Doll
ในวัฒนธรรมของมนุษย์หลายแห่ง สามารถพบเห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าตุ๊กตาในหลายรูปแบบและมีหน้าที่ความหมายแตกต่างกันไป เมื่อประมาณ 2000 ปีก่อนคริสตกาล พบหลักฐานตุ๊กตาที่ทำจากไม้ในโลงศพของชาวอียิปต์โบราณ ในยุคกรีกโบราณ จะพบตุ๊กตาที่ทำจากดินเหนียว ในยุคโรมัน ตุ๊กตาจะทำจากวัสดุหลายประเภทเช่น ดิน ไม้และงาช้าง ซึ่งพบหลักฐานได้ในหลุ่มศพของเด็กชาวโรมัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า รูปปั้นขนาดเล็กที่มีรูปร่างเป็นสตรีอ้วนเกี่ยวข้องกับการใช้ประกอบพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (Fertility Ritual) เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงาม
นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าตุ๊กตาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์และทำหน้าที่หลายประการ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม ความเชื่อ ความคิด และสภาพแวดล้อม ในสังคมชนเผ่าอาจใช้ตุ๊กตาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเผ่า สัญลักษณ์ของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เด็กๆในชนเผ่าหลายแห่งจะมีตุ๊กตาประจำตัวเสมือนเป็นเทพเจ้าที่คอยคุ้มครอง ในสังคมชนพืนเมืองเผ่าโฮปีและซูนี ในอเมริกา มีการประดิษฐ์ตุ๊กตาที่ชื่อว่า “คาชีน่า” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณและอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตุ๊กตาคาชีน่าจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์และมีแบบแตกต่างกันไป ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ เช่น ดวงดาว พระอาทิตย์ ท้องฟ้า ลม ข้าวโพด เป็นต้น ชาวพื้นเมืองเชื่อว่าตุ๊กตาคาชีน่าจะช่วยทำให้เกิดผลที่คาดหวัง เช่น ช่วยทำให้ผนตก ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยปกป้องคุ้มครองชีวิต ทำให้ชีวิตเจริญเติบโต เป็นต้น
ชนเผ่าอาชันติในประเทศกาน่า จะมีการประดิษฐ์ตุ๊กตาที่เรียกว่า อะกัวบา ซึ่งทำจากไม้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีการประดิษฐ์ตุ๊กตาที่เก่าแก่ชื่อว่า “โดกุ” และ “ฮานีวะ” นอกจากนั้นชาวญี่ปุ่นยังมีการใช้ตุ๊กตาในพิธีกรรมต่างๆ เช่นตุ๊กตาดารุมะที่มีร่างกายสีแดงหน้าสีขาว ในวัฒนธรรมแม่มดหมอผีในยุโรปมีการประดิษฐ์ตุ๊กตาที่มีรูปร่างเหมือนคน ใช้เพื่อฝังเวทมนต์ลงไป ในสังคมเฮติมีการสร้างตุ๊กตาในเชิงไสยศาสตร์ เรียกว่า “วูดู” ในรัสเซียมีการทำตุ๊กตาที่เรียกว่า Matryoshka ทำจากไม้มีรูปร่างหลายขนาดและนำมาซ้อนกันเป็นชั้นๆ ตุ๊กตานี้มักจะทาสีและแต่งกายเป็นชาวนา
ในสังคมเมืองหรือสังคมอุตสาหกรรม ตุ๊กตาอาจมีไว้เพื่อคลายเหงา ตุ๊กตาจะเปรียบเสมือนเพื่อนหรือของเล่นยามว่างสำหรับเด็ก นักวิชาการเชื่อว่าในสังคมสมัยใหม่บทบาทของตุ๊กตาอาจมีความหมายมากกว่าการเป็นของเล่น อาจเป็นเครื่องบ่งบอกอัตลักษณ์ทางเพศ สร้างภาพลักษณ์ของความเป็นหญิงชาติ เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ คุณค่าของตุ๊กตาอาจมาจากราคาและยี่ห้อ ตุ๊กตาที่มีราคาแพงเช่น บาร์บี้ อาจเป็นตุ๊กตาในอุดมคติของเด็กผู้หญิง
อาจกล่าวได้ว่า ในแต่ละสังคม มนุษย์จะให้คุณค่ากับสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าตุ๊กตาต่างกันไป แต่สิ่งที่ตุ๊กตามอบให้ก็คือ การทำให้มนุษย์รู้จักตัวเองและสังคมที่มนุษย์ดำรงอยู่
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Forman-Brunell, Miriam. 2012. “Interrogating the Meanings of Dolls: New Directions in Doll Studies.” In Special Issue: Girls and Dolls. Edited by Miriam Forman-Brunell. Girlhood Studies 5.1 (26 June 2012): 3–13.
Schaafsma, Polly (Ed.). 1994. Kachinas in the pueblo world. Albuquerque, NM: University of New Mexico Press.
หัวเรื่องอิสระ: ตุ๊กตา