Critical Anthropology
มานุษยวิทยาเชิงวิพากษ์ คือการวิเคราะห์ฐานความคิดและกระบวนทัศน์ที่ใช้สร้างความรู้และความจริงในวิชามานุษยวิทยา เป็นการตรวจสอบองค์ความรู้ที่นักมานุษยวิทยาสร้างขึ้น และระเบียบวิธีวิจัยที่นักมานุษยวิทยาใช้ศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งนักมานุษยวิทยาที่เคยทำงานวิจัยภาคสนาม อยากจะเข้าใจสังคมของตนเองโดยอาศัยข้อมูลจากสังคมอื่น ในฐานะนักศึกษาทางชาติพันธุ์และวิถีชีวิตของคนอื่น นักมานุษยวิทยาต้องเขียนรายละเอียดและทำการวิเคราะห์สังคมวัฒนธรรมที่เข้าไปอาศัยอยู่ในฐานะเป็นคนแปลกหน้า เพื่อที่จะย้อนกลับมาวิจารณ์สังคมของตนเองซึ่งเป็นของชนชั้นกลางภายใต้เงื่อนไขระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม
การนำวัฒนธรรมที่แปลกประหลาดมาเทียบเคียงกับวัฒนธรรมที่คุ้นเคย หรือการใช้แนวคิดเรื่องครอบครัว อำนาจ และความเชื่อมาอธิบายวิถีชีวิตทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้อ่านงานของนักมานุษยวิทยา วิชามานุษยวิทยาในฐานะเป็นการวิพากษ์วัฒนธรรมสำหรับสังคมตะวันตกยังคงคลุมเคลือจนกระทั่งถึงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 เดิมทีการเปรียบเทียบข้อวิจารณ์ที่ชัดเจนที่สุดที่เกิดจากการศึกษาทางชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมอื่นมักจะแฝงอยู่ในบทสุดท้ายของงานเขียน หรือเป็นความคิดเห็นที่เพิ่มเติมจากการศึกษา นักวิจารณ์เช่น ธอร์สไตน์ วีเบล็น เคยใช้ข้อมูลทางชาติพันธุ์มาเป็นข้อวิจารณ์ทางวัฒนธรรมซึ่งนักมานุษยวิทยายังไม่ได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้มากนัก งานศึกษาที่ถูกยืนยันว่าเป็นงานทางมานุษยวิทยาเกิดขึ้นในสหรัฐโดยการหยิบยกงานวิจัยในวัฒนธรรมอเมริกันขึ้นมาวิจารณ์ แต่งานศึกษาดังกล่าวอาจเป็นการวิจารณ์ที่มิได้คำนึงถึงวิธีการทางมานุษยวิทยาในการเข้าไปศึกษาวัฒนธรรมอื่นเท่าไหร่นัก เนื่องจากงานของนักมานุษยวิทยาเป็นการศึกษาวัฒนธรรมอื่นเพื่อสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมของตนเอง แต่สิ่งที่เน้นหนักมักจะเป็นเรื่องของคนอื่น
แต่วิธีการศึกษาแบบนี้ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาก็เริ่มพัฒนาการวิจารณ์วิธีวิทยาของตัวเองอย่างเข้มข้นโดยใช้ประสบการณ์การทำงานภาคสนามและข้อเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆมาเป็นข้อมูล สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสำนึกการวิจารณ์ที่นักมานุษยวิทยามีต่อการทำงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยที่ใช้วิธีการแบบจารีตนิยมซึ่งสนใจแต่วัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ หรือในสังคมขนาดเล็ก รวมทั้งการเขียนงานวิจัยเพื่อชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศของตัวเอง และบ่งชี้ให้รู้ว่าวัฒนธรรมเก่าแก่กำลังถูกผสมผสานกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ลักษณะงานเขียนที่เกิดจากสำนึกแห่งการวิจารณ์นี้ ชี้ให้เห็นว่าการกลับไปทบทวนงานเขียนเดิมๆซึ่งไม่เคยมีการตั้งคำถามมาก่อนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยนักมานุษยวิทยารุ่นหลังจะวิจารณ์งานเขียนรุ่นแรกๆในฐานะเป็นการสำรวจวิชามานุษยวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ของความรู้ชนิดหนึ่ง ในทำนองเดียวกัน งานเขียนของนักมานุษยวิทยารุ่นหลังก็เริ่มตระหนักว่าสิ่งที่ถูกเขียนนั้นเกิดขึ้นมจากโลกทัศน์ส่วนตัวของนักมานุษยวิทยาเอง นอกจากนั้น งานเขียนรุ่นใหม่ยังเป็นการนำข้อมูลทั้งจากวัฒนธรรมอื่นและวัฒนธรรมส่วนตัวมาผสมรวมกัน นักมานุษยวิทยาจึงต้องใส่ใจต่อประเด็นความคิดของตัวเองที่มีต่อวัฒนธรรมอื่น
นักมานุษยวิทยาคือผู้ที่สนใจในแบบแผนทางวัฒนธรรมที่ตนเองดำรงชีวิตอยู่ เช่นนักมานุษยวิทยาในอเมริกาสนใจในวัฒนธรรมชนพื้นเมือง ผู้อพยพจากประเทศอื่น และผู้อพยพที่เข้าไปอยู่ในเมือง อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ 1990 นักมานุษยวิทยาได้ดัดแปลงวิธีการเขียนของตนเองเพื่ออธิบายประเด็นใหม่ๆ เช่นเรื่องการจัดการทางวัฒนธรรมไปจนถึงความหมายของดนตรีร็อค งานเขียนทางมานุษยวิทยารุ่นแรกๆที่อธิบายวัฒนธรรมในแอฟริกา หมู่เกาะแปซิฟิกและชนพื้นเมืองในอเมริกา ยังคงเป็นแนวการศึกษาที่สำคัญของนักมานุษยวิทยา นักศึกษาวิชามานุษยวิทยาจะได้รับการฝึกฝนให้ไปทำงานวิจัยในพื้นที่ต่างๆในสังคมที่มิใช่บ้านเกิดของตัวเอง อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาก็ค่อยๆพัฒนาประเด็นการวิจัยที่ตอบคำถามให้กับสังคมของตนอย่างจริงจังมากขึ้นในเวลาต่อมา
แนวเรื่องที่สำคัญ 2 แนวในการวิจารณ์วัฒนธรรมเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในอเมริกา แนวคิดเรื่อง relativism หรือวัฒนธรรมเป็นเรื่องของสังคมนั้นๆกลายเป็นแนวคิดที่แพร่หลายเนื่องจากใช้อธิบายสังคมของผู้อพยพที่หลากหลายในอเมริกาได้ดี ส่วนในอังกฤษ แนวคิดเรื่อง rationality กลายเป็นสิ่งที่ถูกใช้มาก ทั้งนี้เนื่องจากเหมาะสมที่จะใช้อธิบายความมีสำนึกแห่งชนชั้น ซึ่งผู้นำชั้นสูงจะถูกสอบสวนว่าวิธีคิดพวกเขามิใช่ของสำเร็จรูปเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป ในอเมริกา ฟรานซ์ โบแอส คือผู้นำแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการ และวิธีการเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์มาสู่วงการมานุษยวิทยา ความคิดของโบแอสกลายเป็นยุคทองของมานุษยวิทยาในอเมริกา ลูกศิษย์ของเขาซึ่งมีบทบาทในทศวรรษที่ 1920-1930 ทำให้เห็นว่าความหมายของ relativism คืออะไร และการวิจารณ์วัฒนธรรมก็มุ่งไปที่สังคมอเมริกันร่วมสมัย
ความแตกต่างระหว่างโบแอส และมาร์กาเร็ต มี้ด ก็คือ โบแอสใช้ข้อมูลสนามในการวิจารณ์แนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่งแพร่หลายในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และท้าทายแนวคิดเรื่องเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่มีผลต่อการอธิบายตัวตนและพฤติกรรมของมนุษย์ ส่วนมี้ดและคนอื่นๆ เช่น รูธ เบเนดิกต์ และเอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์ ล้วนเป็นนักมานุษยวิทยาที่สนใจการวิจารณ์วัฒนธรรม โดยการใช้ปรากฏการณ์สังคมในทศวรรษที่ 20-30 ในอเมริกาเป็นประเด็นถกเถียง
นักมานุษยวิทยาในอังกฤษเริ่มวิจารณ์วัฒนธรรมโดยการวิพากษ์สังคมอังกฤษ เช่น งานของมาลีนอฟสกี้ และเอ็ดเวิร์ด อีแวนส์-พริตเชิร์ด นักมานุษยวิทยาทั้งสองใช้ปรากฏการณ์เรื่องเวทมนต์และพ่อมดหมอผีมาเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ ประเด็นที่มีการตั้งคำถามก็คือ “ความเป็นเหตุผล” กล่าวคือมีการหยิบยกคำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการพิสูจน์ความจริงมาเปรียบเทียบกับระบบความเชื่อซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพิสูจน์ไม่ได้ มาลีนอฟสกี้และพริตเชิร์ดอธิบายว่าตะวันตกพยายามแบ่งแยกสถาบันต่างๆตามสาขา เช่น การเมือง ศาสนา ครอบครัว และเศรษฐกิจ แต่ทำไมสังคมชนเผ่าจึงไม่มีการแบ่งสถาบันเหมือนตะวันตกทั้งๆที่เป็นสังคมมนุษย์เหมือนกัน มาลีนอฟสกี้และพริตเชิร์ดชี้ให้เห็นว่าการจัดระเบียบสังคมอาจมีวิธีการอีกหลายแบบ ซึ่งอาจจัดด้วยระบบเหตุผลเหมือนกับตะวันตก หรือด้วยวิธีคิดอื่นๆก็ได้
งานเขียนของนักมานุษยวิทยาทั้งอังกฤษและอเมริกันเป็นที่สนใจต่อผู้หญิง ชาวยิว ประชาชนในประเทศอื่นๆ และผู้ที่อยู่ชายขอบ อาจกล่าวได้ว่าการวิจารณ์วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในวิชามานุษยวิทยาเป็นการวิจารณ์ที่มาจากนักมานุษยวิทยาที่สนใจวัฒนธรรมของตัวเองและสังคมของคนอื่น การวิจารณ์วัฒนธรรมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตามธรรมเนียมแล้วมักจะเกิดจากการศึกษาชีวิตของคนที่ถูกสังคมกีดกัน นักมานุษยวิทยาจำนวนมากได้พัฒนาแนวทางการวิจารณ์ของตัวเองเช่นเดียวกันนักสังคมศาสตร์อื่นๆ กล่าวคือนักมานุษยวิทยามีความเห็นใจผู้ที่ถูกเอาเปรียบ ผู้ที่มีชีวิตแตกต่างออกไป และผู้ที่สูญเสียประโยชน์ นักมานุษยวิทยาจะวิจารณ์สภาพเงื่อนไขของสิ่งเหล่านี้ มิใช่โจมตีระบบหรือระเบียบของสังคม
ในทศวรรษที่ 1960 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการและวาทกรรม สำนึกทางประวัติศาสตร์ของบทบาทวิชามานุษยวิทยาก็เริ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้มิใช่การเน้นวิธีการศึกษาสังคมขนาดเล็ก แต่นักมานุษยวิทยาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบอำนาจที่มีอยู่ในโลก การพึ่งพิงเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของโลกที่สามที่มีต่ออำนาจที่เหนือกว่า แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1960 การตอบคำถามนี้ก็ยังเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อีกประมาณ 30 ปีต่อมาคำตอบต่อคำถามเก่ามุ่งไปที่วิธีการเขียนของนักมานุษยวิทยา ผลกระทบต่อสำนึกดังกล่าวนี้บอกให้ทราบว่าการวิจารณ์วัฒนธรรมของนักมานุษยวิทยาอาจจะเป็นจริงได้ และจับต้องได้มากกว่าอดีต
ผลกระทบที่เกิดจากการวิจารณ์มักจะอยู่ที่วิธีการส่งข้อมูลข่าวสาร รูปแบบและเนื้อหาการวิจารณ์เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน วิธีการวิจารณ์ในวิชามานุษยวิทยาที่สำคัญมี 2 ลักษณะ ได้แก่ การวิจารณ์วิธีคิด กับการวิจารณ์การปรียบเทียบทางวัฒนธรรม เมื่อสามัญสำนึกเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ นักมานุษยวิทยาก็ต้องมองหาวิธีการที่แปลกใหม่ในการทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความแตกต่าง วิธีการที่แปลกใหม่เคยเป็นแนวทางการวิจารณ์ผลงานศิลปะในยุค อวองค์-การ์ด อย่างไรก็ตาม การแสดงออกในเชิงศิปละจะมีข้อวิจารณ์ที่เรื่องผลลัพธ์ที่เกิดจากการมองและการอ่าน ในทางมานุษยวิทยา การหาวิธีการใหม่เพื่อวิจารณ์จะเป็นเรื่องของการแสวงหาความจริง ตัวอย่างเช่น การสำรวจการทำงานของแพทย์อาจจะเป็นการเปรียบเทียบแพทย์ในสังคมสมัยใหม่กับหมอผีในชนเผ่า แต่วิธีการใหม่ในการวิจารณ์มิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นปุปปับ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องสะท้อนให้เห็นว่าอะไรคือวิธีการใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วิธีการใหม่เป็นทั้งการอธิบายว่าเราคิดอย่างไรต่อความเป็นแพทย์ และเราคิดอย่างไรต่อการเป็นหมอผี
วิธีการใหม่ที่มาจากการวิจารณ์วิธีค้นหาความจริง เกิดขึ้นมาจากการทำงานของนักมานุษยวิทยาเอง ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ พื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นของคนแปลกประหลาด และทำให้เราต้องกลับมาทบทวนสิ่งที่เราคิดเพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจว่าชาวยุโรปนิยามคำว่า “แปลกประหลาด” อย่างไร สิ่งท้าทายต่อการวิจารณ์วัฒนธรรมก็คือการมองอย่างลุ่มลึกด้วยสายตาของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อมองย้อนกลับที่วัฒนธรรมศูนย์กลางซึ่งกำหนดวิธีคิดของนักมานุษยวิทยา ภาระหน้าที่นี้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนุก ตื่นเต้น มีสีสัน และไม่มีการยึดแบบแผนตายตัว ในขณะที่วิธีการใหม่จะมีการประชดประชัน แต่การวิจารณ์จะเกิดผลกระทบได้จำเป็นต้องชี้ให้เห็นวิธีคิดของตัวเราซึ่งแตกต่างจากวิธีคิดของคนอื่น ความจริงในความคิดของเราคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในเงื่อนไขทางวัฒนธรรม มิใช่ความจริงที่มีอยู่ลอยๆ การแบ่งแยกว่าอะไรคือเรา อะไรคือคนอื่นเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเช่นเดียวกัน ความแตกต่างระหว่าง “เรา” และ “คนอื่น” มิได้มีอยู่โดยธรรมชาติ
วิธีการใหม่ที่เกิดจากการเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม เป็นการวิจารณ์ที่ใช้ข้อมูลภาคสนามที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากกว่าการวิจารณ์จากวิธีคิด แต่ความลุ่มลึกอาจมีน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการวิจารณ์การศึกษาวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดประเด็นวิพากษ์ เป็นการเปรียบเทียบวัฒนธรรมอื่นกับวัฒนธรรมในบ้านของนักมานุษยวิทยา การวิจารณ์ในแนวนี้เป็นมองความคิดของการใช้วัฒนธรรมอื่นเป็นตัวแทนความจริงที่ตายตัวเพื่อเปรียบเทียบกับความจริงอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมที่นักมานุษยวิทยาดำรงอยู่ วิธีการนี้ มี้ดเคยใช้มาก่อน เป็นวิธีการที่ชี้แจงแยกแยะให้เห็นความมีอยู่ของวัฒนธรรมนั้นๆ มี้ดได้ใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวัยรุ่นในสังคมซามัวมาเปรียบเทียบกับวัยรุ่นในอเมริกา เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าความเครียดและการแหกกฎระเบียบของวัยรุ่นในอเมริกาเป็นเรื่องเฉพาะทางวัฒนธรรม ความเครียดของวัยรุ่นในแต่ละสังคมจึงต่างกัน
การเปรียบเทียบมข้ามวัฒนธรรมอย่างรอบด้านไม่ค่อยเกิดขึ้นในวิชามานุษยวิทยามากนัก เนื่องจากงานเขียนทางวัฒนธรรมของนักมานุษยวิทยาเป็นการให้ความสำคัญวัฒนธรรม “ของเขา” กับ “ของเรา” พอๆกัน ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 การวิจารณ์การเขียนในแนวนี้มุ่งความสนใจไปใน 3 เรื่อง คือ 1) การวิจารณ์ความรู้สึกประทับใจของนักมานุษยวิทยาที่มีต่อวัฒนธรรมอื่น 2) การวิจัยในวัฒนธรรมของตัวเองซึ่งมองข้ามการศึกษาเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมอื่น หรือศึกษาวัฒนธรรมอื่นเป็นเอกเทศโดยไม่เปรียบเทียบอะไรเลย และ 3 การศึกษาทางวัฒนธรรมที่ขาดการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมของผู้ศึกษากับผู้ที่ถูกศึกษา ทั้งนี้การเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมอาจทำได้โดยการทำวิจัยทั้งสองพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่จะมีการใช้ข้อมูลของตัวเองพร้อมๆกับการวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
การเปลี่ยนความหมายของสังคมโลกที่เกิดจากวิธีการทำงานของนักมานุษยวิทยาทำให้เกิดการวิจารณ์ทางวัฒนธรรม การแบ่งแยกระหว่าง เขา-เรา เป็นส่วนหนึ่งในงานเขียนของนักมานุษยวิทยาซึ่งวิธีการนี้กำลังล่มสลายลงไปเพราะวัฒนธรรมแต่ละแห่งมิได้เป็นเอกภาพในตัวเอง เห็นได้จากการเกิดขึ้นสมัยใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีผู้คนหลากหลายอาศัยอยู่ เกิดชุมชนของคนพลัดถิ่น ผู้อพยพ และคนที่ถูกเนรเทศจากบ้านเกิด เกิดประชากรลูกผสมข้ามเผ่าพันธุ์มากมาย ดังนั้นพื้นที่ที่นักมานุษยวิทยาจะเข้าไปทำงานด้วยนั้นจึงเต็มไปด้วยความซับซ้อนและความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาชุมชนและท้องถิ่น การศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่ชี้ให้เห็นสภาวะของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้อาจแตกต่างจากการศึกษาในอดีต เนื่องจากนักมานุษยวิทยาเริ่มวิพากษ์วิจารณ์สิ่งรอบๆตัว
การอธิบายให้เห็นว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น หรือว่ามีอยู่ในธรรมชาติ อาจทำให้เกิดปัญหาในการนิยามและจัดประเภทวัฒนธรรม การอธิบายในแนวนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์ มิใช่เพียงแต่ในวิชามานุษยวิทยาเท่านั้น หากแต่ยังเกิดขึ้นในสาขาวิชาอื่นๆที่สนใจประเด็นทางวัฒนธรรม การอธิบายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์วัฒนธรรม หรือจารีตประเพณี มักจะเป็นการอธิบายในแบบที่ตายตัว หรือเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งต่อมาถูกอธิบายใหม่ว่ามันคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ การอธิบายในแนวนี้กลายเป็นแนวการศึกษาหลักของการวิจารณ์วัฒนธรรมในปัจจุบัน
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการศึกษาในแนวใหม่ของมานุษยวิทยาเชิงวิพากษ์ก็คือการชี้ให้เห็นหนทางที่วัฒนธรรมท้องถิ่นจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยการต่อต้านอำนาจจากภายนอก ทั้งนี้มิใช่เป็นการทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เป็นการให้เสียงพูดกับท้องถิ่นซึ่งเคยถูกปิดกั้นมาก่อนหน้านั้น ในช่วงลัทธิอาณานิคม ภายใต้ระบบทุนนิยม และการค้า เปิดโอกาสให้ชาวบ้านต่อสู้ด้วยวิธีการของตัวเอง
การขยายตัวของแนวโน้มการวิจารณ์วัฒนธรรมของนักมานุษยวิทยาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา เกิดขึ้นเพราะบรรยากาศทางวิชาการในสาขาวิชาอื่นๆเริ่มเข้มข้นมากขึ้น อิทธิพลของแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม โดยเฉพาะแนวคิดของฟูโกต์ แนวคิดของเฟมินิสต์ที่ชี้ให้เห็นการกดขี่ทางเพศในสังคมตะวันตก การวิจารณ์ที่ชี้ให้เห็นวิธีการสร้างคำอธิบายที่บ่งบอกความต่างทางวัฒนธรรม และการศึกษาทางประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคมนักวิชาการจากประเทศโลกที่สามซึ่งนักมานุษยวิทยาเคยเข้าไปศึกษา พลังของการศึกษาของมานุษยวิทยาเชิงวิพากษ์วางอยู่บนแนวคิดทฤษฎีทางสังคมอื่นๆที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการอธิบายวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Clifford, J. and Marcus, G. (eds.) 1986. Writing Culture: The Poetics and Politics of
Ethnography. Los Angeles, CA: University of California Press.
David Levinson, Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996, pp.257-260.
Marcus, G. (ed.) 1999. Critical Anthropology Now. Santa Fe: School of American
Research Press.
Marcus, G. and Fischer, M. 1986. Anthropology as Cultural Critique. Chicago:
University of Chicago Press.
Segal, D. and Yanagisako, S. (eds.) 2005. Unwrapping the Sacred Bundle: Reflections
on the Disciplining of Anthropology. Durham, North Carolina: Duke University
Press.
หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาเชิงวิพากษ์