คำศัพท์

Aging

       การมีอายุหรือวัยชรา  คือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน  โดยที่สังคมแต่ละแห่งมีการให้ความหมายต่อ “วัยชรา” แตกต่างกัน  กระบวนการแก่ชราทางร่างกาย เป็นการสร้างคำอธิบายที่พิจารณาจากความเสื่อมสภาพของสรีระของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของอายุยังเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาของการมีชีวิต ซึ่งสามารถตรวจวัดได้จากองค์ประกอบของร่างกายและแบบแผนของความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต  ถึงแม้ว่ากระบวนการแก่ชราจะเป็นเรื่องสากล แต่ในแต่ละสังคมก็มีความคิดที่ต่างกัน   ในแต่ละวัฒนธรรมมีนิยามของการมีชีวิตที่ต่างกัน มีการกำหนดโครงสร้างทางสังคมด้วยอายุและวัยที่ต่างกัน และมีการปฏิบัติต่อคนในวัยต่างๆไม่เหมือนกัน  นักมานุษยวิทยาคนแรกที่ศึกษาวัฒนธรรมของวัยชราในแต่ละสังคม คือ ลีโอ ซิมมอนส์ (1945) ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลวัยชราในสังคม 109 แห่ง เพื่อทำความเข้าใจว่าคนชราในแต่ละวัฒนธรรมถูกนิยามอย่างไร ความหมายของวัยชราในแต่ละวัฒนธรรมสัมพันธ์กับระบบความคิดและความเชื่อทางสังคมอย่างไร

การศึกษาของมาร์กาเร็ต คล้าก (1967) ชี้ให้เห็นว่าความชราเป็นเรื่องทางสังคม มิใช่เรื่องทางชีววิทยาเพียงอย่างเดียว เงื่อนไขทางวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญต่อการนิยามและการจัดการกับผู้สูงอายุในสังคม คุณค่าของวัยชราจะถูกมองในเชิงบวกหรือลบขึ้นอยู่กับทัศนคติ องค์ความรู้ และความสัมพันธ์ทางสังคม  อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกๆของการศึกษา นักมานุษยวิทยาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแบบแผนทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล ซึ่งอิทธิพลของทฤษฎีจิตวิเคราะห์มีผลต่อการอธิบายทางวัฒนธรรมค่อนข้างมาก คล้ากอธิบายว่าสังคมอุตสาหกรรมเช่นอเมริกา ปฏิบัติต่อคนชราด้วยระบบทุนนิยม ซึ่งการมีชีวิตอยู่ของคนชราต้องพึ่งพาเงินสวัสดิการมากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือจากครอบครัวและชุมชน ส่งผลให้คนชราในสังคมอเมริกันถูกดูแลจากพยาบาลและนักสังคมสงเคราะห์ เช่น ลูกหลานส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา เป็นต้น

          คริสทีน แอล ฟราย และเจนนี คีธ(1981) ศึกษาเรื่องการแก่ชราพบว่า  ความแก่ไม่ใช่เรื่องอายุแต่เป็นเรื่องของช่วงชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานที่เข้าไปกำหนดนิยามของชีวิตตั้งแต่เกิดถึงตาย    นิยามที่หลากหลายของช่วงชีวิตอาจพิจารณาจากบริบททางวัฒนธรรมที่สร้างนิยามเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ในวัยต่างๆ     ในสหรัฐอเมริกา  ช่วงชีวิตถูกนิยามด้วยอาชีพการงาน โดยบุคคลจะถูกนิยามตามลำดับขั้น เริ่มจากการเรียน การทำงานและปลดเกษียณ    ในสังคมไต้หวัน ช่วงชีวิตของบุคคลเปรียบเสมือนการเติบโตของต้นข้าว ตั้งแต่เริ่มหว่านเมล็ด การเจริญเติบโต การร่วงโรยและเน่าเปื่อยกลับไปสู่พื้นดิน  ชาวไต้หวันอธิบายช่วงชีวิตด้วยการเกิดแก่เจ็บตายของคนรุ่นหนึ่ง  และนิยามความเป็นชายหญิงด้วยการเติบโตของต้นข้าว ผู้หญิงเปรียบเสมือนเมล็ดข้าว

          ช่วงชีวิตจะถูกแบ่งเป็นขั้นต่างๆ เช่น วัยทารก วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ แต่ในหลายวัฒนธรรมอาจมีการแบ่งช่วงต่างกัน   ในเขตแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ เด็กๆจะถูกเลี้ยงในกลุ่มเพื่อน และทำให้บุคคลมีช่วงชีวิตเพียงสองช่วง คือช่วงที่อยู่กับพ่อแม่ และช่วงที่เติบโตและหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง  ในเขตแอฟริกาตะวันออก ผู้ชายจะทำหน้าที่เป็นนักรบ จากนั้นเมื่อมีอายุมากขึ้นจะทำหน้าที่ทางการเมืองและพิธีกรรม  ช่วงชีวิตยังเป็นตัวกำหนดบทบาทในครัวเรือน เมื่อผู้ชายหมดหน้าที่จากการเป็นนักรบ ก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้อาวุโส ในหลายสังคมจะมีการแบ่งผู้สูงอายุเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุรุ่นเยาว์ที่มีอายุ 60-80 ปี และผู้สูงอายุรุ่นอาวุโส มีอายุมากกว่า80 ปีขึ้นไป

          ฟราย(1980) ศึกษาเรื่องการให้นิยามช่วงชีวิตในสังคมอเมริกัน พบว่าชาวอเมริกันนิยามช่วงอายุตามสถานภาพการแต่งงาน การเป็นพ่อแม่และการอยู่อาศัย  ความคิดของคนอเมริกันต่อเรื่องอายุจึงมีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำงาน อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการสืบพันธุ์  กล่าวคือคนหนุ่มสาวที่ยังไม่ทำงานและคนสูงอายุที่ปลดเกษียณแล้วจะถือว่าเป็นพวกไม่มีงานทำ หรือเป็นบุคคลที่ต้องพึ่งคนอื่น   ปัจจัยเรื่องการทำงานและการสืบพันธุ์ถือว่าเป็นที่มาของนิยามช่วงชีวิตที่สำคัญในการอธิบายพัฒนาการของมนุษย์ในช่วงวัยต่างๆ  ในขณะที่การศึกษาของชารอน คอฟแมน(1986) สนใจประวัติและเรื่องเล่าของคนชรา ทำให้พบว่าความชราในสังคมอเมริกันเป็นเรื่องของตัวตน หมายถึง การนิยามตนเองเข้ากับความหมายของวัยชราที่สังคมสร้างขึ้น และการนิยามนี้ก็ทำให้คนชราอเมริกันรู้สึกกระวนกระวายใจ

          อายุเป็นเรื่องสำคัญในการนิยามความหมายของการเป็นผู้อาวุโส  แต่การนับช่วงอายุก็อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น การมีอายุมากซึ่งหมายถึงมีอาวุโส อาจไม่ใช่เรื่องของการมีอำนาจบารมี ทรัพย์สินเงินทอง ความเชี่ยวชาญ ความรู้ซึ่งอาจมาพร้อมกับวัยที่มากขึ้น  ทั้งนี้การมีอำนาจอาจมิใช่การมีอายุสูงขึ้น แต่ผู้สูงอายุบางคนเท่านั้นที่จะมีอำนาจเช่นนี้ได้   ผู้สูงอายุที่มีอำนาจหรือภูมิความรู้อาจเสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้งจากสังคม  ในประเทศเนปาล ผู้สูงอายุคือผู้ที่เก็บรักษาความลับเกี่ยวมรดกและสมบัติ เพื่อให้ลูกหลานเคารพยำเกรงและไม่ทอดทิ้ง ลูกหลานต้องเคารพผู้อาวุโส ต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัวและสืบทอดวงศ์ตระกูล

          ในสังคมอเมริกาเป็นสังคมที่มีสูงอายุมีบทบาทในทางการเมืองและอุตสาหกรรมสูง สมาชิกสภาพของสหรัฐส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่า 60 ปี แต่การเป็นผู้สูงอายุจะถูกมองว่าไร้ความสามารถและต้องพึ่งคนอื่น  ดังนั้นโชคของผู้สูงอายุอาจจะอยู่ที่การได้รับโอกาสในหน้าที่การงานที่ดี  ในบางสังคมการนับถืออาวุโสอาจไม่ได้อยู่ที่อายุ  แต่อาจขึ้นอยู่กับความเป็นคนต่างรุ่น      ในภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ผู้ที่เป็นลุงอาจมีอายุน้อยกว่าหลาน ทั้งนี้เนื่องจากระบบการนับญาติทำให้บุคคลถูกจัดประเภทให้อยู่ในฐานะของลุง  ในชนเผ่าทัลเลนซีในประเทศกาน่า  เด็กชายที่เกิดคนแรกในครอบครัวจะถือว่าเป็นผู้อาวุโสที่สุด และตระกูลของเด็กคนนี้ก็จะเป็นหัวหน้าเผ่า   อายุและความเป็นคนต่างรุ่นอาจเป็นที่มาของความอาวุโสที่ต่างกัน นอกจากนั้น การจัดแยกคนตามช่วงอายุอาจทำให้ลดความขัดแย้งได้

          ผู้สูงอายุจำนวนมากอาจสะสมทรัพย์สมบัติเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง และอาจมีการยกมรดกให้กับลูกหลาน  ในสังคมของชาวทัลเลนซี โชคชะตาของผู้เป็นพ่อและลูกชายคนโตอาจขัดแย้งกันเพราะพ่อต้องการรักษาอำนาจการเป็นผู้นำในครัวเรือน   การศึกษาของแอนโธนี พี กลาสค็อค(1986) พบว่าผู้สูงอายุในสังคมชาวโซมาลีที่เร่ร่อนสามารถควบคุมลูกชาย  และลูกชายที่เชื่อฟังก็จะได้รับมรดกที่มีค่าจากพ่อ  ผู้หญิงที่อาวุโสก็อาจมีอำนาจควบคุมผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า รวมทั้งลูกชาย  แต่อำนาจของผู้หญิงก็ยังมีจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่มีฐานะและทรัพย์สิน  ตำแหน่งของผู้หญิงอาวุโสในสังคมชนเผ่าจึงค่อนข้างต่ำกว่าผู้ชาย  เช่น ผู้หญิงมักจะยากจนและเป็นโรคชรา

          สิ่งที่ผู้สูงอายุมี ได้แก่ความเชี่ยวชาญและมีความรู้บางอย่าง เช่นการประกอบพิธีกรรม   ความเชี่ยวชาญอาจมาจากเรื่องความรู้ในที่ดิน งานทำงานฝีมือ การเล่านิทาน และประกอบพิธีกรรม  เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป การติดต่อสื่อสารข้ามชาติในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ทำให้ความรู้ของผู้สูงอายุหมดความสำคัญลงไป  อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมชนบทล่มสลายไป ระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นเปลี่ยนไป  การหันมาดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุอาจจำเป็นมากขึ้น   ความเจริญในยุคสมัยใหม่ส่งผลกระทบต่อฐานะของผู้สูงอายุและเป็นเรื่องที่นักมานุษยวิทยาต้องศึกษา  โดนัลด์ โอ คาวกิลล์และ แอล ดี โฮล์มส(1973)  อธิบายว่าสถานภาพของผู้สูงอายุในสังคมชนเผ่าจะมีสูงกว่าเมื่อเทียบกับสังคมสมัยใหม่   แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะได้รับการรื้อฟื้นฐานะให้ดีขึ้นเพราะเป็นผู้ที่เก็บสั่งสมความรู้ต่างๆไว้มากมาย

          ทุกๆสังคม ลูกหลานต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ   ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการสร้างสถานพยาบาลไว้คอยดูแลผู้สูงอายุ แต่สมาชิกในครอบครัวก็ยังมีบทบาทดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน   แต่ละสังคมจะมีวิธีการดูแลผู้สูงอายุต่างกันไป เช่น ในชนเผ่าซาเมียในประเทศเคนย่า  ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลโดยลูกหลานข้างๆกองไฟ  ในสังคมเร่ร่อน  ผู้สูงอายุจะช่วยลูกหลานหาอาหารในยามที่เกิดข้าวยากหมากแพง  ในสังคมอเมริกัน ลูกสาวจะทำหน้าที่เลี้ยงดูผู้สูงอายุ  ในญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางแห่ง ลูกชายคนโตจะทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่  การศึกษาทางมานุษยวิทยา สนใจเรื่องผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้ และวิธีการที่สังคมจัดการกับคนเหล่านี้จะเป็นอย่างไร  ในสังคมที่ไม่เห็นความสำคัญของคนสูงอายุอาจฆ่าคนเหล่านี้  จากการสำรวจสังคม 95 แห่ง พบว่ามี 21 เปอร์เซ็นต์ที่มีการฆ่าคนสูงอายุ วิธีการฆ่าอาจทำได้หลายวิธี เช่น ปลดให้อดอาหารตาย ปล่อยทิ้งไว้ไม่มีคนดูแล และฆ่าให้ตาย  อย่างไรก็ตาม ในสังคมที่เจริญแล้วก็อาจมีการฆ่าผู้สูงอายุ เช่นในโรงพยาบาลที่ยอมให้คนป่วยตายไปโดยไม่รักษา

          ในสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดาร เช่น ขาดแคลนอาหาร มักจะมีการฆ่าคนแก่ที่ไร้ประโยชน์   ในสังคมกึ่งเร่ร่อนอาจมีการฆ่าคนสูงอายุมากกว่าสังคมเร่ร่อนเต็มรูปแบบ เนื่องจากสังคมเร่ร่อนต้องการแรงงานในการขนย้ายสัมภาระไปในที่ต่างๆ    แต่สังคมที่กึ่งเร่ร่อน คนสูงอายุอาจเป็นภาระ  ในสังคมเกษตรกรรมก็อาจมีการฆ่าคนสูงอายุเช่นกัน    ปัจจัยในการฆ่าผู้สูงอายุไม่ได้อยู่ที่สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ แต่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสังคม ในสังคมที่มีการนับญาติข้างใดข้างหนึ่งมักจะไม่ค่อยมีการฆ่าผู้สูงอายุ เมื่อเทียบกับสังคมที่มีการนับญาติทั้งสองข้าง   เพราะสังคมที่นับญาติข้างเดียวสมาชิกในครัวเรือนจะครอบครองทรัพย์สินอย่างเดียวกัน แต่การศึกษาในเรื่องนี้จำเป็นต้องขยายความต่อไป

          นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องศึกษาเชิงเปรียบเทียบผู้สูงอายุในวัฒนธรรมต่างๆ   ประเด็นที่ยังไม่มีการศึกษา ได้แก่  คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การทำร้ายผู้สูงอายุ ความสามารถในเรื่องความจำของผู้สูงอายุ และอาการหลงลืมของผู้สูงอายุ   ประเด็นเรื่องความจำเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการรักษาทางการแพทย์มักจะเน้นเรื่องการสูญเสียความจำหรือความอ่อนแอทางร่างกายของผู้สูงอายุ    อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่าบทบาทของผู้สูงอายุในแต่ละวัฒนธรรมแตกต่างกัน ตั้งแต่สังคมที่ยกย่องผู้สูงอายุไปจนถึงทอดทิ้ง   ความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุยังต้องได้รับการดูแล โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ประเด็นผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องใหญ่  การศึกษาทางมานุษยวิทยาอาจเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายในด้านต่างๆที่มีต่อผู้สูงอายุ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Clark, Margaret. 1967. The Anthropology of Aging, a New Area for Studies of Culture and Personality. The Gerontologist 7 (1): 55-64.

Kaufman, Sharon. 1986. The ageless self: Sources of meaning in late life.

Madison, WI: University of Wisconsin Press.

Levinson, David and Ember, Melvin (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Vol.1.Henry Holt and Company, New York. Pp.27-30.

Perkinson, Margaret A. and Solimeo, Samantha L. 2013. “Aging in Cultural Context and as Narrative Process: Conceptual Foundations of the Anthropology of Aging as Reflected in the Works of Margaret Clark and Sharon Kaufman” in The Gerontologist Vol.54, No.1, 101-107.


หัวเรื่องอิสระ: วัยชรา