คำศัพท์

Alcohol and Drugs

        สารอัลกอฮอล์คือวัตถุทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะเพราะมีผลทางจิต ประสาท อารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้ ซึ่งมนุษย์ในหลายวัฒนธรรมรู้จักใช้สารชนิดนี้ในกิจกรรมและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตาม ในอดีต มนุษย์ไม่ได้ใช้อัลกอฮอล์ที่เกิดจากการหมักดอง หรือสนุนไพรที่มีฤทธิ์กล่อมประสาทเพื่อความบันเทิงเริงรมย์หรือการสังสรรค์   แต่ใช้ในพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดี ชี้ให้เห็นว่าเมล็ดพืชและใบไม้บางชนิดที่มีสารกล่อมประสาทจะถูกใช้ในพิธีศพ มนุษย์ในยุคหินใหม่มีฟันสีดำเนื่องจากการสูบพืชประเภทฝิ่น เป็นต้น การใช้ยาและอัลกอฮอล์อาจมีความหมายศักดิ์สิทธิ์  ความอันตราย ความขัดแย้ง ความสมบูรณ์ของสุขภาพ ความมีอิสระเสรี แรงบันดาลใจ หรือการตกเป็นทาส    มนุษย์บางกลุ่มอาจต้องการใช้ยาแต่บางกลุ่มพยายามหลีกเลี่ยง 

          นักมานุษยวิทยาชื่อ ดไวท์ ฮีธ (2000) กล่าวว่าการดื่มสารประเภทอัลกอฮอล์ของมนุษย์เป็นกิจกรรมทางสังคมที่มีมิติทางวัฒนธรรมและทางชีววิทยาในเวลาเดียวกัน สารอัลกอฮอล์ที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาจึงผนวกเรื่องราวทางสังคม อารมณ์ และร่างกายเข้าด้วยกัน หรือเรียกว่า biopsychosocial phenomenon    นักมานุษยวิทยาสนใจเรื่องยาและอัลกอฮอล์ในประเด็นเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่ ระบบคุณค่า ทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา ผลกระทบที่มีต่อบุคคล และกลุ่มคน รวมถึงปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์และความจริงของการใช้ยา    พฤติกรรมของการใช้ยาเกี่ยวข้องกับ เช่น เศรษฐกิจ พิธีกรรม การแพทย์ พฤติกรรม ศาสนา และระบบความเชื่อ    การศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาอย่างรอบด้าน  เนื่องจากยามีมิติทางชีววิทยาและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง  การใช้ยาชนิดเดียวกันอาจมีวิธีการที่ต่างกัน และแบบแผนของการใช้ยาก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและผลที่คาดหวัง

          การควบคุมการใช้ยาอาจมีทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ การใช้ยาและอัลกอฮอล์บางครั้งถูกนำไปรวมกับปัญหาบางอย่าง ซึ่งมีเงื่อนไขจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง   พฤติกรรมของการติดยาไม่พบในสังคมระดับชนเผ่าหรือสังคมประเพณีขนาดเล็ก แต่ในสังคมที่มีการประกาศเตือนโทษของการใช้ยาและอัลกอฮอล์ก็ยังพบว่ามีผู้ติดยาอยู่

          อัลกอฮอล์คือส่วนผสมทางเคมีที่เกิดจากการหมัก  ชาวอียิปต์เชื่อว่าเทพเจ้าโอไซริสเป็นผู้นำเบียร์มามอบให้ชาวอียิปต์  ในหลายวัฒนธรรมเชื่อว่าอัลกอฮอล์เป็นของกำนัลจากพระเจ้า    เทพเจ้าไดโอนิซุสเป็นผู้ที่ให้ไวน์แก่ชาวกรีก   หลักฐานทางโบราณคเยุคแรกๆชี้ว่าเบียร์และไวน์เกิดขึ้นในดินแดนเมโซโปเตเมียเมื่อ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นยุคเดียวกับที่เริ่มมีการเกษตรกรรม และการทำขนมปัง   การกลั่นเหล้าเกิดขึ้นมายุคหลังโดยชาวอาหรับ และแพร่หลายในโลกตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12

          ยาหลายชนิดมีอยู่ในธรรมชาติ เช่น  ยาสูบ เห็ด กาแฟ  ชา ช็อคโคแล็ต   ในเปรูเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาลพบหลักฐานการใช้ใบโคคาในมัมมี่ หลักฐานการใช้ยายังพบรูปวาดและภาพแกะสลักบนหินและ หม้อ     ในเขตตะวันออกกลางพบหลักฐานแก้วและภาชนะสำหรับใส่อัลกอฮอล์และเครื่องดื่มจำนวนมาก    วัฒนธรรมการผลิตและดื่มไวน์แพร่หลายมากในยุคโรมัน  ในวัฒนธรรมอียิปต์ กษัตริย์จะมีการดื่มเบียร์ และเป็นเครื่องเซ่นสังเวยให้กับเทพเจ้า    ชาวกรีกจะมีพิธีกรรมดื่มไวน์เพื่อบูชาเทพเจ้าไดโอนิซุส  และชาวโรมันก็จะดื่มไวน์เพื่อบูชาเทพเจ้าแบคชุส  ในยุคโลหะ กษัตริย์ของฝรั่งเศสจะมีการแจกจ่ายไวน์ให้ประชาชนเพื่อ แสดงความเป็นผู้นำ 

          สินค้าที่เป็นอัลกอฮอล์จะมีมูลค่ามาก    อัลกอฮอล์เป็นเครื่องมือของลัทธิอาณานิคมในอเมริกาและแอฟริกา  เมื่อชาวพื้นเมืองเริ่มดื่มอัลกอฮอล์ ทำให้ชนพ้นเมืองถูกมองว่าเป็นพวกขี้เมา  ในวัฒนธรรมมุสลิมไม่มีการดื่มอัลกอฮอล์ และในวัฒนธรรมแรงงาน นายจ้างจะห้ามไม่ให้ลูกจ้างดื่มอัลกอฮอล์ ถ้าฝ่าฝืนจะถือว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดี   ในวัฒนธรรมจีนและอาหรับเชื่อว่าการดื่มและการเมาเป็นการแสวงหาความสนุกสนาน และความบันเทิงใจ แต่เมื่อศาสนาเข้ามาควบคุมทำให้ทัศนะต่อการดื่มเปลี่ยนแปลงไป   ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศสมัยใหม่  นิกายทางศาสนา การปกครองท้องถิ่น และวัฒนธรรมชนเผ่าในส่วนต่างๆของโลกต่างต่อต้านการดื่มอัลกอฮอล์ เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุของความเสี่ยงและเกิดผลเสีย ถึงแม้ว่าประชากรบางกลุ่มยังคงดื่มอยู่ก็ตาม

          ยาบางชนิดถูกใช้ในวัฒนธรรม เช่น ในวัฒนธรรมมายาและเอสเท็กมีการใช้โคคาและเห็ดที่มีฤทธ์กล่อมประสาทในพิธีกรรมต่างๆ    โคคาคือพืชที่มีความสำคัญมากในเขตวัฒนธรรมแอนดีส เนื่องจากถูกใช้ในพิธีกรรม บวงสรวงเทพเจ้า และให้เป็นของกำนัลมายาวนานหลายร้อยปี  ในวัฒนธรรมชนพื้นเมืองของออสเตรเลียก็มีการใช้ยาแบบง่ายๆ เช่น ใบจากต้นพิทูรี ซึ่งมีฤทธ์หลอนประสาทเช่นเดียวกับใบโคคาในวัฒนธรรมอินคา   ฝิ่นเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายเมื่ออังกฤษนำออกมาจากอินเดียเพื่อไปแลกเปลี่ยนกับเงินในประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลจีนออกมาห้ามกับนำเข้าฝิ่นในเวลาต่อมา  การค้าฝิ่นเชื่อมโยงกับดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   และเขตเมดิเตอร์เรเนียนมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ   กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19  ในสหรัฐอเมริกามีการใช้ฝิ่นและเฮโรอีนในกลุ่มคนบางกลุ่ม เช่น ศิลปิน คนเหล่านี้เชื่อว่าการสูบฝิ่นและเฮโรอีนก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ นอกจากนั้นยังมีการใช้ฝิ่นในทางการแพทย์  ฝิ่นจึงถูกมองว่าเป็นทั้งยาเสพติดและยารักษาโรค  

          อย่างไรก็ตาม   แรงงานอพยพชาวจีนที่มีการสูบฝิ่นจะถูกมองว่าเป็น “ภัยเหลือง”  ในอเมริกาจึงมีนโยบายห้ามการสูบฝิ่น และมีการกีดกันเชื้อชาติ  ยาบางชนิดเช่น ปิโยต์และแคคตีถูกนำไปใช้ในทางศาสนา พิธีกรรม และการรักษาโรค  ปิโยต์นำมาจากเม็กซิโกและแพร่หลายในอเมริกา ชนพื้นเมืองในอเมริกาจะนำปิโยต์ไปใช้ในทางศาสนาเพื่อแสดงสภาวะศักดิ์สิทธิ์    ส่วนแคคตีนำไปใช้ในการรักษาโรค และในพิธีกรรม

          กาแฟ มีต้นกำเนิดจากตะวันออกกลาง เป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลาย แต่ในศตวรรษที่ 16 เคยถูกห้ามเพราะถือว่าเป็นเครื่องดื่มอันตราย และทำให้เกิดตื่นเต้นและกระตุ้นประสาท   ช็อคโคแล็ตเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในเขตยุโรปตอนเหนือ   แต่ก็ถูกห้ามเนื่องจากทางการออกมาประกาศว่าช็อคโกแล็ตเป็นเครื่องดื่มที่กระตุ้นกามารมณ์ ทำให้คนไร้ระเบียบ และสังคมจะเสื่อมทราม   ชา ถูกใช้เป็นเครื่องหมายในการต่อต้านลัทธิอาณานิคมในหลายประเทศ แต่ในบางวัฒนธรรม เช่น ญี่ปุ่นและอังกฤษ ชาถูกใช้ในพิธีกรรมทางสังคมที่มีระเบียบแบบแผน  เครื่องดื่มหลายชนิดเกิดขึ้นมาพร้อมกับการมีน้ำตาล และระบบการค้าระหว่างประเทศ  การค้าน้ำตาลยังมาพร้อมกับการโยกย้ายถิ่นของประชาการที่ตกเป็นแรงงานทาส เช่น ชาวแอฟริกา

           ยาสูบ ถูกใช้เพื่อสูบและดม นิยมแพร่หลายในหมู่ชนพื้นเมืองของอเมริกัน และต่อมาชาวยุโรปก็นำไปปฏิบัติตาม  กษัตริย์เจมส์ที่ 1 ของอังกฤษ เชื่อว่ายาสูบเป็นสิ่งน่ารังเกียจและออกมาห้ามการสูบ แต่ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของพระองค์แนะนำว่าภาษีจากการค้ายาสูบสร้างผลกำไรให้ประเทศมาก     เหล้ารัมและยาสูบกลายเป็นสินค้าที่ชาวยุโรปเข้ามาหาประโยชน์ในประเทศโลกที่สาม  นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา บุหรี่ก็กลายเป็นสินค้าที่แพร่หลาย  ถึงแม้ว่าผลกระทบต่อการสูบยาจะมีต่อสุขภาพและประชาชนในสังคมอุตสาหกรรมก็รับรู้กันทั่วไป แต่ก็ยังมีการสูบ

          การศึกษาความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่ออัลกอฮอล์ และยาสามารถเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมได้   สังคมต่างๆคิดว่ายาและอัลกอฮอล์สร้างปัญหาให้กับประชาชน  ในสังคมอียิปต์ ไม่มีการยกย่องผู้ที่ดื่มเบียร์ แต่ในสังคมเขตซาฮาร่าหลายแห่ง มีการดื่มเครื่องดื่มที่ทำจากพืช เช่น ข้าวโพด   เบียร์อาจเป็นอาหารชนิดหนึ่งในชีวิตประจำวัน เนื่องจากการดื่มเบียร์คือการใช้เวลาพักผ่อนสำหรับผู้ชาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิและสถานะทางสังคม    ผู้หญิงจะทำหน้าที่ผลิตและขายเบียร์เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง   เมื่อเกิดข้อโต้แย้งหรือทะเลาะวิวาท การดื่มเบียร์อาจช่วยให้มีการปกปิดข้อมูล  เบียร์ยังเป็นเครื่องดื่มสำหรับการติดต่อสื่อสารกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วหรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย   ในเขตเมือง โรงเบียร์เป็นสถานที่สำคัญในการชุมนุมทางสังคม  มีการเปรียบเปรยว่ายิ่งผู้ชายนำเงินไปซื้อเบียร์เท่าใดก็ยิ่งทำให้รายได้ของผู้หญิงน้อยลงไปเท่านั้น  การดื่มในวันสุดสัปดาห์หรือเทศกาล สำหรับผู้ชายวัยหนุ่มคือการใช้เวลาทบทวนตรึกตรองร่วมกับผู้ชายอาวุโส

          แต่ในแอฟริกาไม่ค่อยมีการใช้ยาเพื่อกล่อมประสาท  กาแฟและยาสูบเป็นสิ่งคุ้นเคย แต่ก็ไม่ถูกนำไปใช้ในพิธีกรรม ยกเว้นอัลกอฮอล์    ในลาตินอเมริกา เครื่องดื่มประจำบ้านคืออาหารหลักสำหรับคนทุกเพศทุกวัย และยังเป็นของเซ่นสังเวยที่มอบให้เทพเจ้าและวิญญาณบรรพบุรุษ    เหล้ารัมถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยเทพเจ้าเช่นเดียวกัน  ในวัฒนธรรมของชาวเกชัว   ชาวทาราฮูมาร่า   เป็นสังคมที่นิยมการดื่ม   วิลเลียม เจมส์กล่าวว่าการเมาพบมากในกลุ่มผู้ชาย  การรวมวงดื่มเหล้าอาจเป็นการสร้างสัมพันธ์ทางสังคม ในสังคมของชาวพูลเกและชิชา ผู้นำจะต้องได้รับการบริการเครื่องดื่ม

           ในชนเผ่าลุ่มน้ำอะเมซอนมีการนำพืชท้องถิ่นมาสูดดมเพื่อรักษาโรค    หมอผีจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการผลิตยาต่างๆ เพื่อใช้สำหรับเวทมนต์คาถา  กาแฟและยาสูบเป็นที่นิยมของชาวบ้านในลุ่มน้ำอะเมซอน  ความรู้ทางยาของชนพื้นเมืองต่อมาถูกนำไปใช้ผลิตยาสำหรับบริษัทการค้า ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นที่ถกเถียงว่าสิทธิทางปัญญาของชนพื้นเมืองจะได้รับการคุ้มครองอย่างไร    ใบโคคาที่ถูกนำมาผลิตเป็นโคเคนเพื่อขายในตลาดมีราคามหาศาล เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ชาวบ้านใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน   การสูบยายังนำไปสู่สภาวะพิเศษเพื่อพบกับวิญญาณของสัตว์และอำนาจเหนือธรรมชาติทั้งหลาย

          ชนเผ่าในเขตออสเตรเลียและมหาสมุทรแปซิฟิก ต้องการอัลกอฮล์จากชาวยุโรป  ถึงแม้ว่านักบวชในนิกายโปรแตสแตนท์จะสั่งสอนให้ชนพื้นเมืองเลิกดื่ม แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ติดการดื่ม  ชนเผ่าในเขตที่สูงของนิวกินี หัวหน้าเผ่าจะต้องมีขวดเบียร์ประจำกาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำในการประกอบพิธีกรรมและรับรองสถานภาพการเป็นผู้นำ   ในชนเผ่าซามัวมีการใช้ต้นคาว่าเป็นเครื่องดื่มแพร่หลาย เพราะการดื่มเป็นการแสดงออกในพิธีกรรม  เมื่อชาวยุโรปนำยาสูบออกขายในดินแดนต่างๆ การสูบยาก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

          ในศาสนาพุทธ อิสลาม มีการห้ามการดื่มสุราและอัลกอฮอล์ ในเขตเอเชียกลางมีการดื่มไวน์จากข้าวและเหล้าที่เกิดจากการหมักนมเรียกว่า คูมิส (koumiss)   ในวัฒนธรรมอินเดียมีการดื่มเพื่อเชื่อมอความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม เช่น ใน เช่นวรรณะกษัตริย์นิยมดื่มน้ำที่สกัดจากดอกไม้  ส่วนวรรณะพราหมณ์นิยมดื่มชา ทั้งสองวรรณะนี้ต่างคิดว่าเครื่องดื่มของตนดีกว่าอีกวรรณะหนึ่ง  ในประเทศจีนมีธรรมเนียมการดื่มเบียร์และไวน์อย่างแพร่หลาย และมีเครื่องดื่มหลายชนิดที่ทำเป็นยารักษาโรค    ในสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่  หลังเลิกงาน ผู้ชายมักจะมารวมตัวกันดื่มเบียร์  การสูบยาและดื่มชาพบเห็นได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชีย  ในเขตตะวันออกลางจะมีการดื่มกาแฟมาก  ชุมชนแถบสามเหลี่ยมทองคำ ในลาว ไทย และเขมรมีการผลิตฝิ่นและคนท้องถิ่นก็ติดฝิ่น

          นักสังคมวิทยาในยุโรป พยายามแยกความแตกต่างระหว่างเบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มประเภทอัลกอฮอล์ของชนเผ่าที่ใช้ในพิธีกรรม รูปแบบการดื่มและผลที่ตามมามีความแตกต่างกัน  ในสังคมที่มีการดื่มเป็นเรื่องปกติ ทุกๆคนสามารถดื่มได้เหมือนการทำกิจวัตรประจำวัน  ในสแกนดิเนเวีย อังกฤษ และยุโรปตะวันออก นิยมดื่มของเหลวที่กลั่นอย่างบริสุทธิ์ในช่วงเวลาพิเศษ  ชนเผ่าซามี หรือชาวแล็บบ์เป็นพวกที่นิยมการดื่มเป็นชีวิตจิตใจ และคนเหล่านี้ก็ถูกมองว่าเป็นพวกขี้เมามากกว่าชาวสแกนดิเนเวียกลุ่มอื่นๆ     ชาวไอริชซึ่งไม่นิยมการดื่ม แต่มีสถิติจากปัญหาอัลกอฮอล์สูง  ตรงข้ามกับชาวเมดิเตอร์เรเนียนที่นิยมการดื่ม แต่มักจะไม่มีปัญหา  ปรากฏการณ์นี้ไม่สอดคล้องกับคำอธิบายขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าปัญหาจากอัลกอฮอล์จะมีมากในกลุ่มประชากรที่ดื่มจัด   การใช้โคเคนและเฮโรอีนแพร่กระจายเข้าสู่ยุโรปในราวทศวรรษที่ 1960  การใช้ยาสูบ การดื่มกาแฟ ชา และช็อคโกแล็ตเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารอื่นๆในชีวิตประจำวันมากกว่ากิจกรรมพิเศษ

          ในอเมริกาเหนือ อัลกอฮอล์ถูกเหยียดหยามจากศาสนาและชนพื้นเมืองบางกลุ่ม   และพวกขี้เมาและติดเหล้าจะถูกมองว่าเป็นพวกตัวปัญหา  ตำนานของชาวพื้นเมืองเรื่องน้ำที่พุ่งเป็นไฟทำให้การดื่มแพร่กระจายออกไป  การเปลี่ยนแปลงในระบบศีลธรรมของชนเผ่าบางแห่ง เช่น เผ่าเซเนก่า สะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของประเด็นเรื่องการดื่ม เพราะหลังจากที่ห้ามการดื่ม ชาวเซเนก่าก็หันไปเก็บสะสมสุราของชาวยุโรปที่ผลิตมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เพราะสุราเป็นเครื่องแสดงถึงการได้รับการคุ้มครองจากวิญญาณ  การใช้สุราเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา เปิดโอกาสชาวบ้านดื่มสุราและเมามาย  จนกระทั่งศาสนาคริสต์เผยแพร่เข้ามาและผสมผสานกับความเชื่อเดิมจนเกิดศาสนาใหม่ จึงเริ่มมีการงดเว้นการดื่มสุรา 

          ชนเผ่า Pueblo ในอเมริกาหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ในขณะที่ชนเผ่าอื่นๆนิยมการดื่มสุราเพราะทำให้เกิดความฮึกเหิมและกล้าหาญ   ร้านเหล้าเกิดขึ้นในชุมชนของชาวพื้นเมืองทั่วไป และกลายเป็นสถานที่พบปะกัน เป็นที่สำหรับการชุมนุม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางสังคมในเรื่องต่างๆ  ในบางชุมชนการดื่มเหล้าและการเมาถูกมองว่าไม่ไดีเพราะเกี่ยวข้องกับคนตกงาน คนสิ้นหวัง และคนที่สังคมรังเกียจ    ในชุมชนของชาวอินูอิตก็มีการรังเกียจคนเมาเช่นกัน   ในบางชุมชนอาจมีการห้ามการดื่มสุรา แต่ในบางกรณีชนพื้นเมืองในอเมริกาอาจนำการดื่มสุรามาร่วมในพิธีกรรมด้วย   ในพิธีกรรมของชนพื้นเมืองในอเมริกาทางภาคใต้มีการดื่มสุรา แต่ไม่มีปัญหาผู้ติดเหล้า นอกจากนั้นยังมีการสูบฝิ่นและสมุนไพร    ยาสูบเป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรม แต่ปัจจุบันมีการสูบในชีวิตประจำวันจนเป็นเรื่องปกติ   

          ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และภาคสนามเกี่ยวกับสุราและยามีหลากหลายและยากที่จะหาข้อสรุปสากลว่าวัฒนธรรมการดื่มสุราและยาเป็นอย่างไร  นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาเรื่องนี้โดยดูจากความแตกต่างทางสังคม ชนชั้น เพศ วัย ศาสนา และปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อการใช้ยาและสุรา   จากหลักฐานทางคติชนวิทยาอธิบายว่าการดื่มสุราของผู้ชายทำให้รู้สึกมีพลัง และในวัฒนธรรมที่นิยมการดื่ม เป็นวัฒนธรรมที่ต้องเลี้ยงดูเด็ก  การดื่มและการใช้ยายังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างญาติพี่น้องหรือกลุ่มเพื่อน มนุษย์ในสังคมเรียนรู้วิธีการใช้ยาและสุรา ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะมีปฏิกิริยาอื่นๆต่อสิ่งนี้ด้วย   ในสังคมที่มีจารีตประเพณี อาจมีการห้ามดื่มสุราและใช้ยา

          นักชีววิทยา แพทย์ จิตแพทย์ ต่างลงความเห็นว่าการดื่มสุราและการใช้ยาเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาเชิงสังคม  ในสังคมชนเผ่าที่ยึดจารีตประเพณี การดื่มสุราและใช้ยาไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากเท่ากับสังคมที่เจริญแล้ว  ดังนั้นการศึกษาพฤติกรรมการดื่มสุราและการใช้ยาในมิติสังคมวัฒนธรรมจะช่วยให้เราเข้าใจการปฏิบัติของมนุษย์ต่เรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น  การศึกษาที่เน้นอธิบายเฉพาะตัวยาและอัลกอฮอล์มากเกินไปทำให้มองข้ามปัจจัยส่วนบุคคล และเงื่อนไขของการนำไปสู่การใช้ยาและสุรา ทั้งนี้ทั้งยาและสุราเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของมนุษย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเข้าใจสภาวะของการดื่มสุราและการใช้ยาอาจทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Chrzan, Janet. 2013. Alcohol: Social Drinking in Cultural Context. New York: Routledge.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company. New York. Pp.38-44.

Guerra-Doce, Elisa. 2014. The Origins of Inebriation: Archaeological Evidence of the Consumption of Fermented Beverages and Drugs in Prehistoric Eurasia. Journal of Archaeological Method and Theory, 1-32.

Guerra-Doce, Elisa 2015. Psychoactive Substances in Prehistoric Times:

Examining the Archaeological Evidence, Time and Mind: The Journal of Archaeology, Consciousness and Culture, 8:1, 91-112.

Heath, Dwight B. 2000. Drinking Occasions: Comparative Perspectives on Alcohol and Culture. Philadelphia, PA: Taylor and Francis.


หัวเรื่องอิสระ: อัลกอฮอล์และยา