Folklore

Folklore

คติชาวบ้าน (Folklore) หมายถึง แบบแผนการแสดงออกทางความคิดความเชื่อของชาวบ้านในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ดนตรี ตำนาน ความเชื่อ สุภาษิต คำพังเพย คติพจน์ นิทาน เรื่องเล่า เป้นต้น คำว่า Folklore เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1846 โดย วิลเลียม โธมัส หมายถึง นิยายของชาวบ้าน โดยทั่วไปคติชาวบ้านจะใช้การแสดงออกทางภาษาซึ่งแฝงด้วยความเชื่อทางศาสนา มีการเล่าแบบปากต่อปากจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง

ชาร์ด วีส อธิบายว่า folk หมายถึงทัศนคติ ความคิด สำนึกทางจิตใจที่เป็นของส่วนรวม และเป็นไปตามจารีตประเพณี อลัน ดันเดส อธิบายว่า หมายถึงกลุ่มคนที่มีอะไรร่วมกันบางอย่าง สิ่งที่มีร่วมกันนั้นอาจเป็นอาชีพการทำงาน ภาษา ถิ่นที่อยู่อาศัย สำนึกทางชาติพันธุ์ และบุคลิกลักษณะอื่น ๆ นักมานุษยวิทยาหลายคนนิยามความหมายของคติชนแบบกว้าง ๆ เช่น จอร์จ ฟอสเตอร์ อธิบายว่าคติชนหมายถึงการแสดงออกโดยวาจาของผู้คน ซึ่งอาจรู้หนังสือหรือไม่ก็ได้ วิลเลียม บาสคอมกล่าวว่า คติชนคือศิลปะของการพูด ประกอบด้วยตำนาน เรื่องเล่า นิทาน สุภาษิต ปริศนาคำทาย บทเพลง บทกลอน และอื่นๆ แต่มิใช่งานศิลปะ นาฏศิลป์ ดนตรี เครื่องแต่งกาย ยารักษาโรค ขนบธรรมเนียมและความเชื่อ

การศึกษาคติชนเริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-17 โดยเป็นการศึกษาขนบธรรมเนียมและวัตถุทางวัฒนธรรมที่หายาก โดยเฉพาะในสังคมที่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับคติชนวิทยา เป็นศาสตร์หนึ่งในการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวทฤษฎีชาตินิยมและโรแมนติกนิยม การศึกษาในแนวนี้ตอกย้ำประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีความแปลก อธิบายสังคมในฐานะเป็นหน่วยตามธรรมชาติซึ่งเป็นบ่อเกิดของขนบธรรมเนียมประเพณี และเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นเบ้าหลอมทางการเมือง การศึกษาแนวนี้นำไปสู่การค้นหาบุคลิกของชีวิตแบบชาวบ้านซึ่งถูกทำให้หดสั้นลงเป็นเพียงเรื่องเล่าหรือขนบธรรมเนียม เจ จี วอน เฮอร์เดอร์ เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการแยกประเภทคติชน และประเภทขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เขาอธิบายว่า ธรรมชาติของการเมืองมักจะมีคติความเชื่อชาวบ้านที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะของสังคมนั้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การศึกษาของนักมานุษยวิทยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการ อธิบายคติชนในฐานะเป็นการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ในระยะแรกของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ซึ่งยังไม่มีเหตุผลและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แอนดรูว์ แลง อธิบายว่าคติชนคือการเก็บรวบรวมและเปรียบเทียบเรื่องราวทางวัฒนธรรมของคนโบราณ ศึกษาเรื่องโชคลาง เรื่องเล่า และความคิดซึ่งยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

นักคติชนในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อธิบายว่าการศึกษาคติชน คือการศึกษาวัตถุทางขนบธรรมเนียมประเพณี สติธ ธอมป์สัน อธิบายว่า ความคิดที่ปราฏอยู่ในคติชนคือขนบธรรมเนียมซึ่งมีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง การสืบทอดนี้ทำโดยความจำและการปฏิบัติ มิใช่ผ่านตัวหนังสือ ความทรงจำและการปฏิบัติ ได้แก่ การเต้นรำ บทเพลง นิทาน ตำนาน ความเชื่อ โชคลาง คำพังเพย สุภาษิต และธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ อังเดร วาราแน็ค เชื่อว่าคติชนเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เป็นความเชื่อของคนหมู่มากที่ไม่ต้องยึดเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ เป็นการปฏิบัติของส่วนรวมที่ไม่ต้องมีคำสอนหรือทฤษฎี

คติชนวิทยา มีการศึกษาทั้งในวิชามานุษยวิทยาและศาสตร์อื่น ๆ การศึกษาประเด็นนี้มีลักษณะเฉพาะที่สนใจเรื่องการปฏิบัติและบันทึกต่าง ๆ เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งประมวลออกมาจากบริบททางสังคม จุดประสงค์ของการศึกษา คือการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบ และดูลักษณะการแพร่กระจายของเรื่องเล่าต่าง ๆ ตามยุคสมัย ในทางตรงข้าม การศึกษาคติชนทางมานุษยวิทยาเป็นการศึกษาหลักฐานของสิ่งที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมและโครงสร้างสังคม แต่ทั้งมานุษยวิทยาและคติชนวิทยาต่างสนใจที่จะอธิบายเรื่องเล่าในฐานะเป็นวิธีการสื่อสาร ซึ่งมิใช่เฉพาะแต่ตัวเรื่องเล่าเท่านั้น หากแต่ยังสนใจประสบการณ์ของการเล่า ซึ่งประกอบด้วยผู้เล่า ผู้ฟัง การได้ยินและการมองเห็น

Georges, Robert A., Michael Owens Jones, 1995. "Folkloristics: An Introduction," Indiana University Press.

 Kenneth S. Goldstein, 1971. "Strategy in Counting Out: An Ethnographic Folklore Field Study," in Elliott M. Avedon and Brian Sutton-Smith, eds., The Study of Games. New York: John Wiley & Sons.

Robert H. Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.124-127.