Ethnology
ชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology) หมายถึง การศึกษาวิเคราะห์ประเภทของวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ เป็นการศาสตร์ที่อาศัยการเปรียบเทียบ เพื่ออธิบายวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าที่แตกต่างกันของบุคคล และเพื่ออธิบายประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมที่พัฒนามายาวนาน ทั้งเงื่อนไขของการอพยพ และการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษาเปรียบเทียบ ได้แก่ ความเชื่อทางศาสนา ภาษา ความสัมพันธ์ทางเพศ ระบบเครือญาติ เทคโนโลยีในการเกษตร ระบบเศรษฐกิจและการเมือง
ในสมัยเรเนอซอง มีความสนใจต่อเรื่องวัฒนธรรมที่เก่าแก่ เช่น โรมันและกรีก ซึ่งก่อให้เกิดการศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การศึกษาของโจเซฟ เดอ อคอสต้า เรื่อง The Natural and Moral History of the Indies การศึกษาเรื่องนี้อธิบายความถูกต้องเกี่ยวกับผู้คนและสถาบันสังคมในเม็กซิโกและเปรู และตั้งทฤษฎีต้นกำเนิดวัฒนธรรมเหล่านั้นว่ามาจากดินแดนโลกเก่า โดยผ่านทางทวีปที่มีแผ่นดินติดกันทางตอนเหนือ อคอสต้าไม่เห็นด้วยกับความคิดของชาวยุโรปที่ดูหมิ่นชาวอินเดียนพื้นเมืองว่าเป็นผู้ที่ป่าเถื่อนไร้เหตุผล ต่อมาแนวคิดนี้กลายเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับสภาวะจิตที่เป็นสากลของมนุษย์ และเป็นพื้นฐานสำคัญให้เกิดการศึกษาทางมานุษยวิทยา ซึ่งเชื่อว่าพฤติกรรมและความเชื่อของมนุษย์เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ มิใช่เกิดจากความแตกต่างทางร่างกาย
ในปี ค.ศ.1783 อดัม ฟรานซ์ โคลลาร์ อธิบายว่าชาติพันธุ์วิทยาคือวิชาที่ศึกษามนุษย์ที่มีสติปัญญาเพื่อค้นหารากเหง้าและต้นกำเนิดของบรรพบุรษมนุษย์ รวมถึงศึกษาพัฒนาการของชาติในมิติประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนที่มีภาษา ประเพณี และวัฒนธรรมของตัวเอง การศึกษาดังกล่าวนี้จะช่วยเข้าใจธรรมชาติและความเจริญของมนุษย์ เช่นเดียวกันใน ปี ค.ศ.1847 เจมส์ พริชาร์ด อธิบายจุดประสงค์ของการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาว่าเพื่อแกะรอยประวัติศาสตร์ของชนเผ่าและเชื้อชาติของมนุษย์จากอดีตที่ห่างไกล และเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ของมนุษย์ในอดีต เพื่อสร้างข้อสรุปที่เป็นจริงหรืออาจเป็นไปได้เกี่ยวกับรากเหง้าที่ซับซ้อน หรือมีการติดต่อสัมพันธ์กัน อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาวัฒนธรรมเปรียบเทียบคือการสังเคราะห์ข้อมูลหลักฐานที่เป็นมานุษยวิทยากายภาพ ภาษาศาสตร์ โบราณคดี และการศึกษาทางชาติพันธุ์
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการถกเถียงกันในวิชามานุษยวิทยาในหลายประเด็น ประเด็นสำคัญคือเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการถกเถียงทฤษฎีการแพร่กระจายและวิวัฒนาการ ซึ่งทำให้เกิดพัฒาการสังคมของมนุษย์ มีการถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างชนชาติต่างๆ ถกเถียงเรื่องความเป็นเอกภาพของมนุษย์ที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ามนุษย์มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ
ในทศวรรษที่ 1860 มีการก่อตั้งสมาคมมานุษยวิทยาแห่งกรุงลอนดอนขึ้น เพื่อศึกษาเปรียบเทียบเชิงกายภาพของมนุษย์ ซึ่งวิชามานุษยวิทยากายภาพจะให้ความสำคัญกับเรื่องเชื้อชาติเป็นสำคัญ ในช่วงทศวรรษที่ 1970 แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์มีบรรพบุรุษร่วมกันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะได้รับอิทธิพลความคิดของดาร์วินมาสนับสนุน ซึ่งทำให้วิชามานุษยวิทยาสาขาต่างๆตกอยู่ใต้อิทธิพลวิวัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ โบราณคดี หรือชาติพันธุ์ศึกษา ส่วนนักมานุษยวิทยาอเมริกันเช่น ฟรานซ์ โบแอส ,อัลเฟร็ด โครเบอร์ ,โรเบิร์ต โลวี่ และเลสลี่ สเปียร์ ตอกย้ำเรื่องการศึกษาวัฒนธรรมในมิติประวัติศาสตร์ และใช้แนวคิดการแพร่กระจาย มากกว่าเรื่องวิวัฒนาการ
ในเวลาเดียวกัน การศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรมในอเมริกาก็ได้เปลี่ยนไปโดยมีการยอมรับแนวคิดเรื่องลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรม มีการตระหนักถึงความสัมพันธ์เชิงความหมายระหว่างส่วนประกอบทางวัฒนธรรมประเภทต่างๆ และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และการผสมผสานทางวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาเริ่มเห็นว่าการอธิบายขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของชนเผ่าที่เป็นสถาบันตายตัวมีระบบระเบียบคงที่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และพยายามศึกษาว่ามนุษย์มีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆอย่างไรบ้าง ความสนใจเหล่านี้ทำให้ความหมายของวัฒนธรรมเป็นเรื่องของระบบคุณค่าและความหมายที่มีบริบททางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการศึกษาชาติพันธุ์วิทยา
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Robert Audi (ed.) 1995. The Cambridge Dictionary of Philosophy. Cambridge University Press.
Robert H.Wintrop 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press. New York. Pp.101-103.
หัวเรื่องอิสระ: ชาติพันธุ์วิทยา