Cultural Ecology
นิเวศวิทยาวัฒนธรรม คือการศึกษาการปรับตัวของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคม การปรับตัวของมนุษย์ในที่นี้หมายถึงกระบวนการที่มนุษย์ปรับสภาพร่างกาย การดำรงชีวิตและสังคมวัฒนธรรมเพื่อที่จะให้มีชีวิตรอดภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ จะเป็นการศึกษาลักษณะของการใช้เทคโนโลยี ระบบเศรษฐกิจ และการจัดระเบียบทางสังคมภายใต้ประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่กำหนดโดยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งอาจศึกษาในมิติประวัติศาสตร์หรือสิ่งที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ข้อถกเถียงสำคัญคือ สังคมของมนุษย์ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้อย่างไร และสภาพแวดล้อมส่งผลต่อการจัดรูปแบบและระเบียบทางสังคมของมนุษย์อย่างไร
นักมานุษยวิทยา จูเลียน สจ๊วต อธิบายว่านิเวศวิทยาวัฒนธรรมคือการศึกษาที่จะทำความเข้าใจว่ามนุษย์ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสังคม เทคนิคการยังชีพ ช่วงชั้นสังคม และสภาพแวดล้อม สจ๊วตเชื่อว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติส่งผลต่อการเกิดวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งประเด็นนี้นำไปสู่ข้อวิจารณ์ที่ว่าธรรมชาติกลายเป็นตัวกำหนดแบบแผนทางวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยารุ่นหลังจึงไม่เห็นด้วยกับความคิดของสจ๊วต
สจ๊วตแยกประเด็นการวิเคราะห์เป็นสองประการ คือ ประการแรกเขาปฏิเสธแนวคิดวัฒนธรรมที่เป็นสากล ซึ่งเชื่อว่าส่วนประกอบต่างๆของวัฒนธรรมมีส่วนสร้างแบบแผนทางสังคมเท่าเทียมกัน เขาโต้แย้งว่าส่วนประกอบที่ต่างกันของวัฒนธรรมขึ้นอยู่กับกระบวนการปรับตัว โดยชี้ว่าวัฒนธรรมมีจุดศูนย์กลาง เขากล่าวว่าส่วนประกอบต่างๆสัมพันธ์กับกิจกรรมการยังชีพและลักษณะทางเศรษฐกิจ ประการที่สอง คือ สจ๊วตไม่เชื่อว่าสังคมที่แตกต่างกันจะมีกระบวนการปรับตัวที่เหมือนกัน เพราะสังคมแต่ละแห่งมีความซับซ้อนและขนาดไม่เท่ากัน สังคมแบบชนเผ่าต่างจากสังคมอุตสาหกรรม ทั้งในเรื่องการเข้าถึงและความหลากหลายของทรัพยากร และยังมีวิธีการควบคุม แจกจ่าย และการปรับตัวให้เข้ากับทรัพยากรต่างกันด้วย แนวคิดของสจ๊วตสอดคล้องกับแนวคิดของมานุษยวิทยามาร์ซิสต์ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะเรื่องข้อสังเกตเกี่ยวกับวิถีการผลิต
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การวิจัยในเรื่องนิเวศวิทยาวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายส่วน การวิจัยได้สะท้อนภาพความสำคัญของความรู้ด้านภูมิศาสตร์ นิเวศวิทยา การบริโภค มานุษยวิทยานิเวศน์ และทฤษฎีที่อธิบายโครงสร้างระบบ นอกจากนั้นยังสนใจประเด็นเกี่ยวกับการปรับตัวทางชีววัฒนธรรม การศึกษาสภาพแวดล้อมโดยคำนึงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และ ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ
แนวโน้มการวิจัยที่สำคัญ คือ การศึกษาเรื่องการปรับตัวทางชีววิทยาและวัฒนธรรมภายใต้ระบบนิเวศน์เฉพาะ ซึ่งศึกษาแบบองค์รวมตามแนวทางมานุษยวิทยา ตัวอย่างการศึกษาที่น่าสนใจ ได้แก่ การศึกษาสภาพแวดล้อมของไข้มาลาเรียที่มนุษย์ปรับสภาพของยีนส์ที่ทนโรคได้ และการปรับตัวเพื่อการเพาะปลูกพืชแบบกินรากในเขตป่าฝนของแอฟริกา
การศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ เนื่องจากวัฒนธรรมแต่ละแห่งจะก่อเป็นรูปร่างได้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม มนุษย์จะจัดระบบธรรมชาติด้วยการตั้งชื่อ จัดประเภท สร้างสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับพืช สัตว์ และอากาศที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต สมาชิกในวัฒนธรรมหนึ่งๆจะแสดงออกโยสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม แต่การศึกษามานุษยวิทยาเชิงนิเวศน์ไม่อาจลุล่วงไปได้ถ้ามองข้ามปัจจัยเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ฮาโรลด์ คองลิน ศึกษาชนเผ่าฮานูนูในฟิลิปปินส์ พบว่าแบบแผนวัฒนธรรมของคนเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นตัวอย่างการศึกษาแรกๆของมานุษยวิทยานิเวศน์
แนวคิดเรื่อง “ระบบ” กลายเป็นสิ่งสำคัญต่อการวิจัยทางนิเวศน์ แนวคิดนี้อธิบายเรื่องโครงสร้าง ลำดับชั้น และความสัมพันธ์แบบวงจร ซึ่งเอื้อให้เกิดความเข้าใจต่อแบแผนความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม นอกจากนั้นยังมีความสนใจที่จะศึกษาปฏิสัมพันธ์เชิงนามธรรม เช่น พิธีกรรมและสัญลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องการบริโภค สภาพอากาศ และเทคนิคการยังชีพ
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Berkes, F. 1999. Sacred ecology: traditional ecological knowledge and resource management. Taylor and Francis.
Maass, Petra 2008. The Cultural Context of Biodiversity Conservation. Seen and Unseen Dimensions of Indigenous Knowledge among Q'eqchi' Communities in Guatemala. Göttingen: Göttinger Universitätsverlag
Robert H.Winthrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press. New York. Pp.47-49.
Turner, B. L., II 2002. "Contested identities: human-environment geography and disciplinary implications in a restructuring academy." Annals of the Association of American Geographers 92(1): 52-74.
หัวเรื่องอิสระ: นิเวศวิทยาวัฒนธรรม