Necropolitics
การเมืองแห่งมรณะในพรมแดนชีวิต
Marcis (2019) ศึกษาชีวิตของนักโทษในเรือนจำ พบว่าพื้นที่ที่เป็นห้องขังคือสัญลักษณ์ของการโดดเดี่ยวและการถูกแยกออกจากสังคม มนุษย์ที่เข้ามาอยู่ในห้องขังคือผู้ที่ไม่มีคุณค่าทางสังคมและเป็นชีวิตที่รัฐไม่สนใจว่าพวกเขาจะได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยอย่างไร ผู้ต้องขังและนักโทษในเรือนจำจึงเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกลืม อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ชีวิตของผู้ต้องขังเป็นสิ่งที่น่าศึกษาเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆที่ดำรงอยู่ในเรือนจำซึ่งเป็นเรื่องราวที่คนภายนอกไม่เข้าใจและไม่ต้องการรับรู้ สังคมในเรือนจำเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และการควบคุมที่เข้มงวด เจ้าหน้าที่เรือนจำจะมีอำนาจและมีฐานะเหนือกว่าผู้ต้องขัง ในขระที่กลุ่มผู้ต้องขังก็มีการจัดช่วงชั้นที่ไม่เท่ากันซึ่งรับรู้กันแบบลับๆเฉพาะนักโทษในเรือนจำเท่านั้น ระบอบอำนาจที่ปรากฏอยู่ในเรือนจำจึงประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการควบคุมชีวิตของนักโทษที่ตัดขาดจากสังคมภายนอก เป็นชีวิตที่ไม่มีค่า ถูกทอดทิ้ง ถูกรังเกียจและรอวันตายจากไป (necropolitics) (Mbembe 2003) ส่วนที่สองคือระบอบอำนาจของวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เข้ามาสอดส่องตรวจตราและเยียวยารักษานักโทษที่ป่วยและมีสุขภาพที่อ่อนแอให้มีเรี่ยวแรงและลมหายใจต่อไปได้ (politics of life) (Fassin, 2009)
ภายใต้สภาพแวดล้อมของเรือนจำ การดิ้นรนของนักโทษคือเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามของมนุษย์ที่จะมีชีวิตในสภาวะที่อึดอัด และไม่มีอิสรภาพ การศึกษาพื้นที่เรือนจำและการควบคุมชีวิตนักโทษ เท่าที่ผานมา นักวิชาการส่วนใหญ่มักจะมองว่าเรือนจำ หรือ “คุก” คือพื้นที่ที่แยกอยู่โดดเดี่ยวและถูกปิดล้อม (Bernault, 2003; Dikötter & Brown, 2007; Jefferson 2014) ความเข้าใจดังกล่าวผลิตซ้ำความคิดที่ว่าคุกคือสถานที่ที่ปราศจากเสรีภาพและมีสภาวะอับจน Marcis (2019) เสนอว่าหากเรือนจำมีทั้งการควบคุมชีวิตและการสร้างชีวิต ระบอบอำนาจที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ซ้อนทับกันนี้อาจพบได้ในพื้นที่อื่นๆนอกเหนือไปจากเรือนจำ ดังนั้น การทำความเข้าใจชีวิตในเรือนจำจึงมิใช่การมองมิติของการหน่วงเหนี่ยวกักขังเพียงอย่างเดียว หากแต่อาจมีมิติของการให้คุณค่าปรากฏอยู่ จากแนวคิดของ Appadurai (1986) เรื่องการเมืองของการให้คุณค่า (Politics of value) ซึ่งชี้ให้เห็นปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์ตอบโต้กันเพื่อสร้างคุณค่าบางอย่าง ถึงแม้ว่าการตอบโต้กันนั้นจะมีความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจก็ตาม ในเชิงเศรษฐกิจ การแสดงปฏิสัมพันธ์ต่อกันหรือการแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของได้สร้างมูลค่าบางอย่างขึ้น แต่มูลค่านั้นมิใช่สิ่งที่คงที่ถาวร เนื่องจากบริบทของการแลกเปลี่ยนและการคาดหวังของบุคคลมีความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงได้
ในพื้นที่ของเรือนจำ บริบทของการแลกเปลี่ยนและการสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนผันแปรไปตามระบอบอำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างการส่งเสริมชีวิตและปิดกั้นชีวิต ประเด็นนี้ Rabinow and Rose (2006) เคยตั้งข้อสังเกตว่าการทำความเข้าใจแนวคิด “อำนาจเหนือชีวิต” (Biopower) จำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการเชื่อมโยงระหว่างการสร้างชีวิตและการทำลายชีวิตที่ดำเนินควบคู่กันไป ในกรณีของอำนาจที่ทำลายชีวิต Mbembe (2003) อธิบายว่าในโลกปัจจุบัน วิธีการทำลายชีวิตได้ปรับตัวเข้าไปอยู่ร่วมกับวิธีการสร้างชีวิตทางสังคมซึ่งอำพรางตัวได้อย่างแนบเนียนเพื่อให้บุคคลเชื่อว่าชีวิตของเขากำลังเดินไปสู่ทางรอด แต่ในทางตรงกันข้ามทางเดินของชีวิตกลับแฝงไว้ด้วยความตายที่มองไม่เห็น ชีวิตจึงดำรงอยู่อย่าง “คนตายที่ยังมีลมหายใจ” (iving dead) คำอธิบายของ Mbembe ทำให้เห็นว่าชีวิตและความตายมิได้แยกจากกัน ในแง่นี้ การเมืองแห่งมรณะ (Necropolitics) ที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ในค่ายกักกันผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย ในโรงพยาบาลสนามของผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรงจึงดำเนินไปพร้อมกับการจรรโลงชีวิต ในพื้นที่เหล่านี้คือตัวอย่างที่บ่งบอกว่าชีวิตของนักโทษ ผู้ต้องขัง ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้ป่วยติดเชื้อ คือร่างกายที่พร้อมจะถูกทำลาย ภายใต้อำนาจรัฐสมัยใหม่ ชีวิตของคนกลุ่มนี้มิได้มีค่าสำหรับการส่งเสริมให้มีชีวิตอย่างมีคุณภาพ ในทางตรงกันข้าม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรการกุศลพยายามเข้าไปส่งเสริมชีวิตของคนเหล่านี้ให้อยู่ในการดูแลที่เพียงพอ
ประสบการณ์ตายทั้งเป็น
นักโทษที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำพบว่าสิ่งที่เคยเป็นเรื่องปกติเมื่อใช้ชีวิตอยู่ในสังคมกลับกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เมื่ออยู่ในเรือนจำ สิ่งที่เคยมีค่ากลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า สิ่งที่ไร้ค่ากลับเป็นสิ่งที่มีค่าขึ้นมา Jefferson (2014) อธิบายว่าประสบการณ์ของผู้ต้องขังคือการปรับตัวเพื่อการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการอยู่ในพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมและปราศจากอิสรภาพ ประสบการณ์ใหม่ของนักโทษคือการเรียนรู้ว่าสิ่งที่ดีและเลวที่เคยเชื่อมั่นและพบเจอในสังคมภายนอก ไม่อาจนำมาอธิบายได้ในเรือนจำ ประสบการณ์ชีวิตของนักโทษได้สร้างชุดความรู้และระบบคุณค่าที่ต่างไปจากเดิม เปรียบเสมือนการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนระบบศีลธรรมอย่างถอดรากถอนโคน (Marcis, 2019) นักโทษต้องเรียนรู้กฎกติกาแบบใหม่ที่ปฏิบัติในเรือนจำ เช่น ต้องซ่อนเงินไว้ในทวารหนักหรือกลืนเงินเข้าไปในท้องเมื่อผู้คุมเข้ามาตรวจ นักโทษใหม่ที่เข้ามาในเรือนจำจะถูกตวจสอบจากคนหลายประเภทตั้งแต่ผู้คุม แพทย์ พยาบาล และนักโทษด้วยกันเอง นักโทษหน้าใหม่จึงตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ ประสบการณ์ดังกล่าวถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ชีวิตที่ต่างไปจากเดิม
นักโทษมีประสบการณ์เกี่ยวกับเครือข่ายสังคมภายใต้การพึ่งพา การอุปถัมภ์ การช่วยเหลือ และการเป็นเพื่อน เครือข่ายเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ถูกกักกันซึ่งทำให้นักโทษสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ เพื่อนนักโทษเปรียบเสมือนพี่น้องและเครือญาติที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (Newell, 2006) ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คุมและนักโทษดำเนินไปด้วยความขัดแย้งและรุนแรง เนื่องจากผู้คุมดำรงอยู่ในฐานะผู้ใช้อำนาจออกคำสั่ง ควบคุมบังคับและลงโทษ นักโทษจึงมักแสดงความขุ่นเคืองและไม่พอใจกับการกระทำของผู้คุม เช่น ผู้คุมใช้อาวุธทำร้ายนักโทษที่ไม่เชื่อฟัง ปัญหานี้นำไปสู่การจราจลและการประท้วงในเรือนจำซึ่งหลายครั้งมีการใช้กำลังต่อสู้และการจุดไฟเผา ในหลายกรณีนักโทษจะถูกฆ่าเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ลุกลาม นักโทษที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้กับผู้คุม พวกเขาก็จะไม่ได้รับรักษาอย่างทันที นอกจากนั้น ในสภาวะที่เกิดโรคระบาดในเรือนจำ นักโทษจำนวนมากต้องติดเชื้อเนื่องจากอาศัยอยู่กับคนหมู่มากและในสภาพแวดล้อมที่สกปรก นักโทษจะไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ถึงแม้บางกรณี นักโทษที่ป่วยจะถูกส่งไปรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่พวกเขาก็จะไม่ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ (Singh, 2008) ชีวิตของนักโทษจึงเสมือนสิ่งที่ไร้ค่า ไม่ได้รับการเหลียวแล และจะถูกกำจัดทิ้งได้เสมอ เรือนจำจึงเป็นสภาวะที่ชีวิตตกอยู่ในอันตรายซึ่งรัฐจะมองข้ามและไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปกป้องชีวิตคนในเรือนจำ
การศึกษาของ Lopez (2020) พบว่าในเมืองซานฟรานซิสโกในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกควบคุมด้วยระบอบอำนาจที่ต่างกันสองลักษณะ คืออำนาจที่สร้างความช่วยเหลือและอำนาจที่สร้างความโหดร้าย อำนาจทั้งสองลักษณะนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนไร้บ้าน องค์กรด้านมนุษยธรรมและจิตอาสาพยายามเข้าไปช่วยเหลือด้านสุขภาพของคนไร้บ้านซึ่งต้องการการเยีวยารักษาให้รอดพ้นจากความตายเนื่องจากติดยาเสพติด คนไร้บ้านซึ่งเป็นผู้หญิงใช้ชีวิตบนท้องถนนอย่างอันตรายและเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ภายใต้ระบอบเสรีนิยมใหม่ที่รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาลดงบประมาณด้านสวัสิดการสังคมลง ทำให้คนจนจำนวนมากต้องเผชิญกับความทุกข์ยากและเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ (Goode & Maskovsky, 2001) ขณะเดียวกันรับก็เพิ่มกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมและเอาผิดกลุ่มคนยากจนมากขึ้น ส่งผลให้ชีวิตคนจนในสังคมที่ข้ามพ้นสวัสดิการ (post-welfare) ต้องเผชิญกับความลำบาก กลไกของรัฐที่น้อยนิดที่เข้ามาดูแลคนเหล่านี้ดำเนินไปบนวิธีคิดของการดูแลเป็นครั้งคราวและไม่ยั่งยืน (Sangaramoorthy, 2018) หน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ทั้งหลายจะออกมาช่วยเหลือคนไร้บ้านและคนจนตามวาระและโอกาส ทำให้ชีวิตของคนไร้บ้านย้ายที่อยู่ไปตามวงจรของหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือเช่น โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ ที่พักชั่วคราว หรือแม้แต่เรือนจำ
Garcia (2014) ตั้งข้อสงัเกตว่าในสังคมที่รัฐตัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม กลุ่มคนจนและผู้เปราะบางจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับระบบศีลธรรมแบบใหม่ นั่นคือการถูกตัดสินจากองค์กรการกุศลว่าพวกเขาเป็นคนดีหรือคนเลว หากถูกมองว่ามีพฤติกรรมที่เหมาะสม เขาก็จะได้รับความช่วยเหลือ ในทางตรงกันข้ามหากถูกตัดสินว่าเป็นคนเลว พวกเขาก็จะถูกกีดกันจากความช่วยเหลือ สถานการณ์ดังกล่าวคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเปราะบาง ส่งผลให้คนจน คนไร้บ้าน คนติดยา และคนที่ขาดที่พึ่งต้องต่อรองกับการช่วยเหลือที่เข้ามาหาพวกเขา การศึกษาของ Ticktin (2011) พบว่าในประเทศฝรั่งเศส คนจนที่ป่วยและตกอยู่ในสภาพอ่อนแอจะถูกนำไปไว้ในสถานพักฟื้น ในขณะที่คนจนที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงจะไม่มีสิทธิเข้าไปอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ระบบการดูแลช่วยเหลือในลักษณะนี้คือการ “คัดคนออก” ซึ่งเป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในหมู่ของคนที่ยากจนและเผชิญกับความเดือดร้อน กฎเกณฑ์หลักที่รัฐนำมาใช้ในกรณีนี้คือกฎด้านสุขภาพ ซึ่งคนจนที่ป่วยหนักเท่านั้นจะได้รับการช่วยเหลือ กฎด้านสุขภาพจึงเป็นเครื่องมือของอำนาจที่สร้างความชอบธรรมสำหรับการสร้างช่วงชั้นของผู้ที่สมควรได้รับการดูแล (hierarchy of deservingness)
Fassin (2005) อธิบายว่าในรัฐที่ปกครองด้วยอำนาจทางการแพทย์จะสร้างร่างกายของคนที่เจ็บป่วยให้กลายเป็น “ร่างที่ต้องดูแล” ซึ่งถือเป็นการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อตัดสินว่าชีวิตของคนประเภทไหนที่สมควรได้รับการปกป้องเยียวยาถือเป็นความชอบธรรมที่รัฐมอบให้ (biolegitimacy) ในการศึกษาของ Knight (2015) พบว่าผู้หญิงไร้บ้านในซานฟรานซิสโก เมื่อเธอตั้งท้องและติดยาเสพติด เจ้าหน้าที่รัฐจะตัดสินว่าเป็นเป็นแม่ที่ล้มเหลวและประพฤติตัวไม่เหมาะสม ส่งผลให้เธอไม่ได้รับความช่วยเหลือ ภาพลักษณ์ของคนติดยาคือสิ่งที่รัฐไม่พึงปรารถนาและกลายเป็นตัวชี้วัดว่าใครควรได้รับการดูแล เมื่อหญิงไร้บ้านที่ตั้งครรภ์และติดยาถูกปฏิเสธจากความช่วยเหลือ ชีวิตของเธอจึงตกอยู่ในสภาวะของผู้ที่กำลังจะตายหรือเรียกได้ว่าเป็น “ชีวิตที่ตายทั้งเป็น” (Mbembe, 2003)
การเมืองมรณะของการดูแล
ในสถานการณ์ที่รัฐใช้เกณฑ์ด้านสุขภาพมาตัดสินว่าคนใดคือผู้ที่สมควรได้รับการดูแล สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนตกทุกข์ได้ยากต้องดิ้นรนแสวงหาหนทางเอาตัวรอดด้วยตัวเอง สิ่งที่ผู้เดือดร้อนและคนเปราะบางเลือกคือการพึ่งพาความช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบในเวลาเดียวกันโดยไม่ยึดติดอยู่กับความช่วยเหลือจากองค์กรใดองค์กรเดียว ในกรณีของคนไร้บ้านที่ติดยาเสพติด รัฐมักจะมองคนเหล่านี้เป็นอาชญากรและเป็นผู้ประพฤติผิดทางศีลธรรม ทำให้การช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เป็นเพียงการนำตัวมาบำบัดรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนการลงโทษแบบหนึ่งที่รัฐสมัยใหม่นำไปใช้ในหลายประเทศ การควบคุมและบำบัดผู้ติดยาถือเป็นกลไกที่ไร้ความเป็นมนุษย์ที่กระทำต่อบุคคลที่ใช้ยาเสพติด (Zigon, 2018) คนไร้บ้านที่ติดยาเสพติดซึ่งถูกสังคมรังเกียจและรัฐมองเป็นภัยสังคม คนเหล่านี้จำเป็นต้องดิ้นรนหาวิธีเอาตัวรอดตามลำพัง โดยที่ไม่มีวิธีการที่ตายตัว แต่พวกเขาปรับตัวไปตามสภาวะที่เอื้อให้ทำได้ การต่อสู้ดิ้นรนไปวันต่อวันทำให้ชีวิตของคนเหล่านี้เสมือนเป็น “ชีวิตที่รอความตาย”
การเมืองมรณะจึงหมายถึงระบอบอำนาจที่กระทำต่อชีวิตคนที่ถูกตีตราว่าชั่วร้ายซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ทุกข์ยาก ไร้ที่พึ่ง ดิ้นรนตามลำพัง ติดอยู่กับสภาพที่ไร้ทางออก ซึ่งเป็นประสบการณ์ของการถูกปิดกั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือผู้ที่ยากจนและไร้บ้าน Sangaramoorthy (2018) กล่าวว่าระบบสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ของรัฐไม่ใช่คำตอบสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ทุกข์ยากเหล่านี้ สิ่งที่ควรพิจารณาคือการไม่ตีตราคนด้วยมายาคติที่สังคมสร้างไว้ Fassin (2011) อธิบายว่าการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ควรยึดหลักสำนึกทางจริยธรรมมากกว่าจะยึดหลักกฎหมาย สังคมปัจจุบัน คุณค่าทางจริยธรรมและมนุษยธรรมเกี่ยวข้องกับระบอบอำนาจโดยตรง เห็นได้จากรัฐชาติสมัยใหม่ปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ยากไร้ ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติ ผู้ประสบภัยสงคราม คนจนเมือง กลุ่มคนเปราะบาง และผู้ด้อยโอกาส Fassin เสนอว่าหลักมนุษยธรรมคือการมองมนุษย์ทุกคนเท่ากัน ดังนั้น รัฐชาติต่างๆจำเป็นต้องเปลี่ยนหลักคิดเรื่องสิทธิทางกฎหมายเป็นหลักมนุษยธรรมและจริยธรรมที่แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ที่กำลังทุกข์ทรมาน
ในการศึกษาของ Lopez (2020) ชี้ว่าผู้หญิงไร้บ้านและติดยาต้องดิ้นรนตามลำพัง เปลี่ยนที่นอนไปตามแหล่งอาศัยชั่วคราว ทั้งห้องเช่ารายวันราคาถูก บ้านพักของผู้ไร้บ้าน สถานสงเคราะห์ บ้านเพื่อน และนอนข้างถนน สภาพร่างกายของหญิงไร้บ้านที่ติดยาจะมีความอ่อนแอและเสี่ยงต่อการป่วยหนัก หากพวกเธอมิได้รับการดูแลจากสถานพยาบาล หรือถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดีและถูกขับไล่ออกไป พวกเธอก็จะพบกับสภาวะเสี่ยงกับความตาย เมื่อถูกมองว่าเป็นคนชั่ว คนกลุ่มนี้ก็มักจะไม่กล้าไปขอความช่วยเหลือจากองค์กรใดๆ ประสบการณ์การถูกไล่และถูกรังเกียจทำให้คนเหล่านี้ต่อสู้ชีวิตตามลำพังและไร้ที่พึ่ง ตัวอย่างเช่น ชีวิตของไลล่า ผู้หญิงวัยกลางคนที่ไร้บ้านและติดยาเสพติด ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวขโมยจึงถูกไล่ออกจากการักษตัวในคลีนิกบำบัดยาเสพติด ทำให้เธอต้องพบกับปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะการป่วยเป็นโรคไตที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ Lopez (2020) กล่าวว่าไลล่าต้องซื้อยารักษาโรคที่ผิดกฎหมาย แต่ได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้เธอต้องฉีดเฮโรอีนเพื่อระงับความเจ็บปวดและลืมเรื่องทุกข์ในชีวิต การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ร่างกายของเธอทรุดโทรมลงเรื่อยๆ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ไลล่าพยายามรักษาตัวเองโดยไปขอความช่วยเหลือจากใคร จนกระทั่งเธอไม่มีเงินเหลือติดตัวและไม่มีเงินจ่ายค่าห้องเช่า ทำให้เธอต้องออกไปนอนข้างถนนและไม่สามารถทำงานขายบริการทางเพศได้เหมือนเดิม เนื่องจากสภาพร่างกายที่อ่อนล้า
Lopez (2020) เล่าว่าเมื่อไลล่านอนหมดสติบนถนน เธอถูกนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่คิดว่าเธอเป็นคนวิกลจริตจึงทำการมัดเธอไว้บนเตียง หลังจากผ่านไป 3 วัน เธอถูกส่งตัวไปยังคลินิกบำบัดผู้ติดยาเสพติดและทำการรักษาขาที่บวมอักเสบ แต่เนื่องจากเธอวิตกกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะนำตัวเธอไปคุมขังข้อหาติดยาเสพติด เธอจึงรีบเดินทางออกจากคลินิกและกลับไปใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน ผลการตรวจเลือดจากคลีนิกพบว่าไลล่าป่วยด้วยอาการไตวายและเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งหมายถึงเธอจะเสียชีวิตทันที แต่เจ้าหน้าที่ของคลีนิกไม่สามารถตามหาตัวเธอได้ เธอจึงไม่มีโอกาสเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จึงติดต่อไปยังแม่ของไล่ล่าที่อาศัยอยู่ห่างจากซานฟรานซิสโกไปราว 100 ไมล์ เมื่อแม่ของเธอมาถึงได้พยายามตระเวนหาไล่ล่าตามท้องถนนจนพบเธอที่ร้านอาหาร แม่จึงพาตัวเธอไปรักษาที่คลินิกฟอกไตโดยทันที แต่ที่คลีนิกแห่งนั้นแพทย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเธออย่างเย็นชาและปราศจากความเห็นอกเห็นใจ
ประสบการณ์ป่วยของไลล่าซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะไตล้มเหลว คือภาพสะท้อนของสังคมที่มีภาพจำและตีตราคนไร้บ้านที่ติดยาเสพติดว่าเป็นคนชั่วร้ายและเป็นอาชญากร ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเธออย่างไร้มนุษยธรรม ความเจ็บปวดทางร่างกายของไลล่าถูกมองเป็นสัญลักษณ์ความชั่วที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคนติดยา สถาบันทางการแพทย์และหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของไล่ล่า ปฏิบัติต่อเธอด้วยความคิดที่มีอคติ ซึ่งตอกย้ำว่าชีวิตของไลล่าถูกมองเป็นเพียงเชื้อโรคและอาชญากร (Raikhel & Garriott, 2013) นำไปสู่ความไม่แยแสและเพิกเฉยต่อความทุกข์ทรมานของผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับความตาย หลังจากที่เธอเข้ารับการรักษาตัวไม่นาน ไลล่าก็เสียชีวิตจากอาการไตวาย กรณีของไลล่าคือความโหดร้ายของระบบที่กระทำต่อมนุษย์
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Appadurai, A. (1986). Introduction: Commodities and the Politics of Value. In Arjun Appadurai, (Ed.). The Social Life of Things. Commodities in a Cultural Perspective, (pp.3–63). Cambridge: Cambridge University Press.
Bernault, F. (2003). The Politics of Enclosure in Colonial and Post-colonial Africa. In Florence Bernault, (Ed.), A History of Confinement in Africa, (pp.1–53). Portsmouth, NH: Heinmann.
Dikötter, F. & Brown, I. (Eds.). (2007). Cultures of Confinement. A History of the Prison in Africa, Asia and Latin America. Ithaca, NY: Cornell University Press.
Fassin, D. (2005). Compassion and repression: The moral economy of immigration policies in France. Cultural Anthropology, 20(3), 362–87.
Fassin, D. (2009). Another Politics of Life is Possible, Theory, Culture & Society, 26(5), 44–60.
Fassin, D. (2011). Humanitarian Reason: A Moral History of the Present. Berkeley: University of California Press.
Garcia, A. (2014). The promise: On the morality of the marginal and the illicit. Ethos, 42(1), 51– 64.
Goode, J., & J. Maskovsky. (2001). New Poverty Studies: The Ethnography of Power, Politics, and Impoverished People in the United States. New York: New York University Press.
Jefferson, A. M. (2014). Conceptualising Confinement: Prisons and Poverty in Sierra Leone. Criminology and Criminal Justice, 14(1), 44–60.
Knight, K. R. (2015). Addicted pregnant poor. Durham, NC: Duke University Press.
López, A. M. (2020) Necropolitics in the “Compassionate” City: Care/Brutality in San Francisco. Medical Anthropology, DOI: 10.1080/01459740.2020.1753046
Marcis, F. L. (2019). Life in a Space of Necropolitics. Ethnos, 84(1), 74-95.
Mbembe, A. (2003). Necropolitics, Public Culture, 15(1), 11–40. Newell, S. (2006). Estranged Belongings: A Moral Economy of Theft in Abidjan. Anthropological Theory, 6(2), 179–203.
Rabinow, P. & Rose, N. (2006). Biopower Today. BioSocieties, 1, 195–217.
Raikhel, E., & W. Garriott (2013). Addiction Trajectories. Durham, NC: Duke University Press.
Sangaramoorthy, T. (2018). Putting band-aids on things that need stitches: Immigration and the landscape of care in rural America. American Anthropologist, 120(3), 487–99.
Singh, S. (2008). Prison Inmate Awareness of HIV and AIDS in Durban, South Africa. Sociological Bulletin, 57(2), 193–210.
Ticktin, M. (2011). Casualties of Care: Immigration and the Politics of Humanitarianism in France. Berkeley: University of California Press.
Zigon, J. (2018). A War on People: Drug User Politics and A New Ethics of Community. Berkeley: University of California Press.
หัวเรื่องอิสระ: การเมือง, ความตาย, สุขภาพ, การแพทย์, คนชายขอบ, สวัสดิการ