คำศัพท์

Economic Anthropology

        มานุษยวิทยาเศรษฐกิจคือการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งนักมานุษยวิทยามาลีนอฟสกี้ได้อธิบายไว้ในเรื่อง Argonauts of the Western Pacific (1922) โดยชี้ให้เห็นเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนของมีค่าของชนพื้นเมืองในเขตหมู่เกาะทรอเบียนด์ มาลีนอฟสกี้เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนนี้สะท้อนความอยากได้ทรัพย์สินเงินทองของปัจเจกบุคคล เพราะบุคคลจะคาดหวังว่าเมื่อนำของมีค่าไปแลกแล้วจะต้องได้รับสิ่งมีค่ากลับคืนมาแบบเท่าเทียมกัน ในขณะที่ มาร์เซล มอสส์ได้เสนอความคิดเรื่องการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน หรือ reciprocity ในหนังสือเรื่อง The Gift (1925) เพื่อทำความเข้าใจกิจกรรมทางเศรษฐกิจในฐานะเป็นวิธีการสร้างพลังของกลุ่ม การแลกเปลี่ยนจะเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมที่คนต่างกลุ่มจะเชื่อมสัมพันธ์กันโดยนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยน

          มาร์แชลล์ ซาห์ลินส์ (1972) อธิบายเพิ่มเติมว่ารูปแบบของการแลกเปลี่ยนของมีค่าแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ หนึ่งการแลกเปลี่ยนแบบเท่าเทียมกัน (Symmetrical reciprocity)   หมายถึง การให้สิ่งของผู้อื่น และผู้อื่นจะให้สิ่งของกลับคืนมาด้วยจำนวนและมูลค่าเท่ากัน สอง การแลกเปลี่ยนแบบไม่เท่าเทียม (Negative reciprocity) หมายถึง การแลกเปลี่ยนสิ่งของวัตถุหรือสินค้าที่แต่ละฝ่ายคาดหวังผลกำไรที่เพิ่มขึ้น

          คำว่า economics และ economy  เป็นคำที่มาจากศัพท์ภาษากรีก คำว่า oikonomia หมายถึง ศิลปะการจัดระเบียบในครัวเรือน ( oikos แปลว่าครัวเรือน  nomos แปลว่ากฎระเบียบ)   คำนี้ต่างไปจากคำว่า chrematistike หมายถึง ศิลปะการหาเงิน ซึ่งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์   ความคิดของกรีกเรื่องศิลปะการจัดระเบียบในครัวเรือน หมายถึงการทำงานเพื่อทำให้หน่วยทางสังคมดำรงอยู่ได้  คุณลักษณะนี้นำไปอธิบายการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจในสังคมอื่นๆที่มิใช่สังคมอุตสาหกรรม และยังไม่รู้จักระบบเงินตรา

          แนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์ กับ เศรษฐกิจมีความต่างกัน  กล่าวคือเศรษฐกิจคือแบบแผนของกิจกรรมที่มีเป้าหมายเป็นผลตอบแทนทางวัตถุ  ส่วน เศรษฐศาสตร์คือแนวคิดทฤษฎี หรือสมมุติฐานเพื่อใช้สำหรับวิเคราะห์กิจกรรมที่หวังผลตอบแทน  ทุกๆสังคมจะมีระบบความคิดเพื่อแยกประเภท และให้คำปรึกษาในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ     ความคิดเรื่องเศรษฐกิจของอริสโตเติล เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบคุณค่าที่ยุติธรรม และการทำให้ชุมชนอยู่รอด  ซึ่งสะท้อนแบบแผนเชิงอุดมคติของสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 4    ข้อสมมุติฐานของโทมัส อควินัสในเรื่องเศรษฐกิจ  สะท้อนมาจากสถาบันสังคมในยุคกลาง โดยเฉพาะสังคมฟิวดัลและศาสนจักร    อดัม สมิธ เขียนหนังสือเรื่อง Wealth of Nations   อธิบายว่าการแลกเปลี่ยน การแสวงหาผลประโยชน์ และความสมดุลทางสังคมของมนุษย์  เป็นผลมาจากการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งพบได้ทุกวัฒนธรรมและทุกสมัยหรือไม่ หรือว่าเป็นวิธีคิดที่เกิดขึ้นในวัฒนะรรมและประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมในอังกฤษเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม ความคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจได้รับการวิพากษ์วิจาณ์อย่างกว้างขวางทั้งในสาขามานุษยวิทยาและเศรษฐศาสตร์ตะวันตก  เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่อ้างว่า เศรษฐกิจคือกระบวนการแบ่งปันทรัพยากรภายใต้สภาวะที่ขาดแคลน และยังหมายถึงการทำให้มนุษย์ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะการกระทำของมนุษย์คือการหวังผลกำไรจากทรัพยากรที่มีจำกัด ซึ่งจะถูกใช้ไปโดยวิธีต่างๆ    การศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์  เป็นการอธิบายข้อจำกัดเพื่อจะทำให้มันเกิดผลประโยชน์ตามกลไกราคาและระบบตลาด     แนวคิดแบบ formalist อธิบายระบบกลไกราคา ต้นทุน การให้สินเชื่อ และผลกำไร ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายพฤติกรรมที่มีเหตุผลของมนุษย์ เพื่อทำให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด  ส่วนแนวคิดแบบ substantivist   ปฏิเสธแบบแผนการวิเคราะห์ที่เกิดจากระบบทุนนิยม และเงินตราที่ไม่อาจนำไปอธิบายสังคมชนเผ่าได้ นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่จะมองกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแบบ substantivist

       นักมานุษยวิทยามาร์กซิสต์วิเคราะห์ลักษณะทางเศรษฐกิจด้วยความคิดแบบ substantivist  โดยกล่าวว่ากระบวนการผลิตไม่อาจแยกจากความสัมพันธ์ทางสังคมได้  อย่างไรก็ตาม ในขณะที่แนวคิดที่เชื่อลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมจะให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากร และเชื่อว่าสถาบันทางสังคมเป็นตัวควบคุมรูปแบบทางเศรษฐกิจ  แต่การศึกษามานุษยวิทยาแนวมาร์กซิสต์ กลับสนใจวิเคราะห์กระบวนการผลิต   แนวคิดแบบ substantivist  ไม่เชื่อว่าพฤติกรรมทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเองตามลำพัง  ส่วนแนวคิดมาร์กซิสต์ไม่เชื่อว่าการกระทำทางเศรษฐกิจจะแยกมาพิจารณาได้โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขอื่น    ดังนั้นจึงมีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในการผลิต การจัดสรรทรัพยากร และผลผลิตส่วนเกินที่พบในสังคมประเพณี โดยใช้แนวคิดเรื่อง “วิถีการผลิต” มาอธิบาย โดยเชื่อว่ากระบวนการผลิตประกอบด้วยการใช้เทคโนโลยีและความสัมพันธ์ทางสังคม  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการศึกษาแบบมานุษยวิทยามาร์กซิสต์


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Graeber, David 2001. Toward an anthropological theory of value: the false coin of our own dreams. New York: Palgrave.

Gudeman, Stephen 2001. The Anthropology of Economy: Community, Market, and Culture. Blackwell publishers.

Halperin, Rhoda H. 1982. "New and Old in Economic Anthropology" American Anthropologist 84(2): 339-349.

Mauss, Marcel 1970. The Gift: Forms and Functions of Exchange in Archaic Societies. London: Cohen & West.

Robert H. Wintrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.87-89.

Sahlins, Marshall (1972). Stone Age Economics. Chicago: Aldine-Atherton.

Wilk, R. 1996. Economies and Cultures: Foundations of Economic Anthropology. Westview Press.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาเศรษฐกิจ