คำศัพท์

Disaster

         ภัยพิบัติและความหายนะทางธรรมชาติ ในมุมมองทางมานุษยวิทยาเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปฏิบัติการของมนุษย์ที่มีต่อเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งนักมานุษยวิทยาจะทำความเข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติและความหายนะ กล่าวคือ นักมานุษยวิทยามองว่าภัยพิบัติต่างๆส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างไรและมนุษย์มีวิธีคิดและการจัดการเรื่องนี้อย่างไร ปฏิบัติการที่มนุษย์มีต่อภัยพิบัติมีลักษณะเป็นกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ศึกษาสาเหตุของภัยพิบัติ การเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบภัยพิบัติ จนถึงการแสวงหาแนวทางลดและป้องกันภัยพิบัติ

          แต่เดิม นักมานุษยวิทยาใช้วิธีการเก็บข้อมูลประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยและมีอันตราย  การศึกษาทางมานุษยวิทยาหลายชิ้นบรรยายลักษณะของภัยพิบัติ และการจัดการกับภัยพิบัติในสังคมโลกที่สาม  นักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆ ศึกษาเรื่องภัยพิบัติในฐานะเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อม  และอธิบายว่าคนท้องถิ่นจัดการกับผลกระทบจากภัยต่างๆอย่างไร เช่น การอพยพย้ายถิ่นของประชากร การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ การลดขั้นตอนกิจกรรมทางสังคม การประกอบพิธีกรรม และการต่อสู้ระหว่างเผ่าพันธุ์เพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่ขาดแคลน

          ในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 นักมานุษยวิทยาศึกษาเรื่องการปรับตัวของมนุษย์ที่มีต่อภัยพิบัติ  อธิบายเรื่องความมั่นคงทางสังคมและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากภัยพิบัติ   การคำนึงถึงการนำความรู้มานุษยวิทยาไปใช้กับการแก้ปัญหาภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ความช่วยเหลือที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคม ครอบครัว การตั้งถิ่นฐาน ระบบเศรษฐกิจ การทำมาหากิน และการติดต่อกับคนภายนอก   การศึกษาของแอนโธนี วอลเลซ(1956) อธิบายเกี่ยวกับผลกระทบต่อพฤติกรรมและความรู้สึกที่มาจากภัยพิบัติ  วอลเลซได้พัฒนาแนวคิดเรื่องเวลา-สถานที่มาใช้วิเคราะห์วิวัฒนาการของภัยพิบัติในยุคต่างๆ  การศึกษาของวอลเลซมีการนำประเด็นทางวัฒนธรรม ภัยพิบัติ การแก้ปัญหา  และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาวิเคราะห์รวมกัน และสร้างทฤษฎีทางสังคมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

          มานุษยวิทยามีความเห็นร่วมกับศาสตร์ทางสังคมอื่นๆในประเด็นที่ว่าภัยพิบัติประกอบด้วยการทำลายล้าง ซึ่งมาจากธรรมชาติและเทคโนโลยี และมีกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบ   การทำลายและผลกระทบก่อให้เกิดความสูญเสียต่อการจัดระเบียบทางสังคม และสูญเสียต่อกายภาพของชุมชน  ทำให้หน้าที่พื้นฐานของสังคมเสียหายหรือถูกทำลาย ผลที่ตามาก็คือความเครียดของประชากร และสังคม  สังคมจะเกิดการจัดระเบียบใหม่ อาจกล่าวได้ว่ามีแนวคิดพื้นฐาน 3 ประการต่อเรื่องภัยพิบัติในทางมานุษยวิทยา ได้แก่ 1) แนวคิดเรื่องการจัดระเบียบและพฤติกรรม  2) แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการพัฒนา  และ 3) แนวคิดเรื่องอำนาจกับการควบคุมทรัพยากร

          แนวคิดเรื่องการจัดระเบียบและพฤติกรรม  เชื่อว่าความหายนะและภัยอันตราย คือสิ่งที่ท้าทายการจัดระเบียบและโครงสร้างทางสังคม การวิจัยจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องพฤติกรรมของบุคคลและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในแบบต่างๆ  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สังคม และการจัดระเบียบสังคมจะเกิดขึ้นเพื่อการเตือนภัย การรับผลกระทบ และความสูญเสียที่ตามมา สิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่ได้รับการศึกษาจากการวิเคราะห์ในแนวนี้

          การตอบสนองทางสังคมต่อภัยพิบัติที่ร้ายแรง จะพิจารณาที่เรื่องความช่วยเหลือและความขัดแย้งกัน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางชนชั้นและเชื้อชาติ   ความช่วยเหลือและความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้นหลังจากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว หรือเกิดขึ้นขณะมีภัยพิบัติก็ได้  การรวมตัวของชุมชนก่อนที่จะมีภัยพิบัติคือพื้นฐานสำคัญในการที่จะทำให้เกิดการช่วยเหลือฟื้นฟูและบูรณะที่อยู่อาศัย  ความช้วยเหลือหลังจากเกิดภับพิบัติอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมในชุมชน อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆที่ได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากทรัพยากร รวมทั้งความขัดแย้งที่มาจากความช่วยเหลือที่ไม่เท่ากัน  สถาบันทางสังคม เช่น ศาสนาอาจทำให้เกิดการแบ่งแยกและความไม่เท่าเทียมทางสังคม  นอกจากนั้นสถาบันที่มีผลต่อความช่วยเหลือ ได้แก่สถาบันการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา  นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมในกรณีนี้ให้ความสนใจในเรื่องจิตวิทยาของคนที่ประสบภัยด้วย โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือ การถูกทอดทิ้ง หรือสภาพความเดือดร้อนต่างๆ

          การศึกษาในประเด็นนี้ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงและความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์และการรวมตัวทางสังคม โดยมีประเด็นที่ศึกษา 2 ประเด็น คือ ภัยพิบัติกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในท้องถิ่น และภัยพิบัติที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนอำนาจที่มาจากรัฐ   ภัยพิบัติอาจทำลายและสร้างพลังทางการเมือง  ผลกระทบและความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ   ภับพิบัติหลายกรณีเปิดเผยให้เห็นบริบทและเงื่อนไขของการรวมตัวและกิจกรรมทางสังคมและการเมือง  กลุ่มทางสังคมต่างๆจะมีมาตรการและวิธีการจัดการกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่  ในทำนองเดียวกัน  ภัยพิบัติบางกรณีอาจส่งผลกระบทต่อกระบวนการทางเมืองในท้องถิ่น อาจนำการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาสู่ท้องถิ่น ทั้งในเรื่องการร่วมมือกันของคนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาจากภัยพิบัติ และการใช้อำนาจทางการเมืองในการฟื้นฟูท้องถิ่น   นอกจากนั้นการเกิดภัยพิบัติอาจทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้รับการทบทวนและแก้ไขใหม่

          การศึกษาเรื่องพฤติกรรมและการจัดระเบียบทางสังคมที่เกิดจากภัยพิบัติมักจะเชื่อว่าสังคมมีคำตอบและวิธีการแก้ปัญหาที่ชัดเจนและตายตัว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรทรัพยากรให้กับผู้ประสบภัย เพื่อให้คนเหล่านั้นพึงพอใจ    การศึกษาทางมานุษยวิทยาอธิบายว่าในยามที่สังคมตกทุกข์ได้ยาก และทรัพยากรขาดแคลน สังคมขนาดเล็กที่ยึดมั่นในประเพณีจะมีการทำลายระบบศีลธรรมแบบเก่าเพื่อให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่าเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบศีลธรรมที่ใช้แบ่งปันทรัพยากร    ในสังคมสมัยใหม่ เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น จะมีองค์กรต่างๆเข้าไปช่วยเหลือมากมาย ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น

          นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาความหมายและโลกทัศน์ทางวัฒนธรรม จะศึกษาบริบทและวิธีการสร้างความหมายเหล่านั้น ในสภาพที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับภัยร้ายแรง มนุษย์ต้องพบกับปัญหาที่ยากขึ้น  ภัยพิบัติทำให้มองเห็นเงื่อนไขทางวัฒนธรรมซึ่งนักมานุษยวิทยานำมาอธิบายความหมายของการสูญเสียและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากนั้นนักมานุษยวิทยายังศึกษาเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ของมนุษย์ เช่น ความเสียใจ ความโศกเศร้า และการไว้ทุกข์    การวิจัยเรื่องการสูญเสียที่อยู่อาศัยจะทำให้เข้าใจอัตลักษณ์ของชุมชนและปัจเจกบุคคล เนื่องจากมีการเปลี่ยนและแก้ไขที่อยู่อาศัย และทำให้เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคล ชุมชน และระหว่างวัฒนธรรมที่ต่างกัน

          แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการพัฒนา   ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระยะยาว เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจน้อยกว่าเรื่องการจัดการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อเกิดภัยพิบัติ แต่การเปลี่ยนแปลงระยะยาวเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญ นักมานุษยวิทยาสนใจการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมโดยอาศัยแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการและศึกษาแบบองค์รวม  ในทางโบราณคดี  การเกิดภัยพิบัติคือปรากฏการณ์ที่บ่งบอกให้รู้ว่ามีวัฒนธรรมแบบใดเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ   ถึงแม้ว่าการวิจัยเรื่องภัยพิบัติจะให้ภาพสังคมแบบประเพณีว่าเป็นสังคมที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากภัยต่างๆมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่สังคมนั้นตั้งอยู่  การวิจัยทางมานุษยวิทยาเปิดเผยให้เห็นความสามารถของคนในท้องถิ่นในการปรับตัวเมื่อเกิดภัยต่างๆ

          อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมอุตสาหกรรมเข้ามารุกล้ำสังคมประเพณี ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับสังคมประเพณีก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ข้อค้นพบทางมานุษยวิทยายังช่วยให้เข้าใจว่าภัยพิบัติต่างๆทำให้การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปเร็วมากขึ้น  ภัยพิบัติและการฟื้นฟูช่วยให้เกิดกลุ่มคนใหม่ๆเข้ามาในชุมชนด้วยเหตุผลทางการเมือง และเศรษฐกิจ คนเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และในเวลาเดียวกันก็อาจมีการปลุกระดมของชาวบ้านในการต่อต้านคนภายนอกเพื่อรักษาชุมชนของตนเองไว้  ความตึงเครียดดังกล่าวก็ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจในระยะยาว เช่นเดียวกับการปรับปรุงแก้ไขแนวทางและโครงสร้างการพัฒนา

          การจัดการเกี่ยวกับภัยพิบัติ และการวิจัยทางมานุษยวิทยาในโลกที่สาม เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน โดยมุ่งไปที่เรื่องการเข้าไปแสวงหาประโยชน์ของประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งมีการเปลี่ยนการปฏิบัติจากการตักตวงประโยชน์ไปสู่การพัฒนา  ทั้งนี้หันไปคำนึงถึงปัญหาของชุมชนก่อนที่จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้น  การเข้าไปฟื้นฟูแก้ไข เป็นเรื่องของการจัดการและเป้าหมาย ซึ่งอาจทำให้ชุมชนพบกับความเปลี่ยนแปลง หรือคงสภาพเดิมไว้   การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อใช้ฟื้นฟูบูรณะชุมชนเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาก 

          แนวคิดเรื่องอำนาจและการควบคุมทรัพยากร   นักมานุษยวิทยาหลายคนใช้แนวคิดเรื่องนิเวศน์วัฒนธรรมและความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจการเมืองมาอธิบาย การศึกษาภัยพิบัติเคยถูกมองด้วยแนวคิดทางภูมิศาสตร์ เช่น วาตภัย  แผ่นดินไหว หิมะถล่ม ความแห้งแล้ง เป็นต้น แต่ต่อมาการศึกษาก็สนใจในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสังคมมากขึ้น เช่น โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับสิ่งแวดล้อม บริบททางประวัติศาสตร์ เช่น การตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก เป็นต้น  ความเปราะบางต่อภัยร้ายแรงยังไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากชาวบ้านถูกมองในแง่ลบ แต่ชาวบ้านคือผู้ที่รู้จักสภาพแวดล้อมในชุมชนของตนเองดี  รัฐมีนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อชาวบ้าน แต่เป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น การทำเหมืองแร่  การตัดไม้ การชลประทาน การสร้างเขื่อน และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติมากขึ้น  นโยบายเศรษฐกิจของรัฐมีเป้าหมายเพื่อขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่นโยบายนี้ก็ทำอันตรายต่อสภาพแวดล้อม เช่น ทำให้ดินพังทลาย เกิดความแห้งแล้ง การทำลายป่า และทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม

          การวิจัยเรื่องภัยพิบัติจากประเด็นดังกล่าว ทำให้เกิดการวิเคราะห์ความสามารถของสังคมที่การรับมือต่อภัยพิบัติต่างๆ  ภัยร้ายแรงมีผลต่อการทำงานของมนุษย์ และผลเสียของภัยเกี่ยวข้องกับการที่มนุษย์เข้าไปใช้สิ่งแวดล้อมโดยตรง  นอกจากนั้น การพัฒนาต่างๆจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความพึ่งพาอาศัยจากบุคคลและชุมชน ซึ่งนำไปสู่การลดทอนความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติ  ความทุกข์ยาก ความแร้นแค้นต่างๆที่เกิดขึ้นในแอฟริกาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา กลายเป็นตัวอย่างของภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น  ความทุกข์ยากดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง  ในปัจจุบัน ภัยร้ายแรงต่างๆเกี่ยวข้องกับพัฒนาและการเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  การพัฒนาบางอย่างสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน โดยทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจ  การวิจัยภัยพิบัติอาจจะช่วยเปิดเผยให้เห็นความเกี่ยวข้องระหว่างระบบเศรษฐกิจกับสภาพแวดล้อม  ซึ่งอาจทำให้การวิจัยมุ่งไปสู่เรื่องการหาความเชื่อมโยงและเหตุผลของความทุกข์ยากแร้นแค้นของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ภัยพิบัติ (disaster) ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า แผ่นดินไหว เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์อย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดต่อร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สิน และในขณะเดียวกันยังสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนทั้งในระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภัยพิบัติต่าง ๆ จึงมีแนวโนมที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ในปี ค.ศ. 2004 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 คน หรือเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในไทย เมื่อปี พ.ศ. 2547 น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2554 และในระยะ 1-2 ปีหลังมานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยเผชิญกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า น้ำบ่า โคลนถล่ม หรือถึงปัญหาหมอกควัน

ท่ามกลางการเผชิญกับภัยพิบัติ มนุษย์ต่างพยายามจัดการและปรับตัวเพื่อบรรเทาบางบางผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ในระดับปัจเจก แต่การปรับตัวดังกล่าวยังเกิดขึ้นระดับชุมชน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเกิดภัยพิบัติ ที่สำคัญ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ย่อมมีวิธีคิดและรูปแบบในการรับมือกับภัยพิบัติไม่เหมือนกัน นักมานุษยวิทยาจึงสนใจศึกษาประสบการณ์และปฏิกิริยาที่ชุมชนต่าง ๆ มีต่อภัยพิบัติ เพื่อทำความเข้าใจลักษณะและแบบแผนซึ่งสามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบและนำมาพัฒนาข้อเสนอที่จะช่วยให้ชุมชนและประเทศมีศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติได้ดีขึ้น

การศึกษาภัยพิบัติในมิติทางสังคมวัฒนธรรมจึงวางอยู่แบบแนวคิดนิเวศวัฒนธรรม (cultural ecology) ซึ่งถือว่าความแตกต่างทางภูมินิเวศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าเขา ชายฝั่งทะเล หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำย่อมส่งผลต่อวิธีคิดและแบบแผนการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน เช่น บ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำมักก่อสร้างเป็นอาคารใต้ถุนโล่งเพื่อปรับตัวเข้ากับภาวะน้ำท่วม ในแง่นี้ปัจจัยทางนิเวศวัฒนธรรมจึงมีอิทธิพลต่อวิธีการรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันบริบทของความเป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เข้ามาเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องที่มีนัยสำคัญไปพร้อม ๆ กัน

ภัยพิบัติเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แบ่งออกเป็น ภัยพิบัติธรรมชาติ (natural disaster) หรือภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์ (man-made disaster) อย่างไรก็ดี ภยันอันตรายในธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ ซึ่งโดยทั่วไปภัยธรรมชาติอาจไม่ก่อความเสียหายอย่างรุนแรง แต่หากชุมชนหรือปัจเจกบุคคลมี “ภาวะเปราะบาง” (vulnerability) ดำรงอยู่ด้วยก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ภัยพิบัติสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรง เช่นเดียวกับ “ความเสี่ยง” (risk) ซึ่งหมายถึงโอกาสที่ชุมชนจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติในระดับต่าง ๆ กัน งานศึกษาทางมานุษยวิทยามักชี้ให้เห็นว่าความเปราะบางและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับภาวะไร้อำนาจต่อรองและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ชุมชนที่ไร้อำนาจจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติมากกว่า ดังนั้น การทำความเข้าใจภัยพิบัติในมุมมองทางมานุษยวิทยาจึงต้องทำความเข้าใจลักษณะทางกายภาพของภัยธรรมชาติ ประกอบกับภาวะเปราะบาง และความเสี่ยงของแต่ละชุมชนที่มีความเฉพาะเจาะจงทั้งในทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

การศึกษาภัยพิบัติในระยะหลังหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดพลังการฟื้นตัว (resilience) มากขึ้น ซึ่งสำนักงานบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Office for Disaster Risk Reduction) ของสหประชาชาติ ได้ให้นิยามว่าหมายถึง “ความสามารถของระบบชุมชนหรือสังคมที่จะรับมือ ต้านทานและฝ่าพ้นวิกฤตหรือภัยอันตราย รวมทั้งความสามารถในการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถธำรงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างและหน้าที่พื้นฐานให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในภายหลัง” พลังการฟื้นตัวสามารถแสดงออกมาใน 3 ระยะ ระยะแรก คือการรับมือกับภัยคุกคาม หากชุมชนมีพลังการฟื้นตัวดีจะสามารถลดผลกระทบหรือทำให้ภัยธรรมชาติไม่ขยายตัวเป็นภัยพิบัติ ส่วนระยะสอง คือการอยู่รอดและยืนหยัดฝ่าวิกฤติ ชุมชนที่มีพลังฟื้นตัวสามารถประคับประคองสถานการณ์ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านพ้นภัยโดยไม่ทำให้ระบบล้มเหลว ส่วนระยะสุดท้าย คือการฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ ชุมชนที่มีพลังพื้นตัวสามารถกลับมามีพละกำลัง เรียนรู้ ปรับตัว ลดภาวะเปราะบางเดิม และทำให้ชุมชนเข้มแข็งกว่าเดิมได้

การฟื้นตัวจากการเผชิญภัยพิบัตินั้นหมายรวมถึงการฟื้นตัวของระบบนิเวศและการฟื้นตัวของสังคมหรือชุมชน พลังการฟื้นตัวแบ่งออกเป็น พลังการฟื้นตัวที่เจาะจง (specific resilience) และพลังการฟื้นตัวทั่วไป (general resilience) สำหรับแบบแรกนั้นเป็นวิธีการที่จำเพาะต่อการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติแต่ละกรณี เช่น การสร้างพนังกั้นน้ำ การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับกู้ชีพ ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นที่มุ่งตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ขณะที่พลังการฟื้นตัวแบบหลังเป็นการสร้างศักยภาพพื้นฐานของชุมชนโดยรวม อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีความหลากหลายและยั่งยืน การใช้ที่ดินและการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การวางโครงสร้างระบบเตือนภัยและการอพยพ และการสร้างระบบเพื่อการฟื้นฟูชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

ในกรณีประเทศไทย จากการศึกษาของโกมาตร และคณะ (2562) พบว่าชุมชนที่มีพลังการฟื้นตัวที่ดีมีคุณลักษณะทั่วไป ดังนี้ 1.ผู้นำหรือองค์กรชุมชนที่ได้รับความยอมรับจากชุมชน 2.ความสามารถของผู้นำหรือองค์กรชุมชนในการคิดและจัดการเชิงระบบ 3.ความสามารถในการสร้างเครือข่ายและระดมทรัพยากรจากเครือข่าย 4.การมีข้อมูลและสามารถวิเคราะห์ภูมิศาสตร์กายภาพและนิเวศวัฒนธรรมของชุมชน 5.การมีความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ทุนเดิมที่ดีของสามาชิกในชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง 6.การมีความสามารถและทักษะที่หลากหลายของสมาชิกในชุมชน และ 7.การมีสำนึกต่อส่วนรวมที่ทำให้เกิดอาสาสมัครและจิดอาสาที่ทุ่มเททำงานเพื่อสาธารณะ

การจัดการภัยพิบัติในสังคมสมัยใหม่ไม่ได้เป็นเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ “รัฐ” ยังเป็นตัวแสดงที่มีอำนาจและมีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในการสร้างแบบแผนรับมือภัยพิบัติ ซึ่งโดยทั่วไปรัฐมักอาศัยผู้เชี่ยวชาญและความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การใช้ความรู้และวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยย่อมเป็นเรื่องดี แต่อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือดังกล่าวต้องมีความระมัดระวังและคำนึงถึงความรู้และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้จัดการภัยพิบัติร่วมด้วย ในบางกรณีพบว่าวิธีคิดของรัฐส่วนกลางมักเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และอาจสร้างช่องว่างหรือความขัดแย้งระหว่างความรู้ของผู้เชี่ยวชาญและความรู้ท้องถิ่น นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐจึงต้องคำนึงถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะเปราะบางและความเสี่ยงต่อกลุ่มคนต่าง ๆ ในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อาจเข้าไม่ถึงทรัพยากรและโอกาส

ภายใต้การจัดการภัยพิบัติในยุคปัจจุบันซึ่งมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับปัจจัยทั้งทางธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรม การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง รัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองและนโยบายที่มีลักษณะสั่งการจากบนลงล่าง (top-down) ที่สร้างภาพให้ผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเพียงเหยื่อผู้อ่อนแอ รอคอยสิ่งของบรรเทาทุกข์และการชดเชยค่าเสียหายเท่านั้น แต่รัฐควรตระหนักถึงศักยภาพและประสบการณ์การเผชิญภัยพิบัติของชุมชน และควรส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญและคนในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในการเผชิญกับภัยพิบัติในโลกร่วมสมัย


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และชัชชล อัจนากิตติ

เอกสารอ้างอิง:

Anthony Oliver-Smith. 1999. “What is a Disaster? Anthropological Perspectives on a Persistent Question.” In Susanna M. Hoffman and Anthony Oliver-Smith. (eds.)  The Angry Earth:  Disaster in Anthropological Perspective.  New York:  Routledge. 

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Compnay, New York. pp.347-351.

Platt, R., ed.  2000.  Disasters and Democracy: The Politics of Extreme Natural Events.  Washington, D.C.:  Island Press. 

Susanna M. Hoffman and Anthony Oliver-Smith. (eds.) 2002. Catastrophe & Culture

The Anthropology of Disaster. School for Advanced Research Press.

ADPC. 2006. Critical Guidelines, Community-Based Disaster Risk Management. Pathumtani: Asian Disaster Preparedness Center.

Alexander, D. 2008. Managing Hazards and Disasters: New Theories, New Imperatives The Portsmouth 2000 Distinguished Lecture in Hazard and Risk Management. U.K.: University of Portsmouth.

Oliver-Smith, A. 1996. Anthropological research on hazards and disasters. Annual review of anthropology, 25(1), (pp. 303-328)

UNISDR. 2004. Living with risk: A global review of disaster reduction initiatives. New York: United Nations Publications.

Walker, B. & Westley, F. 2011. Perspectives on resilience to disasters across sectors and cultures. Ecology and Society, 16(2).

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, สายพิณ ศุพุทธมงคล และคณะ. 2557. รายงานการวิจัยโครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. 2562. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการเรียนรู้-อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศ วัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน ปีที่ 2. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

 


หัวเรื่องอิสระ: ภัยพิบัติ, นิเวศวิทยาวัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อม