คำศัพท์

Corruption

การศึกษาคอร์รัปชั่นทางสังคมศาสตร์

การศึกษาปัญหาคอร์รัปชั่นในทางสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่จะสนใจเงื่อนไขและผลกระทบที่เกิดจากคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นโดยนักการเมือง (Heidenheimer, 1989; Scott, 1972) อิทธิพลและอำนาจของนักการเมือง (Della Porta & Vannucci, 1999) ระบบการเมืองที่เอื้ให้เกิดการโกงและแสวงหาผลประโยชน์ (Montinola & Jackman, 2002) การคอร์รัปชั่นที่สัมพันธ์กับสังคมประชาธิปไตยและภาคประชาสังคม (Doig & Theobald, 2000; Johnston, 2005) ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Aidt, 2009) สถาบันทางการเมืองกับกฎเกณฑ์ที่ปิดกั้นการตรวจสอบคอร์รัปชั่น (Rose-Ackerman, 1999; 2006) การศึกษาเหล่านี้มักจะแพร่หลายและได้รับความสนใจในหมู่นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักเศรษฐศษสตร์ และนักวิชาการด้านนโยบายสังคม ในขณะที่นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาในประเด็นนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ขณะเดียวกัน นักวิชาการสาขาอื่นๆมักจะมองข้ามและไม่ให้ความสนใจวิธีศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปอธิบายปรากฎการณ์เกี่ยวกับคอร์รัปชั่น (Lambsdorff, 2007)

การศึกษาคอร์รัปชั่นในทางมานุษยวิทยาเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างไปจากการศึกษาของนักสังคมศาสตร์ทั่วไปคือ นักมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติของมนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้กระทำการคอร์รัปชั่น ซึ่งอาศัยการเข้าไปสังเกตแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เห็นประสบการณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น (Torsello & Venard, 2015) ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ทำให้การศึกษาทางมานุษยวิทยาไม่นำเอากฎเกณฑ์ทางศีลธรรมมาตัดสินการกระทำคอร์รัปชั่น แต่พยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมแบบองค์รวมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมคอร์รัปชั่น ซึ่งในสังคมต่างๆย่อมจะมีการคอร์รัปชั่นที่มีความหมายและการกระทำที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น คอร์รัปชั่นจึงไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีมาตรฐานสากล และไม่มีบรรทัดฐานที่กำหนดตายตัว (Nuijten & Anders, 2007) Torsello and Venard (2015) อธิบายว่าการศึกษาคอร์รัปชั่นทางมานุษยวิทยาอาศัยสนใจขอบเขตของคอร์รัปชั่นใน 3 เรื่อง คือ กฎเกณฑ์, ความหมาย และการปฏิบัติ

คอร์รัปชั่นในฐานะกระบวนการสังคม

นักมานุษยวิทยาไม่เชื่อทฤษฎีคอร์รัปชั่นที่เป็นสากลและมีกฎตายตัว แต่พยายามเข้าใจคอร์รัปชั่นในบริบทที่ซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสัมพันธ์กับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำให้มนุษย์มีวิธีการคอร์รัปชั่นในแบบที่ไม่เหมือนเดิม ในแง่นี้ คอร์รัปชั่นจึงเป็นกระบวนการทางสังคม (social process) (Shibutani, 1986) แตกต่างไปจากคำนิยามของนักเศรษฐศาสตร์ที่ระบุว่าคอร์รัปชั่นคือการยักยอกอำนาจของรัฐบาลหรือการขายทรัพย์สินของทางราชการเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ (Jain, 1998) ในนิยามทางการเมืองมักอธิบายว่าคอร์รัปชั่นคือพฤติกรรมของนักการเมืองที่ขัดต่อการทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ (Morris, 1991) ในขณะที่ธนาคารโ,กนิยามคอร์รัปชั่นว่า “การใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว” (World Bank, 1997) นิยามดังกล่าวกลายเป็นมาตรฐานสากลที่ทุกสังคมเชื่อว่าการคอร์รัปชั่นคือการใช้อำนาจของรัฐในทางที่ผิดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศพยายามมองคอร์รัปชั่นในฐานะเป็นการใช้อำนาจที่มิชอบ นิยามของนักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์พยายามสร้างคู่ตรงข้ามระหว่าง “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความเป็นสาธารณะ” ทำให้เกิดคู่ขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างจ้องจับผิดซึ่งกันและกัน

ในนิยามทางเศรษฐศาสตร์ ได้แบ่งการคอร์รัปชั่นเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) การคอร์รัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ 2) การคอร์รัปชั่นในระบบราชการ และ 3) การคอร์รัปชั่นในทางกฎหมาย (Jain, 1998) ประเภทของคอร์รัปชั่นเหล่านี้จะถูกตัดสินจากจำนวนเงินและมูลค่าของเศรษฐกิจที่สูญเสียไป และยังเป็นการมองแบบแยกส่วนที่ไม่เข้าใจว่าคอร์รัปชั่นสัมพันธ์กับกิจกรรมสังคมอื่นไอย่างไร ในทางกลับกัน นักมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจคอร์รัปชั่นจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยศึกษาจากประสบการณ์ของผู้กระทำการคอร์รัปชั่นและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน นักมานุษยวิทยาพิจารณาว่าคอร์รัปชั่นมิใช่การแบ่งแยกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องสาธารณะ แต่พรมแดนทั้งสองเชื่อมโยงเข้าหากัน สิ่งสำคัญคือการเข้าไปรับรู้ความคิดและการกรระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ให้ความหมายกับสิ่งที่เรียกว่าเรื่องส่วนตัวและเรื่องสาธารณะ เพื่อที่จะเข้าใจว่าปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆเกี่ยวข้องและทับซ้อนกับเรื่องส่วนตัวและเรื่องสาธารณะอย่างไร

นักมานุษยวิทยาสนใจว่าคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ดำเนินไปพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนแบบช่วยเหลือ การอุปถัมภ์ค้ำจุนผู้ที่เดือดร้อน และการให้ของรางวัลตอบแทน การปฏิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นแบบไม่เป็นทางการและอยู่นอกเหนือกฎระเบียบที่เขียนไว้ ในแง่นี้ คอร์รัปชั่นจึงเป็นส่วนประกอบของกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ ตัวอย่างการศึกษาของ Yang (1994) อธิบายให้เห็นว่าในวัฒนธรรมจีนใช้คำเรียก guanxi ในความหมายของการคอร์รัปชั่นซึ่งดำเนินไปบนความสัมพันธ์ต่างตอบแทนและการแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของ โดยหวังว่าการแลกเปลี่ยนนี้จะช่วยให้การทำธุรกิจและการค้าขายดำเนินไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนั้น การกระทำที่เรียกว่า guanxi ยังเป็นสิ่งที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย guanxi จะมีความหมายที่เปลี่ยนไปตามเงื่อนไขการเมืองและเศรษฐกิจ คนต่างชนชั้น ต่างเพศสภาพ ต่างศาสนาจะให้นิยาม guanxi ไม่เหมือนกัน จะเห็นได้ว่าการกระทำแบบ guanxi มิได้มีนิยามที่ตายตัว แต่สังคมจีนปัจจุบันพยายามจะใช้คำว่า guanxi ในความหมายคอร์รัปชั่นแบบแคบๆภายใต้ปัญหาการเมืองแบบเผด็จการที่ผู้ปกครองแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง และลดทอนควาหมายอื่นๆที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ช่วยให้กลุ่มคนทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

นักมานุษยวิทยายังชี้ให้เห็นว่าเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการพัฒนาต่างๆ คือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินนโยบายและโครงการพัฒนาต่างรู้ว่าการคอร์รัปชั่นเป็นส่วนที่ทำให้การดำเนินงานดำเนินไปตามแผน การศึกษาของ Hoag (2010) ชี้ให้เห็นว่าการติดสินบนเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ตราบใดที่เงินช่วยเหลือยังคงถูกส่งมา ในสังคมแอฟริกาใต้ องค์กรพัฒนาเอกชนพยายามไม่พูดถึงคอร์รัปชั่นเพื่อจะทำให้สังคมดำรงอยู่อย่างกลมเกลียว Harrison (2010) ตั้งข้อสังเกตว่าในสังคมที่กำลังขับเคลื่อนโดยระบบตลาดแบบเสรีนิยม จะพบการคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ภาคประชาชนหันมาวิจารณ์ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายของรัฐที่เกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง การผูกขาดของตลาด การรวมศูนย์อำนาจและการแปรกิจการของรัฐไปอยู่ในมือนายทุน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์และการไหลบ่าของทุนข้ามชาติที่เข้ามาภายใต้โครงการต่างๆ ยิ่งพบการคอร์รัปชั่นปรากฏอยู่ในการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ

คอร์รัปชั่นกับคุณค่าทางศีลธรรม

นักวิชาการในโลกตะวันตกต่างชี้ว่าคอร์รัปชั่นในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการกระทำที่ผิด และพยายามนำมาตรฐานตะวันตกที่เชื่อว่ามีความโปร่งใสและมีศีลธรรมสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เพื่อตอกย้ำว่าสังคมตะวันตกเป็นสังคมที่ก้าวหน้า มีอารยะ ปราศจากการคอร์รัปชั่น ในประเด็นนี้ Mauro (1995) มักตอกย้ำว่าการคอร์รัปชั่นคือการฉุดรั้งการพัฒนา ปิดกั้นการลงทุนและทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสมือนเป็นการกล่าวหาประเทศยากจนว่าไม่มีความซื่อสัตย์ คำอธิบายในแนวนี้คือการแบ่งแยกระหว่างประเทศที่เจริญที่ไม่มีการคอร์รัปชั่นกับประเทศยากจนที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ฐานคิดของคำอธิบายนี้วางอยู่บนตรรกะของคู่ตรงข้ามระหว่างการมีเหตุผลกับการไร้เหตุผลซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ลัทธิอาณานิคมของตะวันตก นักมานุษยวิทยาได้วิพากษ์เรื่องนี้ไว้ว่ามาตรฐานทางศีลธรรมของตะวันตกถูกใช้เพื่อแบ่งแยกกีดกันตนเองออจากสังคมอื่น ในกรณีคอร์รัปชั่นเช่นกัน ถ้าคนในท้องถิ่นให้ความหมายคอร์รัปชั่นต่างไปจากตะวันตก คอร์รัปชั่นก็ไม่ควรถูกตัดสินด้วยวิธีคิดเชิงศีลธรรมแบบตะวันตก หากแต่ควรทำความเข้าใจบริบทที่ทำให้คอร์รัปชั่นเกิดขึ้นภายใต้ระบบทุนนิยมโลก โครงการพัฒนาข้ามชาติและเงินทุนที่ส่งไปยังประเทศต่างๆ

Rivkin-Fish (2005) ศึกษาคอร์รัปชั่นในรัสเซียพบว่าหลังจากที่ประเทศเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม การคอร์รัปชั่นได้เปลี่ยนรูปแบบจากอุดช่องว่างจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบตลาด เมื่อนักธุรกิจเข้ามามีบทบาททางสังคมมากขึ้น การคอร์รัปชั่นก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับประชาชน ระบบการติดสินบนและการให้ของกำนัลเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมที่เน้นความสำเร็จทางเงินตรา สิ่งที่เกิดตามมาก็คือระบบช่วยเหลือตอบแทนที่เคยปฏิบัติกำลังถูกประเมินด้วยระบบศีลธรรม การศึกษาของ Oliver de Sardan (1999) อธิบายให้เห็นว่าคอร์รัปชั่นที่แพร่หลายในแอฟริกาคือวิธีปฏิบัติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ สังคมจะซุบซิบนินทาการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นกับกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งประชาชนจะเข้าไปเกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ของกำนัล การเป็นนายหน้า การหาพรรคพวก การศึกษาของ Hasty (2005) ชี้ให้เห็นว่าในประเทศกาน่า เจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจะยึดหลักการทำงานที่ไม่ติดสินบนและไม่รับของกำนัล แต่ประชาชนกลับมองว่าเจ้าหน้าที่ประเภทนี้คือคนที่ไม่แคร์สังคม เนื่องจากคนส่วนใหญ่คิดว่าการให้ของกำนัลเป็นสิ่งที่น่านับถือ

การศึกษาของ Miller (2004) ชี้ให้เห็นว่าสังคมในภาคใต้ของอิตาลี ประชาชนมักจะใช้เงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐยอมทำงานให้ประชาชนเพื่อเข้าถึงบริการประเภทต่างๆซึ่งถือเป็นวิธีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในระยะยาว กล่าวคือเงินคือใบเบิกทางสำหรับการได้รับบริการจากรัฐ เช่นเดียวกับการศึกษาของ Sedlenieks (2004) พบว่าในประเทศลัตเวีย ประชาชนยอมรับการคอร์รัปชั่นในฐานะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระยะยาวระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ แต่เงื่อนไขของการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่จะต้องวางอยู่บนกิจการที่สร้างประโยชน์ของส่วนรวม มิใช่เป็นการให้ประโยชน์แก่คนใดคนหนึ่ง ในประเทศโบลิเวีย Lazar (2005) อธิบายว่าการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาด้านต่างๆถือเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนยอมรับ

มานุษยวิทยากับวิธีศึกษาคอร์รัปชั่น

นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาวิธีการแลกเปลี่ยนของกำนัลและวัตถุสิ่งของในวัฒนธรรมต่างๆ คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าแต่ละวัฒนธรรมล้วนมีการพึ่งพาอาศัยและการช่วยเหลือกันในวิถีทางที่แตกต่างหลากหลาย การที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปสังเกตแบบมีส่วนร่วมในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและปฏิสัมพันธ์ที่ประชาชนมีกับเจ้าหน้าที่ ช่วยให้เห็นมุมมอง ประสบการณ์ วิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่คนในแต่ละสังคมแสดงออกและให้ความหมายที่ต่างกัน ในแง่นี้ วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นจึงไม่สามารถเกิดขึ้นจากนิยามของสังคมตะวันตกเพียงอย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น Kerby (1991) กล่าวว่าการทำความเข้าใจคอร์รัปชั่นจากประสบการณ์และวิธีคิดของคนท้องถิ่นจะช่วยให้มองเห็นคอร์รัปชั่นเป็นการปฏิบัติเชิงสังคม (social practice) การปฏิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายมิติและเกี่ยวข้องกับคนหลายระดับตั้งแต่ชาวบ้านท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐและเอกชน ภาคประชาชนสังคม ไปจนถึงผู้มีอำนาจในเชิงนโยบาย กลุ่มคนเหล่านี้ต่างนิยามคอร์รัปชั่นจากมุมที่ตนเองสัมผัสและเข้าไปมีส่วนรับรู้ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างหลากหลาย รวมทั้งการพูดถึงคอร์รัปชั่นยังเต็มไปด้วยการปิดบังและไม่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ทำให้การคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก

เหตุการณ์ของคอร์รัปชั่นมีความซับซ้อนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจและการเมือง นักมานุษยวิทยาตั้งข้อสงัเกตว่าหากในท้องถิ่นมีการปฏิบัติเชิงคอร์รัปชั่นจนกลายเป็นเรื่องปกติในการดำเนินชีวิต ความซื่อตรงจะกลายเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดสำหรับคนจำนวนมาก Blundo (2007) อธิบายว่าลักษณะของคอร์รัปชั่นอาจถูกอธิบายได้ 4 ลักษณะ คือ 1) อธิบายผ่านพฤติกรรมส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่น 2) อธิบายผ่านเหตุการณ์ที่มีผลต่อการใช้ชีวิต 3) อธิบายผ่านข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ทั้งการสัมภาษณ์ การสังเกต และการค้นเอกสาร 4) อธิบายผ่านการปฏิบัติของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ จะเห็นได้ว่าในการทำความเข้าใจคอร์รัปชั่นจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากคนหลายกลุ่มและมองแบบองค์รวมที่คอร์รัปชั่นเกิดขึ้นภายใต้กิจกรรมเชิงสังคม เศรษฐกิจและการเมือง วิธีการที่คนกลุ่มต่างเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่นจึงมิใช่การทำผิดศีลธรรมหรือการทำผิดกฎหมายแบบตรงไปตรงมา หากแต่สัมพันธ์กับโลกทัศน์ ความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ที่คนต่างกลุ่มปฏิบัติต่อกัน คอร์รัปชั่นจึงอาจเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการอุปถัมภ์ค้ำจุน อาจเป็นการแสดงบทบาทและอำนาจของนายทุนที่มีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออาจเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ภายใต้ระบบทุนนิยม

ในประเด็นหลักธรรมาภิบาล (governance) ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ซื่อสัตย์สุจริตและน่าเชื่อถือ เป็นหลักการที่ถูกใช้อย่างเป็นสากลและเกี่ยวข้องกับนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจที่รัฐต้องแสดงความโปร่งใสในการดำเนินงาน ในระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน รัฐจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงการดำเนินนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและต้องอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันกันอย่างเสรี Acemoglu and Verdier (2000) ตั้งข้อสังเกตว่าในกรณีที่รัฐไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรม การคอร์รัปชั่นมักจะเกิดขึ้นเสมอ ในหลายกรณีคอร์รัปชั่นคือกลไกที่ทำให้นายทุนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ในแง่นี้ คอร์รัปชั่นจึงถูกมองเป็นผลผลิตจากกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รัฐใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงการทำงานของเอกชน ส่งผลให้รัฐไม่มีความชอบธรรม Blundo et al. (2006) อธิบายว่าในประเทศที่เป็นอิสระจากการปกครองของตะวันตก สิ่งที่เกิดตามมาคือการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของผู้นำท้องถิ่น สถานการณ์นี้ทำให้เกิดคอร์รัปชั่นในหมู่ผู้นำที่พยายามควบคุมสังคม

การศึกษาทางมานุษยวิทยามีการทำความเข้าใจคอร์รัปชั่น 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกเป็นอธิบายผลกระทบของคอร์รัปชั่นที่มีต่อระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม และทำความเข้าใจว่าสังคมต่างๆมีความพยายามที่จะจัดการและควบคุมคอร์รัปชั่นด้วยวิธีการอย่างไร เช่น ใช้บทลงโทษทางกฎหมาย (Pardo, 2004) แนวทางที่สองเป็นการอธิบายระบอบอำนาจและวาทกรรมที่ใช้นิยามคอร์รัปชั่น โดยชี้ให้เห็นว่าคนในสังคมต่างใช้ความรู้ในการนิยามคอร์รัปชั่นไม่เหมือนกัน เช่น ภาคประชาสังคมมองคอร์รัปชั่นว่าเป็นความชั่วของนักการเมืองซึ่งประชาชนจะต้องออกมาต่อต้านและขจัดนักการเมืองที่ฉ้อโกง (Venard, 2009) นิยามของคอร์รัปชั่นจึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงความรู้สึกทางสังคม เช่น ประชาชนรู้สึกเกลียดและไม่เชื่อมั่นนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ คอร์รัปชั่นจึงเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการวิพาก์วิจารณ์เชิงสาธารณะและเป็นการตรวจสอบความชอบธรรมของรัฐบาล ในการศึกษาของ Schneider and Schneider (2005) พบว่าขบวนการต่อต้ามาเฟียในเมืองพาเลอร์โม่ ประเทศอิตาลี นักต่อต้านอำนาจมาเฟียได้สร้างพลังสังคมให้ประชาชนเห็นความชั่วร้ายของผู้มีอิทธิพลนอกกฎหมาย แนวทางที่สามเป็นการอธิบายกลไกของธรรมาภิบาลในฐานะเป็นการตัดสินใจเชิงการเมือง นักมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจว่าคอร์รัปชั่นคือกระจกสะท้อนความสัมพันธ์ที่คลอนแคลนและเปราะบางระหว่างรัฐบาลกลางกับหน่วยงานในท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพและมีความขัดแย้ง (Goldstein, 2003) นอกจากนั้น ยังสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มอำนาจในระดับต่างๆพยายามต่อสู้แข่งขันเพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรที่อยู่ในโครงการพัฒนาต่างๆ (Torsello, 2010)

Blundo (2007) ตั้งข้อสังเกตว่าการทำความเข้าใจคอร์รัปชั่นภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยทำให้เห็นว่าภาคประชาชนและอำนาจท้องถิ่นกำลังเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ สิ่งนี้สะท้อนปฎิสัมพันธ์ที่รัฐมีต่อประชาชน นักมานุษยวิทยามิได้มองว่ากฎหมายคือเครื่องมือที่จะกำจัดคอร์รัปชั่น แต่ต้องการทำความเข้าใจบริบทของคอร์รัปชั่นที่พยายามใช้ช่องว่างทางกฎหมายเป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์ ในมิติของความซื่อสัตย์และความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ นักมานุษยวิทยาพยายามชี้ให้เห็นการตอบโต้และการตรวจสอบที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่และข้าราชการ ประชาชนต่างฐานะและชนชั้นจะเห็นคอร์รัปชั่นในลักษณะที่ต่างกัน คอร์รัปชั่นยังเป็นกระบวนการทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อประชาชนรู้สึกไม่เป็นธรรมจากคอร์รัปชั่น การออกมาต่อต้านและโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ คือการส่งเสียงของผู้ที่เดือดร้อนซึ่งนักมานุษยวิทยามองว่าคอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งในระบอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อนที่โยงใยตั้งระดับบุคคล ชุมชน รัฐ ภูมิภาค และสังคมโลก


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Acemoglu, D., & Verdier, T. (2000). The Choice between Market Failures and Corruption. American Economic Review, March, 90, 194-211.

Aidt, T. (2009). Corruption, institutions, and economic growth. Oxford Review of Economic Policy, 25(2), 271-291.

Blundo, G. (2007). Hidden acts. Open talks. How anthropology can “observe” and describe corruption. In Nuijtel, M. and Anders, G. (Ed.) Corruption and the Secret of Law: a Legal Anthropological Perspective. (pp.1-17). Aldershot: Ashgate.

Blundo G., De Sardan O., Bako Arifari N., Tidjani & Alou, M. (2006). Everyday Corruption and the State: Citizens and Public Officials in Africa. London: Zed Books.

De Sardan, O. (1999). A moral economy of corruption in Africa? The Journal of Modern African Studies, 37(1), 25-52.

Della Porta, D., Vannucci, A. (1999). Corrupt Exchanges. Actors, Resources, and Mechanisms of Political Corruption. New York: de Gruyter.

Doig, A., & Theobald, R. (Ed.) (2000). Corruption and Democratisation. London, Portland, OR: Frank Cass.

Goldstein, L. (2003). “In our hands”: lynching, justice and the law in Bolivia. American Ethnologist, 30(1), 22-43.

Harrison, E. (2010). Unpacking the anti-corruption agenda: dilemmas for anthropologists. Oxford Development Studies, 34(1), 15-29.

Hasty, J. (2005). The pleasures of corruption. Desire and discipline in Ghanaian political culture. Cultural Anthropology, 20(2), 271-301.

Heidenheimer, A. J. et al. (1989). Political Corruption: A Handbook. New Brunswick, NJ: Transaction Books.

Hoag, C. (2010). The magic of the populace: an ethnography of illegibility in the South Africa immigration bureaucracy. Political and Legal Anthropology Review, 33(1), 6-25.

Jain, A. (Ed.) (1998). Economics of Corruption. Dordrecht: Kluwer.

Johnston, M. (2005). Syndromes of Corruption: Wealth, Power, and Democracy. Cambridge: Cambridge University Press.

Kerby, A. (1991). Narrative and the Self. Bloomington, Indiana University Press.

Lambsdorff, J. (2007). The Institutional Economics of Corruption and Reform. Cambridge: Cambridge University Press.

Lazar, S. (2005). Citizens despite the state: everyday corruption and local politics in En Alto, Bolivia. In D. Haller and C. Shore (eds.), Corruption: Anthropological Perspectives. (pp. 212-228). London: Pluto Press.

Mauro, P. (1995). Corruption and growth. Quarterly Journal of Economics, 110(3), 681-712.

Miller, A (2004). Corruption between morality and legitimacy in the context of globalization. In Pardo I. (Ed.) Between Morality and the Law. Corruption, Anthropology and Comparative Society. (pp.53-68). London: Ashgate.

Montinola, G.& Jackman, R. (2002). Sources of Corruption: A Cross-National Study. British Journal of Political Science, 32, 147–170.

Morris, S. (1991). Corruption and politics in contemporary Mexico. Tuscaloosa, AL: University of Alabama Press.

Nuijten, M. Anders, G. (2007) (Ed.) Corruption and the Secret of Law: a Legal Anthropological Perspective. Aldershot: Ashgate.

Pardo, I. (Ed.). (2004).Between Morality and the Law. Corruption, Anthropology and Comparative Society. London: Ashgate.

Rivkin-Fish, M. (2005). Bribes, gifts and unofficial payments: re-thinking corruption in post-Soviet health care. In D. Haller and C. Shore (Ed.) Corruption. Anthropological Perspectives. (pp.47-64). London: Pluto Press.

Rose-Ackerman, S. (1999). Corruption and Government. Causes, Consequences, and Reform. Cambridge, New York: Cambridge University Press.

Rose-Ackerman, S. (Ed.) (2006). International Handbook on the Economics of Corruption. Cheltenham: Edward Elgar.

Schneider, J., & Schneider, P. (2005). The sack of two cities: organized crime and political corruption in Youngstown and Palermo. In Haller, D. and Shore, C. (Ed.) Corruption: Anthropological Perspectives. (pp. 29-46). London: Pluto.

Scott, J. (1972). Comparative Political Corruption. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.

Sedlenieks, K. (2004). Rotten talk: corruption as a part of discourse in contemporary Latvia. In Pardo, I. (Ed.) Between Morality and the Law. Corruption, Anthropology and Comparative Society. (pp.119-134). London: Ashgate.

Shibutani, T. (1986). Social Processes. Bekerley, University of California Press.

Torsello, D. (2010). Corruption and the economic crisis: empirical indications from Eastern Europe. Slovak Foreign Policy Affairs, 19(2), 65-75.

Torsello, D. & Venard, B. (2015). The Anthropology of Corruption. Journal of Management Inquiry, 25(1), 34-54.

Venard, B. (2009). Organizational isomorphism and corruption: An empirical research in Russia. Journal of Business Ethics, 89, 59-76.

World Bank, (1997). Helping countries combat corruption. Poverty Reduction and Economic Management Unit, Report, June.

Yang, M. (1994). Gifts, Favors and Banquets: The Art of Social Relationships in China. Ithaca: Cornell University Press.


หัวเรื่องอิสระ: คอร์รัปชั่น, เศรษฐกิจ, อำนาจ, ความเหลื่อมล้ำ, รัฐ, ธรรมาภิบาล