คำศัพท์

Ethnography

       Ethnography คือการศึกษาวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยผู้ศึกษาจะเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ เข้าไปพูดคุย และสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในเหตุการณ์และกิจกรรมต่างๆของกลุ่มคนที่ศึกษาเป็นระยะเวลายาวนานและนำข้อมูลมาเขียนเรียบเรียงและอธิบายให้เห็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มนั้น   นอกจากนั้นยังหมายถึง  การศึกษาวัฒนธรรมในเชิงเปรียบเทียบและจัดระเบียบชนิดของวัฒนธรรม  ซึ่งต้องมีการพรรณนารายละเอียด   งานเขียนทางชาติพันธุ์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรม

          ในยุคเรเนอซอง  มีนักเดินทาง ทหาร และมัชชันนารีชาวยุโรปต่างเขียนเรื่องที่พวกเขาได้พบเจอมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 งานเขียนชาติพันธุ์กลายเป็นการศึกษาที่ผสมรวมอยู่ในศาสตร์อื่นๆ เช่น พฤกษศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือสัตววิทยา   ในปี ค.ศ.1800  เจ เอ็ม เดเจอรันโด ชอบการเขียนบันทึกการเดินทางไปในที่ต่างๆ และกลายเป็นที่สนใจของ French Society of Observation   ในทศวรรษที่ 1870  British Association for the Advancement of Science ก็ได้ผลิตคู่มือแนะนำการเดินทางไปยังที่ต่างๆสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ต้องไปอยู่อาศัยในดินแดนที่ยังไม่เจริญ  คู่มือนี้มีชื่อว่า Notes and Queries on Anthropology , for the Use of Travellers and Residents in Uncivilized Lands

          ในทศวรรษที่ 1880 เริ่มมีการวิจัยทางชาติพันธุ์ 2 แนว  แนวแรกเป็นการสำรวจอย่างเป็นระบบ เลียนแบบการศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติในสมัยวิคตอเรีย ซึ่งเป็นการสำรวจดินแดนต่างๆ  และนักธรรมชาติวิทยาหลายคนก็กลายเป็นนักมานุษยวิทยาในเวลาต่อมา    แนวที่สอง เป็นการศึกษาแบบเจาะลึกโดยนักวิจัยจะเข้าไปอยู่อาศัยในชุมชนเป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปี  เช่น การศึกษาทางชาติพันธุ์และภาษาศาสตร์ในชนเผ่าพื้นเมืองของอเมริกา ดำเนินการโดย U.S. Bureau of American Ethnology  เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1879  ภายใต้การควบคุมของ จอห์น เวสลีย์ พาวเวลล์    และ ในปี ค.ศ.1989-99 อัลเฟร็ด เฮดดอนนำคณะเดินทางไปสำรวจที่ช่องแคบ Melanesian Torres   นอกจากนั้นยังมีการศึกษาของแฟรงค์ คูชิ่ง เรื่องของชนเผ่าซูนี เพบโบล ในปี ค.ศ.1879-1884   การศึกษาชนพื้นเมืองออสเตรเลียของโบลด์วิน สเปนเซอร์ และ เอฟ เจ กิลเลน ในทศวรรษที่ 1890

          ฟรานซ์ โบแอส เข้าไปศึกษาชีวิตของชนพื้นเมืองเผ่า Kwakiutl ในเขตชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกา ในช่วง ค.ศ.1895-1930    การศึกษาของมาลีนอฟสกี้ในหมู่เกาะทรอเบียนด์ ของชาวโพลินีเซียน ในช่วงปี ค.ศ.1914-1918  การศึกษาชนเผ่า Kwakiutl ของโบแอส เป็นการใช้ชีวิตร่วมกับชนพื้นเมือง รวมทั้งกินอยู่หลับนอน ร่วมพิธีกรรม และแลกสิ่งของให้แก่กัน    การศึกษาของโบแอสถือว่าเป็นการชี้ทางให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทฤษฎีมานุษยวิทยา เนื่องจากเป็นการศึกษาที่มองรายละเอียดของวัฒนธรรมในมิติประวัติศาสตร์   ในขณะที่มาลีนอฟสกี้ศึกษาระบบต่างๆของชุมชนที่ประกอบกันเพื่อตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์  การศึกษาทั้งสองต่างไปจากเดิม เพราะได้วางรากฐานทางการศึกษาให้กับมานุษยวิทยา

          การศึกษาสังเกตอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากโบแอสและมาลีนอฟสกี้ กลายเป็นข้อตกลงที่รู้ร่วมกันในหมู่นักมานุษยวิทยาสมัยใหม่  หน้าที่ของการเขียนงานชาติพันธุ์โดยการศึกษาแนวนี้ยังรวมถึงความตึงเครียดระหว่างการสร้างความสนิทสนมกับการห่างเหินกับชาวบ้าน  การศึกษาด้วยประสบการณ์กับการใช้ทฤษฎี  และการใช้ความคิดของชาวบ้านกับการสร้างสมมุติฐานขึ้นมาเอง  ดังนั้นการศึกษาทางมานุษยวิทยาจึงเป็นการสร้างคำอธิบายด้วยภาษาที่มากกว่าศาสตร์อื่นๆ ทั้งการอธิบายข้อมูลภาคสนามและการใช้ทฤษฎีในการวิเคราะห์   ความพยายามของนักมานุษยวิทยาที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับชาวบ้านที่ดูแปลกแยก ยังหมายถึงการยืนยันในความเป็นตัวตนของมนุษย์ที่ต่างออกไปด้วย สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในการเขียนงานทางชาติพันธุ์

          งานเขียนทางชาติพันธุ์ในปัจจุบันประกอบด้วยข้อถกเถียงเกี่ยวกับวิธีวิทยาและสมมุติฐาน  เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างตัวตนของผู้ศึกษาซึ่งเป็นผู้เข้าไปใช้ชีวิตกับชาวบ้าน และเป็นคนแปลกหน้าในเวลาเดียวกัน  งานเขียนชาติพันธุ์จะต้องอธิบายให้เห็นวัฒนธรรมเฉพาะของสังคม 


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Agar, Michael 1996. The Professional Stranger: An Informal Introduction to Ethnography. Academic Press.

Clifford, James & George E. Marcus (Eds.). 1986. Writing Culture: The Poetics and Politics of Ethnography. Berkeley: University of California Press.

Marcus, George E. & Michael Fischer. 1986. Anthropology as Cultural Critique: An Experimental Moment in the Human Sciences.  Chicago: University of Chicago Press.

Olaf Zenker & Karsten Kumoll. 2010. Beyond Writing Culture: Current Intersections of Epistemologies and Representational Practices.  New York: Berghahn Books.

Robert H. Winthrop 1991 Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp. 98-100.

Van Maanen, John. 1988. Tales of the Field: On Writing Ethnography Chicago: University of Chicago Press.


หัวเรื่องอิสระ: งานเขียนทางชาติพันธุ์