Deconstructionism
คำว่า “Deconstructionism” หรือเป็นคำที่ ฌาคส์ เดอร์ริดา ใช้เพื่ออธิบายว่า “เรื่องเขียน” เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เรื่องเขียนและความรู้ต่างๆมิใช่ตัวแทนของความจริง เดอร์ริดาอธิบายว่า deconstruction คือการวิจารณ์แนวคิดแบบเพลโต หรือ Platonism ซึ่งวางรากฐานปรัชญาแบบตะวันตก ที่เชื่อในการมีอยู่ของโครงสร้างแบบคู่ตรงข้าม ซึ่งคู่ตรงข้ามนี้แยกจากกันและมีลำดับช่วงชั้นไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งมักจะมีลำดับชั้นที่สูงกว่าอีกด้านหนึ่ง การโจมตีวิธีคิดแบบนี้จะต้องทำลายช่วงชั้นแบบเพลโต ช่วงชั้นที่แบ่งแยกระหว่างสิ่งที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ กับสิ่งที่มองเห็นและสัมผัสได้ หรือระหว่างสำนึกทางจิตกับวัตถุที่อยู่ภายนอก หรือระหว่างจิตกับร่างกาย แต่ความคิดแบบ deconstruction พยายามทำลายความเชื่อนี้ โดยการสลับใหม่ให้วัตถุภายนอกมีค่ามากกว่าจิตสำนึก
เดอร์ริดากล่าวว่านักปรัชญาที่นิยมการแสวงหา “เครื่องหมาย” คือผู้ที่ต้องการแก่นแท้ ความสมบูรณ์พร้อมของภาษา เดอร์ริดาต้องการวิจารณ์การสร้างความจริงผ่านการเขียน ภาษา เรื่องแต่งเกี่ยวกับความจริงและศีลธรรมที่ปรากฎอยู่ในอภิปรัชญา ทฤษฎ๊และความรู้แบบตะวันตก โดยเฉพาะระบบเหตุผลนิยมในความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำการสร้างความจริงทุกรูปแบบ ทั้งนี้ ภาษามิใช่ตัวแทนของความจริง ภาษาเป็นเพียงตัวแทน หรือสิ่งที่ใช้อ้างความจริงเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีความจริงอะไรที่อยู่นอกโครงสร้างของภาษา และผู้ที่ใช้ภาษาสร้างเรื่องแต่งก็เป็นเพียงผู้ที่ต้องการควบคุมการสร้างความจริงไว้กับตัวเอง และใช้ความจริงที่ตัวเองสร้างเป็นเครื่องมือในการควบคุมและสั่งการคนอื่น
วิธีการรื้อสร้างที่เดอร์ริดานำมาใช้ จะอาศัยการวิเคราะห์โครงสร้าง ความหมาย และการเปลี่ยนแปลงของภาษา เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าความจริงถูกสร้างขึ้นด้วยภาษาซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คงที่ถาวร ความจริงที่แบ่งแยกคู่ตรงข้าม (ขาว/ดำ ดี/ชั่ว) นำไปสู่ระบบศีลธรรมแบบช่วงชั้น อิทธิพลความคิดเรื่องการรื้อสร้างที่มีต่อมานุษยวิทยาเกิดขึ้นในงานของไมเคิล ทูซซิก ซึ่งนำความคิดของเดอร์ริดาไปใช้วิจารณ์งานเขียนชาติพันธุ์วรรณนา การรื้อสร้างงานเขียนของนักมานุษยวิทยา จึงเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างความจริงทางสังคมวัฒนธรรม และบทบาทของนักมานุษยวิทยาในฐานะเป็น “ผู้สร้าง” เรื่องเล่าทางวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ต่างๆ และเป็นการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนทัศน์แบบตะวันตกที่ครอบงำวิชามานุษยวิทยา เมื่อเรื่องเขียนทางชาติพันธุ์ถูกตั้งคำถาม นำไปสู่การทบทวนบทบาทของนักมานุษยวิทยา และการมองงานเขียนเหล่านั้นเป็นเพียงเรื่องแต่ง มิใช่ความจริง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Culler, Jonathan. 1982. On Deconstruction: Theory and Criticism after Structuralism, Cornell University Press
Derrida, Jacques [1967] (1978). Of Grammatology, trans. by Gayatri Chakravorty Spivak. Baltimore and London: Johns Hopkins University Press.
Derrida, Jacques. 1973. Speech and Phenomena and Other Essays on Husserl's Theory of Signs. Trans. David B. Allison. Evanston: Northwestern UP.
Richard Rorty 1995. The Cambridge History of Literacy Criticism. Vol.8 From Formalism to Poststructuralism. Cambridge University Press.
Stephen Linstead.1993. From Postmodern Anthropology to Deconstructive Ethnography. Human Relations January, vol. 46 no. 1, pp.97-120.
Taussig, Michael T. 1999. Defacement: Public Secrecy and the Labor of the Negative. Stanford, Calif.: Stanford University Press
หัวเรื่องอิสระ: การรื้อสร้าง