Disability
การศึกษาและการนิยาม “ความพิการ” ของมนุษย์ เป็นการอาศัยความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกและมักจะสร้างการอ้างอิงกับร่างกายของคนปกติที่มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งในสังคมตะวันตกผู้พิการทางร่างกายจะถูกมองเป็นเหมือนคนป่วยและคนด้อยโอกาส ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง การศึกษาทางมานุษยวิทยาจะอธิบายร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ด้วยมุมมอง 2 แบบ คือ 1 ความพิการถูกสร้างขึ้นด้วยความคิดเรื่องการซ่อมแซมแก้ไขให้ดีขึ้น 2 ความพิการแต่ละวัฒนธรรมจะมีความหมายต่างกัน
ในฐานะที่ความพิการถูกมองจากศาสตร์หลายสาขาว่าเป็นแนวคิดที่สังคมสร้างขึ้น นักมานุษยวิทยาพิจารณาว่าความหมายของร่างกายในส่วนที่เป็นรูปลักษณ์และหน้าที่มีความแตกต่างกันด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่คำอธิบายทางวัฒนธรรมแตกต่างจากคำอธิบายทางการแพทย์ กล่าวคือ ความพิการในทางการแพทย์หมายถึงลักษณะของร่างกายที่บกพร่องและเสียหาย ในขณะที่นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าวิธีการจัดการกับร่างกาย และสภาพทางสังคมของความพิการถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขของคุณค่าทางวัฒนธรรม ในสังคมที่แตกต่างกัน ความพิการอาจถูกมองด้วยทัศนะทางการเมืองและการปกครอง เช่น นโยบายเกี่ยวกับการดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วย และการให้โอกาสคนพิการทำงานในอาชีพต่างๆ
การศึกษาของนักมานุษยวิทยา เช่น เบเนดิกต์ อิงสตัด และซูซาน เรย์โนลด์ ไวต์(1995) อธิบายว่าการวิจัยเรื่องความพิการในสังคมนอกตะวันตกยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในปัจจุบันโลกที่สามเริ่มหันมาสนใจวิถีชีวิตของคนพิการมากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพของผู้อพยพพลัดถิ่น และทหารที่กลับจากสงคราม นักวิจัยในโลกที่สามให้ความสนใจในเรื่องบริบททางสังคมของคนพิการ เพื่อศึกษาว่าคนพิการได้รับแรงกดดันในชีวิตอย่างไร คนพิการถูกถอดทิ้งหรือไม่ หรือมีปัญหาในเรื่องใด
นักมานุษยวิทยาที่สนใจระบบสัญลักษณ์ ได้ศึกษาวิเคราะห์การปฏิบัติต่อร่างกายของมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เปรียบเทียบระเบียบทางสังคม หรือการควบคุมร่างกาย การศึกษาเชิงเปรียบเทียบจะทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมและการปฏิบัติต่อร่างกายในแต่ละสังคม ตัวอย่าง คุณค่าทางจริยธรรมของชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับเรื่องการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และผู้พิการในสังคมอเมริกันก็ถูกสอนว่าจะประสบความสำเร็จได้ พวกเขาต้องขยันอดทนและใช้ความพยายาม ดังนั้นคนพิการจึงต้องฝึกฝนร่างกายของตนเองให้ใช้งานได้ หรือทำสิ่งต่างๆได้
แนวคิดแบบ Poststructuralism อธิบายว่าร่างกายเปรียบเสมือนบทอ่าน ซึ่งสะท้อนคุณค่าและความหมายทางวัฒนธรรม หรือเป็นเสียงสะท้อนของการถูกกดขี่ข่มเหง เนื่องจากคนพิการต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นร่างกายของคนพิการจึงถูกกระทำโดยคนอื่น การกระทำต่อร่างกาย และการปฏิบัติตัวระหว่างผู้ช่วยเหลือกับคนพิการอาจสะท้อนให้เห็นบริบททางสังคม บทอ่านดังกล่าวนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการทำวิจัยระหว่างผู้ให้ข้อมูลกับนักวิจัยที่เป็นคนพิการ
การศึกษาประสบการณ์ทางร่างกายของนักมานุษยวิทยา ได้แก่ การศึกษาของโรเบิร์ต เมอร์พี เรื่อง The body Silent (1987) เมอร์ฟีค้นพบว่าตนเองมีปัญหาที่กระดูกสันหลัง และทำให้เขาต้องกลายเป็นอัมพาต งานศึกษาของเมอร์ฟีอธิบายว่าความสัมพันธ์ทางสังคมคือโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเขาเป็นอัมพาต และโรคของความสัมพันธ์นี้ก็ทำให้ชีวิตเขายากลำบากมากกว่าการป่วยทางร่างกาย ความพิการของเมอร์ฟีและการสูญเสียสังคมทำให้เขาย้อนกลับมามองวัฒนธรรมของตนเอง โดยเปรียบตนเองเป็นคนต่างด้าว เหมือนการเข้าไปศึกษาในวัฒนธรรมอื่น เมอร์ฟีพบว่าเมื่อร่างกายของเขาพิการ เขาก็เหมือนคนที่ไร้สังคมและไร้สถานภาพทางสังคม แต่เมอร์ฟีกลับมองเห็นเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่เขาดำรงอยู่ชัดเจนขึ้น
การศึกษาของกีย์ล่า แฟรงค์ ใน ปีค.ศ.1988 เป็นการศึกษาคนที่พิการแขนขามาตั้งแต่กำเนิด แฟรงค์พบว่าคนพิการเหล่านี้ไม่คิดว่าตนเองไร้ความสามารถหรือเป็นคนพิการ และไม่ต้องการที่จะใส่แขนขาเทียม แต่คนในสังคมคิดว่าคนพิการเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ เรื่องเล่าจากประสบการณ์อาจทำให้เข้าใจความหมายของร่างกาย และเปิดเผยให้เห็นสถานะของมนุษย์ที่ต้องแสวงหาความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนั้นเรื่องเล่ายังทำให้เห็นความคิดทางวัฒนธรรมที่มีต่อร่างกายและการสูญเสียร่างกาย ทำให้มองเห็นสถาบันทางสังคมที่เข้าไปกำหนดวิธีคิดต่างๆ
การศึกษาของ แมริลีน ฟิลลิปส์ (1990) เป็นการศึกษาเรื่องเล่าของนักเรียนระดับมัธยมที่เป็คนพิการ การศึกษาพบว่าวัฒนธรรมอเมริกันที่นำไปสู่การอธิบายความพิการก็คือคนพิการเปรียบเสมือน “ของที่ถูกทำลายให้เสียสภาพ” คำเปรียบเปรยนี้มาพร้อมกับวาทกรรมของสื่อ ระบบทุนนิยม และการแพทย์ที่เอาคนพิการไปเป็นจุดขาย คำอธิบายทางการเมืองอธิบายว่าคนพิการคือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การศึกษาของฮาร์เลน ฮาห์น (1985) กล่าวว่าคนที่มีร่างกายปกติมีความวิตกกังวลต่อการสูญเสียอวัยวะในร่างกายและไม่อยากอยู่ใกล้คนพิการ ปฏิกิริยาของคนปกติคือการไม่ยอมยุ่งเกี่ยวและปฏิเสธที่มีแสดงความรักและมีเพศสัมพันธืกับคนพิการ เพราะคิดว่าคนพิการคือตัวประหลาด
การศึกษาของนอร่า กรอซ (1985) เป็นการศึกษาชุมชนของคนหูหนวก คนหูหนวกกลุ่มนี้มีการสื่อสารด้วยภาษาสัญลักษณ์ของตัวเอง การศึกษาของชโลโม่ เดชเช่น (1992) ศึกษาชุมชนของคนตาบอดในอิสราเอล พบว่าคนตาบอดถูกสังคมกีดกันและพวกเขาต้องรวมกันเพื่อช่วยเหลือกันเอง นอกจากนั้นยังมีการศึกษาของนักมานุษยวิทยาประยุกต์หลายคนที่ทำงานกับแพทย์ และทำให้เข้าใจอาชีพของคนพิการ เช่น การศึกษาของโจเซฟ คัฟเฟิร์ต ศึกษาเรื่องเล่าของผู้ป่วยในรัฐมานิโตบา พบว่าเครื่องช่วยหายใจมีประโยชน์ในการฟื้นฟูและช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้เป็นอิสระ ถึงแม้ว่าเครื่องนี้จะเป็นผู้สร้างข้อจำกัดแบบใหม่ก็ตาม
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Armstrong, J. & Fitzgerald, M. 1996 Culture and disability studies: An anthropological perspective. Rehabilitation Education, 10, 247-304.
David Levinson, Melvin Ember(eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Hompany, New York. Pp.345-346.
Gold, G. & Duval, L. 1994. Working with disability: An anthropological perspective. Introduction. In G. Gold & L. Duval (editors), Working with disability: An anthropological perspective. Anthropology of Work Review, 15(2-3), 1-2.
Kasnitz, D. & Shuttleworth, R. P. 2001. Anthropology and disability studies. In B. Swadener & L. Rogers (editors), Semiotics and dis/ability: Interrogating categories of difference (pp. 19-42). New York: SUNY Press.
หัวเรื่องอิสระ: ความพิการ