คำศัพท์

Cognitive Anthropology

       การศึกษามานุษยวิทยาของระบบความคิดและความรู้ที่ปรากฎอยู่ในภาษาพูด ภาษาเขียน และวัตถุทางวัฒนธรรม เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ความหมาย และความคิดของมนุษย์ที่แสดงออกในสังคม โดยภาษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารและสร้างความหมาย มนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีภาษาเพื่อการสื่อสาร นักมานุษยวิทยาจะเข้าไปวิเคราะห์ว่าภาษาในแต่ละวัฒนธรรมถูกใช้สร้างความหมายให้กับชีวิตและสิ่งต่างๆในโลกนี้อย่างไร ทั้งนี้ มนุษย์จะมีวิธีคิดและคำอธิบายต่อสิ่งต่างๆรอบตัวด้วยภาษาที่ต่างกัน

        ดี แอนเดรด (1995)  นิยามว่า Cognitive Anthropology เป็นการสำรวจตรวจสอบความรู้ทางวัฒนธรรม ความรู้ซึ่งมีอยู่ในคำพูดภาษา เรื่องเล่า และเรื่องแต่งต่างๆ  ซึ่งมีการสืบทอดและเรียนรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  โคลบี้นิยามว่าการศึกษา Cognitive Anthropology เป็นการศึกษาที่มีระเบียบวิธีและแนวทางการศึกษาของตัวเอง  จากนิยามเหล่านี้อาจเข้าใจว่า Cognitive Anthropology เป็นการศึกษามิติวัฒนธรรมของการใช้เหตุผลและความคิด โดยศึกษาจากการใช้ภาษาเป็นหลัก การศึกษานี้อาจเรียกว่า “มานุษยวิทยาความคิด”  แนวทางการศึกษาของมานุษยวิทยาความคิดมีข้อสันนิษฐานว่าประเภทของคำและความหมายในภาษาถูกสร้างมาจากรูปแบบของคำที่สัมพันธ์กับชนิดหรือประเภทวัฒนธรรม วิธีการศึกษาของมานุษยวิทยาความคิด จึงมีเป้าหมายเพื่อเปิดเผยประเภทของความหมายซึ่งถูกใช้อยู่แพร่หลายในการเขียนงานทางมานุษยวิทยา 

          สเปนเซอร์(1985) กล่าวว่าการทำงานของนักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยา ล้วนแอบอิงอยู่กับความคิดเรื่องการทำงานเชิงประจักษ์ของล็อค และการใช้เหตุผลของคานท์  ด้วยเหตุนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยาเชื่อว่าความสามารถของจิตใจคือการที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและพร้อมที่จะรับสิ่งต่างๆได้ง่าย  ซึ่งมีผลต่อการเกิดเนื้อหาและโครงสร้างของความรู้ที่ถูกสร้างมาจากประสบการณ์และสภาพแวดล้อม  อย่างไรก็ตาม ระบบเหตุผลนิยมแบบคานเทียน อธิบายว่าความสามารถเชิงความคิดของมนุษย์มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งจะมาควบคุมโครงสร้างความรู้ให้คงที่และมิให้แปรเปลี่ยน

          มานุษยวิทยาสายโบแอสมีความสนใจเรื่องความคิด จิตใจ และอุดมการณ์  ทำให้การศึกษาแนวโบแอสเน้นเรื่องระบบความคิด จักรวาลวิทยา ระบบคุณค่า และความเชื่อ  นักมานุษยวิทยาที่เริ่มศึกษาระบบความคิดคือ ฟรานซ์ โบแอส ซึ่งศึกษาวิธีคิดของชาวเอสกิโม ที่มีการแยกแยะความแตกต่างของสีน้ำแข็งและน้ำ ซึ่งนำไปสู่สมมติฐานว่ามนุษย์ในสังคมที่ต่างกันจะอธิบายความจริงเกี่ยวกับโลกต่างกัน เช่น การมองสีในธรรมชาติที่ต่างกัน

          มานุษยวิทยาความคิดกลายเป็นสาขาวิชาย่อยในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการศึกษาแบบ ethnoscience ที่มหาวิทยาลัยเยล  ในช่วงเวลานี้นักมานุษยวิทยาหลายคนให้ความสนใจวิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ของการเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์    การศึกษาทางชาติพันธุ์มักจะถูกมองว่าเป็นการศึกษาประเภทเดียวกับการทดลองในห้องวิทยาศาสตร์ หรือการวิจัยเชิงสังคมอื่นๆ ซึ่งทำให้นักมานุษยวิทยาอ้างว่าการศึกษาทางชาติพันธุ์ก็มีความเป็นวิทยาศาสตร์  แต่มีข้อโต้แย้งจากกรณีเรดฟีลด์-ลิวอิสในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 ซึ่งอธิบายว่านักมานุษยวิทยาที่ศึกษากลุ่มคนกลุ่มเดียวกันอาจได้ข้อมูลที่ต่างกัน กรณีนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของการทำงานวิจัยและเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์

          นักมานุษยวิทยาความคิดในยุคแรกๆ พยายามที่จะสร้างความถูกต้องให้กับการทำวิจัยภาคสนามโดยการใช้แบบสัมภาษณ์และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะนำความคิดของชาวบ้านออกมา แทนที่จะเป็นการคิดเอาเองของผู้ศึกษา  เทคนิคการวิจัยแบบนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการวิเคราะห์เสียงพูดทางภาษา  บทความแรกที่พูดถึงมานุษยวิทยาความคิดหรือ ethnoscience เป็นการวิเคราะห์คำเรียกชื่อญาติ ซึ่งศึกษาโดยวอร์ด กู้ดอีนาฟ และฟลอยด์ ลุนสเบอรี ในปี ค.ศ.1956  บทความดังกล่าววิเคราะห์โครงสร้างภาษาที่ประกอบด้วยหน่วยของความหมาย ซึ่งเป็นเสียงพูดที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด  คำเรียกญาติจะสัมพันธ์กับการจัดระเบียบทางสังคม

          มานุษยวิทยาความคิดเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 1950  โดยแยกตัวออกมาจากมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ แต่การเกิดขึ้นของมานุษยวิทยาความคิดสนใจศึกษาปรากฏการณ์ความคิดทั้งที่เป็นชีววิทยาและสังคม   โคลบี้(1996)แสดงความเห็นว่านักมานุษยวิทยาที่ศึกษาความคิดจะเรียนรู้ทักษะพิเศษหลายอย่างซึ่งหยิบยืมมาจากศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา วิทยาศาสตร์ ปรัชญา สถิติ และคอมพิวเตอร์


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Colby, Benjamin; Fernandez, James W.; Kronenfeld, David B. 1981. Toward a convergence of cognitive and symbolic anthropology. New York: Blackwell Publishing.

Colby, Benjamin N. 1996. Cognitive Anthropology. In Encyclopedia of Cultural Anthropology, Volume 1. David Levinson and Melvin Ember, editors. Pp. 209-215. New York: Henry Holt and Company.

D'Andrade, R. 1995, The Development of Cognitive Anthropology, Cambridge: Cambridge University Press

Levinson, Stephen C. 2003. Space in language and cognition: explorations in cognitive diversity. Cambridge: Cambridge University Press.

Miller, George A. 2003. The Cognitive Revolution: A Historical Perspective. Trends in Cognitive Science. 7(3): 141-144.

Shore, Bradd. 1996. Culture in Mind: Cognition, Culture, and the Problem of Meaning. Oxford: Oxford University Press.

Strauss, Claudia and Naomi Quinn. 1997 A Cognitive Theory of Cultural Meaning. Cambridge, UK: Cambridge University Press.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาศึกษาระบบความคิด