกตการณ์และดูพฤติกรรมของเด็กเล็กอายุ 3-10 ปีในแต่ละสังคม
โครงการวิจัย 6 วัฒนธรรมมีข้อค้นพบว่าการไม่เห็นแก่ตัวอยู่ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว พฤติกรรมที่เป็นความไม่เห็นแก่ตัวมักจะพบได้ในสังคมขนาดเล็กและไม่ซับซ้อน ซึ่งลูกจะมีความกตัญญูในการช่วยเหลือพ่อแม่ ส่วนเด็กที่อยู่ในสังคมที่ซับซ้อน เช่น สหรัฐอเมริกา มักจะมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวมากกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พ่อแม่ไม่ต้องการความช่วยเหลือ ลูกๆจะเข้าโรงเรียนซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้บุคคลประสบความสำเร็จ และจากการวิเคราะห์สังคมในแบบเดียวกัน ทำให้ค้นพบว่ามีเรื่องที่เหมือนกันบางอย่าง เช่น ปฏิกิยาที่ลูกมีต่อแม่ ลูกๆต้องการเอาใจใส่ ซึ่งผู้เป็นแม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ ลูกที่มีอายุมากกว่าจะแสดงอำนาจเหนือกว่าคนที่อายุน้อย ส่วนทารกจะแสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องการดูแล
โครงการวิจัยนี้ ยังพบว่าเด็กชายมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเด็กหญิง ผลสรุปบ่งชี้ว่าในสังคม 8 แห่ง เด็กชายมีการแสดงความก้าวร้าวมากกว่า สังคม 2 แห่งทั้งเด็กชายและเด็กหญิงแสดงความก้าวร้าวพอๆกัน ข้อสรุปนี้บ่งชี้ว่าเพศชายมักจะถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว เด็กทุกๆสังคมมีทักษะและแสงหาข้อมูลต่างๆจากการสังเกต การเล่น การปฏิบัติ และการเรียน แต่สิ่งเหล่านี้จะแตกต่างกันบนเงื่อนไขความซับซ้อนทางวัฒนธรรม ในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ และสังคมเกษตกรรมต่างจากสังคมเมืองอุตสาหกรรม กล่าวคือคนในสังคมเหล่านี้ต้องอาศัยแรงงานผู้ใหญ่ในการหาและผลิตอาหาร ซึ่งเด็กๆจะเรียนรู้ผ่านการสังเกตและการเล่น
อย่างไรก็ตาม ในสังคมเกษตรก็ยังต่างจากสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์และสังคมอุตสาหกรรม เพราะสังคมเกษตรจะใช้เด็กๆทำงานประจำเพื่อให้เด็กเรียนรู้และจดจำจากสิ่งที่ตนเองทำบ่อยๆ เป็นการฝึกงานจากการลงมือทำจริง การฝึกแบบนี้ไม่พบในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ เพราะมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยบ่อย เช่น ชาวฮัดซ่าในแทนซาเนีย ชาวมาชิเกนย่าในเปรู เด็กๆในสังคมเหล่านี้จะเก็บของป่าตั้งแต่อายุน้อยๆ ส่วนในสังคมอุตสาหกรรม เด็กๆจะได้รับการฝึกฝนวิชาความรู้ในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน
ปัจจุบันนี้ นักมานุษยวิทยากำลังสนใจปัญหาของเด็กในสังคมต่างๆ เช่น เด็กพิการ เด็กในสภาวะสงคราม เด็กกับการเป็นแรงงาน เด็กกับการค้ามนุษย์ เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทารุณและถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศ เป็นต้น ทั้งนี้ นักมานุษยวิทยาต้องการตั้งคำถามว่าปัญหาของเด็กในสังคมต่างๆถูกนิยามแตกต่างกันอย่างไร และบริบทของปัญหาที่เกิดกับเด็กจะใช้กระบวนทัศน์สากลแบบตะวันตกไปวิเคราะห์ได้หรือไม่ เช่น การรังแกเด็ก สิทธิของเด็ก การคุ้มครองเด็ก ในแต่ละวัฒนธรรมจะนิยามแตกต่างกันอย่างไร
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Robert A. LeVine and Rebecca S. New (Eds.) 2008. Anthropology and Child Development: A Cross-Cultural Reader. Wiley-Blackwell.
Ruth H. Munroe, Robert L. Munroe.”Child Development” In David Levinson and Melvin Ember (ed.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. pp.193-195.
Stephens S (ed.) 1995 Children and the Politics of Culture. Princeton University Press, Princeton, NJ.
Super C M, Harkness S 1997 The cultural structuring of child development. In: Berry J, Dasen P R, Saraswathi T S (eds.) Handbook of Cross-cultural Psychology, 2nd edn. Allyn and Bacon, Boston, Vol. 2, pp. 3-39.
WhitingB B,EdwardsC P1988 Children of Different Worlds: The Formation of Social Behaior. Harvard University Press, Cambridge, MA.
หัวเรื่องอิสระ: พัฒนาการของวัยเด็ก