คำศัพท์

Ethnomedicine

      การแพทย์ทางชาติพันธุ์ (Ethnomedicine) หมายถึง วิธีการปฏิบัติทางการแพทย์และการรักษาโรคของคนในวัฒนธรรมต่างๆซึ่งมีวิธีวินิจฉัย การสร้างคำนิยาม การอธิบาย การใช้ยารักษา และการดูแลคนป่วยแตกต่างกัน ซึ่งบางครั้งการปฏิบัติเหล่านี้อาจเรียกว่า “การแพทย์พื้นบ้าน” ซึ่งเป็นความรู้ท้องถิ่นที่ชาวบ้านถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยอาจไม่มีการเขียนตำราเหมือนโลกตะวันตก  การศึกษาการแพทย์ทางชาติพันธุ์ ต้องอาศัยความรู้แบบสหสาขาวิชา เช่น มานุษยวิทยาการแพทย์ พฤษศาสตร์ชาติพันธุ์ เภสัชศาสตร์ชาติพันธุ์ คติชาวบ้าน ฯลฯ

       ในแต่ละวัฒนธรรมจึงมีวิธีการจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บต่างกัน ความรู้เกี่ยวกับโรคในแต่ละวัฒนธรรมจึงไม่เหมือนกัน  คนในแต่ละวัฒนธรรมจะมีความรู้ในการดูแลรักษาและป้องกันโรคไม่เหมือนกัน  ตัวอย่างเช่น  ชาวตะวันตกจะรักษาอาหารปวดหัวด้วยการกินยาแก้ปวดหรือพักผ่อน  แต่ชาวแอซเต็กจะรักษาอาการปวดหัวด้วยสูดดมสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน และใช้มีดกรีดที่จมูก ใบหน้า และศรีษะของผู้ป่วย  ชาวแอซเต็กเชื่อว่าการเสียเลือดและการดมสมุนไพรจะช่วยให้อาการปวดหัวหายไป เนื่องจากเชื่อว่าการปวดหัวมีสาเหตุมาจากเลือดที่มีมากเกินไปในกะโหลก

          การแพทย์ทางชาติพันธุ์ อาจหมายถึงความรู้เฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมเกี่ยวกับการรักษาโรค และการจำแนกแยกแยะว่าอะไรคือการเจ็บป่วย อะไรคือโรค อะไรเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย และวิธีการเยียวยารักษาดูแลผู้ป่วยจะทำอย่างไร    การแพทย์ทางชาติพันธุ์เป็นประเด็นย่อยของสาขามานุษยวิทยาการแพทย์ ซึ่งสนใจศึกษาเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ทางชีววิทยาและสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเจ็บป่วยและวิธีการรักษาความเจ็บป่วย     การแพทย์ทางชาติพันธุ์จะเน้นเรื่องวิธีการรักษา ต้องการอธิบายว่าคนในแต่ละวัฒนธรรมจะมีวิธีการจัดจำแนกประเภทของพืชและดินอย่างไร

          นักมานุษยวิทยาใช้ความรู้เรื่องการแพทย์ทางชาติพันธุ์เพื่อศึกษาปรากฎการณ์ความเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และการปฏิบัติของคนกลุ่มต่างๆ ทั้งชนพื้นเมือง  ชาวนา และคนเมืองซึ่งมีวิธีการจัดการโรคแตกต่างกันไป   การแพทย์ทางชาติพันธุ์ต่างไปจากระบบการแพทย์ของตะวันตกซึ่งอธิบายด้วยวิชาชีววิทยา  การแพทย์ของตะวันตกเป็นความรู้ประเภทหนึ่งซึ่งเชื่อในวิทยาศาสตร์  แต่ปัจจุบันนี้การแพทย์ตะวันตกพยายามเข้าไปแทรกซึมการแพทย์ของชนพื้นเมือง

          ตัวอย่างเช่น ชาวมายาในประเทศกัวเตมาลาจะรักษาคนป่วยโดยการเซ่นสังเวยผีและจุดกำยาน การรักษาแบบนี้มีมาตั้งแต่อดีตและเป็นความรู้ที่ตกทอดมาหลายชั่วคน  และมีมานานกว่าการแพทย์ตะวันตก   การแพทย์ทางชาติพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและศาสนา  เนื่องจากเรื่องสุขภาพกับเรื่องสังคมและความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกัน ชนพื้นเมืองเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกัน  ในขณะที่สังคมตะวันตกเชื่อว่าสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ 

          ในสังคมชนเผ่าเชื่อว่าการสะสมทรัพย์สินเงินทองจะช่วยให้ป้องกันการเจ็บป่วย และการเจ็บป่วยก็จะมีสาเหตุมาจากการลงโทษของภูตผีปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือถูกทำร้ายจากเวทมนต์คาถา  แต่การแพทย์ตะวันตกไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้    สิ่งที่ทำให้การแพทย์ตะวันตกต่างไปจากการแพทย์ชาติพันธุ์ก็คือความซับซ้อนของเทคโนโลยี ปัจจัยเกี่ยวกับกฎหมาย การฝึกฝนความรู้  ราคา และการทำวิจัย  นักมานุษยวิทยาจำนวนมากเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ชาติพันธุ์มาเป็นเวลานานแล้ว  นักมานุษยวิทยาอธิบายว่าการเจ็บป่วยสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การตาย การบริโภค และการแก่ชรา  นักมานุษยวิทยาศึกษาระบบการแพทย์ในหลายวัฒนธรรมและพบว่ามีการผสมผสานความรู้ข้ามวัฒนธรรม  การแพทย์เชิงชาติพันธ์จึงมีการเปลี่ยนแปลง

          การอธิบายสาเหตุของความเจ็บป่วย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางวัฒนธรรม หมอและคนป่วยจะรู้ว่าจะจัดการรักษาโรคอย่างไร การอธิบายสาเหตุของการเกิดโรคอาจต่างกันสองแบบ คือ แบบแรกเชื่อว่าโรคมีสาเหตุมาจากการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ แบบที่สองเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากธรรมชาติ   การแพทย์ตะวันตกเชื่อสาเหตุจากธรรมชาติ เช่นการกินอาหารไม่ดีทำให้เจ็บป่วย แต่ชนพื้นเมืองเชื่อว่าสาเหตุมาจากการกระทำของผี หรือถูกเวทมนต์คาถาเนื่องจากผู้ป่วยทำผิดจารีตประเพณี   การรักษาโรคของชนพื้นเมืองไม่มีสถาบันทางสังคมที่ชัดเจน และไม่เกี่ยวข้องกับระบบกฎหมาย และการเมืองเหมือนสังคมตะวันตก แต่สังคมพื้นเมืองจะใช้ศาสนาเข้ามาอธิบายการเกิดโรค

          ในสังคมต่างๆจะมีวิธีการควบคุมโรค  เมื่อมีโรคเกิดขึ้น สังคมจะมุ่งความสนใจไปที่ตัวบุคคล   นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการอธิบายสาเหตุของการเจ็บป่วยมีความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม   แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือชนพื้นเมืองเชื่อว่าสาเหตุของโรคมาจาการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ การทำผิดจารีตประเพณี การเสียสมดุลของชีวิต หรือการถูกผีลงโทษ  การเกิดโรคจึงถูกมองว่าเป็นวิธีการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่ง  ชนพื้นเมืองจะมีความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัว   และรู้ว่าพืชชนิดใดสามาถนำมารักษาโรคได้  ในบางสังคมเช่นชนพื้นเมืองในบราซิลรู้จักการผ่าตัดโดยไม่ต้องใช้ยาสลบ

          สังคมตะวันตกได้นำความรู้การแพทย์ของชนพื้นเมืองมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะเรื่องยาสมุนไพร แต่การนำความรู้ทางการแพทย์ของชาวพื้นเมืองมาขายเป็นสินค้าถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิทางปัญญาของคนพื้นเมืองเป็นประเด็นใหญ่ เพราะชนพื้นเมืองถูกเอารัดเอาเปรียบ ในขณะเดียวกัน การแพทย์สมัยใหม่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าโรคของชนพื้นเมืองหลายโรคมิได้มีสาเหตุจากภูตผีปีศาจ เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคเบาหวาน    

          การวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์ทางชาติพันธุ์จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องสาธารณสุข  ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล นักระบาดวิทยา นักสาธารณสุข อาจจะไม่เข้าใจปรากฏการณ์ของการเจ็บป่วยในท้องถิ่น ดังนั้นความรู้เรื่องการแพทย์เชิงชาติพันธุ์จึงเป็นประโยชน์  เพราะการเจ็บป่วยบางอย่างสัมพันธ์กับความเชื่อ  แต่ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ก็จำเป็นสำหรับชนพื้นเมืองเช่นกัน เช่น ความรู้เรื่องผลเสียของการดื่มอัลกอฮอล์มากเกินไป


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Acharya, Deepak and Shrivastava Anshu. 2008. Indigenous Herbal Medicines: Tribal Formulations and Traditional Herbal Practices. Aavishkar Publishers Distributor, Jaipur, India

David Levinson, Melvin Ember. (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.436-441.

Lee, Roberta; Balick, Michael J. 2001. "Ethnomedicine: Ancient Wisdom for Contemporary Healing"  Alternative Therapies in Health and Medicine 7 (3): 28–30

Thomas M. Johnson, Carolyn F. Sargent 1996. "Ethnopharmacology: The Conjunction of Medical Ethnography and the Biology of Therapeutic Action". Medical Anthropology: Contemporary Theory and Method. Westport, Connecticut: Praeger Publishers. pp. 132–133, 151.


หัวเรื่องอิสระ: การแพทย์ทางชาติพันธุ์