คำศัพท์

Adornment

         พฤติกรรมการตกแต่งร่างกายของมนุษย์เป็นพฤติกรรมที่เป็นสากล และพบได้ในทุกวัฒนธรรม โดยนักมานุษยวิทยาได้แยกข้อพิจารณาเป็น 2 ประเด็นคือ  หนึ่ง รูปแบบและลักษณะของการตกแต่งร่างกาย เช่น เสื้อผ้า ทรงผม ฯลฯ และสองความหมายของการแต่งกาย การศึกษาทางมานุษยวิทยาพบว่าในสังคมที่ซับซ้อนและมีช่วงชั้น การตกแต่งร่างกายคือเครื่องแสดงของถึงฐานะทางสังคม เกียรติ ศักดิ์ศรี เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นและฐานันดร เช่น เครื่องประดับ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีคามีราคา จะสะท้อนฐานะของบุคคล ยิ่งผู้ที่อยู่ในชนชั้นสูง ยิ่งมีเครื่องประดับและเสื้อผ้าที่มีราคา มีรายละเอียด และมีความประณีตงดงาม เครื่องประดับและเสื้อผ้าของชนชั้นสูงจึงเปรียบเสมือนงานศิลปะและความสุนทรีย์ซึ่งสะท้อนกฎระเบียบทางสังคม

นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า วิธีการแต่งกายของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมบ่งบอกว่าตนเองเป็นสมาชิกของกลุ่ม หรือกล่าวได้ว่าเสื้อผ้าและการแต่งกายบ่งบอก “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม” (Cultural Identity) และ “อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์” ที่แบ่งแยกว่าใครเหมือนเราและต่างจากเรา  นอกจากนั้นยังเป็นการแบ่งแยกเพศว่า ผู้ชาย และผู้หญิงควรแต่งตัวอย่างไร  เด็กและผู้ใหญ่ควรแต่งตัวอย่างไร  นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการตกแต่งร่างกายของมนุษย์เป็น “ภาษา” อีกประเภทหนึ่งที่แสดงออกถึงความคิดความเชื่อต่างๆ และยังเป็นการแสดงตนให้คนอื่นรู้ว่าเขาคือใคร และเราคือใคร

          การศึกษาของริชาร์ด อัลฟอร์ด เรื่องวัฒนธรรมการตกแต่งร่างกายในสังคมพื้นเมือง 60 แห่งทั่วโลกพบว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของสังคมเหล่านั้น ผู้ชายไม่นิยามสวมเสื้อผ้า  แต่มีเพียง 7เปอร์เซ็น ผู้หญิงไม่สวมเสื้อผ้า  หนึ่งในห้าของผู้ชาย และหนึ่งในสามของผู้หญิงจะสวมเสื้อผ้าชิ้นล่าง  สองในสามของสังคม 60 แห่งนั้น ชายและหญิงจะสวมเสื้อผ้าทั้งท่อนบนและล่าง  หนึ่งในสี่ของสังคมเหล่านี้ จะใช้เปลือกไม้ หรือหนังสือมาเป็นเสื้อผ้า แต่เทคนิคการทอผ้าแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม

          ข้อค้นพบของอัลฟอร์ดยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายมักจะตัดผมสั้น มากกว่าผู้หญิง  ในสังคมส่วนใหญ่ผู้หญิงจะไว้ผมยาว    เอ็ดมัน ลีช กล่าวว่าการไว้ผมยาวและผมสั้นนั้นมีความหมาย  ผมยาวหมายถึงการเปิดเผย ความเป็นอิสระ ความปรารถนา และการแสดงออกอย่างไร้การควบคุม  ในขณะที่ผมสั้นหมายถึงการยอมรับในระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และความสมบูรณ์ลงตัว  ในบางวัฒนธรรม หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน จะไว้ผมยาวและปล่อยเป็นอิสระ แต่เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องรัดผมไว้ หรือตัดให้สั้นกว่าเดิม การจัดการเกี่ยวกับผมจึงทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ และเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์  ในการศึกษาของอัลฟอร์ดยังพบว่าสังคมพื้นเมืองประมาณหนึ่งในสาม ผู้ชายจะโกนหนวดเครา และสังคม 25 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงนิยมตัดผมเพื่อแสดงสถานภาพทางสังคม  แต่ผู้ชายจะทำเช่นนี้ 17 เปอร์เซ็นต์ จากสังคม 60 แห่ง

          รูปแบบของเสื้อผ้าและทรงผมมักจะต่างกันไปตามลักษณะของเครื่องประดับ  ในสังคมชนเผ่าหลายแห่งจะรู้จักวิธีการทำเครื่องประดับชนิดต่างๆ เช่น สร้อยคอ ต่างหู และ กำไลข้อมือ ซึ่งมีทั้งเครื่องประดับของชายและหญิง นอกจากนั้นแล้ว ชนเผ่ายังรู้จักการทาสี หรือระบายสีเป็นลวดลายต่างๆบริเวณลำตัว ใบหน้า เพื่อความสวยงาม   ในบางวัฒนธรรมยังรู้จักการสักลวดลายบนผิวหนัง การขีดข่วนผิวหนังให้เป็นรอย การทำให้อวัยวะบางอย่างปรับเปลี่ยนขนาดและรูปร่าง เป็นต้น การตกแต่งร่างกายยังรวมถึงการขลิบอวัยวะเพศของผู้ชายและการตกแต่งอวัยวะเพศของสตรี

          การตกแต่งร่างกายในสังคมชนเผ่านั้น เป็นการแสดงถึงความเป็นสมาชิกในกลุ่มทางสังคม อย่างไรก็ตามในสังคมสมัยใหม่ วัฒนธรรมการตกแต่งร่างกายมีความหลากหลายต่างกันไป  ในสังคมตะวันตก เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมกลายเป็นบรรทัดฐานของการแต่งกาย ซึ่งมีอิทธิพลต่อการแต่งกายของคนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในวัฒนธรรมอื่นๆก็มีความพยายามที่จะธำรงเอกลักษณ์เกี่ยวกับการตกแต่งร่างกายของตนไว้ เช่น ชาวอินเดียนพื้นเมืองในอเมริกานิยมไว้ผมยาวเพื่อแสดงความเป็นชาติพันธุ์ ขณะที่ยอมรับการนุ่งกางเกงยีนส์ สวมรองเท้าบูท แบบคาวบอย  อาจกล่าวได้ว่าในสังคมอุตสาหกรรม การแต่งกายเป็นเรื่องของการแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการเป็นสมาชิก

          การศึกษาของ บ๊อบบี้ โล เรื่องการตกแต่งร่างกายเพื่อบ่งบอกความแตกต่างทางเพศพบว่าในสังคมชนเผ่า ชายและหญิงจะมีวิธีการแต่งกาย การไว้ทรงผม และการใช้เครื่องประดับต่างกัน  ผู้หญิงมักจะนิยมสวมเครื่องประดับอัญมณีมากกว่าผู้ชาย รวมทั้งนิยมวาดลวดลายตามผิวหนัง ทำผิวหนังให้เป็นรอย และทาสีตามใบหน้าและลำตัว วัฒนธรรมการตกแต่งเรือนร่างจึงเป็นเรื่องของผู้หญิง  อย่างไรก็ตามในบางวัฒนธรรม การตกแต่งร่างกายทำให้มนุษย์พบกับความลำบาก เช่น การมัดเท้าของชาวจีน

          ถึงแม้ว่าเกือบทุกสังคมจะมีการแบ่งแยกเพศผ่านการแต่งกายและเครื่องประดับ แต่ก็ยังมีความหมายอื่นๆแฝงเร้นอยู่  กล่าวคือ การตกแต่งร่างกายยังเป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพทางสังคม เช่น คนที่แต่งงานแล้ว หรือ ผู้อาวุโสในชุมชน  การเปลี่ยนสถานะของผู้ชายและ ผู้หญิงจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงการตกแต่งร่างกาย  นอกจากนั้นการตกแต่งร่างกายยังบ่งบอกฐานะทางเศรษฐกิจของคนๆนั้น ผู้ที่มีฐานะดีมักจะใช้เครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าที่มีราคา และมีเครื่องประดับหลายชนิด  ในสังคมของผู้ชาย การบ่งบอกฐานะ และตำแหน่งยังมีเครื่องหมายบ่งบอก รวมทั้งการเป็นสมาชิกของกลุ่มจะมีสัญลักษณ์ประดับตัว

          ผู้ที่เป็นพระ นักบวช หรือหมอผีจะมีการตกแต่งร่างกายต่างไปจากคนอื่น เช่น การไว้ผมยาว และสวมเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์  ผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่าจะมีเครื่องหมายแสดงว่ามีความสำคัญ  การตกแต่งร่างกายยังรวมถึงการทำเครื่องหมายให้กับคนตายโดยการทาสีที่ใบหน้าและลำตัว หรือทำเครื่องหมายบางอย่าง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Cordwell, Justine M. and Schwarz, Ronald A.. 1979. The fabrics of culture: the anthropology of clothing and adornment. Paris, Mouton.

Levinson, David and Ember, Melvin (ed.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.7-8.


หัวเรื่องอิสระ: การตกแต่งร่างกาย