Games
เกมส์ หมายถึงกิจกรรมเกี่ยวกับการแข่งขันที่ผู้เล่นต้องตกลงและใช้กฎเดียวกัน เพื่อทำให้เกมส์ดำเนินไปได้ และสามารถชี้ได้ว่าใครจะเป็นผู้แพ้หรือชนะ เกมส์มักจะเป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่เกมส์บางประเภทก็มุ่งเพื่อการแข่งขัน ในทำนองเดียวกัน การต่อสู้ของนักรบในสมัยโรมัน มีลักษณะเป็นการละเล่นเพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม แต่นักต่อสู้ต้องแสดงความกล้าหาญ อดทนสูง และไม่มีอารมณ์สนุกสนานเหมือนผู้ชม ในปัจจุบันนี้ นักกีฬา และการแข่งขันหลายประเภทก็ไม่ได้ตอบสนองความเพลิดเพลิน ในหลายวัฒนธรรมมีการเล่นเกมส์และการแข่งขันกัน ซึ่งอาจจะเป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีสารภาพบาปแก่พระเจ้า พิธีเข้าทรง และ พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
การศึกษาเรื่องการเล่นเกมส์ในทางมานุษยวิทยา เริ่มต้นอย่างเป็นระบบเมื่อประมาณครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้ริเริ่มศึกษาได้แก่ เอ็ดเวิร์ด บี ไทเลอร์ และ สจ๊วต คูลิน ไทเลอร์อธิบายว่าในหลายวัฒนธรรมมีเกมส์ที่มีลักษณะคล้ายๆเกิดขึ้น และเกมส์อาจจะเป็นกิจกรรมชนิดแรกๆที่ทำให้มนุษย์แต่ละกลุ่มติดต่อสื่อสารกัน ในเรื่อง Anthropology(1881) ไทเลอร์กล่าวว่า การเล่นเกมส์ของเด็กเลียนแบบการทำกิจกรรมของผู้ใหญ่ ของเล่นและอุปกรณ์สำหรับเล่นเกมส์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอาจเป็นเครื่องมือเพื่อให้ความรู้และเพื่อความสนุกสนานไปพร้อมๆกัน
นักมานุษยวิทยาที่จุดประกายการศึกษาเกมส์ขึ้นมาอีกครั้งคือ จอห์น เอ็ม โรเบิร์ตส์, มัลคอล์ม เจ อาร์ธ, และ โรเบิร์ต อาร์ บุช ทั้งสามคนนี้ได้เขียนบทความเรื่อง Games in Culture บทความนี้ได้สร้างนิยามและจัดประเภทของเกมส์ชนิดต่างๆ ซึ่งนักมานุษยวิทยามักจะให้ความสนใจเรื่องนิยามและการแบ่งประเภท เช่น เกมส์ที่ใช้ร่างกาย เกมส์ที่ใช้ความคิด และเกมส์ที่ใช้จังหวะและโอกาส อย่างไรก็ตาม เกมส์ส่วนใหญ่อาจมีลักษณะร่วมกันสองแบบ คือเกมส์ที่ใช้ร่างกายและพละกำลัง อาจต้องใช้สมองและความคิดประกอบกันด้วย เช่น เกมส์ที่เป็นกีฬาหลายชนิด
โรเบิร์ตส์, อาร์ธ และบุช อธิบายว่าเกมส์คือการแสดงออกของการทำกิจกรรมที่จับต้องได้ ในหลายๆวัฒนธรรมที่มีเกมส์ที่ต้องใช้กำลัง เช่น ชกมวย การขวางหิน การต่อสู้ในสงคราม หรือ การล่าสัตว์ เกมส์ที่ต้องใช้ความคิดและการวางแผน ได้แก่ การเล่นหมากรุก การวางกับดักสัตว์ การวางแผนสงคราม การเล่นลูกเต๋า การเล่นเหล่านี้อาจเลียนแบบมาจากการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมที่มีการจัดช่วงชั้นที่ซับซ้อน เกมส์ที่ต้องใช้จังหวะและโอกาส อาจพบเห็นได้จากการติดต่อสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การเข้าทรงและบวงทรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โรเบิร์ตส์, อาร์ธ และบุช ยังเสนอว่าเกมส์ประเภทต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้นพัฒนาการทางวัฒนธรรม เช่น เกมส์ที่ต้องใช้กำลังอาจพบได้ทุกวัฒนธรรม แต่เกมส์ที่ใช้ความคิดมักจะพบได้ในสังคมที่เจริญแล้วและมีการจัดโครงสร้างสังคมที่ซับซ้อน ส่วนเกมส์แห่งโอกาสจะพบในสังคมที่ไร้ความมั่นคงในการอยู่อาศัย และต้องพึ่งธรรมชาติ
โรเบิร์ตส์ และเฮอร์เบิร์ต บาร์รี ที่ 3 (1976) อธิบายว่าประเภทของเกมส์มีความสัมพันธ์กับการขัดเกลาทางสังคมของเด็ก กล่าวคือ ในระยะแรกๆเด็กจะเล่นเกมส์ที่ต้องใช้กำลัง ต่อมาจะพัฒนาไปเล่นเกมส์ที่ใช้สมองควบคู่ไปกับการใช้กำลัง และสุดท้ายจะรู้จักการเล่นเกมส์ที่ต้องใช้ทั้งกำลัง สมอง และโอกาส ในขั้นแรก เกมส์จะถูกแยกประเภทออกไปอย่างชัดเจน ขั้นที่สองจะมีการนำเกมส์ประเภทต่างๆมาผสมรวมกัน ตัวอย่างเช่น เกมส์ที่ต้องใช้กำลังจะแตกต่างกันตามลักษณะของการเล่น ซึ่งอาจจะมีการใช้ความคิด หรือโอกาสมาเสริมด้วยหรือไม่ก็ได้
การศึกษาวัฒนธรรม 96 แห่ง ของโรเบิร์ตส์ และบาร์รี เป็นการนำความซับซ้อนทางสังคมมาเปรียบเทียบกับความซับซ้อนของการเล่นเกมส์ เพื่อที่จะดูพัฒนาการของเด็กในสังคมที่ต่างกัน เช่น สังคมที่มีเกมส์ที่ต้องใช้ทักษะหลายอย่าง เด็กๆจะถูกฝึกให้มีความเคารพผู้ใหญ่และรักษาระเบียบวินัยตั้งแต่ยังเล็ก ในสังคมอุตสาหกรรม เด็กผู้ชายจะถูกสอนให้มีความรับผิดชอบตั้งแต่เล็กๆ จากการศึกษาดังกล่าวทำให้โรเบิร์ตส์และบาร์รีเชื่อว่าการกีฬาของตะวันตกเป็นภาพสะท้อนของการเล่นเกมส์ที่ต้องอาศัยทักษะทั้ง กำลัง ความคิด และโอกาส ตัวอย่างเช่น ผู้ฝึกสอนกีฬาต้องทำให้นักกีฬาเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ต้องมีความเคารพเชื่อฟังผู้สอน รักษาระเบียบวินัยในการฝึกสอน รู้จักกฎเกณฑ์ต่างๆ และมีความรับผิดชอบ
การศึกษาของไบรอัน ซัทตัน-สมิธ และโรเบิร์ตส์(1981) อธิบายว่าความสัมพันธ์ที่พบในการเล่นเกมส์และความซับซ้อนทางสังคม บ่งชี้ว่ามนุษย์ในสังคมที่ซับซ้อนมักจะมีความชำนาญในการประเมินจิตใจคนอื่น ในขณะที่สังคมที่เรียบง่าย มนุษย์จะพึงพากำลังของคนอื่นสูงเพื่อทำให้ตนเองมีชีวิตรอด และต้องซื่อสัตย์ ไว้ใจคนที่ให้ความคุ้มครอง ในสังคมสมัยใหม่ ความชำนาญทางร่างกายจะไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องการก็คือการเข้าถึงจิตใจคนอื่น การอ่านใจคนอื่น โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ การเมือง และการเข้าสังคม เพราะถ้าต้องการชนะก็จะต้องเรียนรู้ที่จะมีเล่ห์เหลี่ยม หลอกลวง และทรยศ
เกมส์และการเล่นเป็นกิจกรรมที่พบได้ทุกวัฒนธรรม เกมส์เป็นกิจกรรม เป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมที่นำไปสู่การขัดเกลาทางสังคมและหล่อหลอมแบบแผนทางวัฒนธรรม เกมส์เป็นสื่อกลางทางวัฒนธรรมที่สร้างความชำนาญให้มนุษย์ เช่น การสู้รบ การทำสงคราม การล่าสัตว์ หรือการติดต่อสื่อสารทางสังคม บุคคลจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเกมส์ด้วยเงื่อนไขและสภาวะที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัย เพศ สถานะ และความชำนาญ เกมส์จึงสัมพันธ์ และเป็นกระจกเงาที่ทำให้เห็นระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Clifford Geertz, 1973. “Deep Play: Notes on the Balinese Cockfight,” in The Interpretation of Cultures: Selected Essays. New York: Basic Books, 412–53
David Levinson and Melvin Ember. (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.513-515.
John M. Roberts, Malcolm J. Arth, Robert R. Bush. 1959. Games in Culture. American Anthropologist, New Series, Vol. 61, No. 4, (Aug., 1959), pp. 597-605.
Thomas M. Malaby, 2007. “Beyond Play: A New Approach to Games,” Games and Culture 2: 95–113.
หัวเรื่องอิสระ: เกมส์