Fieldwork
งานภาคสนาม (Fieldwork) หมายถึง การเข้าไปอยู่กิน สนทนา พูดคุย เข้าร่วมกิจกรรม สังเกตชีวิตของชาวบ้าน เรียนรู้ภาษาของชาวบ้าน โดยเข้าไปอยู่อาศัยเป็นเวนายาวนานเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าชาวบ้านคิดอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้ใช้วิธีคิดแบบชาวบ้านเป็นรากฐาน และข้อมูลที่ได้มาก็จะนำไปสู่ความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่ถูกศึกษา ทั้งนี้ งานภาคสนามของนักมานุษยวิทยาอาจเป็นหมู่บ้านเล็กๆในชนบท พื้นที่ในชุมชนเมือง ในสถาบัน องค์กร หน่วยงาน ชมรม หรือแม้แต่ชุมชนเสมือนจริงในอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันนี้งานภาคสนามของนักมานุษยวิทยามีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น ทำให้พื้นที่ที่ศึกษามีหลายพื้นที่ที่เกี่ยวโยงกัน (multiple sites) เช่น ศึกษาถิ่นอาศัยของแรงงานชนบทที่อพยพเข้าไปทำงานชั่วคราวในเมืองและย้ายกลับไปอยู่ชนบทในช่วงทำนาและฤดูเก็บเกี่ยว
ฟรานซ์ โบแอส กล่าวว่านักมานุษยวิทยาควรจะรู้ว่าสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และเปรียบเทียบวัฒนธรรมหนึ่งกับวัฒนธรรมอื่นๆ แบบแผนทางวัฒนธรรมจึงไม่ใช่สิ่งคงที่ แต่มีการแลกเปลี่ยนไปมา นักมานุษยวิทยาไม่ควรจะสร้างมาตรฐานตายตัวในการอธิบายความเชื่อและขนบธรรมเนียมต่างๆ แต่ควรจะทำความเข้าใจว่ามนุษย์แสดงพฤติกรรมทางสังคมออกมาอย่างไร มีความคิดต่างกันอย่างไร และเปรียบเทียบความคิดที่หลากหลายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งที่โบแอสย้ำคือต้องเรียนรู้ภาษาของชาวบ้าน เพราะถ้านักมานุษยวิทยาไม่เข้าใจภาษาของคนท้องถิ่นแล้ว นักมานุษยวิทยาก็ไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมของคนเหล่านั้นได้ การทำงานวิจัยภาคสนามจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโบแอส เพราะงานภาคสนามช่วยให้เข้าใจตัวเอง แต่วิธีการทำความเข้าใจตัวเองจะทำได้อย่างไรยังเป็นสิ่งที่คลุมเคลือ
เรื่อง Argonauts of the Western Pacific (1922) ของมาลีนอฟสกี้ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีวิทยาและการทำงานภาคสนาม มาลีนอฟสกี้อธิบายว่าวิธีวิทยามีความจำเป็นสำหรับการศึกษาทางชาติพันธุ์เพื่อค้นหาความจริงและความถูกต้อง ความเข้าใจต่างๆไม่ได้มาแบบง่ายๆ เพราะต้องมีวิธีการและมาตรการในการแสวงหาความจริง มาลีนอฟสกี้เสนอวิธีการ 3 แบบในการทำความเข้าใจความคิดของชาวบ้าน ได้แก่ 1) การศึกษาสถาบันทางสังคม 2) การศึกษาชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และ 3) การบันทึกเรื่องราวต่างๆที่ชาวบ้านพูดสนทนา นักมานุษยวิทยาต้องเป็นผู้กระตือรือร้น ขวยขวาน สอดรู้สอดเห็น ใส่ใจที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับชาวบ้านโดยเข้าไปอยู่อาศัยกับชาวบ้าน และเรียนรู้ที่จะพูดภาษาเดียวกับชาวบ้าน
หน้าที่อย่างแรกของการทำงานภาคสนามก็คือการค้นหากฎที่ตายตัวของสังคม และแยกกฎเหล่านั้นให้เห็นชัดเจน นักมานุษยวิทยาต้องสำรวจปรากฏการณ์ทางสังคมทุกประเภท ศึกษาลักษณะทางวัฒนธรรม และนำบริบทต่างๆมาวิเคราะห์รวมกัน โครงสร้างทางสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นอาจแสดงออกผ่านพฤติกรรมบางอย่าง สิ่งที่นักมานุษวิทยาต้องทำในงานภาคสนามก็คือการพูดคุยกับชาวบ้าน สังเกตสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน วิเคราะห์ แยกแยะ จัดประเภทของเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆเพื่อค้นหาว่าชาวบ้านแสดงออกอย่างไรและตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร นักมานุษยวิทยาต้องค้นหาชิ้นส่วนที่หายไปของภาพที่มาต่อเรียงกัน เพื่อทำให้ภาพสมบูรณ์ขึ้น มาลีนอฟสกี้กล่าวว่านักมานุษยวิทยาจะต้องเก็บข้อมูล ใช้แผนที่ วางแผนตามลำดับขั้น สำรวจประชากร จัดข้อมูลลงในตารางหรือแผนภูมิ สำรวจการจับจองที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ วิธีการศึกษาแบบนี้เรียกว่าการศึกษาเชิงสถิติ
วิธีศึกษาเชิงสถิติอาจให้ข้อมูลเชิงโครงสร้างทางสังคม แต่มองไม่เห็นชีวิตมนุษย์ เพราะมนุษย์จะไม่มีชีวิตถูกต้องตามโครงสร้าง การถามชาวบ้านอาจให้คำตอบเพียงบางส่วนแต่จะไม่เข้าใจชีวิตทั้งหมด นักมานุษยวิทยาจึงจำเป็นต้องเก็บข้อมูลหลายประเภท ทั้งที่เป็นการถามโดยตรง เฝ้าสังเกตอย่างมีส่วนร่วม ศึกษาชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จำคำพูดทุกคำที่ชาวบ้านสนทนากันเพื่อที่จะทำให้เข้าใจความคิดและความรู้สึกของชาวบ้าน
การทำงานภาคสนามด้วยแนวทางนี้รู้จักในนาม “การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม” (participant observation) หมายถึงการที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปอยู่กับชาวบ้าน สังเกตพฤติกรรมของชาวบ้าน และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆของชาวบ้าน หลังจากนั้นนักมานุษยวิทยาจะนำข้อมูลที่จดบันทึกไว้มาเขียน เรียบเรียงตามทัศนะของตัวเอง ซึ่งอาจมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น นักมานุษยวิทยาบางคนคิดว่าวิธีการทำงานภาคสนามที่เหมาะสมน่าจะเป็นการเข้าไปร่วมอยู่อาศัยกับชาวบ้านมากกว่าที่จะเข้าไปถามชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลตรงๆตามแนวทางของมาลีนอฟสกี้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับงานเขียนของนักมานุษยวิทยาก็คือการลุ่มหลงและตื่นตาตื่นใจกับสิ่งประหลาดที่พบในท้องถิ่น ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการว่านักมานุษยวิทยาควรจะเขียนถึงชาวบ้านอย่างไร ระหว่างใช้ความคิดของตัวเองกับมองจากวิธีคิดของชาวบ้าน
ในปี ค.ศ. 1974 คลิฟฟอร์ด เกิร์ตซ เขียนบทความที่อธิบายว่าการศึกษาชีวิตชาวบ้านมิใช่เรื่องของการอ่านใจชาวบ้าน แต่เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจว่าชาวบ้านคิดอย่างไร เกิร์ตซเชื่อว่าตัวเขาเป็นคนที่เรียนรู้คนอื่น ซึ่งต้องคิด วิเคราะห์ และค้นหาว่าชาวบ้านแสดงออกอย่างไร มีพฤติกรรม และสังคมอย่างไร เกิร์ตซต้องตั้งคำถามตลอดเวลาเพื่อตรวจสอบสิ่งที่ศึกษา เพราะการทำความเข้าใจชาวบ้านทำได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านแสดงพฤติกรรมออกมา การศึกษาชาวบ้านจึงควรมองรายละเอียดต่างๆในชีวิตประจำวันเพื่อที่จะเชื่อมโยงให้เห็นลักษณะสังคมและสถาบันที่กว้างขึ้น
ทั้งเกิร์ตซและมาลีนอฟสกี้ทำในสิ่งเดียวกัน นั่นคือ สังเกต บันทึก พูดคุยกับชาวบ้าน ทำความเข้าใจความคิดของชาวบ้าน เปรียบเทียบคำพูดของชาวบ้าน เขียนคำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตของชาวบ้าน และเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนตั้งข้อสมมุติฐานว่าชาวบ้านคิดอย่างไรและมีชีวิตอย่างไร เกิร์ตซกล่าวว่าการตีความและการเขียนถึงชาวบ้านของเขาเปรียบเสมือนกับการเล่นเบสบอลล์ ซึ่งต้องรู้ระบบและกฎเกณฑ์ต่างๆก่อนที่จะลงไปเล่น เกิร์ตซได้ทิ้งปริศนาเอาไว้เมื่อเขาพยายามตั้งคำถามว่างานเขียนของนักมานุษยวิทยาเป็นเรื่องของการตีความ หรือเป็นวิธีการเข้าถึงความจริงแบบสงสารมนุษย์ และเห็นใจมนุษย์ เกิร์ตซไม่เชื่อว่าการเขียนงานมานุษยวิทยาที่เกิดจากความประทับใจชาวบ้านจะเป็นความจริง
ในปี ค.ศ.1962 ชาร์ล โอ เฟรก อธิบายการศึกษาชาวบ้านเป็นวิธีการค้นหาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในวัฒนธรรม เช่น การอธิบายลักษณะของระบบเครือญาติมิใช่เพียงการศึกษาคำเรียกญาติ แต่เป็นการศึกษาเพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ของเครือญาติ ความหมายของระบบเครือญาติแต่ละแบบต้องมาจากการศึกษารายละเอียดและเก็บข้อมูลภาคสนาม เพราะระบบเครือญาติแต่ละแบบจะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เฟรกกล่าวว่าการศึกษาเครือญาติต้องวิเคราะห์ระบบของการเรียกญาติ และความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำรียกเหล่านั้น เพราะระบบเครือญาติเป็นระบบที่มีแบบแผนชัดเจนกว่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมอื่นๆ เฟรกเสนอแนะว่าวิธีการศึกษาระบบเครือญาติสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาวัฒนธรรมเรื่องอื่นๆ เป้าหมายของเฟรกก็เพื่อที่จะสร้างแบบแผน กฎเกณฑ์ และระเบียบทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน
เฟรกตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมนุษย์พูด มนุษย์จะตีความสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น และนักมานุษยวิทยาก็ต้องการทำความเข้าใจวิธีการตีความของมนุษย์ แต่การตีความยังสัมพันธ์กับวิธีการที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปมีส่วนร่วม และพูดคุยสนทนา ดังนั้น “การตีความ” ของมนุษย์จึงถูกตีความโดยนักมานุษยวิทยาอีกต่อหนึ่ง นักมานุษยวิทยาในทศวรรษที่ 1950 เชื่อในเรื่องการตั้งสมมุติฐานและหาหลักฐานเชิงสถิติมาพิสูจน์สมมุติฐานตามแบบวิทยาศาสตร์ คำถามคือ วิชามานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่เห็นใจมนุษย์หรือไม่ และศาสตร์ประเภทนี้จำเป็นต้องมีความถูกต้องหรือไม่ นักมานุษยวิทยาคือนักวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ใช่หรือไม่ เราจะเข้าใจวัฒนธรรมอื่นได้จริงหรือไม่ คนที่แตกต่างกันจะเข้าใจอะไรเหมือนกันหรือไม่ เราจะแน่ใจได้หรือไม่ว่าเรากำลังศึกษาในสิ่งเดียวกัน เราเชื่อรายงานวิจัยของนักมานุษยวิทยาที่ตีพิมพ์ออกมาหรือไม่ คำถามเหล่านี้ได้กลายเป็นคำถามเกี่ยวกับเหตุผลของการเป็นนักมานุษยวิทยา ถ้าเหตุผลของการเป็นนักมานุษยวิทยาเพื่อที่จะทำความเข้าใจมนุษย์ หรือทำความเข้าใจคนอื่นและตัวเราไปพร้อมๆกัน การเป็นนักมานุษยวิทยาก็อาจมีทั้งด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยนิยม เหตุผลนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องสนใจวิธีการทำงานของตัวเอง
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson, Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.496-500.
Okely, J. 2011. Anthropological Practice: Fieldwork and the Ethnographic Method. Berg Publishers.
Antonius C.G. M. Robben and Jeffrey A. Sulka (eds.) 2006. Ethnographic Fieldwork: An Anthropological Reader. Wiley-Blackwell
Watson,C. W. 1999. Being There: Fieldwork in Anthropology. Anthropology, Culture and Society. Pluto Press.
หัวเรื่องอิสระ: งานภาคสนาม