Gangs
แก๊งค์ คือกลุ่มคนที่รวมตัวกันโดยมีการสร้างความสัมพันธ์ สร้างกฎเกณฑ์และมีหัวหน้ากลุ่ม โดยเข้าไปควบคุมเขตแดนและพื้นที่บางอย่าง สมาชิกในแก๊งค์จะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนมากกลุ่มแก๊งค์จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นชายที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง มาจากชนชั้นล่างและมีลักษณะต่อต้านสังคม หรือดำรงชีวิตอยู่นอกเกณฑ์ระเบียบทางสังคม แก๊งค์จะมีหน้าที่หลายอย่าง ได้แก่ เป็นกลุ่มของเพื่อนที่มาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ให้คำปรึกษา เล่นกีฬา พักผ่อน จีบสาว หรือแข่งรถ แต่แก๊งค์ก็จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง และทำตัวมีปัญหาซึ่งจะถูกจับตามองจากผู้ปกครองบ้านเมือง
การศึกษากำเนิดของแก๊งค์มักจะอธิบายถึงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการขาดโอกาสทางสังคมซึ่งผลักดันให้วัยรุ่นชายมารวมตัวกัน สาเหตุของการรวมตัวของวัยรุ่นชาย เช่น บ้านแตก ครอบครัวขาดความอบอุ่น หนีออกจากโรงเรียน ชุมชนไม่ยอมรับ ทำให้วัยรุ่นออกมาเร่ร่อนกลางถนนและรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งวัยุร่นแต่ละคนจะมีแรงจูงใจและเหตุผลที่ต่างกัน แก๊งค์กลายเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับวัยรุ่น สมาชิกในแก๊งค์จะช่วยเหลือกันและร่วมทำกิจกรรมเดียวกัน สังคมภายในแก๊งค์จะพัฒนาขึ้นเมื่อวัยรุ่นมาใช้ชีวิตร่วมกัน
การศึกษาชิ้นสำคัญของเฟรดริค เทรเชอร์ เรื่อง The gang(1927) เป็นการศึกษาที่ใช้ให้เห็นสภาพสังคมของแก๊งค์ที่น่าสนใจ ทฤษฎีหลายทฤษฎีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่ออธิบายความหมายและพฤติกรรมของแก๊งค์ ทฤษฎีเหล่านั้นจะอธิบายว่าแก๊งค์คือรูปแบบของการควบคุมทางสังคม เป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อย และเป็นที่ขัดเกลาทางอารมณ์และให้คำปรึกษา ทฤษฎีเรื่องการควบคุมทางสังคมอธิบายว่ากลุ่มวัยรุ่นจะมีความสัมพันธ์ทางสังคมแบบหลวมๆ ทฤษฎีวัฒนธรรมย่อยจะอธิบายว่ากลุ่มวัยรุ่นในแก๊งค์จะมีวิธีคิดและการกระทำในแบบของตัวเองซึ่งสังคมภายนอกไม่เข้าใจ ทฤษฎีการขัดเกลาทางอารมณ์อธิบายว่าแก๊งค์เป็นที่บ่มเพาะวัยรุ่นให้เป็นผู้ใหญ่ เมื่อวัยรุ่นแสดงความก้าวร้าวออกมา แสดงว่าวัยรุ่นกำลังระบายความขัดแย้งที่มีอยู่ในใจ
เมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปเก็บข้อมูลในเมือง และศึกษาชีวิตของผู้อพยพที่เข้าไปอยู่ในอเมริกาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เด็กๆที่เป็นพวกอพยพจะต้องปรับตัวและเผชิญหน้ากับความแปลกแยกทางวัฒนธรรมและความขัดแย้งทางสังคม เด็กๆผู้อพยพจะใช้ชีวิตตามท้องถนนและรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือแก๊งค์ เด็กส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พวกยุโรปตะวันออก ในช่วงทศวรรษที่ 1990 แก็งค์เด็กจะเป็นพวกเม็กซิกัน และลาติโน นอกจากนั้นอาจมีพวกเอเชีย แอฟริกันอเมริกัน สกินเฮด และกลุ่มนาซีใหม่ที่เป็นพวกผิวขาวที่มีฐานะยากจน จากการศึกษาแก๊งค์ทำให้ทราบว่าการเกิดขึ้นของแก๊งค์มิได้มาจากสาเหตุเดียว การศึกษาแก๊งค์ต้องอาศัยความเข้าใจในมิติต่างๆแบบองค์รวม เพราะสังคมของแก๊งค์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในกลุ่ม นอกกลุ่ม และสังคมภายนอก
คำถามแรกที่จะใช้ศึกษาแก๊งค์ก็คือ แก็งค์เกิดมาจากอะไร และแก๊งค์จะอยู่ที่ไหน จากข้อมูลที่ค้นพบทำให้รู้ว่าแก๊งค์เกิดขึ้นในเขตเมือง สมาชิกของแก๊งค์จะเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานเดียวกัน เช่น ชาติพันธุ์เดียวกัน หรือสีผิวเดียวกัน สมาชิกเหล่านี้จะอยู่ในชุมชนเดียวกันและเป็นเพื่อนบ้านกัน กลุ่มเพื่อนจะมีความสนิทสนมกันและนำไปสู่การรวมตัวเป็นแก๊งค์ กลุ่มเพื่อนที่มาจากชุมชนยากจนจะรวมตัวกันและอยู่ตรงข้ามกับกลุ่มที่มีฐานะดี แก๊งค์จึงมีจุดกำเนิดในเขตเมือง มาจากกลุ่มวัยรุ่นที่ยากจน ไม่มีงานทำ และไม่มีความรู้ กลุ่มวัยรุ่นประเภทนี้จะมีการรวมตัวกันเป็นช่วงๆ เมื่อมีการรวมตัวกันพวกเขาจะอยู่ตามท้องถนน กลุ่มเด็กที่เสี่ยงจะกลายเป็นกลุ่มแก๊งค์ได้แก่พวกที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ถ้าเด็กเข้าโรงเรียนอาจไปเจอกลุ่มเพื่อนที่มีนิสัยเหมือนกัน เด็กก็จะรวมตัวกันเป็นแก๊งค์ได้ ดังนั้น การเกิดแก๊งค์จึงมีได้ทั้งในโรงเรียนและตามท้องถนน ผู้นำแก๊งค์อาจเป็นรุ่นพี่ที่ชักจูงให้น้องๆเข้ามาร่วมกิจกรรม รุ่นพี่จะกลายเป็นแม่แบบให้น้องๆปฏิบัติตาม กลุ่มวัยรุ่นประเภทนี้จะเป็นกลุ่มที่เรียนหนังสือน้อยและไม่มีโอกาสทำงาน ทำให้มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี กลุ่มวัยรุ่นจึงต้องใช้ท้องถนนเป็นสถานที่ทำงานและเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด
การศึกษาทางมานุษยวิทยาสามารถทำให้เข้าใจพลวัตของแก๊งค์ในหลายๆมิติได้ นักมานุษยวิทยาจะศึกษาเรื่องกลุ่มอายุของแก๊งค์ การรับเป็นสมาชิก และการทำกิจกรรมเพื่อพิสูจน์ความเป็นสมาชิก การศึกษาแก๊งค์ในวัฒนธรรมต่างๆจะพบว่าการเลี้ยงดูเด็กในวัฒนธรรมที่ต่างกันจะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต่างกัน ช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่คือช่วงเวลาสำคัญ ประเด็นที่มีการถกเถียงได้แก่ เรื่องเพศและการเรียนรู้ทางสังคมของวัยรุ่นมีผลต่อการเกิดแก๊งค์หรือไม่
ลักษณะที่พบเห็นได้ในแก๊งค์ คือการแบ่งสมาชิกตามอายุและการมีพิธีรับเข้าเป็นสมาชิกซึ่งคล้ายกับสังคมชนเผ่า แต่ละแก๊งค์จะมีวิธีปฏิบัติต่อสมาชิกแต่ละประเภทต่างกัน สมาชิกใหม่จะถูกปฏิบัติต่างไปจากสมาชิกเก่า รุ่นพี่จะมีสิทธิและศักดิ์ศรีเหนือกว่ารุ่นน้อง วัฒนธรรมและสังคมของแก๊งค์จึงมีระเบียบแบบแผนของตัวเอง กลุ่มที่มีจำนวนมากในแก๊งค์มักจะเป็นกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 14-16 ปี เด็กกลุ่มนี้จะมีบทบาทต่อแก๊งค์ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการรับน้องใหม่เข้าแก๊งค์ โดยการสักลายบนผิวหนังเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มและได้รับการยอมรับว่าเป็น “ชายชาตรี”
วัยรุ่นเป็นช่วงที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายเรื่อง ประสบการณ์ช่วงแรกๆของชีวิตเด็กซึ่งเข้ามาอยู่ในแก๊งค์ มักจะเคยอยู่กับพ่อแม่ เด็กที่ออกมาเร่ร่อนบนท้องถนนมักจะมาจากครอบครัวที่ยากจนและครอบครัวมีปัญหา เด็กในแก๊งส์จะเป็นเด็กที่ขาดความอบอุ่นในครอบครัว และไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กจึงต้องออกมาดิ้นรนและทำงานบนท้องถนน การศึกษาในประเด็นนี้จะสนใจเรื่องบทบาททางเพศและการเรียนรู้ทางสังคม ในครอบครัวที่พ่อแม่มีบทบาทต่างกัน เด็กจะซึมซับแบบอย่างมาจากพ่อหรือแม่ เด็กที่มาจากครอบครัวที่แม่มีบทบาทสำคัญเพียงคนเดียวจะทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนรู้การแสดงบทบาทชายหญิงที่เหมาะสม เด็กชายจึงต้องออกไปแสวงหาสังคมนอกบ้าน โดยเฉพาะสังคมเพื่อนผู้ชายบนท้องถนน
นักมานุษยวิทยาอธิบายว่าในหลายๆวัฒนธรรม ซึ่งเด็กผู้ชายขาดพ่อเป็นตัวแบบจะออกไปแสวงหาและเข้ากลุ่มเพื่อนผู้ชาย เหตุผลที่เด็กผู้ชายต้องการมีเพื่อนก็เพราะต้องการแสดงความเป็นชายและไม่ต้องการให้แม่มาควบคุม การเรียนรู้สังคมบนท้องถนนของเด็กผู้ชายจะมีพัฒนาการตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น เด็กผู้ชายจะค่อยๆเรียนรู้สังคมและแสดงออกถึงความเป็นชายที่เข้มข้นเรื่อยๆ เช่น มีสไตล์การแต่งตัวของตัวเอง มีภาษาที่พูดกันเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น
ในกลุ่มเด็กที่ยากจน สังคมท้องถนนจะเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง สังคมและชีวิตบนท้องถนนอาจนำไปสู่กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง มีความขัดแย้ง และการทำลายเกิดขึ้นได้ อาจมีการใช้ยาเสพติด การใช้อาวุธในการต่อสู้และการทะเลาะเบาะแว้ง เช่น ใช้มีด ไม้หน้าสาม หรือปืน เมื่อมีการต่อสู้อาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย และการฆาตกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคนบริสุทธิ์ที่อยู่ในเหตุการณ์ สมาชิกในแก๊งค์จะต้องทำตามกฎและสัตยาบรรณของแก๊งค์ การคุ้มครองช่วยเหลือเพื่อนเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับแก๊งค์ เพราะเป็นวิธีการรักษาความกลมเกลียวและความจงรักภักดีของสมาชิกทุกคน รุ่นน้องจะได้รับการปลูกฝังให้จงรักภักดีต่อแก๊งส์ตั้งแต่ระยะแรกๆ และเรียนรู้ที่จะปกป้องคุ้มครองสมาชิกของแก๊งค์จากศัตรูคนอื่นๆ การเป็นสมาชิกของแก๊งค์จึงต้องเป็นคนที่รักเพื่อน ช่วยเพื่อน ดูแลเพื่อนในทุกๆด้าน รุ่นพี่คือคนสำคัญที่จะสอนให้รุ่นน้องทำตามอย่าง ถ้ารุ่นน้องทำได้ดีก็จะได้รับการยกย่อง และมีคุณค่า เช่น เข้าร่วมต่อสู้กับศัตรูที่มาก่อกวน หรือทำร้ายสมาชิกของแก๊งค์ เป็นต้น
เวลาส่วนใหญ่ของเด็กร่วมแก๊งค์ คือการรวมกลุ่มเพื่อดื่มและเสพยา หรือทำเรื่องที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอๆ และกลายเป็นแบบอย่างให้รุ่นน้องทำตามรุ่นพี่ เด็กร่วมแก๊งค์ทุกคนไม่คิดว่าสิ่งที่ทำไปผิด เพราะกิจกรรมของแก๊งค์จะบ่งบอกถึงความกล้าหาญ และความสามารถเฉพาะตัว ถึงแม้ว่าสังคมจะมองว่าบ้าบิ่นหรือไร้สติก็ตาม
วัฒนธรรมประจำกลุ่มของเด็กร่วมแก๊งค์ ได้แก่ รูปแบบการแต่งกาย การพูดจา การแสดงท่าทาง และการใช้สัญลักษณ์บางอย่าง สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มวัยรุ่นประเภทอื่นๆ เช่นกลุ่มดนตรีแร๊พของเด็กแอฟริกันอเมริกัน ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สไตล์การแต่งตัวแบบแร๊พ เช่น การนุ่งกางเกงตัวใหญ่ ใส่หมวกเบสบอล และใส่ต่างหู ซึ่งเด็กแก๊งค์อาจแต่งตัวในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เด็กแก๊งค์แต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบการแต่งกายที่ไม่เหมือนกัน เช่น เด็กผิวดำแต่งตัวไม่เหมือนเด็กเชื้อสายเม็กซิกันและลาติโน นอกจากนั้น เด็กแก๊งค์จะมีชื่อเล่นที่ตั้งขึ้นเอง และจะรู้กันเฉพาะสมาชิกของแก๊งค์เท่านั้น นอกจากนั้นแก๊งค์จะมีชื่อของตัวเอง เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าใครอยู่แก๊งค์ไหน
การต่อสู้ระหว่างแก๊งค์จะเกิดขึ้นเมื่อมีการหลบหลู่หรือล่วงละเมิดดินแดน เช่น มีการเขียนสัญลักษณ์ของแก๊งส์ในถิ่นของศัตรู เมื่อศัตรูเห็นก็จะรู้สึกโกรธเพราะถือว่ามาหยามถึงถิ่น และอาจนำไปสู่การขัดแย้งและต่อสู้กัน สัญลักษณ์และเครื่องหมายของแก๊งค์อาจเขียนเป็นลวดลายบนผิวหนัง เช่น รอยสัก สมาชิกแก๊งค์จะสักเครื่องหมายบนหัวไหล่ ท่อนแขน หรือบนใบหน้า
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
David Levinson and Melvin Ember. (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.515-518.
Hagedorn, John M. 2008, A World of Gangs: Armed Young Men and Gangsta Culture, Minneapolis, Minnesota, United States: University of Minnesota Press.
Goldson, Barry 2011. Youth in Crisis? Gangs, Territoriality and Violence. London: Routledge.
หัวเรื่องอิสระ: แก๊งค์