Clinical Anthropology
มานุษยวิทยาคลีนิค คือการศึกษาระบบการรักษาพยาบาลคนป่วยในวัฒนธรรมต่างๆ และดูผลกระทบทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม สังคมของผู้ป่วย มีการประยุต์ใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาเพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่ต้องการคำแนะนำทางการแพทย์ คำว่ามานุษยวิทยาคลีนิคถูกใช้ครั้งแรกในราวปี ค.ศ.1979 ซึ่งนักมานุษยวิทยาที่ทำวิจัยทางด้านการแพทย์ในท้องถิ่นเข้าไปทำงานในโรงเรียนแพทย์และสาธารณสุข คำว่ามานุษยวิทยาคลีนิคอาจหมายถึงนักมานุษยวิทยาที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยซึ่งเปรียบเสมือนผู้ช่วยแพทย์ในการดูแลคนไข้ คำว่า clinical และ therapeutic เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกันโดยใช้อธิบายนักมานุษยวิทยาที่ทำงานกับผู้ป่วย
ตัวอย่างการทำงานของนักมานุษยวิทยาคลีนิค หรือนักมานุษยวิทยาที่ให้คำปรึกษาด้านการรักษาโรค เช่น การทำวิจัย หรือประเมินโครงการเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นที่ปรึกษาในโรงพยาบาลในการสร้างโครงการด้านสาธารณสุข ให้ความรู้และสอนนักเรียนแพทย์และพยาบาล และเข้าไปเกี่ยวกับในกระบวนการให้คำปรึกษา และดูแลรักษาผู้ป่วย งานเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยอาศัยการความรู้ทางมานุษยวิทยา ซึ่งอาจเกี่ยวกับวิธีการทำงานและการเข้าไปมีส่วนในการรักษาโรค อย่างไรก็ตามงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์อาจมิใช่งานโดยตรงของนักมานุษยวิทยา จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงว่านักมานุษยวิทยาคลีนิคควรจะได้รับการฝึกฝนและมีหลักสูตรการเรียนเฉพาะหรือไม่
การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคของนักมานุษยวิทยามีประวัติศาสตร์มายาวนานแล้ว อัลเฟร็ด โครเบอร์ เคยเรียนและฝึกวิธีการรักษาอาการป่วยทางจิตที่คลีนิคของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี ค.ศ.1918 และต่อมาเขาก็ฝึกฝนด้วยตนเอง มาร์กาเร็ต มี้ดก็เคยอธิบายว่าการวิจัยทางมานุษยวิทยาเปรียบเสมือนการทำงานที่ต้องอาศัยความชำนาญเช่นเดียวกับแพทย์ ซึ่งต้องฝึกฝนการฟังคนอื่น รู้จักแยกแยะข้อมูลประเภทต่างๆ และต้องเข้าใจความรู้สึกคนอื่น ในขณะที่มี้ดทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มี้ดได้ใช้ข้อคิดเรื่อง “การสร้างสำนึกในวิชาชีพ” ซึ่งหมายถึงการเอาใจใส่ต่อการตอบสนองของผู้ป่วย เมื่อมี้ดเข้าไปทำงานวิจัยภาคสนาม เธอก็นำข้อคิดนี้ไปใช้ในการเก็บข้อมูล เพื่อทำให้ตนเองใส่ใจต่อผู้ให้ข้อมูล
เมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปทำวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์ในระยะแรกๆ นักมานุษยวิทยาได้บันทึกถึงเรื่องราว เช่น การเข้าไปทำงานร่วมกับแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าไปเก็บข้อมูลในโรงพยาบาลและพูดคุยกับผู้ป่วย และให้คำปรึกษาทางจิตแก่ชาวอเมริกันพื้นเมือง อาจกล่าวได้ว่านักมานุษยวิทยาได้ศึกษาโรงพยาบาลในฐานะเป็นระบบทางสังคมวัฒนธรรมประเภทหนึ่งมานานแล้ว และงานในระยะแรกนักมานุษยวิทยาก็เข้าไปศึกษาการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและจิตบำบัด นักมานุษยวิทยาสนใจเรื่องประสบการณ์การป่วยของคนไข้ เช่น การศึกษาของเออร์วิ่ง เค โซล่า ในปี ค.ศ.1966 เรื่องการแสดงออกของอาการป่วยของคนไข้ และการศึกษาของมาร์ก ซโบโรว์สกี้ ในปี ค.ศ.1969 เรื่องความเจ็บปวดทางกายของคนไข้ ตัวอย่างการศึกษาเหล่านี้คืองานบุกเบิกสำหรับนักมานุษยวิทยาคลีนิคในปัจจุบัน
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งเริ่มเข้าไปทำงานในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำความรู้มานุษยวิทยาไปประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆ การเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลทำให้เกิดการรวมตัวของนักสังคมศาสตร์ในคณะแพทย์ และเปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานของนักมานุษยวิทยาแบบเดิมๆ และทำให้เกิดการผลิตนักมานุษยวิทยาทางการแพทย์ขึ้นมาเพื่อที่จะทำงานเฉพาะด้าน เช่น ทำวิจัยในโรงพยาบาลและสอนในโรงเรียนแพทย์ แพทย์และนักสาธารณสุขต้องการให้นักมานุษยวิทยาการแพทย์ทำงานร่วมกับพวกเขาได้ ดังนั้นนักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องเรียนวิชาเฉพาะด้าน เช่น จิตวิทยา สาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ และวิชาแพทย์ นอกจากนั้น แพทย์และพยาบาลก็ต้องการความช่วยเหลือจากนักมานุษยวิทยาการแพทย์เพื่อคอยให้คำปรึกษา ดังนั้นทั้งนักมานุษยวิทยาและแพทย์-พยาบาลจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อคอยรักษาและให้คำแนะนำผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญสำหรับการเป็นนักมานุษยวิทยาคลีนิค
ในปี ค.ศ.1980 แนวคิดเรื่องมานุษยวิทยาคลีนิคถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงในเวทีวิชาการในจดหมายข่าวของมานุษยวิทยาการแพทย์ นักมานุษยวิทยาการแพทย์จำนวนหนึ่งพยายามอธิบายลักษณะการทำงานของตนเอง บางคนเชื่อว่าวิชามานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเป็นสาขาย่อยในสาขามานุษยวิทยาการแพทย์ ซึ่งผู้ที่จะทำงานด้านนี้ต้องเรียนในระบบและได้รับใบอนุญาตเท่านั้น นักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่มีใบรับรองและผ่านการฝึกฝนมาแล้วสามารถทำงานให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยในการรักษาโรค หรือช่วยให้คนไข้ได้รับบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม การให้คำปรึกษาของนักมานุษยวิทยาการแพทย์จะเกี่ยวข้องกับการหาทางออกให้กับชีวิตของผู้ป่วย มิใช่เป็นการให้คำแนะนำว่าจะทำให้โรคหายไปอย่างไร
ในทางปฏิบัติ นักมานุษยวิทยาคลีนิคจำนวนมากทำงานอยู่ในสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งพวกเขาตระหนักว่าตนเองมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และคนเหล่านั้นก็คาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากนักมานุษยวิทยา ถึงแม้ว่า นักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่เข้าไปทำงานในสถานพยาบาลส่วนใหญ่จะไม่คิดถึงการทำวิจัยเต็มรูปแบบตามธรรมเนียมของนักมานุษยวิทยา ทั้งนี้เพราะพวกเขาต้องพบกับสภาวะที่ยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น ทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ และคนไข้ที่กำลังต่อสู้กับวิกฤตของชีวิต นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรมของผู้ป่วยด้วย รวมทั้งเข้าใจบริบทของการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน เช่นผู้ป่วยที่ยากจนย่อมจะมีแบบแผนการใช้ชีวิตต่างไปจากผู้ป่วยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ผู้ป่วยที่ไม่มีญาติจะมีอารมณ์ต่างไปจากผู้ป่วยที่มีญาติดูแล เป็นต้น
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember (eds). 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.206-208.
Helman, Cecil G. 2007. Culture, Health, and Illness (5th ed.). UK: Hodder Arnold.
Kleinman, A. & Benson, P. (October 2006). Anthropology in the Clinic: The Problem of Cultural Competency and How to Fix It. PLOS Medicine, 3(10): 1673-1376.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาคลีนิค