Feuding
ความอาฆาตบาดหมางและการเป็นศัตรูกันระหว่างพี่น้องและเครือญาติ (Feuding) ต่างจากความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การสู้รบและสงคราม คีธ เอฟ ออตเตอร์บีน และ ชาร์ล็อตต์ สวอนสัน อธิบายว่าความเป็นศัตรูระหว่างคนร่วมสายเลือดว่าคือการปองร้าย แก้แค้น และฆ่าคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง ลีโอพอลด์ พอสพิซิล กล่าวว่าการเป็นศัตรูของคนร่วมสายเลือดมี 3 ลักษณะ คือ การฆ่ากันเอง การใช้อำนาจบีบบังคับ และการแก้แค้น คริสโตเฟอร์ โบเอ็ม(1984) อธิบายว่าความบาดหมางระหว่างญาติพี่น้อง จะมีการฆ่าเพื่อแก้แค้น หรือล้างแค้นเพื่อชดเชย หรือทดแทนสิ่งที่เคยถูกกระทำไว้ในลักษณะเดียวกัน โบเอ็มเชื่อว่าวิธีการจัดการกับความบาดหมางมีสองลักษณะคือ การฆ่า และการสงบความความขัดแย้ง การลดความบาดหมางอาจใช้คนกลางมาไกล่เกลี่ย มีการชดเชยด้วยวัตถุสิ่งของ หรือยุติความเป็นศัตรูกันชั่วคราว นอกจากนั้นยังมีการจัดการกับความขัดแย้งอีก 10 แบบ ได้แก่ การใช้กฎควบคุม การแก้แค้น การหลีกหนี การยกย่องสรรเสริญ การกดขี่ข่มเหง การชดใช้ การตัดความสัมพันธ์ การชะลดความขัดแย้ง การหลีกเลี่ยงสงคราม และการแข่งขันระหว่างประชากรที่มีจำนวนมากขึ้น
รอล์ฟ คูเชล(1988) ศึกษาเรื่องการฆ่าล้างแค้นในเครือญาติบนเกาะเบลโลน่า อธิบายว่า ความไม่ลงรอยกันในกลุ่มญาติพี่น้องนำไปสู่การฆ่ากันเอง มาร์ตินและมาร์โก วิลสัน(1988) อธิบายว่าการแก้แค้นด้วยวิธีฆ่าอาจเป็นการแสดงออกถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งสะท้อนความคิดที่ว่าชีวิตต้องตอบแทนด้วยชีวิต การศึกษาของคาเรน เพจ อีริคสัน และฮีเตอร์ ฮอร์ตัน (1992) อธิบายว่าความขัดแย้งและการบาดหมางในครอบครัวจะแสดงออกมาต่อเมื่อมีคนในครอบครัวเริ่มต่อต้านหรือแสดงความก้าวร้าวกับสมาชิกคนอื่นๆ
ความหมายของการฆ่ากันเองของคนในครอบครัว อาจพิจารณาได้สองลักษณะ คือ ประการแรก หมายถึงสมาชิกในครัวเรือนเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรือเป็นศัตรูกัน มีการฆ่าเพื่อล้างแค้น เพื่อชดเชยสิ่งที่ถูกกระทำ หรือเพื่อเกียรติยศศักดิ์ศรี ประการที่สองหมายถึงการฆ่าอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในสังคมเนื่องจากเหตุผลทางการเมืองและการใช้อำนาจ หรือเกิดขึ้นในสังคมที่ไม่มีผู้นำชัดเจน หรือไม่มีกฎการปกครองที่ชัดเจนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ
การศึกษาของออตเตอร์เบน(1965) อธิบายว่ารูปแบบของความขัดแย้งในสายเลือดมี 2 ลักษณะ คือ แบบที่หนึ่งเกิดขึ้นในสังคมที่ไม่มีสถาบันทางการเมือง และการแก้แค้นหรือชดใช้ไม่มีกฎที่ตายตัว แบบที่สองเกิดขึ้นโดยใช้วิธีการฆ่าล้างแค้น หรือมีวิธีจัดการความขัดแย้งที่ชัดเจน นักวิชาการแนววิวัฒนาการรุ่นแรกๆเชื่อว่าสังคมมนุษย์จะค่อยๆพัฒนาจากแบบที่หนึ่งไปเป็นแบบที่สอง ออตเตอร์เบนได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับความขัดแย้งในสายเลือดเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม 50 แห่ง ทฤษฎีดังกล่าวแบ่งความขัดแย้งเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่หนึ่ง ญาติพี่น้องของผู้ตายจะต้องไปฆ่าคนที่ทำให้ญาติของตนเสียชีวิต หรือฆ่าญาติพี่น้องของคนที่ฆ่า (พบในสังคม 8 แห่ง) กรณีที่สอง เมื่อมีการฆ่าจะต้องมีการชดใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง(พบในสังคม 14 แห่ง) และกรณีที่สาม ในสังคมที่มีกฎ หรือระบบกฎหมาย ความขัดแย้งจะถูกจัดการด้วยคนกลาง (พบในสังคม 28 แห่ง)
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 การศึกษาสังคม 186 แห่ง ของอีริคสันและฮอร์ตัน(1992) ได้แยกประเภทของความขัดแย้งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรกพิจารณาจากความชอบธรรมของการแก้แค้น ประเภทที่สองพิจารณาจากกลุ่มคนที่ถูกกระทำจากการแก้แค้น ประเภทแรก แบ่งได้เป็น 6 ลักษณะ คือ การใช้ศีลธรรมตัดสิน การปรับด้วยทรัพย์สินเงินทอง ตัดสินด้วยความพึงพอใจของแต่ละผ่าย หันไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น การใช้คนกลางตัดสิน และการชดใช้แบบส่วนตัว ประเภทที่สอง แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นญาติ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นตัวแทนของญาติ และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนลงมือกระทำผิดเพียงคนเดียว
นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องความบาดหมางในสายเลือดจะสนใจประเด็นที่สำคัญ 3 อย่าง คือ 1. ในสังคมขนาดเล็ก ความขัดแย้งในสายเลือดแตกต่างจากสงครามหรือไม่ 2. ความขัดแย้งในสายเลือดคือการกระทำของสมาชิกในครัวเรือนซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดหรือไม่ หรือ ความขัดแย้งในสายเลือดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ 3. ความขัดแย้งในสายเลือดเป็นเรื่องปกติ หรือว่าผิดปกติ หรือว่าเป็นสิ่งสากลหรือไม่
ทฤษฎีหลายทฤษฎีพยายามอธิบายปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสายเลือด ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับคือทฤษฎีของวิลสันและดาลี ซึ่งใช้แนวคิดเรื่องชีววิทยาสังคมมาอธิบาย วิลสันและดาลีอธิบายว่าการฆ่าล้างแค้นช่วยในเรื่องของการยังชีพ เนื่องจากการฆ่าศัตรูจะช่วยให้กลุ่มดำรงอยู่ได้ และลดประชากรของศัตรูให้น้อยลง การฆ่าจึงมีเหตุผลเพื่อทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ การวิจัยบางเรื่องชี้ว่าเหตุผลของการฆ่าเพื่อล้างแค้นมาจากความต้องการศักดิ์ศรี โดยเฉพาะกรณีที่มีการละเมิดกฎการแต่งงาน ในบางสังคมจะมีกฎเข้มงวด ถ้าผู้หญิงมีชู้ เธอก็จะถูกฆ่าโดยญาติพี่น้องของตัวเอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้หญิงถูกข่มขืนหรือกระทำชำเรา ความบาดหมางในครัวเรือนจะตามมา การศึกษาเรื่องการข่มขืนของออตเตอร์เบน(1979) พบว่าถ้าสังคมมีการข่มขืนสูง การฆ่าล้างแค้นก็จะมีสัดส่วนที่สูงพอๆกัน การศึกษาของอีริคสันและฮอร์ตัน(1992) พบว่าเมื่อมีการค้างล้างแค้นเกิดขึ้น แสดงว่าสังคมนั้นมีการล่วงละเมิดกฎการแต่งงาน
การศึกษาของโธเดน แวน เวลเซน และ ดับบลิว แวน วีเทอร์ริ่ง(1960) อธิบายว่าความรักในพี่น้องจะเกิดขึ้นเมื่อมีความขัดแย้งปรากฏ ความรักในพี่น้อง จะมีพลังมากในกลุ่มผู้ชาย และจะแสดงออกมาโดยกฎของการนับญาติข้างพ่อ หรือการอนุญาติให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน ออตเตอร์เบนชี้ว่าความรักในพี่น้องจะพิจารณาได้จากกฎการนับญาติข้างพ่อและการมีภรรยาหลายคนซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางสายเลือด
แนวคิดของออตเตอร์เบน เชื่อว่าทฤษฎีวิวัฒนาการทางการเมือง และทฤษฎีความขัดแย้งและความสามัคคีในกลุ่มสามารถอธิบายความขัดแย้งทางสายเลือดได้ ออตเตอร์เบนอธิบายว่า ถ้ามีการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและมีการทำสงคราม สังคมนั้นต้องมีความขัดแย้งในสายเลือดเกิดขึ้น สังคมที่มีการรวมศูนย์อำนาจจะมีการควบคุมจัดการกับความขัดแย้ง และจะแสดงออกก็ต่อเมื่อมีการทำสงคราม การศึกษาโดยโบเอม, คูเชล และนักวิชาการคนอื่น ชี้ให้เห็นว่าหลายๆสังคมที่มีการรวมตัวของพี่น้องอย่างเข้มแข็ง จะให้ความสำคัญกับเรื่องเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของผู้หญิงที่เป็นญาติของตน และมักจะเกิดความขัดแย้งในสายเลือดได้ง่าย นอกจากนั้น ความรักในกลุ่มพี่น้องเป็นความรักของคนร่วมสายเลือด และในกรณีที่กลุ่มจัดการกับศัตรูของตัวเอง ความขัดแย้งในสายเลือดหรือฆ่าล้างแค้นจะทำให้สมาชิกของกลุ่มดำรงอยู่ได้
แนวคิดของโบเอมอธิบายว่าความขัดแย้งในสายเลือดเป็นทางออกของความขัดแย้งที่นำไปสู่สงคราม โบเอมกล่าวว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งทางสายเลือด คู่ต่อสู้จะมีวิธีการจัดการเชิงสงคราม และทำให้ศัตรูล่มสลาย สังคมชนเผ่าหลายแห่งในโลกจะมีกฎและควบคุมความขัดแย้งโดยอาศัยการแก้แค้น ซึ่งเปรียบเป็นการจัดระเบียบทางสังคม ความขัดแย้งทางสายเลือดจะแสดงออกผ่านกระบวนการชดใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Boehm, Christopher 1984. Blood Revenge: The Anthropology of Feuding in Montenegro and Other Tribal Societies. Lawrence, Kansas: The University of Kansas.
David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. pp.493-495.
Torres, Wilfredo M (ed). 2007. “Rido: Clan Feuding and Conflict Management in Mindanao.” Makati: The Asia Foundation.
หัวเรื่องอิสระ: การเป็นศัตรูระหว่างพี่น้อง