Emic / Etic
Emic หมายถึงวิธีคิดของชาวบ้าน ส่วน Etic หมายถึงความคิดและการตีความของนักมานุษยวิทยา ความคิดสองแบบนี้จะเกิดขึ้นในกระบวนการศึกษาของนักมานุษยวิทยา วิธีคิดที่ชาวบ้านใช้อธิบายโลกและชีวิตของตัวเองอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกับการตีความที่นักมานุษยวิทยา ใช้อธิบายวัฒนธรรมของชาวบ้าน เพราะนักมานุษยวิทยาอาจใช้ทฤษฎีบางอย่างวิเคราะห์วัฒนธรรมของมนุษย์ แต่ชาวบ้านอาจมีวิธีคิดต่อวัฒนธรรมของตัวเองต่างออกไปจากทฤษฎี ความคิดแบบคนในหรือชาวบ้าน กับความคิดแบบคนนอกหรือนักวิชาการจึงเป็นสิ่งที่ต้องถูกทบทวน
ความแตกต่างระหว่างความรู้แบบชาวบ้านและความรู้แบบวิชาการ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของความรู้ที่ได้จากการวิจัยสนาม และวิธีการศึกษาที่เหมาะสมที่จะได้ข้อมูลทางวัฒนธรรมมาใช้ คำถามนี้มีความสำคัญมาก กล่าวคือ ข้อมูลทางชาติพันธุ์ที่ได้มา เป็นความคิดของนักวิจัยหรือของชาวบ้าน และเป้าหมายการศึกษาทางมานุษยวิทยาคือการค้นหากฎสากลทางสังคม หรือว่าเป็นการอธิบายและตีความปรากฏการณ์วัฒนธรรมที่ต่างออกไป
มาลีนอฟสกี้ (1922) อธิบายว่าเป้าหมายของนักมานุษยวิทยาก็คือการทำความเข้าใจความคิดของคนพื้นเมือง รวมทั้งวิถีชีวิตและการมองโลกของคนพื้นเมือง ฟรานซ์ โบแอส อธิบายว่า ถ้าเป้าหมายของนักมานุษยวิทยาคือการทำความเข้าใจความคิดของมนุษย์โดยการศึกษาประสบการณ์ต่างๆ จำเป็นต้องเข้าใจความคิดของคนพื้นเมือง มิใช่ความคิดของตัวเอง การศึกษาแบบสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในทางชาติพันธุ์สะท้อนให้เห็นว่าการเข้าใจความคิดของชาวบ้านต้องทำอย่างซื่อสัตย์ มาร์วิน แฮริส อธิบายว่าความรู้แบบวิชาการมีความลำเอียงไปสู่ลักษณะอุดมคติ ซึ่งเน้นย้ำความเป็นเอกลักษณ์ของระบบวัฒนธรรม มองข้ามความขัดแย้ง และยึดถือกฎสากลทางวัฒนธรรม ความรู้แบบวิชาการอาจจะเกิดจากความลำเอียงของนักวิชาการที่เลือกใช้ทฤษฎีบางอย่างไปวิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้าน ซึ่งทฤษฎีเหล่านั้นอาจตีความความคิดของชาวบ้านต่างไปจากสิ่งที่ชาวบ้านคิดและปฏิบัติ
อาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะใช้ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งไปวิเคราะห์และเปรียบเทียบวัฒนธรรมของมนุษย์ซึ่งแต่ละที่ล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้ทฤษฎีเป็นคำตอบเพื่อที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งหมดอาจนำไปสู่ปัญหาการลอดทอนความซับซ้อนและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน เช่น การมองหาโครงสร้างของพิธีกรรมและประเพณีของมนุษย์ นำไปสู่การมองว่ามนุษย์ทุกวัฒนธรรมมีวิธีคิดในการสร้างพิธีกรรมแบบเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม การทำความเข้าใจวิธีคิดของชาวบ้าน จะสนใจว่ามนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมจะให้ความหมายต่อพิธีกรรมไม่เหมือนกัน
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Harris, Marvin 1976, "History and Significance of the Emic/Etic Distinction", Annual Review of Anthropology 5: 329–350.
Headland, Thomas; Pike, Kenneth; Harris, Marvin (eds) 1990, Emics and Etics: The Insider/Outsider Debate, Sage.
Robert H.Winthrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York.pp.91-93.
หัวเรื่องอิสระ: วิธีคิดของชาวบ้านและวิธีคิดของนักวิชาการ