Dowry
ทรัพย์สินเดิมของฝ่ายหญิง(เจ้าสาว) ก่อนการสมรส หรือ dowry เป็นทรัพย์สินที่พ่อแม่หรือญาติของเจ้าสาวจะส่งให้กับลูกสาวในพิธีแต่งงาน ตามธรรมเนียมเดิม การส่งทรัพย์สินจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการแต่งงานครั้งแรก และทรัพย์สินนั้นจะถือเป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าสาวเท่านั้น ธรรมเนียมดังกล่าวนี้พบได้ในหลายวัฒนธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยให้ผู้หญิงที่แต่งงานมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นักมานุษยวิทยา แจ็ค กูดี้ ศึกษาเปรียบเทียบธรรมเนียมนี้ในหลายสังคมพบว่า ทรัพย์สินที่ให้เจ้าสาวสัมพันธ์กับแบบแผนการแบ่งแรงงานในสังคมเกษตรกรรม
แทมบายฮ์ เรียกทรัพย์สินนี้ว่า conjugal fund หรือ สมบัติจากการสมรส ซึ่งคู่แต่งงานจะนำไปใช้เพื่อสร้างครอบครัวและยังชีพ ทรัพย์สินนี้มิใช่เป็นค่าตัวของเจ้าสาว แต่การจ่ายค่าตัวของเจ้าสาวจะมาจากเจ้าบ่าว ค่าตัวเจ้าสาวจะมาจากเงินของญาติข้างเจ้าบ่าว เงินค่าตัวนี้จะส่งไปให้ญาติข้างพ่อของเจ้าสาวซึ่งอาจเป็นพี่น้องผู้ชาย และค่าตัวเจ้าสาวนี้ก็จะกลายเป็นทรัพย์สินของพี่น้องผู้ชายสำหรับนำไปใช้ในการแต่งงานของพวกเขาต่อไป
การจ่ายเงินค่าสินสอด ต้องทำทั้งฝ่ายชายและหญิง กล่าวคือญาติของเจ้าสาวต้องจ่ายสินสมรส ส่วนญาติของเจ้าบ่าวต้องจ่ายค่าตัวให้เจ้าสาว แต่การครอบครองสมบัติอาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย เพราะค่าตัวเจ้าสาวจะตกเป็นของญาติเจ้าสาวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คำอธิบายการแต่งงานแบบนี้อาจดูง่ายเกินไป เพราะในบางสังคมจะมีทั้งการจ่ายค่าตัวเจ้าสาวและให้ดอว์รีไปพร้อมกัน ในการจ่ายสินสมรสหรือเงินขวัญถุงให้เจ้าสาวมักจะเกิดขึ้นในชนชั้นสูง ส่วนการจ่ายสินสอดให้เจ้าสาวโดยเงินของเจ้าบ่าวจะเกิดขึ้นกับชนชั้นล่าง รูปแบบการเงินขวัญถุงและเงินสินสอดอาจขึ้นอยู่กับเหตุผลส่วนตัว เช่น ในบางครั้ง ญาติข้างเจ้าบ่าวจะส่งเงินทองให้ครอบครัวของเจ้าสาว ซึ่งเท่ากับเป็นการให้เงินเพื่อเป็นสมบัติจากการสมรส อาจกล่าวได้ว่าการให้สินสอดแก่เจ้าสาวด้วยเงินของเจ้าบ่าวเป็นการโยกย้ายทรัพย์สิน แต่การจ่ายเงินขวัญถุง เป็นการครอบครองสมบัติส่วนตัวสำหรับเจ้าสาว
ในบางกรณี เมื่อทรัพย์สินที่มาจากญาติของเจ้าสาวถูกส่งไปที่อื่น มิได้หมายความว่าทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของเจ้าสาวและเจ้าบ่าว แต่ตกเป็นของพ่อแม่และญาติพี่น้องของเจ้าบ่าว รูปแบบการจ่ายทรัพย์สินในกรณีนี้ คือการทำให้ดอว์รีเป็นการโยกย้ายสมบัติ แต่การจ่ายสินสอดให้เจ้าสาว เป็นการครอบครองสมบัติส่วนตัว การให้สินทรัพย์แก่เจ้าสาวเป็นรูปแบบการแต่งงานที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนัก จากการศึกษาสังคม 1,267 แห่งในหนังสือเรื่อง Ethnographic Atlas มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พบว่ามีธรรมเนียมนี้ การศึกษาของชเลเกล และอีลูล ในปี ค.ศ.1987 พบว่าสังคม 186 แห่งมีการแต่งงานที่จ่ายดอว์รีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการเกิดดอว์รีจึงไม่สม่ำเสมอ และมีเฉพาะในสังคมแถบเอเชียตะวันออก และเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้น ในสังคมดังกล่าว การจ่ายดอว์รีจะเกี่ยวข้องกับการที่ผู้หญิงต้องแต่งงานกับผู้ชายที่มาจากชนชั้นสูง หรือมีฐานะร่ำรวยกว่า
ดอว์รีคือทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นเงินทอง เพชรนิลจินดา เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์การยังชีพ สัตว์เลี้ยง และแม้แต่ทาส นอกจากนั้นยังอาจเป็นการใช้ที่ดินและที่อยู่อาศัยร่วมกับญาติข้างพ่อของเจ้าสาว ดอว์รีจึงอาจเป็นมรดกที่มอบให้กับลูกสาว และกลายเป็นสมบัติของเจ้าสาว กฎของการมีดอว์รีจึงมาจากการเล็งเห็นว่าเมื่อผู้หญิงเสียชีวิตลง หรือ หย่าจากสามี สมบัติจะต้องตกเป็นของผู้หญิง
นักมานุษยวิทยาหลายคนพยายามที่จะอธิบายการแต่งงานที่มีการจ่ายดอว์รี โดยถามว่าทำไมบางสังคมจึงมีการจ่ายดอว์รี ในขณะที่สังคมส่วนใหญ่ไม่มีธรรมเนียมนี้ การศึกษาของเอเวอลีน โบเซอรัพ (1970) พบว่าการเกิดขึ้นของดอว์รีมาจากเงื่อนไขของการแบ่งแรงงานในภาคเกษตรกรรมตามเพศ สังคมที่มีการจ่ายสินสอดให้เจ้าสาวมักจะเป็นสังคมที่ผู้หญิงต้องเป็นแรงงานในไร่นา และผู้หญิงต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจจากผู้ชาย และเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน โบเซอรัพทำนายว่าค่าตัวเจ้าสาว คือ การที่ผู้หญิงต้องดูแลรับผิดชอบชีวิตของตัวเองและลูกที่จะเกิดมา ส่วนการจ่ายดอว์รีคือการใช้เงินส่วนตัวของผู้หญิงเพื่อการยืนยันความมั่นคงในอนาคตสำหรับการเลี้ยงดูตนเองและลูกๆ โดยเฉพาะในกรณีที่เงินค่าตัวจากสินสอดมีจำกัด
อลิซ ชเลเกล และโรฮ์น อีลูล(1988) อธิบายว่าการแต่งงาน คือการสร้างกฎเกี่ยวกับการครอบครองสมบัติซึ่งแต่ละสังคมจะมีวิธีการต่างกัน กล่าวคือ การจ่ายค่าสินสอดให้เจ้าสาวจะเกิดขึ้นในสังคมที่ชุมชนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน หรือมีความเท่าเทียมกันในการใช้ทรัพยากร ตรงข้ามกับการจ่ายดอว์รี จะเกิดขึ้นในสังคมที่ยึดถือทรัพย์สินส่วนตัวเป็นหลัก ซึ่งครอบครัวจะเข้าไปจัดการทรัพย์สินเพื่อธำรงและรักษาฐานะและอำนาจทางสังคมของตนเอง ดอว์รีจะถูกจัดการโดยการสร้างพันธมิตรและการคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย การจ่ายดอว์รีจะช่วยให้ญาติพี่น้องของตนยังคงมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม
สตีเว่น เจ ซี กูลิน และเจมส์ เอส บอสเตอร์ (1990) นำแนวคิดเรื่องระบการจับคู่ของสัตว์มาอธิบาย โดยกล่าวว่าในสังคมของสัตว์ มีการแบ่งปันทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้เกิดการจับคู่ที่ไม่สมดุล และสัตว์ตัวหนึ่งอาจมีคู่ได้หลายตัว ในสังคมมนุษย์ ซึ่งมีการแบ่งช่วงชั้นที่ซับซ้อน และผู้ชายก็จะมีอำนาจและฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ความแตกต่างทางฐานะทำให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน ผู้ชายจะทำหน้าที่ควบคุมการใช้ทรัพยากร คำอธิบายดังกล่าวนี้อาจถูกในบางกรณี แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี ในสังคมที่มีการแบ่งช่วงชั้น จะมีกฎสำหรับให้บุคคลมีผัวเดียวเมียเดียว ส่วนในสังคมที่ผู้ชายมีฐานะใกล้เคียงกัน การจับคู่จะไม่เกี่ยวข้องกับการครอบครองทรัพยากร และผู้ชายจะไม่แข่งขันกันเพื่อเลือกคู่
แต่ในสังคมที่ผู้ชายมีฐานะต่างกัน ผู้ชายต้องเลือกคู่ให้เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของตน ผู้ชายที่ร่ำรวยไม่ต้องแข่งกับผู้ชายคนอื่น แต่ผู้หญิงที่เป็นภรรยาต้องแข่งขันกับผู้หญิงคนอื่นที่มาเป็นภรรยาโดยมีสามีคนเดียวกัน การมีภรรยาหลายคนไม่ได้ทำให้ผู้หญิงได้รับประโยชน์จากสามีที่ร่ำรวย ตรงข้ามกับสังคมที่มีกฎผัวเดียวเมียเดียว ฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่างกันมาจากกฎการห้ามมีภรรยาหลายคน ภรรยาของสามีที่ร่ำรวยไม่ต้องพบกับสภาวะแย่งชิงทรัพยากรกับภรรยาคนอื่นๆ ดังนั้นภรรยาจึงกลายเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจต่อสามี และการจ่ายดอว์รีก็จะเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้หญิงมีฐานะเท่าเทียมกับชาย
การศึกษาระบบการแต่งงานของโบเซอรัพ (1970) ชลีเกลและอีลูล(1988) และ กูลินและบอสเตอร์(1990) มีประเด็นร่วมกันบางอย่าง กล่าวคือ การศึกษาทั้งสามบ่งชี้ว่า ดอว์รีคือการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การศึกษาของโบเซอรัพ อธิบายว่าเมื่อผู้หญิงได้รับทรัพย์สินน้อย พวกเธอก็จะแข่งขันกับภรรยาคนอื่นๆเพื่อทำให้สามีเอาใจและเลี้ยงดูเธอ ส่วนการศึกษาของชลีเกล และกูลินก็ชี้ให้เห็นรูปแบบการแข่งขันที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะ อำนาจ หรือ โอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น
ทฤษฎีแต่ละแบบจะถูกตรวจสอบได้โดยการพิสูจน์ว่าดอว์รีจะเกิดขึ้นเฉพาะสังคมที่มีเงื่อนไขของตัวเองหรือไม่ เนื่องจากดอว์รีจะปรากฏขึ้นโดยสัมพันธ์กับกฎการมีผัวเดียวเมียเดียวและสังคมที่มีการแบ่งช่วงชั้นมากกว่าที่จะเกิดขึ้นกับสังคมที่ให้ความสำคัญกับสมบัติส่วนตัว หรือสังคมที่ผู้หญิงไม่ต้องทำงานในภาคเกษตรกรรม รูปแบบดังกล่าวนี้บอกให้ทราบว่าดอว์รีจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ต้องมีการแข่งขันเพื่อผู้หญิงจะได้ครอบครองสามีที่มีฐานะร่ำรวยและยึดกฎผัวเดียวเมียเดียว
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Anderson, S. 2007, "The economics of dowry and brideprice" in the Journal of Economic Perspectives, 21(4), pp. 151-174.
David Levinson ,Melvin Ember. (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996, pp.359-360.
Stevan Harrell and Sara A. Dickey, 1985. Dowry Systems in Complex Societies. Ethnology, Vol. 24, No. 2 pp.105-120.
Tambiah, Stanley J. 1989. "Bridewealth and Dowry Revisited: The posit of women in Sub-Saharan Africa and North India". Current Anthropology 30 (4): 426.
Tambiah, Stanley; Goody, Jack 1973. Bridewealth and Dowry. Cambridge UK: Cambridge University Press.
หัวเรื่องอิสระ: ทรัพย์สินของเจ้าสาว