คำศัพท์

Dreaming

           นักมานุษยวิทยาสนใจประสบการณ์ของความฝันตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ซึ่งก่อนหน้านั้นการศึกษาเรื่องความฝันของมนุษย์จะถูกมองภายใต้แนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์และบุคลิกภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะในทศวรรษ 1960-1970 นักมานุษยวิทยาอเมริกันพยายามอธิบายความฝันในฐานะเป็นการแสดงของบุคลิกภาพ ซึ่งมีการนำทฤษฎีในหนังสือเรื่อง The Interpretation of Dream (1900) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ มาอธิบายความฝัน ในทางจิตวิทยา เชื่อว่าความฝันเปรียบเสมือนถนนที่มุ่งไปสู่ภาวะจิตไร้สำนึก และช่วยแยกให้เห็นความต่างระหว่างการแสดงออกทางพฤติกรรมกับเหตุการณ์ในความฝัน  การแสดงออกทางพฤติกรรมหมายถึงสภาวะที่บุคคลกำลังฝัน และเมื่อตื่นจากหลับ บุคคลก็จะจดจำความฝันและนำมาเล่าต่อ  มีความเห็นตรงกันว่าบุคคลกำลังปกปิดเรื่องราวบางอย่างขณะเล่าความฝัน  วิชาจิตวิเคราะห์ของคาร์ล จุง เชื่อว่าสัญลักษณ์ของความฝันจะเปิดเผยให้เห็นสภาพจิตไร้สำนึกของบุคคล  การทำนายฝันเป็นเครื่องมือสื่อสารความฝันอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ต้องการรู้ว่ามีความหมายอะไรซ่อนอยู่ในความฝัน 

          ในสังคมตะวันตก ความฝันถูกอธิบายด้วยจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีความฝันของตะวันตกอธิบายว่าความฝันเป็นสิ่งที่ไม่ดี และเป็นความคิดประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะหลับ   เช่น เด็กๆมักจะกลัวการฝันร้าย และพ่อแม่ต้องอธิบายปลอบใจว่ามันเป็นเพียงความฝัน  ตัวอย่างนี้สะท้อนว่าความฝันถูกอธิบายในมิติสังคม  ลอริสตัน ชาร์ป นักมานุษยวิทยาที่ทำวิจัยในชนเผ่า Yir Yoront ซึ่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย  อธิบายว่าความฝันเป็นเรื่องธรรมชาติ  ไม่มีใครที่จะทุกข์ทรมานเพราะความฝัน และไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ความฝันเกิดขึ้นใหม่ได้   เรื่องราวในความฝันจะบ่งบอกเหตุการณ์ในอนาคตของผู้ที่ฝัน ในหลายวัฒนธรรม ความฝันจะสัมพันธ์กับเรื่องอนาคต อำนาจเหนือธรรมชาติและวิญญาณของบรรพบุรุษ

          นักมานุษยวิทยาหลายคนนำทฤษฎีความฝันของนักจิตวิทยาไปศึกษาบุคลิกภาพของมนุษย์  เช่น การศึกษาของโรเบิร์ต เลอไวน์(1966) ในสังคมชนเผ่าอีโบ ,โยรูบา และฮูซ่า ในประเทศไนจีเรีย เพื่อศึกษาเรื่องแรงจูงใจที่บุคคลต้องการความสำเร็จในชีวิต ความนับหน้าถือตา และการได้รับสถานะที่สูงขึ้น  ชนเผ่าอีโบให้ความสำคัญกับเรื่องการเลื่อนฐานะทางสังคม และความสำเร็จในหน้าที่การงาน  ความฝันของชาวอีโบจึงถูกตีความไปในเรื่องทำนองนี้มาก  นักมานุษยวิทยานำทฤษฎีความฝันของนักจิตวิทยามาอธิบายเพื่อทำความเข้าใจชาวบ้านและวัฒนธรรมที่ศึกษา

          ทฤษฎีเรื่องจิตใจคือรากฐานของทฤษฎีความฝัน ทฤษฎีนี้เชื่อว่าความฝันคือสภาวะจิตใจที่แยกเป็นอิสระในขณะหลับ  เซอร์เอ็ดเวิร์ด เบอร์เน็ตต์ ไทเลอร์ (1873) อธิบายว่าประสบการณ์เกี่ยวกับความฝันคือที่มาของความเชื่อ ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน  เช่น เมื่อคิดถึงความเป็นคน เราก็จะคิดถึงรูปร่างหน้าตาของคนซึ่งจะปรากฏอยู่ในความฝันและความนึกคิด  มนุษย์ในยุคโบราณคิดว่าคนแต่ละคนประกอบด้วยสิ่งสำคัญสองอย่าง คือ ชีวิตและภูตผี  ความสัมพันธ์เชิงรูปธรรมระหว่างความฝันและความนึกคิด เห็นได้ตชจากความคิดของชนเผ่าเมฮินากู ซึ่งเชื่อว่าในดวงตาของมนุษย์มีวิญญาณสิงอยู่ เรียกว่า Iyeweku  วิญญาณชนิดนี้เป็นแบบจำลองขนาดเล็กของวิญญาณของคนๆนั้น  วิญญาณนี้จะเคลื่อนไปในเวลากลางคืนและท่องเที่ยวอยู่ในบ้านร่วมกับวิญญาณของคนอื่นๆ  เมื่อวิญญาณต่างๆมาพบกันก็จะเกิดสำนึกที่เรียกว่าความฝัน

          ทฤษฎีเกี่ยวกับความฝันมีความแตกต่างหลากหลายและสัมพันธ์กับความคิดเรื่องตัวตน  การเปรียบเปรยความฝันว่าเป็นเหมือนเงา เป็นลมหายใจ หรือเป็นสสารที่มีตัวตน แสดงให้เห็นว่าความฝันมีตัวตนจริง  อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในหลายวัฒนธรรมมีความแตกต่างกัน   ทฤษฎีความฝันมักจะพูดถึงเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับข่าวสารที่ส่งมาจากพระเจ้าหรือวิญญาณ เช่นความเชื่อในยุคกรีก ศาสนาคริสต์ และพุทธ นอกจากนั้นความฝันยังหมายถึงความนึกคิดหรือการมีสติ เทียบเท่าในขณะตื่น แต่เป็นความคิดแบบภาพหลอน 

          ทฤษฎีความฝันในสังคมชนเผ่า ทำให้ความจริงเป็นเรื่องสับสน เพราะเชื่อว่าความฝันเกิดขึ้นนอกร่างกายมนุษย์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติและตรงข้ามกับโลกทางความคิด     ชนเผ่าเม เอ็นก้าในปาปัวนิวกินีเชื่อว่าความฝันเป็นสิ่งที่มีตัวตนจริงและจับต้องได้      เอ็ม เจ เม็กกิตต์ อธิบายว่าชาวเม เอ็นก้าคิดว่าความฝันไม่ได้เกิดในตัวบุคคล แต่ตัวบุคคลจะเข้าไปอยู่ในความฝัน    แต่ริชาร์ด เอ ชเวเดอร์ และโรเบิร์ต เอ เลอไวน์(1976) อธิบายว่าชาวฮูซ่า ในประเทศไนจีเรียมีความสับสนระหว่างความฝันกับความจริง   ถึงแม้ว่าจะมีทฤษฎีที่อธิบายว่าความฝันคือเรื่องที่พิสูจน์ได้ แต่เด็กๆชาวฮูซ่า เชื่อว่าเหตุการณ์ในความฝันไม่ใช่ความจริง  เพราะพิสูจน์ไม่ได้ในชีวิตประจำวัน

          ลักษณะรูปธรรมของความฝันในสังคมพื้นบ้าน เชื่อว่าความฝันคือสิ่งที่มีเหตุผล และการตีความเกี่ยวกับความฝันก็ต้องตีความจากเรื่องราวในท้องถิ่น  ความฝันอาจจะเป็นลางบอกเหตุของอนาคต หรืออาจเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  อย่างไรก็ตาม ความฝันจะไม่ถูกอธิบายเป็นตัวหนังสือ  ในหลายวัฒนธรรมจะมีผู้รู้และผู้ทำนายความฝัน หรืออาจมีความเชื่อว่าความฝันคือสัญลักษณ์ที่มีความหมายบางอย่างต่อผู้ที่ฝัน  สัญลักษณ์ของความฝันจะถูกตีความโดยคำเปรียบเปรยเพื่อเปิดเผยให้เห็นความหมายที่ซ่อนอยู่  ตัวอย่างเช่น ในสังคมเผ่าเมฮินากู การฝันถึงมดบินได้ จะหมายถึงญาติพี่น้องในบ้านจะเสียชีวิต  มดจึงเป็นสัญลักษณ์ของน้ำตาของคนตาย  นอกจากนั้น มดยังมีช่วงชีวิตสั้น การฝันถึงมดจึงเป็นการฝันถึงความตาย   การตีความความฝันอาจซับซ้อนมากขึ้น เช่น ความฝันอาจบ่งบอกสิ่งตรงกันข้าม  ในสังคมเผ่าอีโรคัวส์ คนที่มีความฝันหมายถึงคนที่มีญาณวิเศษ และคนที่ทำนายความฝันได้จะเปรียบเสมือนนักจิตวิเคราะห์

          นักมานุษยวิทยาหลายคนนำทฤษฎีความฝันของนักจิตวิทยาไปศึกษาบุคลิกภาพของมนุษย์  เช่น การศึกษาของโรเบิร์ต เลอไวน์(1966) ในสังคมชนเผ่าอีโบ ,โยรูบา และฮูซ่า ในประเทศไนจีเรีย เพื่อศึกษาเรื่องแรงจูงใจที่บุคคลต้องการความสำเร็จในชีวิต ความนับหน้าถือตา และการได้รับสถานะที่สูงขึ้น  ชนเผ่าอีโบให้ความสำคัญกับเรื่องการเลื่อนฐานะทางสังคม และความสำเร็จในหน้าที่การงาน  ความฝันของชาวอีโบจึงถูกตีความไปในเรื่องทำนองนี้มาก  นักมานุษยวิทยานำทฤษฎีความฝันของนักจิตวิทยามาอธิบายเพื่อทำความเข้าใจชาวบ้านและวัฒนธรรมที่ศึกษา


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Bourguignon, Erika E. 1972. Dreams and altered states of consciousness in anthropological research. In Psychological anthropology. 2d ed. Edited by Francis L. K. Hsu, 403–434. Homewood, IL: Dorsey.

Bulkeley, Kelly, ed. 2001. Dreams: A reader on religious, cultural and psychological dimensions of dreaming. New York: Palgrave Macmillan.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.361-362.

Galinier, Jacques, Aurore Monod Becquelin, Guy Bordin, et al. 2010. Anthropology of the night: Cross-disciplinary investigations. Current Anthropology 51:819–847.

Tedlock, Barbara, ed. 1987. Dreaming: Anthropological and psychological interpretations. Cambridge, UK: Cambridge Univ. Press.

Tedlock, Barbara. 1991. The new anthropology of dreaming. Dreaming 1:161–178.


หัวเรื่องอิสระ: ความฝัน