Ethnicity
คำว่า ethnicity หมายถึงความเป็นกลุ่มทางชาติพันธุ์ที่สมาชิกในกลุ่มจะมีวัฒนธรรมและการแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีขนบธรรมประเพณี ภาษา ศาสนา ความเชื่อ การแต่งกาย หรือการทำมากินแบบเดียวกัน คำว่า ethnic มาจากภาษากรีกคำว่า ethnos หมายถึงกลุ่มคนที่มีขนบธรรมเนียมเดียวกัน คำนี้ปรากฏในภาษาอังกฤษในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยใช้อธิบายประเทศที่มิใช่ชาวยิวหรือคริสเตียน เช่นพวกคนป่า หรือไม่มีศาสนา ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำนี้ใช้อธิบายความหมายที่ใกล้เคียงกับเชื้อชาติ และประเทศ ความหมายของ ethnicity จึงหมายถึงกลุ่มชนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 20
ในทศวรรษที่ 1970 นักมานุษยวิทยายังคงทำการวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชนต่างๆโดยยังไม่มีการตั้งคำถามต่อความหมายของ ethnicity แนวคิดสำคัญในการศึกษามานุษยวิทยาจิตวิทยาในอเมริกา ก็คือเรื่องบุคลิกภาพประจำชาติ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 แต่ปัจจุบัน ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงมากขึ้น ethnicity อาจหมายถึงส่งบ่งบอกหรือเครื่องหมายทางสังคม เพื่อใช้แสดงความแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆที่อาศัยอยู่ร่วมกัน และมีการติดต่อระหว่างกัน การสร้างความแตกต่างทำได้หลายวิธี รวมทั้งความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ การทำมาหากิน ศาสนา ภาษา การแต่งกายและอาหาร อย่างไรก็ตาม ethnicity บ่งชี้ให้ทราบว่ามีความแตกต่างกันทางสังคมและวัฒนธรรม แต่ความต่างนี้มิใช่เรื่องของชนชั้นฐานะ มิใช่การมีอายุที่ต่างกัน และมิใช่กลุ่มตระกูลที่ต่าง กัน แต่ เป็นความต่างของขนบธรรมเนียมประเพณี การมีประวัติศาสตร์ของกลุ่มที่ต่างกัน และมีเอกราชทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง
ปรากฏการณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง เช่นกลุ่มพาธาน กลุ่มโคฮิสตานิส และกูจาร์ในประเทศปากีสถาน ชนเผ่าเพบโบรส์ นาวาโฮ ฮิสพานิค และแองกอสในนิวเม็กซิโก หรือเชื้อชาติลิธัวเนียน โปล เยอรมัน รัสเซียน ยิว ตาตาร์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศลิธัวเนีย เป็นต้น การแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์อาจกลายเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช เช่น ในทศวรรษที่ 1970-80 ความต้องการอิสรภาพชาวบาสค์ในสเปน ชาวควิเบคในแคนาดา ชาวทมิลในศรีลังกา และชาวซิกส์ในอินเดีย
การศึกษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยต่อระเบียบวิธีวิจัยและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา เช่น ข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับการชี้นำทางวัฒนธรรม การผสมผสานวัฒนธรรม ตัวตนทางวัฒนธรรม ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ฯลฯ คำถามข้างต้นทำให้การศึกษาทางมานุษยวิทยาแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งเป็นการศึกษาที่เน้นดำรงอยู่ของวัฒนธรรม ซึ่งสนใจรากเหง้าแก่นแท้ โดยเชื่อว่าความเป็นชาติพันธุ์สืบทอดกันทางสายเลือด อีกสายหนึ่งศึกษาเรื่องการปรับตัว ข้อถกเถียงต่างๆ สนใจประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่มีอยู่ดั้งเดิมของกลุ่มชน ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ (primordialism) หรือไม่ก็สนใจวิธีจัดการกับอัตลักษณ์เพื่อให้กลุ่มดำรงอยู่ได้ เช่น การต่อสู้ทางการเมืองที่กลุ่มคนออกมารื้อฟื้นและสร้างอัตลักษณ์ (constructivism) สายที่เชื่อในตัวตนดั้งเดิมของวัฒนธรรม ได้แก่ คลิฟฟอร์ด เกิร์ตซ กล่าวว่าองค์ประกอบของสายเลือด ภาษา ประเพณี และอื่นๆเป็นสิ่งที่ทำลายไม่ได้ และในบางครั้งมันอาจมีพลังและถูกใช้เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่ม เฟรดริค บาร์ธอธิบายว่าอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไม่ได้สร้างมาเพื่อหวังให้แตกต่างจากคนอื่น แต่มันถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนที่คิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขา ในขณะที่สายที่เชื่อในการปรับตัวอ้างว่าปัญหาการวิจัยมิได้เป็นเรื่องของการจัดประเภทวัฒนธรรม หรือการก่อร่างของวัฒนธรรม แต่ปัญหาอยู่ที่การทำความเข้าใจกระบวนการที่อัตลักษณ์และพรมแดนชาติพันธุ์ถูกสร้าง ถูกจรรโลง และปรับเปลี่ยนแก้ไข
อย่างไรก็ตาม สายที่เชื่อเรื่องการปรับตัวก็ยังมีจุดอ่อน ดั่งที่แกรี โคเฮน ตั้งคำถามว่าถ้าการทำให้อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์เข้มแข็งหรือดำรงอยู่ได้มาจากความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ทำไมบุคคลจึงยอมรับอัตลักษณ์นั้น มากกว่าที่จะมองหาอัตลักษณ์ที่จะเป็นประโยชน์ของชนชั้นหรือกลุ่ม และทำไมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์จึงมีคุณค่าที่ต่างไปจากอัตลักษณ์ของกลุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ทั้งแนวคิดเรื่องตัวตนดั้งเดิม และแนวคิดการปรับตัวมีลักษณะร่วมกันบางประการ นั่นคือ ข้อจำกัดของการอธิบายว่า บุคคลจะมีวิธีการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ร่วมกันได้อย่างไร
ความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และการเมืองระดับรัฐเป็นเรื่องที่ซับซ้อน คำว่าชาติ และชาตินิยมมักจะใช้อธิบายในเงื่อนไขที่ต่างกันไป จอร์จ เดอ วอส อธิบายว่า ขณะที่มีการพูดถึงความเป็นชาติและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ มักจะเป็นการอธิบายแบบกว้างๆ คำว่า “ชาติ” และ “สัญชาติ” มักจะหมายรวมถึงกลุ่มคนหลายกลุ่มอาศัยอยู่รวมกันภายใต้การปกครองเดียวกัน ขณะที่คำว่า “ชาตินิยม” มักใช้อธิบายกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐชาติที่เคยเป็นเมืองขึ้น เช่นอินเดีย ไนจีเรียต่างต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในชาติกับความพยายามที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ เมื่อการแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์เริ่มกลายเป็นนโยบายทางการเมืองของรัฐชาติ รัฐถูกมองว่าเป็นสังคมที่มีคนหลายเผ่าพันธุ์ รัฐชาติจึงถูกแบ่งแยกด้วยกลุ่มต่างๆ ภายใต้อำนาจปกครองของกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่า
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Craig, Gary, et al., eds. 2012. Understanding 'race' and ethnicity: theory, history, policy, practice. Policy Press.
Camoroff, John L. and Jean Camoroff 2009: Ethnicity Inc.. Chicago: Chicago Press.
Glazer, Nathan and Daniel P. Moynihan 1975. Ethnicity – Theory and Experience, Cambridge, Mass. Harvard University Press.
Grosfoguel, Ramán 2004. "Race and Ethnicity or Racialized Ethnicities? Identities within Global Coloniality". Ethnicities. 315-336 4 (3): 315.
Robert H. Winthrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press. New York. Pp.94-96.
Thomas Hylland Eriksen 1993. Ethnicity and Nationalism: Anthropological Perspectives, London: Pluto Press.
หัวเรื่องอิสระ: ความเป็นกลุ่มทางชาติพันธุ์