คำศัพท์

Cultural-Bound Syndromes

      ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีการให้ความหมายต่ออาการป่วยทางจิตใจและร่างกายในแบบที่แตกต่างกัน แต่ถ้าอาการป่วยเหล่านี้เกิดจากเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาจะเรียกอาการเหล่านี้ว่า “อาการป่วยทางวัฒนธรรม”  (Cultural-Bound Syndromes หรือ culture-specific syndrome หรือ folk illness)  อาการป่วยและความผิดปกติจะแสดงออกทางพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึก ซึ่งสาเหตุของความผิดปกติเหล่านี้อาจมิได้มาจากเชื้อโรค หากแต่เกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมที่บุคคลใช้ชีวิตอยู่ เมื่อบุคคลเกิดแรงกดดัน ความเครียด หรือความวิตกกังวล อาการผิดปกติก็จะแสดงออกมาในพฤติกรรมและอารมณ์ต่างๆ

          ในแต่ละสังคมจะมีสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล เมื่อบุคคลมีปัญหาในการอยู่ในสังคม บุคคลก็จะแสดงอารมณ์และพฤติกรรมบางอย่างออกมาซึ่งเป็นความผิดปกติ ผิดแปลกไปจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ความผิดปกติเหล่านี้บางครั้งเกิดขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติทางร่างกายด้วย เช่น ปวดหัว กระสับกระส่าย ฯลฯ

ตัวอย่างอาการผิดปกติเหล่านี้ ได้แก่  อาการ amok ในสังคมมาเลเซีย ซึ่งมีลักษณะอาการของความจำเสื่อม และอาการ susto ในสังคมลาตินอเมริกันซึ่งมีลักษณะอาการหวาดกลัว    ในเกาะอีสเตอร์มีอาการป่วยที่เรียกว่า heva เป็นอาการผิดปกติของบุคคลที่ลุกออกมาวิ่งพร้อมกับถือไม้ตะบอง และอมหนูไว้ในปาก   ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของจีน จะมีอาการป่วยที่เรียกว่า kovo หมายถึงอาการหวาดกลัวของผู้ชายที่คิดว่าอวัยวะเพศติดอยู่ในท้อง  อาการดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับการเลี้ยงดูเด็ก โดยบังคับมิให้เด็กรู้จักการสำเร็จความใคร่  และสัมพันธ์กับการแข่งขันอำนาจของผู้ชาย  ในวัฒนธรรมอินเดียนเผ่าโมฮาเวในอเมริกา มีอาการที่เรียกว่า “ฮิวาติก” หมายถึง คนที่สูญเสียความรักและคนรัก จะแสดงอาการนอนไม่หลับ ซึมเศร้า หดหู่ และอาจฆ่าตัวตาย ผู้ที่มีอาการแบบนี้มักจะมีผู้ชายที่สูญเสียภรรยาอันเป็นที่รัก

          ในสังคมญี่ปุ่น เด็กนักเรียนจะมีอาการ “ปฏิเสธโรงเรียน”  เนื่องจากสังญี่ปุ่นมีการแข่งขันสูง ทุกคนต้องทำงานหนักและต้องเรียนหนังสือเก่งๆ    รวมถึงชาวญี่ปุ่นบางคนอาจมีอาการ “ปฏิเสธสังคม” หรือแยกตัวอยู่ตามลำพัง ซึ่งรู้จักในนามอาการฮิกิโกโมริ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวนี้เพราะถูกคาดหวังจากคนในครอบครัวมากเกินไป เช่น ต้องประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงาน เกิดความเครียดในทางเศรษฐกิจ ต้องแข่งขันกับคนอื่น นักวิชาการชาวญี่ปุ่น ชินจิ มิยาได วิเคราะห์ว่าอาการปฏิเสธสังคมของคนญี่ปุ่น สัมพันธ์กับสภาพความทันสมัยในสังคมอุตสาหกรรมที่พ่อจะมีอำนาจในครอบครัวและคาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาจึงเกิดความรู้สึกสับสน หวั่นไหวในบทบาทของตัวเอง

     โรนัลด์ ซี ไซมอนส์ และชาร์ล ซี ฮิวจ์ส(1985) เสนอว่าอาการป่วย เช่น การตกใจ คืออาการทางประสาทซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเพียงเล็กน้อย   อาการบางอย่าง เช่น ความหวาดกลัว หรือความวิตกกังวล  อาการเหล่านี้อาจไม่ถือว่าเป็นอาการป่วย แต่เป็นพฤติกรรมที่มีเงื่อนไขจากสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม   ไซมอนส์และฮิวจ์สพบว่าอาการป่วยทางวัฒนธรรมมีความหลากหลายในแต่ละสังคม  อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางมานุษยวิทยาพบว่าอาการป่วยทางวัฒนธรรมคือตัวอย่างของการแสดงออกที่ถูกกำกับด้วยการปฏิบัติทางสังคม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York.  pp.448-449.

Guarnaccia, Peter J. & Rogler, Lloyd H. 1999. Research on Culture-Bound Syndromes: New Directions. American Journal of Psychiatry 156:1322–1327, September.

Jilek W.G 2001ใ Psychiatric Disorders: Culture-specific. International Encyclopedia of the Social and Behavioral Sciences. Elsevier Science.

Kleinman, Arthur 1991, Rethinking psychiatry: from cultural category to personal experience, New York: Free Press.

Rebhun, L.A 2004, "Culture-Bound Syndromes", in Ember, Carol R. & Ember, Melvin, Encyclopedia of Medical Anthropology: Health and Illness in the World's Cultures, New York: Klower Academic/Plenum Publishers, pp. 319–327.

Simons, Rondald C & Hughes, Charles C, ed. 1985, The Culture-Bound Syndromes: Folk Illnesses and Anthropological Interest, Dordrecht, Holland: D. Reidel Publishing.

Teo, Alan R.; Gaw, Albert 2010. "Hikikomori, a Japanese Culture-Bound Syndrome of Social Withdrawal?". Journal of Nervous and Mental Disease 198 (6): 444–449.


หัวเรื่องอิสระ: อาการป่วยทางวัฒนธรรม