คำศัพท์

Development Anthropology

         มานุษยวิทยาการพัฒนา หมายถึงการนำมุมมองความคิดทางมานุษยวิทยาไปปรับใช้กับสาขาวิชาความรู้อื่นๆเพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานด้านพัฒนาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ความหมายของ “การพัฒนา” ในทางมานุษยวิทยาคือปฏิบัติการทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่ขับเคลื่อนและดำเนินงานโดยกลุ่มคน องค์กร หรือสถาบันทางสังคม ซึ่งต้องการที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาต่างๆของมนุษย์ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เป็นต้น ทั้งนี้การพัฒนามักจะมีเป้าหมายเพื่อที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์และชุมชนให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาก็ยังมีประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างรอบด้าน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐและการใช้ความรู้

          นักมานุษยวิทยาการพัฒนาที่เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาต่างๆ มักจะเสนอความคิดและข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาของคนที่ด้อยโอกาส เช่น ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่การทำงานของนักมานุษยวิทยาการพัฒนา กับการศึกษาการพัฒนาในเชิงมานุษยวิทยา (Anthropology of Development) ยังคงมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงแนวคิดและการปฏิบัติ โดยเฉพาะการนิยามว่าอะไรคือปัญหา อะไรคือความเจริญและความล้าหลัง

          ในแง่ประวัติศาสตร์จะพบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีนักมานุษยวิทยาเข้าไปทำงานทางด้านการพัฒนาจำนวนมาก  ในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 ทรัพยากรจากประเทศอุตสาหกรรมได้หลั่งไหลเข้าไปสู่ประเทศเกษตรกรรมจำนวนมาก และทำให้เกิดช่องว่างของประเทศที่ร่ำรวยและยากจนเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานะของคนในประเทศก็ต่างกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชียล้วนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง    ความเชื่อเรื่องการทำให้เป็นสมัยใหม่ หรือ Modernization มาจากความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ วอลเตอร์ โรสโตว์  ซึ่งเขาเชื่อว่าทุกประเทศจะมีสภาวะด้อยพัฒนาซึ่งต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น นักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมเชื่อว่าการทำให้เกิดสมดุลของรายได้ทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จะทำให้เกิดความเท่าเทียมและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้ 

          ในปี 1971 กลีนน์ โคเครน เสนอความคิดที่จะแยกมานุษยวิทยาการพัฒนาออกไปสนับสนุนการทำงานด้านพัฒนาและร่วมมือกับนักวิชาการสาขาอื่นๆ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำให้ศาสตร์มานุษยวิทยารับใช้งานพัฒนาสังคมอย่างเต็มตัว จนถึงปี 1973 โคเครนได้เข้าไปทำงานกับธนาคารโลกเพื่อให้คำแนะนำแก่งานพัฒนาต่างๆ ซึ่งหลังจากนั้นก็นักมานุษยวิทยาที่ทำงานในธนาคารโลกเพิ่มมากขึ้น   ธนาคารโลกคือสถาบันหลักของเศรษฐกิจเสรีนิยม ซึ่งมีภาระกิจหลักคือการเพิ่มผลกำไรและกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย   นักสังคมวิทยาในธนาคารโลกชื่อไมเคิล เซอร์เนีย กล่าวว่าเมื่อมีนักสังคมศาสตร์ทำงานในธนาคารโลกมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดการโต้เถียงเกี่ยวกับการพัฒนามากขึ้น  

          นับตั้งแต่มีนโยบายใหม่ทางการพัฒนา จำนวนนักมานุษยวิทยาที่สนใจการพัฒนาก็มีมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงบทบาทก็นักมานุษยวิทยาก็เกิดตามมา  นักมานุษยวิทยาหลายคนเข้าไปใช้แนวคิดและสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาด้วยมุมมองทางมานุษยวิทยา  สิ่งแรกที่นักมานุษยวิทยาทำคือการชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาคืออะไร  นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา  นักมานุษยวิทยาจำนวนมากได้วิพากษ์วิจารณ์การพัฒนาด้วยแนวคิดทฤษฎีที่ชัดเจน เพราะการพัฒนาที่ทำอยู่เป็นการสั่งการจากเบื้องบน และเพื่อตอบสนองประโยชน์ของรัฐและผู้นำ ขณะที่ทำให้คนจนมีชีวิตที่ตกต่ำ  ในเรื่อง Lands at Risk in the Third World (1987) ของลิตเติลและโฮโรวิตซ์ ชี้ให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาที่ทำงานพัฒนามายาวนานกำลังเปิดเผยให้เห็นผลกระทบด้านลบของการพัฒนาซึ่งเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้

          ความคิดทางมานุษยวิทยาที่มีต่อความเข้าใจเรื่องการพัฒนา ชี้ให้เห็นความแตกต่างซับซ้อนของสังคม และเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ซึ่งนักพัฒนาเชื่อว่าเป็นสังคมที่มีเอกภาพ  ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านที่ยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้ามีความรู้ของตัวเอง เช่นรู้เรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ หรือชาวนาในเขตที่ลุ่มก็มีความรู้เกี่ยวกับฤดูกาลของน้ำ   สิ่งเหล่านี้มิได้หมายความว่าชาวบ้านจะไม่ต้องการการพัฒนา แต่ในทางตรงกันข้าม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืช หรือวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ก็เป็นสิ่งจำเป็น  มานุษยวิทยาต้องชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่นำไปให้ชาวบ้านนั้นต้องช่วยให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ มีรายได้มากขึ้น และมีความมั่นคงต่อชีวิต

          อาร์ทูโร่ เอสโคบ่า วิจารณ์ว่าการพัฒนาของตะวันตกทำให้คนท้องถิ่นในโลกที่สามเสียประโยชน์ และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศทั้งหลายก็มองชาวบ้านเป็นแค่คนด้อยโอกาส ปัญหาเหล่านี้มารากเหง้ามาจากลัทธิอาณานิคมที่ชาวตะวันตกมองตัวเองเป็นผู้เจริญกว่าชนพื้นเมือง นอกจากนั้น การพัฒฯของตะวันตกยังทำให้ระบบทุนนิยมแพร่กระจายไปยังดินแดนต่างๆ ซึ่งทำให้ชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไปและหันมาพึ่งระบบเงินตรามากขึ้น ปัจจุบันนี้ การพัฒนาต่างๆทั่วโลกก็ยังคงใช้วิธีคิดแบบลัทธิอาณานิคมของตะวันตกอยู่เช่นเดิม

          การวิจัยของนักมานุษยวิทยา ก่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆต่อเงื่อนไขของการพัฒนา  แต่ความคิดเห็นของนักมานุษยวิทยามักจะไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับข้อคิดเห็นของนักเศรษฐศาสาตร์  และผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค เช่น สัตวแพทย์ หรือ นักการเกษตร    นักมานุษยวิทยาสามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาแนวใหม่จะให้ความเคารพมนุษย์และธรรมชาติมากขึ้น การพัฒนาจะต้องไม่ทำให้มนุษย์อดอยากและถูกกดขี่ และต้องไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม  สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือการทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นในเรื่องสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Alan Hoben, 1982. "Anthropologists and Development", in Annual Review of Anthropology, Vol. 11: 349-375.

Arturo Escobar, 1995, Encountering Development, the making and unmaking of the Third World, Princeton: Princeton University Press.

David Levinson, Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. .pp.328-333.

Gardner, Katy and David Lewis, 1996, Anthropology, Development and the Post-Modern Challenge, Chicago, IL: Pluto Press.

Glynn Cochrane. 1971. Development Anthropology, New York: Oxford University Press.

Glynn Cochrane, (ed.) 1976. What can we do for each other, An Interdisciplinary Approach to Development Anthropology, Amsterdam: Grüner.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาการพัฒนา