คำศัพท์

Gender

          Gender หมายถึง เพศภาวะหรือเพศสภาพ บ่งบอกสถานะและบทบาททางเพศของบุคคล ซึ่งมีมิติทางกายภาพ สรีระ อารมณ์ พฤติกรรม สังคม และวัฒนธรรมประกอบอยู่   นักมานุษยวิทยาเริ่มถกเถียงเรื่องเพศภาวะของมนุษย์ในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่นักสตรีนิยมเริ่มตั้งคำถามและทบทวนความคิดเรื่องเพศภาวะของหญิงและชาย ซึ่งมีความไม่เท่าเทียมกัน   ในปี 1869 จอห์น สจ๊วต มิลล์เขียนบทความเรื่อง The Subjection of  Woman เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การกดขี่ผู้หญิงในสังคมอังกฤษ  กฎหมายที่กดขี่ทำให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาชีวิตมนุษย์ จึงควรมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ชายและหญิงไม่ควรได้รับสิทธิพิเศษมากกว่ากัน และต้องไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียเปรียบ   มิลล์ได้เสนอแนวคิดทางปรัชญาว่าสังคมต้องมีกฎของความเท่าเทียม (Principle of Perfect Equality)  

          โจฮันน์ เบโชเฟ่นคือผู้ที่ใช้แนวคิดวิวัฒนาการมาอธิบายปรากฎการณ์ของสังคมว่า ระบบผู้หญิงเป็นใหญ่เกิดขึ้นในยุคแรกของวิวัฒนาการทางสังคม  ส่วนระบบอำนาจชายเป็นใหญ่มีทีหลังจอห์น แม็คเลนนัน อธิบายว่าระบบการสืบตระกูลข้างแม่เกิดขึ้นก่อนระบบการสืบตระกูลข้างพ่อ แต่ผู้หญิงไม่มีอำนาจเหนือกว่าผู้ชาย ความคิดนี้ต่างไปจากเบโชเฟ่น    ส่วน จอร์จ สต็อกกิ่ง ตั้งข้อสังเกตว่าทฤษฎีวิวัฒนาการปฏิเสธสถาบันที่เชิดชูอำนาจผู้ชายซึ่งอยู่ในรูปของเทพเจ้า เช่นการศึกษาของแม็คเลนนันเรื่อง Primitive Marriage อธิบายว่าระเบียบกฎเกณฑ์ในครัวเรือนเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น 

          อีวานส์ พริตเชิร์ด กล่าวในช่วงทศวรรษที่ 1950 ว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้น และมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในวัฒนธรรมต่างๆ  ในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีนักมานุษยวิทยาไม่กี่คนที่สนใจประเด็น gender   ในปี ค.ศ.1894 โอติส เมสันเขียนหนังสือเรื่อง Woman’s Share in Primitive Culture  เป็นการให้ภาพเปรียบเทียบเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในลักษณะต่างๆ ได้แก่ การทอผ้า การปั้นหม้อ การทำอาหาร และทำงานแบกหาม เป็นต้น 

          หนังสือของโรเบิร์ต โลวี่  เรื่อง Primitive Society กล่าวว่าหลายๆสังคมไม่มีการแบ่งแยกว่าอะไรคือความคิดหรือการกระทำที่เชื่อมโยงกับสถานะของหญิงและชาย  การศึกษาชนเผ่าในมหาสมุทรของมาร์กาเร็ต มี้ดในช่วงทศวรรษที่ 1920  ทำให้เกิดความเข้าใจว่าวัฒนธรรมและชีววิทยามีผลต่อการสร้างความหมายของเพศ    ในปี ค.ศ.1955  อีแวนส์ พริตเชิร์ด กล่าวว่า สถานะของสตรีเกิดขึ้นจากการแต่งงาน หรือการเป็นภรรยา  ส่วนผู้ชายยังคงมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในสังคมที่มีความก้าวหน้า ซึ่งความเชื่อนี้ทำให้เกิดการอธิบายในเวลาต่อมาว่าผู้หญิงมีฐานะต่ำกว่าชายเป็นปรากฏการณ์สากล

          นาโอมิ ควินน์ กล่าวว่าสถานภาพทางเพศอาจเปรียบเสมือนส่วนประกอบหลายอย่างๆซึ่งมีอิสระในตัวเอง ดังนั้นการศึกษาบทบาทของผู้หญิงในโลกของผู้ชายจึงต้องแยกมิติต่างๆออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบทบาททางเศรษฐกิจ  อิสะเสรีภาพส่วนตัว ความเข้มข้นของการแสดงออกถึงความแตกต่าง  การได้รับการยอมรับ การมีศักดิ์ศรี และแบบแผนพฤติกรรม และการสนทนาของผู้หญิงที่ต่างจากชาย

          นักมานุษยวิทยาหลายคนเห็นด้วยกับความคิดของมิเชลล์ โรซัลโดและหลุยส์ แลมเฟียร์ ในประเด็นที่ว่าการสร้างคำอธิบายของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษย์ เป็นคำอธิบายที่มีความโน้มเอียงตามความเชื่อเดิมของนักมานุษยวิทยาที่มักจะไม่พูดถึงผู้หญิง และใช้กิจกรรมของผู้ชายมาเป็นตัววัด ดังนั้นงานเขียนทางชาติพันธุ์จึงมักจะเป็น “เสียงพูด” ของผู้ชายแทบทั้งสิ้น

          ในช่วงทศวรรษที่ 1920  การศึกษาของมาร์กาเร็ต มีด เรื่อง Coming of Age in Samoa  เป็นการศึกษาเปรียบเทียบบทบาททางเพศในชนเผ่าบนเกาะโพลินีเซีย เมลานีเซีย บาหลี และสหรัฐอเมริกา  มี้ดนำทฤษฎีบุคลิกภาพมาอธิบาย โดยมีประเด็นที่ถกเถียงสำคัญ 2 ประเด็น คือ การแสดงออกทางเพศในแต่ละวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันอย่างแจ่มชัด และ ความแตกต่างกันนั้นสะท้อนลักษณะแบบแผนทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน

          การศึกษาในช่วงทศวรรษที่ 1970 บอกให้ทราบว่าทั้งปัจจัยทางชีววิทยาและวัฒนธรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความหมายทางเพศในแต่ละสังคม ตัวอย่างเช่น  การวิจัยเกี่ยวกับพิธีกรรมของรักร่วมเพศในเมลานีเซีย พฤติกรรมรักเพศเดียวกันมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ชายที่เข้าสู่พิธีกรรมย่างเข้าวัยหนุ่ม พิธีกรรมนี้ถูกกำกับด้วยความเชื่อเรื่องบทบาทและอำนาจของผู้ชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์  การศึกษาดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนที่เกิดขึ้นกับเพศสภาพ พิธีกรรม และบริบททางการเมือง  ตัวอย่างจากสังคมเมลานีเซียทำให้ทราบว่าในช่วงชีวิตของผู้ชายจะมีประสบการณ์ของความเป็นชายและการรักเพศเดียวกันเกิดขึ้น   ปรากฏการณ์นี้ชี้ว่าแนวคิดเรื่องเพศของตะวันตกที่เกิดขึ้นในการศึกษามานุษยวิทยา ไม่อาจนำไปอธิบายสังคมอื่นได้

          อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการศึกษากลุ่มชนอิสราเอลที่เรียกว่าคิบบุทส์ที่พยายามปลดปล่อยผู้หยิงให้หลุดพ้นจากระเบียบประเพณีของการแต่งงาน การมีครอบครัว และความเหลื่อมล้ำทางเพศ   การกระทำของกลุ่มคิบบุทส์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่สมาชิกในกลุ่มก็ไม่เห็นด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำให้สังคมไม่มีความแตกต่างทางเพศก็ตาม  เมลฟอร์ด สปิโร กล่าวว่ากลุ่มคิบบุทส์พยายามวางแนวทางเกี่ยวกับเรื่องเพศในเชิงวัฒนธรรม มากกว่าจะเป็นการบังคับให้เกิดเพศสภาพแบบเดียว

          แอนน์ ฟาอุสโต-สเตอร์ลิง กล่าวว่าเพศภาวะประกอบด้วยมิติทางชีววิทยาและทางสังคม จูดิธ บัตเลอร์มองว่าเพศภาวะเป็นเรื่องที่สังคมสร้างขึ้นโดยใช้การแสดงออกทางร่างกายเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นหญิงและชาย  เพศภาวะมิได้เกิดจากปัจจัยทางชีววิทยา แต่สังคมพยายามนิยามและให้คุณค่าความเป็นหญิงชายผ่านการแสดงออกทางสรีระและใช้วาทกรรมควบคุมการแสดงออกเหล่านั้น บัตเลอร์เชื่อว่าการปฏิบัติทางร่างกายจะถูกกำกับผ่านภาษาและวาทกรรม ซึ่งสังคมจะวางบรรทัดฐานเอาไว้ว่าความเป็นหญิงและชายจะแสดงออกอย่างไร

          มาเรีย ลากูเนส อธิบายว่าในสังคมชาวยารูบา ความคิดเรื่องเพศภาวะไม่เคยเกิดขึ้นจนกระทั่งชาวตะวันตกเข้าไปปกครองพวกเขาในยุคอาณานิคม  ความรู้วิทยาศาสตร์แบบตะวันตกทำให้ชาวยารูบารับความคิดเรื่องความเป็นหญิงและชายไปใช้ในชีวิตประจำวัน ลินดา นิโคลสัน กล่าวว่าการแบ่งแยกเพศเป็นหญิงและชายมิใช่สิ่งสากล เพราะแต่ละสังคมมีวิธีการจัดแบ่งเพศมนุษย์ไม่เหมือนกัน แต่วิธีคิดแยกเพเศคู่ตรงข้ามแบบหญิงชายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก นอกจากนั้น แต่ละวัฒนธรรมก็ให้ความหมายต่ออวัยวะเพศต่างกันไป เช่น อวัยวะเพศหญิงไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของผู้หญิง หากแต่อาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชายที่ไม่สมบูรณ์  ดังนั้น การตัดสินความเป็นหญิงและชายจากอวัยวะสืบพันธุ์จึงมิใช่สิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมา แต่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่สังคมแต่ละแห่งจะนิยามต่างกันไป


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Anne Fausto-Sterling 1992. Myths of Gender: Biological Theories about Men and Women. New York: Basic Books.

Butler, Judith 1990. Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity. Thinking Gender'. New York & London: Routledge

Butler, Judith 1993. Bodies That Matter: On the Discursive Limits of "Sex". New York: Routledge.

Fausto-Sterling, Anne 2000. Sexing the body: gender politics and the construction of sexuality. New York: Basic Books.

Gilbert Herdt, ed. 1996. Third Sex Third Gender: Beyond Sexual Dimorphism in Culture and History.

Lorber, J & Farrell, S (eds.) 1990. The Social Construction of Gender. Sage, Newbury Park.

Lugones, María 2008. "Heterosexualism and the Colonial/Modern Gender System". Hypatia 22 (1): 196–198.

Nanda, Serena 1998. Neither Man Nor Woman: The Hijras of India. Wadsworth Publishing.

Robert H.Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.133-136.

Will Roscoe, 2000. Changing Ones: Third and Fourth Genders in Native North America, Palgrave Macmillan


หัวเรื่องอิสระ: เพศภาวะ