คำศัพท์

Culture

       ความหมายของ “วัฒนธรรม” ในทางมานุษยวิทยา คือความสามารถของมนุษย์ในการจัดระเบียบและให้ความหมายต่อประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ และสื่อสารประสบการณ์เหล่านั้นออกไปในเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ รวมถึงการแสดงออกทางสังคม ความคิด ความเชื่อ โลกทัศน์ สุนทรียะของมนุษย์ที่ปรากฎอยู่ในวัตถุสิ่งของ พิธีกรรม ประเพณี กฎระเบียบ ธรรมเนียมและการปฏิบัติต่างๆ  นักมานุษยวิทยาต้องการเข้าใจแบบแผนทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในที่ต่างๆเพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิต

          นักมานุษยวิทยา เอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์ (1897) เคยอธิบายว่าวัฒนธรรม หรืออารยธรรมคือความซับบซ้อนที่ประกอบด้วยความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม กฎหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี นิสัย พฤติกรรมและความสามารถต่างๆที่มนุษย์จะพึงมีและใช้เพื่อดำรงชีวิตในสังคม อย่างไรก็ตาม คำอธิบายดังกล่าวคือนิยามของชาวตะวันตกที่พยายามใช้โลกทัศน์ของตัวเองแบ่งแยกสิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง “วัฒนธรรม” กับ “ธรรมชาติ” โดยมองว่าวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างและพัฒนาเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมันเอง และมนุษย์จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อสร้างวัตถุสิ่งของ

          นักมานุษยวิทยามักเชื่อว่า “วัฒนธรรม” ของธรรมชาติขิงมนุษย์ หมายถึง มนุษย์มีสติปัญญาและมีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆในเชิงสัญลักษณ์ และสามารถถ่ายสอดสื่อสารและเรียนรู้ความคิดในเชิงนามธรรมโดยอาศัยภาษาเป็นเครื่องมือ ความสามารถนี้แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชนิดขึ้นที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาได้ นักมานุษยวิทยามองว่าวัฒนธรรมของมนุษย์จะเกิดขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ยาวนาน ซึ่งมนุษย์ในแต่ละพื้นที่จะมีวิธีการเรียนรู้ต่างกัน และแบบแผนทางวัฒนธรรมก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ดำรงอยู่

          อย่างไรก็ตาม ในเชิงแนวคิดทฤษฎี นิยามของวัฒนธรรมที่นักมานุษยวิทยาสร้างขึ้น สัมพันธ์กับกระบวนทัศน์ที่ชาวตะวันตกสร้างขึ้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 วิชามานุษยวิทยาอาศัยมุมมองความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาอธิบายวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม ประกอบกับการเมืองในยุคอาณานิคมที่ชาวตะวันตกพยายามใช้อำนาจของตัวเองเข้าไปปกครองดินแดนอื่นๆที่มีความเจริญทางวัตถุน้อยกว่าตน ส่งผลให้การมองวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการแบ่งแยกและจัดช่วงชั้นของมนุษย์ นำไปสู่การมองวัฒนธรรมตะวันตกเป็นความเจริญก้าวหน้าและมองวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเป็นความล้าหลังและป่าเถื่อน

       ไทเลอร์คิดว่าวัฒนธรรมเป็นเอกภาพ   เป็นการสะสมความสำเร็จ และการเก็บรวบรวมสิ่งมีค่าของมนุษย์  ในขณะเดียวกันสังคมอาจมีลำดับชั้นสูงต่ำ หรือมีวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า หรือล้าหลังได้ ความคิดของไทเลอร์คล้ายกับลิวอิส เฮนรี มอร์แกน ในเรื่อง  Ancient Society  ซึ่งงตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพัฒนาการ 3 ช่วงของวัฒนธรรม โดยเริ่มจากความเป็นสัตว์ป่า  (Savagery) ไปสู่ สังคมที่ไร้ความเจริญ(barbarism)   และอารยธรรมสูงสุด (civilization) ในขั้นสุดท้าย   ซึ่งเป็นขั้นที่พบได้ในยุโรป   ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของไทเลอร์และมอร์แกน คือตัวอย่างวิธีคิดแบบเหตุผล และมองโลกในแง่ดีของยุค Enlightenment    สิ่งที่ไทเลอร์ให้คุณค่าสำหรับการศึกษาวัฒนธรรมก็คือ การจัดระเบียบวัฒนธรรม

      คำในภาษาอังกฤษเรียกวัฒนธรรมว่า culture มารากศัพท์มาจากภาษาลาตินคำว่า colo หมายถึง การเพาะปลูก ซึ่งมิได้หมายถึงการขุดดินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการปลูกฝังดูแลเอาใจใส่ต่อสิ่งต่างๆ   การให้การศึกษา ให้ความเคารพ และให้เกียรติ  นักคิดรุ่นเก่าใช้คำนี้เปรียบเทียบกับการพัฒนาตัวเองของบุคคล การเปรียบวัฒนธรรมเหมือนการเพาะปลูก บ่งบอกให้ทราบว่ามีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นธรรมชาติกับวัฒนธรรม  สิ่งที่เป็นสัญชาติญาณตามธรรมชาติของมนุษย์กับความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการอบรมสั่งสอน  นักคิดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลายคนเชื่อว่าความแตกต่างนี้คือพื้นฐานที่สำคัญ  พจนานุกรมอังกฤษฉบับออกซ์ฟอร์ด ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยวิคตอเรีย อธิบายคำว่าวัฒนธรรมว่าหมายถึง การบูชา  การทำงานเพาะปลูก การฝึกฝน การพัฒนา การขัดเกลาจิตใจ รสนิยม กิริยาอาการ และความเจริญทางปัญญาของอารยธรรม   ในคริสต์ศตวรรษที่ 19  ข้อสังเกตเกี่ยวกับวัฒนธรรมในความหมายของการบ่มเพาะถูกขยายขอบเขตออกไป จนกลายเป็นเรื่องนามธรรมและการหาความสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งเป็นคุณลักษณะเชิงอุดมคติสำหรับการดำรงชีวิตทางสังคม 

      ในทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีข้อวิจารณ์ต่อแนวคิดวิวัฒนาการ เช่น ฟรานซ์ โบแอส วิจารณ์ว่าการศึกษารายละเอียดของขนบธรรมเนียม ที่เชื่อมโยงถึงวัฒนธรรมทั้งระบบ จำเป็นต้องศึกษาสภาพแวดล้อมทางสังคมที่วัฒนธรรมนั้นดำรงอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมอื่นๆด้วย คำอธิบายดังกล่าวให้ความสำคัญกับทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ซึ่งแบบแผนทางวัฒนธรรมจะถูกแพร่หลายออกไปยังที่ต่างๆ  โบแอสเชื่อว่าการศึกษาในแนวนี้มีมิติทางประวัติศาสตร์ และเป็นประโยชน์ต่อการทำวิจัยในรายละเอียดของวัฒนธรรมในชุมชน  โบแอส สร้างนิยามของวัฒนธรรมว่า หมายถึงพฤติกรรมทางสังคมทั้งหมดที่แสดงออกในชุมชน เป็นการแสดงออกของบุคคล และกลายเป็นพฤติกรรมของกลุ่มสังคม วัฒนธรรมเป็นผลลัพธ์ของพฤติกรรมซึ่งถูกแสดงออกในสังคม

       ซิกมันท์ โบแมน อธิบายว่า แนวคิดวัฒนธรรมที่ต่างกันอาจดูได้จากองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ การอธิบายแบบองค์รวม การอธิบายเชิงประวัติศาสตร์ และการอธิบายพฤติกรรม    ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าแต่ละสังคมเกิดมาจากระบบคุณค่าและความหมายของตัวเอง  การศึกษาในมิติประวัติศาสตร์และการเชื่อในวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นได้รับความนิยม โดยเฉพาะรูธ เบเนดิกต์ ซึ่งนำความคิดนี้ไปศึกษาในเรื่อง Patterns of Culture

      การศึกษาแบบองค์รวม เชื่อว่าแต่ละวัฒนธรรมมีความเป็นเอกภาพ และลักษณะทางวัฒนธรรมแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างกัน แนวคิดนี้ทำให้เกิดการวิจัยในพื้นที่เป็นเวลานาน  ขณะเดียวกันก็เชื่อเรื่องมิติประวัติศาสตร์ ว่าวัฒนธรรมองค์รวมสำคัญกว่าส่วนย่อย   ส่วนแนวคิดที่เชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องพฤติกรรม หมายถึงวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม  สำหรับความคิดของโบแอส เกี่ยวข้องกับเรื่องพฤติกรรมและวัตถุทางวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับระบบคุณค่าและแรงกระตุ้น  สิ่งต่างๆเหล่านี้สะท้อนการกระทำที่มีต่อระเบียบแบบแผนทางชีววิทยา และเชื่อชาติเผ่าพันธุ์  วัฒนธรรมจะเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ลักษณะของขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาต้องเผชิญ  อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาในช่วงเวลานี้มองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

      ข้อถกเถียงทางทฤษฎีที่นักมานุษยวิทยาสนใจในทศวรรษที่ 1920-1940 คือเรื่องนิยามของวัฒนธรรมที่หลากหลาย  ประเด็นที่สำคัญคือจะมีวิธีการประสานแบบแผนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าด้วยกันได้อย่างไร เพื่อให้เกิดภาพอันหนึ่งอันเดียวกันและเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมทั้งหมดได้  ปัญหานี้กำเนิดมาจากความคิดของโบแอส ซึ่งเชื่อว่าวัฒนธรรมและสังคมมีความเกี่ยวข้องกัน  แต่ละสังคมจะมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง   ความคิดนี้ถูกสนับสนุนด้วยการวิจัยสังคมชนเผ่าหลายแห่งในช่วงเวลานั้น โดยให้ภาพชีวิตของสังคมเผ่าที่หยุดนิ่งตายตัว  แต่จอห์น เบนเน็ตต์โต้แย้งว่า วัฒนธรรมถูกนิยามด้วยความลงตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม ความลงตัวนี้ก็จะถูกเชื่อว่ามีอยู่ในสังคมมนุษย์ทุกแห่ง

       กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20  มีข้อเสนอ 3 อย่างเพื่อแก้ปัญหาการนิยามวัฒนธรรม  ข้อเสนอแรกเป็นของอัลเฟร็ก โครเบอร์ อธิบายว่าวัฒนธรรมมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีแบบแผน และระเบียบกฎเกณฑ์  ข้อเสนอที่สอง เป็นของมาร์กาเร็ต มี้ด อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับบุคลิกภาพ  ซึ่งหลอมรวมกันจนเกิดวัฒนธรรม วัฒนธรรมจึงเกิดมาจากแบบแผนของบุคลิกภาพ เช่นพฤติกรรมการเลี้ยงเด็กและกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม  ข้อเสนอที่สามเป็นของอีมิล เดอร์ไคม์ และเรดคลิฟฟ์ บราวน์ อธิบายว่าวัฒนธรรมเกิดมาจากขนบธรรมเนียมต่างๆที่มีหน้าที่ของตัวเองซึ่งช่วยให้โครงสร้างสังคมดำรงอยู่ได้  แนวคิดนี้รู้จักในนามทฤษฎีหน้าที่นิยม

       หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เริ่มมีการพัฒนาแนวคิดวัฒนธรรม  วัฒนธรรมจะถูกใช้ในความหมายที่เป็นบรรทัดฐานและระบบคุณค่าของสังคม  อย่างไรก็ตาม การวิจัยทางชาติพันธุ์ก็เริ่มยากขึ้นเมื่อไม่อาจคล้อยตามแนวคิดดังกล่าวได้  การศึกษาระยะแรกใช้ทฤษฎีการแพร่กระจายเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม หรือการสร้างวัฒนธรรมใหม่  ต่อมามีการใช้ทฤษฎี acculturation เพื่ออธิบายการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม  แต่การศึกษาด้วยแนวคิดดังกล่าวยังคงมองวัฒนธรรมเป็นเรื่องตายตัวหรือเป็นระบบที่คงที่  การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป ความหลากหลายของความรู้ทางวัฒนธรรมในสังคม และการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่มีระเบียบกฎเกณฑ์  สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการทบทวนการศึกษาเรื่องวัฒนธรรม

      ปลายทศวรรษที่ 1950 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1970 มีแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ต่อสู้กันมากมาย แนวคิดในช่วงนี้ต่างไปจากระยะแรกๆ   กล่าวคือนักมานุษยวิทยาเริ่มถกเถียงทฤษฎีอย่างลึกซึ้ง และมีระบบเหตุผลของการถกเถียงเชิงทฤษฎีมากขึ้น  การวิจัยทางมานุษยวิทยาเริ่มแตกต่างกันในพื้นที่ต่างๆ เช่น สังคมชนเผ่า หมู่บ้านชาวนา เขตเมือง เขตอุตสาหกรรมและสถานที่ทำงาน  สิ่งสำคัญคือมีแนวคิดจากศาสตร์อื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยามากขึ้นเรื่อยๆ  มีความพยายามที่จะค้นหาหลักการทั่วไปของวัฒนธรรมโดยใช้ข้อมูลภาคสนามเป็นตัวอธิบาย  การไม่อธิบายวัฒนธรรมว่าเป็นทฤษฎี แต่การศึกษาจะเน้นการตีความ

       ทั้งเมอร์ด็อกและเฟรดริก บาร์ธ หันกลับไปหาทฤษฎีแบบผลประโยชน์เพื่ออธิบายชีวิตทางสังคม  แนวคิดนี้เชื่อว่าวัฒนธรรมคือภาพสะท้อนของการกระทำที่มีเป้าหมายระหว่างบุคคลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และเกิดขึ้นในเงื่อนไขของเวลาและใช้ทรัพยากรที่ถูกควบคุม  ดังนั้นการศึกษาวัฒนธรรมด้วยแนวคิดวัตถุวิสัยทำให้นิยามวัฒนธรรมเป็นแบบกว้างๆ การศึกษาวัฒนธรรมตามกรอบนี้สนใจประเด็นเรื่องการปรับตัวที่มีเงื่อนไขจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติ     เยฮูดี โคเฮน กล่าวว่าวัฒนธรรมถูกสร้างมาจากพลังงาน วัตถุ การจัดระเบียบสังคมและการเมือง วิธีคิด อุดมการณ์ และพฤติกรรมที่ถ่ายทอดต่อๆกันมา ซึ่งมีผลให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง

       ตรงข้ามกับแนวคิดแบบมาร์กซิสต์  ที่อธิบายว่าวัฒนธรรมเกิดมาจากการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของความสัมพันธ์จากการผลิตในสังคม  วัฒนธรรมแบบมาร์กซิสต์ใกล้เคียงกับแนวคิดแบบอุดมคติ   นักมานุษยวิทยาหลายคนพยายามที่จะทำให้นิยามของวัฒนธรรมแคบลงโดยใช้แนวคิดแบบอุดมคติ และยังปฏิเสธความหมายของวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมหรือวัตถุ  แต่เชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นระบบของความคิด

        วอร์ด กู้ดอีนาฟ อธิบายว่าวัฒนธรรมคือระบบความคิดภายใน ซึ่งมีโครงสร้างของการแยกประเภทความเข้าใจโลกทางสังคมและโลกธรรมชาติ  นักมานุษยวิทยาที่ใช้แนวคิดนี้อธิบายวัฒนธรรม  จะสร้างมาตรฐานเพื่อบ่งชี้การกระทำและการตีความการกระทำ  บุคคลจะรู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของคนอื่น  วัฒนธรรมจึงหมายถึง แบบแผนที่มีอยู่ได้ด้วยตัวเอง  ประเด็นที่ศึกษาเป็นเรื่องภาษา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเบ้าหลวมให้เกิดวัฒนธรรม     โรเจอร์ คีซิง กล่าวว่า วัฒนธรรมถูกเข้าใจว่าเป็นกระบวนการทางภาษา เฉกเช่นรหัสที่ส่งทอดความหมายซึ่งซ่อนอยู่ใต้เหตุการณ์ต่างๆ

       สำหรับแนวทฤษฎีโครงสร้างนิยม วัฒนธรรมจะถูกแสดงออกในฐานะเป็นระบบสัญญะที่ตรงข้ามกัน ซึ่งแสดงออกด้วยแบบแผนต่างๆ เช่น ภาษา ตำนาน และการนับญาติ    ระบบสัญญะเหล่านี้มีโครงสร้างความคิดของมนุษย์คอยกำกับ  คำอธิบายแนวนี้ ได้แก่ การศึกษาของคล้อด เลวี สเตราส์   ตามทัศนะของนักคิดแนวโครงสร้างนิยม  วัฒนธรรมมิใช่แนวคิดที่หลากหลาย หรือเป็นเครื่องบ่งชี้เอกลักษณ์ที่ต่างกันซึ่งในยุคของโบแอสเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น   แต่วัฒนธรรมในแนวโครงสร้างนิยมมีเอกลักษณ์เดียว เป็นระบบสัญลักษณ์ที่เหมือนกัน พบได้ทุกสังคม  คีซิงกล่าวว่า ความคิดถูกควบคุมด้วยระเบียบ ที่ประกอบด้วยตรรกะของสิ่งที่ต่างกันสองด้าน ตรรกะของความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถูกแสดงออกบนโลกที่ขับเคลื่อนไป  เลวีสเตราส์คิดว่าความขัดแย้งไม่ใช่เกิดขึ้นกับสังคม แต่เกิดขึ้นกับระบบสากลของวัฒนธรรมกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่มีมาแต่ดั้งเดิม และอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์

       แนวคิดอีกแนวหนึ่งคือ ทฤษฎีสัญลักษณ์นิยม  ผู้นำความคิดได้แก่ คลิฟฟอร์ด เกิร์ตซ    วัฒนธรรมในแนวนี้เป็นการปะทะสังสรรค์กันในเชิงความหมาย  ประเด็นที่สัญลักษณ์นิยมให้ความสนใจคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับความคิดของโบแอส  เกิร์ตซพยายามปฏิเสธการอธิบายวัฒนธรรมจากความรู้ของปัจเจกที่พยายามสร้างกฎเกณฑ์และการจัดประเภทสิ่งต่างๆ  และยังปฏิเสธความเชื่อที่ว่าการกระทำต่างๆของมนุษย์เป็นอิสระในตัวเอง  มานุษยวิทยาเชิงสัญลักษณ์เชื่อว่าการกระทำและเหตุการณ์ทั้งหลายมีความหมาย และไม่สามารถแยกประเภทได้ชัดเจน  เกิร์ตซเชื่อว่าวัฒนธรรมมิใช่สาเหตุของการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ หรือสถาบันต่างๆ  แต่วัฒนธรรมถูกสร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาความคิด  อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของเกิร์ตซก่อให้เกิดกระบวนการของการตีความจากหลายด้าน ซึ่งเป็นพื้นฐานของประสบการณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งจากชาวบ้านและนักมานุษยวิทยาเอง

      ในทศวรรษที่ 1980 นักมานุษยวิทยาบางคนมีแนวคิดใหม่ๆ เช่น แนวคิดเรื่องวิวัฒนาการทางกายภาพก็เข้ามามีส่วนในการอธิบายวัฒนธรรมด้วย  นอกจากการอธิบายวัฒนธรรมแบบ reductionism หรือการแยกเหตุและผลแล้ว ยังมีการอธิบายแบบอื่นอีกสองแบบเกิดขึ้น คือ  โพสต์มอเดิร์น กับ ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน    โพสต์มอเดิร์นเป็นวิธีคิดที่ชี้ให้เห็นวัฒนธรรมเป็นเรื่องเฉพาะที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์  ส่วนทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน เป็นการศึกษา “การปฏิบัติ” หรือพฤติกรรมของบุคคล และกลุ่มบุคคล

      แนวคิดแบบโพสต์มอเดิร์น  เป็นกระแสความเคลื่อนไหวจากความรู้หลายๆแบบ ทั้งสถาปัตยกรรม ปรัชญา และศิลปะ   แนวคิดนี้สนับสนุนให้มีการตั้งข้อสงสัยต่อจารีตประเพณี และแนวคิดทฤษฎีที่เชื่อว่าเป็นจริงมั่นคง  ฌอง ฟรังซัว เลียวทาร์ด  อธิบายว่า โพสต์มอเดิร์นคือการไม่เชื่อต่อวาทกรรมกระแสหลัก  รวมทั้งมีข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการ พัฒนาการที่ตกทอดมาจากระบบทุนนิยมสมัยใหม่  ความรู้เรื่องเพศและปมด้อยจากทฤษฎีของฟรอยด์  หรือการปฏิวัติชนชั้นจากทฤษฎีมาร์กซิสต์   โพสมอเดิร์นทำให้เกิดการวิจารณ์สิ่งที่เป็นวาทกรรมของตะวันตก

      เมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับมานุษยวิทยา ทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยที่รุนแรงต่อความรู้เรื่องวัฒนธรรมที่น่าไว้วางใจและน่าเชื่อถือ  แนวคิดนี้สร้างผลกระทบต่อตรรกะทางมานุษยวิทยา และความไม่น่าเชื่อเกี่ยวกับวัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นกับนักมานุษยวิทยาและชาวบ้าน  ผลกระทบของโพสต์มอเดิร์นทำให้นักมานุษยวิทยาหันมาศึกษาตัวเอง แทนการศึกษาสังคม    งานเขียนทางาติพันธุ์ในแนวโพสต์มอเดิร์น และมานุษยวิทยาสัญลักษณ์ ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงเพื่อการสำรวจตรวจสอบตัวตน และเพื่ออธิบายคุณลักษณะของวัฒนธรรมด้วยการเปรียบเทียบและสังเคราะห์ทฤษฎี   

      กลางทศวรรษที่ 1970 นักวิชาการหลายคนเริ่มที่จะเกิดปัญหาความยุ่งเหยิงปั่นป่วนเหล่านี้โดยการศึกษาปัจจเจกบุคคล ซึ่งมีอำนาจในการสร้างวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน       ต่อมาปิแอร์ บูร์ดิเยอเรียกการศึกษานี้ว่า ทฤษฎีการปฏิบัติ  เชอร์รี ออร์ตเนอร์ กล่าวว่าทฤษฎีการปฏิบัติต้องการอธิบายหลักการ การสร้าง และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและความหมายของสังคมและวัฒนธรรมทั้งหมด

       ในทางมานุษยวิทยา การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องต้องการคำอธิบาย เนื่องจากวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่คงที่ตายตัว  ทฤษฎีการปฏิบัติจึงท้าทายความคิดมานุษยวิทยา   วัฒนธรรมถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง และถูกทำซ้ำ และมีลักษณะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง มิใช่สิ่งคงที่ถาวร  รอย แว็กเนอร์ อธิบายว่า บริบททางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำเชิงรูปธรรมที่ไม่จบสิ้น  วัฒนธรรมถูกสร้างขึ้นอย่างแยกส่วนและผสมรวมกัน   ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการอธิบายว่ารูปแบบวัฒนธรรมไม่ต้องการบริบททางสังคมอีกต่อไปแล้ว  เช่น หลักการไม่ใช่ความรุนแรงแบบคานธีได้รับการแนะนำให้ชาวอเมริกันรู้จักในช่วงที่มีการเรียกร้องสิทธิ  ซึ่งเป็นช่วงที่รายการโทรทัศน์อเมริกันแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย   สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติทางวัฒนธรรมมีการผสมผสานทั้งจากการสร้างใหม่ และทำมาจากของเดิมในสังคมที่แตกต่างกัน

       การศึกษาของบูร์ดิเยอ เป็นความพยายามที่จะอธิบายการผลิตซ้ำ และการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรม  บูร์ดิเยอย้ำว่าความรู้ทางวัฒนธรรมส่วนใหญ่มิใช่ทฤษฎี และมิใช่สิ่งของที่มองเห็นได้  แต่เป็นการกระทำที่ผ่านการเรียนรู้และไม่ต้องการคำอธิบาย   โครงสร้างของชีวิต หรือ habitus ที่ถูกจัดระเบียบจะเกิดขึ้นได้โดยอาศัยการปฏิบัติและการสื่อความหมาย    ความรู้ทางวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมาและถูกจัดระเบียบไว้นี้ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันมากกว่าอยู่ในตำราเรียน  คำว่า habitus  จึงหมายถึงความสามารถในการสร้างสิ่งต่างๆอย่างไม่จบสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ความคิด การเรียนรู้ การแสดงออก และการกระทำ  สิ่งเหล่านี้จะมีขอบเขตจำกัดก็ต่อเมื่อถูกสร้างให้เป็นประวัติศาสตร์ หรือมีเงื่อนไขสังคม  บูร์ดิเยอเสนอว่าทฤษฎีการเรียนรู้ คือการถามหาการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่เป็นการสร้างสรรค์ใหม่ๆ และการทำสิ่งเดิมๆอย่างต่อเนื่อง       ทฤษฎีนี้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่อธิบายว่าการกระทำเป็นเรื่องของการทำซ้ำตามกลไก และไม่อธิบายว่าการกระทำมีอิสระในตัวเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อผูกมัดทางสังคมและวัฒนธรรมใดๆ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Clifford, James and George E. Marcus. 1986. Writing culture: the poetics and politics of ethnography. Berkeley: University of California Press.

Geertz, Clifford 1973. The Interpretation of Cultures. Basic Books

Robert H. Winthrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.50-59.

Rosaldo, Renato. Culture and Truth. 1993. Beach Press.

Stocking, George W. 1968. Race, Culture, and Evolution: Essays in the history of anthropology. London: The Free Press.

Tylor, Edward. 1920 [1871]. Primitive Culture. Vol 1. New York: J.P. Putnam’s Sons.


หัวเรื่องอิสระ: วัฒนธรรม