คำศัพท์

Ethnocide

       Ethnocide หมายถึงการทำลายวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งที่มีต่ออีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนักกฎหมายชื่อราฟาเอล เรมคิน คิดคำนี้ขึ้นมาในปี 1944  โดยใช้อธิบายเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สองที่นาซีของเยอรมันฆ่าชาวยิวจำนวนมาก  ในทางมานุษยวิทยา คำว่า ethnocide อาจมีความหมายใกล้เคียงกับการที่วัฒนธรรมหนึ่งมีอิทธิพลเหนือกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง หรือมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Cultural Genocide ซึ่งหมายถึงการทำลายวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมของชนพื้นเมืองถูกทำลายไปเพราะความเจริญแบบตะวันตก

          ปี ค.ศ. 1965 นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ จอร์จ คอนโดมินัส   ใช้แนวคิด Ethnocide อธิบายการแพร่อิทธิพลทางการเมืองของฝรั่งเศสในประเทศเวียดนาม และทำให้เวียดนามเป็นเมืองขึ้น   คำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยนักมานุษยวิทยาฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งชื่อ โรเบิร์ต จูลิน  ซึ่งศึกษาชนเผ่าบารีในประเทศโคลัมเบีย อธิบายลักษณะการทำลายล้างทางสังคมวัฒนธรรม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลุกล้ำเข้ามาของมิสชันนารีและบริษัทน้ำมัน    จูลินเชื่อว่าการทำลายล้างชาติพันธุ์ หรือ ethnocide มีสาเหตุมาจากชาวตะวันตกต้องการกำจัดวัฒนธรรมอื่น หรือกำจัดคนพื้นเมือง เพราะคิดว่าชาวตะวันตกมีความเจริญมากกว่า จูลินเชื่อว่าการทำลายล้างเผ่าพันธุ์จะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อชาวตะวันตกเรียนรู้ที่จะยอมรับวัฒนธรรมของคนอื่น  การศึกษาของจูลินทำให้คำว่า ethnocide แพร่หลายและถูกนำไปใช้อธิบายเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน

          โดยทั่วไป ethnocide หมายถึงสภาพทางวัฒนธรรมที่สังคมชนพื้นเมือง หรือสังคมขนาดเล็กถูกบีบบังคับให้อยู่ในอำนาจอิทธิพลของสังคมอุตสาหกรรม    สังคมอุตสาหกรรมจะถูกมองว่าเป็นผู้กระทำผิด และคนพื้นเมืองคือเหยื่อที่ถูกกระทำ   ผลของ ethnocide คือการผสมรวมทางสังคมวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติของกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือกว่า   ทั้งนี้วัฒนธรรมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจถูกทำลายไป  อย่างไรก็ตาม การผสมรวมทางวัฒนธรรมในบางแห่ง ชนพื้นเมืองอาจดำรงรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้  การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องเชื้อชาตินิยมและลัทธิอาณานิคม  กล่าวคือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์จะมีมากขึ้นเมื่อสังคมที่มีอำนาจมากกว่าเชื่อว่าตัวเองเจริญกว่าคนอื่นๆ และมองเห็นคนพื้นเมืองล้าสมัยหรือด้อยความเจริญ   ความลำเอียงทางชาติพันธุ์คือความคิดพื้นฐานของการทำลายล้างเผ่าพันธุ์     การเปลี่ยนแปลงที่มาจากการใช้อำนาจบีบบังคับ ต่างไปจากความเปลี่ยนแปลงที่มาจากความเต็มใจของชนพื้นเมือง ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นต้องอาศัยการศึกษาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง

          พฤติกรรมของการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มีเป้าหมายไปที่เด็กๆ เป็นที่ทราบกันว่าวิธีการผสมรวมทางวัฒนธรรมที่ได้ผลมากที่สุดคือการนำเด็กออกมาจากพ่อแม่ และเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิต  ตัวอย่างเช่น นำเด็กไปเข้าโรงเรียนที่มีบรรยากาศต่างไปจากเดิม  บังคับให้พูดภาษาใหม่ กินอาหารใหม่ ทำให้ต่างไปจากสิ่งที่พ่อแม่สอน โรงเรียนประเภทนี้จะลงโทษเด็กที่พูดภาษาของตัวเอง   ครูในโรงเรียนประเภทนี้ ได้แก่มิชชันนารี จะถูกโจมตีอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1970 ดังนั้นมิชชันนารีจึงหันมาสอนภาษาพื้นเมืองให้กับเด็กๆ  แต่พ่อแม่ของเด็กต้องการให้ลูกเรียนรู้วัฒนธรรมของสังคมที่เจริญกว่า

          ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นปัญหาบางอย่างในการนิยามความหมายของการทำลายล้างเผ่าพันธุ์  เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคนภายนอกที่เข้าไปในท้องถิ่น   ในสังคมเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในแอฟริกา มีธรรมเนียมปฏิบัติว่าเด็กผู้ชายต้องฝึกฝนเป็นนักรบ และย้ายออกมาจากครอบครัว  ช่วงของการฝึกนี้เด็กผู้ชายมักจะแอบขโมยวัวควายของผู้ใหญ่   ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าวิธีการแก้ปัญหานี้ต้องให้รัฐบาลออกประกาศเลิกธรรมเนียมในการฝึกเป็นนักรบ  (ปรากฏการณ์สะท้อนความคิดที่ต่างไปจากเดิมที่เคยเชื่อว่าผู้ใหญ่คือผู้ที่ธำรงรักษาจารีตประเพณี)

          ความหมายของการใช้อำนาจบีบบังคับกับความหมายของการสนับสนุนอย่างเต็มใจเป็นสิ่งที่โต้แย้งกันตลอดเวลา  ตัวอย่างเช่น สังคมหลายแห่งในลุ่มน้ำอะเมซอน   เด็กๆที่ไม่ยอมไปโรงเรียนของมิชชันนารี พ่อแม่ของเด็กจะเดือดร้อนและไม่มีสิทธิเข้าไปซื้อสินค้าในร้านของมิชชันนารี  หลังจากที่มีการเลิกทำมีด ชาวพื้นเมืองจำเป็นต้องซื้อกระสุนของมิชชันนารีเพื่อใช้ในการล่าสัตว์   อาจกล่าวได้ว่าเด็กจึงต้องถูกบังคับให้ไปโรงเรียนเพื่อผลประโยชน์ของพ่อแม่   ในทำนองเดียวกัน มิชชันนารีอาจปฏิเสธสิทธิของชาวบ้านในการเข้าไปใช้ร้านค้า ถ้าพ่อแม่ไม่ส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งการกระทำของมิชชันนารีอาจเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กๆเรียนหนังสือ มิใช่เป็นการบีบบังคับ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember. (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996 .pp.405-406.

Gerard Clark. 2001. From Ethnocide to Ethnodevelopment? Ethnic Minorities and Indigenous Peoples in Southeast Asia, Third World Quarterly, Vol. 22, No. 3 (Jun., 2001), pp. 413-436.

Hitchcock, Robert K., and Tara M. Twedt. 1997. “Physical and Cultural Genocide of Various Indigenous Peoples.” In Century of Genocide: Eyewitness Accounts and Critical Views, edited by Samuel Totten, Israel W. Charny, and William S. Parsons, 372–407. New York: Garland.

John Hartwell Moore. (ed.) 2008. "Genocide and Ethnocide." In Encyclopedia of Race and Racism. Vol. 2. Detroit: Macmillan Reference. 48-52.


หัวเรื่องอิสระ: การทำลายวัฒนธรรม