Genital Mutilation
การเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศด้วยการตัดหรือผ่าเป็นเรื่องปกติในหลายวัฒนธรรม ในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล เฮโรโดตัสเชื่อว่าผู้ชายกลุ่มแรกที่ขลิบอวัยวะเพศคือชาวอียิปต์และเอธิโอเปียน การตัดแต่งอวัยวะเพศชนิดอื่นๆก็น่าจะเกิดในช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่แน่ชัดเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ สังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ที่หลงเหลือในปัจจุบันไม่มีการตัดแต่งอวัยวะเพศ ยกเว้นชนเผ่าบางเผ่าในออสเตรเลีย ตัวอย่างมัมมี่สมัยอียิปต์มักจะมีอวัยวะเพศที่ผิดปกติ และเป็นที่รู้กันว่าผู้ชายชาวอียิปต์มักขลิบอวัยวะเพศของตน ในหลุมศพของอียิปต์ยุคโบราณก็พบหลักฐานการผ่าตัด ในคัมภีร์ไบเบิลมีการกล่าวถึงการขลิบอวัยวะเพศของทารกชาย เพื่อเป็นเครื่องหมายพันธะสัญญาระหว่างพระเจ้ากับอะบราฮัม การกระทำดังกล่าวเป็นประเพณีที่ทำกันในช่วง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนการตัดแต่งอวัยวะเพศหญิงอาจเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ชายทำตามบ้าง แต่ก็เป็นเพียงการสันนิษฐาน
การขลิบอวัยวะเพศชาย เป็นการตัดหนังหุ้มปลายองคชาตออกไป เผ่า Nandi ในแอฟริกาตะวันออกใช้การเผาหนังหุ้มปลายด้วยถ่านร้อนๆ การขลิบอัวยวะเพศยังอาจเป็นการปฏิบัติทางศาสนาในหมู่ชาวยิว ชาวซามาริตัน และชาวมุสลิม นอกจากนั้นการขลิบยังเกิดขึ้นกับกลุ่มชนหลายกลุ่ม รวมทั้งชาวพื้นเมืองในออสเตรเลีย แอฟริกาตะวันออก และตะวันตก วิธีการขลิบอาจเป็นการผ่าหนังหุ้มปลายออก ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันในหมู่ชาวโพลินีเชียน ในเผ่าคิคูยูในแอฟริกาก็มีธรรมเนียมการขลิบเช่นเดียวกัน การถลกหนังหุ้มอวัยวะเพศ มิใช่เพียงการตัดหนังทิ้งไปเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการตัดผิวหนังขององคชาติออกไปด้วย สังคม 2 แห่งที่มีการปฏิบัติเช่นนี้ ได้แก่สังคมของชาวโดวาโยในคาเมรูน และชาวเผ่าบางเผ่าในซาอุดิอาระเบีย ชนสองกลุ่มนี้มีการถลกหนังอวัยวะเพศบริเวณถุงอัณฑะและบริเวณใกล้เคียงด้วย
การตัดผิวหนังยังอาจทำที่บริเวณท้องส่วนที่อยู่ใกล้กับอวัยวะเพศ การปฏิบัติเช่นนี้พบได้ในกลุ่มคนพื้นเมืองในออสเตรเลีย เช่น เผ่าอรันดา และ เผ่าแซมบูรูในแอฟริกาตะวันออก การทำหมันเป็นวิธีที่ต้องตัดลูกอัณฑะทิ้งไป วิธีนี้พบได้ในกลุ่มชาวแจนเจโร ในเอธิโอเปีย และชาวโพนาเพียนส์ในไมโครนีเซีย ส่วนการตัดอวัยวะเพศทิ้งไปเลยอาจเกิดขึ้นด้วยหลายสาเหตุ เช่น การลงโทษ หรือเชื่อว่าจะทำให้คนๆนั้นมีเสียงร้องที่กังวาน ความเชื่อนี้พบได้ในกลุ่มประเทศโรมันแคธอลิค กลุ่มชาวคริสต์บางกลุ่มในรัสเซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เชื่อว่าการตัดอวัยวะเพศทิ้งเป็นการอุทิศให้กับพระเจ้า ในสมัยโรมันมีความเชื่อว่ากาตัดอวัยวะเพศทิ้งจะทำให้พระเป็นสาวกของเทพธิดา Cybele ในประเทศจีนมีการตัดอวัยวะเพศทิ้งเป็นการลงโทษชนชั้นแรงงาน
การแทงอวัยวะเพศให้เป็นรูเป็นวิธีของชาวมายา พวกเขาจะนำวัตถุต่างๆใส่ไว้ในรูนี้ ผู้หญิงบนเกาะเติร์กในมหาสมุทรแปซิฟิกจะนำวัตถุบางอย่างใส่ไว้ในอวัยวะเพศของเธอ เวลาเดินจะมีเสียงดัง นอกจากนั้นในหลายๆเผ่าอาจมีการนำห่วง ท่อนไม้ วัตถุทรงกลม หรือลูกบอล มาใส่ไว้ในอวัยวะเพศ การเจาะรูอวัยวะเพศเพื่อนำห่วง หรือเครื่องประดับมาใส่ เป็นการปฏิบัติที่พบได้ในหมู่ชาวตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แต่ไม่ใช่สิ่งที่แพร่หลายเท่าใดนัก
การตัดแต่งอวัยวะเพศของสตรีที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ การขลิบหนัง ซึ่งอาจทำได้หลายแบบ เช่นการตัดผิวหนังที่หุ้มอวัยวะเพศ วิธีนี้ปฏิบัติกันในหมู่ชาวมุสลิมนิกายซุนนี ไปจนถึงการผ่าอวัยวะเพศ ในเผ่าแนนดี มีการเผาอวัยวะเพศด้วยถ่านร้อนๆ การขลิบอวัยวะเพศหญิงยังพบได้ในกลุ่มชาวแอฟริกาตะวันตก และตะวันออก ในสังคมชาวโซมาลี ชาวกัลลา และกลุ่มชนในเขตแอฟริกาตะวันออกซึ่งนับถือศาสนาอิสลามมีการเย็บหนังอวัยวะเพศให้ติดกันในหมู่สตรี ในสมัยอียิปต์โบราณมีการขลิบอวัยวะเพศสตรี ด้วยวิธีนี้เช่นกันแต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด วิธีการเย็บหนังบริวเณอวัยวะเพศนี้เป็นวิธีปิดรูทวารให้เล็กลง เหลือไว้เพียงช่องเล็กๆเพื่อใช้ปัสสาวะและถ่ายประจำเดือนเท่านั้น
การตัดแต่งอวัยวะเพศหญิงอีกวิธีหนึ่งได้แก่ การผ่าขยายช่องคลอดให้ใหญ่ขึ้น วิธีนี้พบได้ในหมู่ชนพื้นเมืองบางกลุ่มในออสเตรเลีย และกลุ่มชนบางกลุ่มที่มีการขลิบอวัยวะเพศ การผ่าช่องคลอดในแบบตะวันตกนั้นเป็นวิธีการช่วยเหลือสตรีที่กำลังคลอดบุตรเพื่อมิใช่อวัยวะเพศฉีกขาด การเย็บปากช่องคลอดนั้นยังเป็นการป้องกันมิให้สามีร่วมเพศกับภรรยาด้วยโดยเฉพาะช่วงหลังคลอดใหม่ๆ และยังเชื่อกันว่าเป็นการควบคุมความต้องการทางเพศของสามี
การตัดแต่งอวัยวะเพศสตรี ยังหมายถึงการสร้างความมั่นคงให้กับการเป็นพ่อแม่ ข้อสังเกตจากแนวคิดสังคมเชิงชีววิทยาอธิบายว่า ผู้ชายต้องการความมั่นใจว่าลูกที่เกิดจากภรรยาของตนมิใช่เป็นของคนอื่น การขลิบหรือตัดหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศหญิงมักจะเป็นเรื่องการตอกย้ำสถานภาพการเป็นผู้ใหญ่ และสถานภาพจากการแต่งงาน ชาวเผ่าคอนโซ ในเอธิโอเปีย มีธรรมเนียมกันขลิบอวัยวะเพศชายตอนอายุ 60 ปี เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าชายคนนั้นได้สิ้นสุดการเป็นผู้ใหญ่แล้ว (ในบางกรณีการขลิบอวัยวะเพศชายอาจหมายถึงการเป็น กะเทย) ในเผ่าแบมบาร่า ในแอฟริกาตะวันตก และชาวยิวบางกลุ่มมีการขลิบอวัยวเพศของคนตายด้วย
อย่างไรก็ตาม การตัดแต่งอวัยวะเพศอาจเป็นพิธีกรรมสำหรับการย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ในหนังสือของจอร์จ ปีเตอร์ เมอร์ด็อก เรื่อง Ethnographic Atlas ให้ข้อมูลว่ามีสังคมประมาณ 176 แห่งที่มีการขลิบอวัยวะเพศชาย และ สังคม 126 แห่งนิยมขลิบอวัยวะเพศในช่วงอายุ 6 ถึง 15 ปี ( 78 แห่ง นิยมขลิบในช่วงอายุ 11-15 ปี) โรเจอร์ ที เบอร์ตัน และ จอห์น ไวทิง อธิบายว่า การตัดแต่งอวัยวะเพศในช่วงวัยรุ่น เป็นสัญลักษณ์ของเด็กชายที่กำลังเปลี่ยนสถานะ ต้องตัดขาดจากแม่ และเผชิญปัญหาตัวตนทางเพศ เผ่าโดกอน ในแอฟริกาตะวันตก มีความเชื่อในทำนองเดียวกัน โดยเชื่อว่า หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายมีจิตวิญญาณของผู้หญิงอาศัยอยู่ และบริเวณเหยื่อหุ้มอวัยวะเพศหญิงก็มีจิตวิญญาณของผู้ชายอาศัยอยู่เช่นกัน ดังนั้นการตัดขลิบหนังออกไปจึงเป็นการแก้ปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศได้ แฟรงค์ ยังอธิบายว่าการขลิบจะช่วยให้ความเป็นชายดำรงอยู่ได้
ซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่าการขลิบอวัยวะเพศชายคือสัญลักษณ์ของการทำหมัน บรูโน่ เบทเทลไฮม์ กล่าวว่าการตัด ขริบ หรือผ่าอวัยวะเพศชายคือความพยายามที่จะเลียนแบบอวัยวะเพศของผู้หญิง การเลียนแบบนี้แสดงว่าผู้ชายอิจฉาผู้หญิงเพราะพวกเธอสามารถมีประจำเดือน การตัดขลิบอวัยวะเพศชายจึงเป็นการทำให้เลือดออกเหมือนประจำเดือนของผู้หญิง ชาวพื้นเมืองในออสเตรเลีย ขลิบอวัยวะเพศเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสัตว์ที่เป็นบรรพบุรุษประจำเผ่า นักมานุษยวิทยามีแนวคิดทฤษฎีในเรื่องนี้ต่างกัน 2 แนว ในแนวที่เชื่อเรื่องสัตว์ประจำเผ่าอธิบายว่าจิ้งโจ้คือสัตว์ที่มีอวัยวะเพศ 2 แฉก มนุษย์จึงเลียนแบบโดยการผ่าอวัยวะเพศของตนเป็นสองแฉก
การตัดขลิบอวัยวะเพศชาวโพลิเนเชียน หมายถึงการแสดงความสะอาด และหลีกเลี่ยงกลิ่นเหม็นจากการสะสมเซลล์ตกค้าง การอธิบายว่าการขลิบเป็นการรักษาสุขภาพอนามัย เป็นคำอธิบายที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนัก การรณรงค์สมัยใหม่เกี่ยวกับการให้ผู้ชายขลิบอวัยวะเพศเป็นการยืนยันว่าช่วยป้องกันมะเร็งบริวเณองคชาติ และช่วยป้องกันคู่ขาของชายคนนั้นจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายชนิด แม้กระทั่งโรคเอดส์ ไม่ว่าการขลิบจะมีประโยชน์อย่างไรก็ตาม การขลิบก็ยังเป็นการทำให้สูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดที่ผิดพลาดจนทำให้รูปลักษณ์ของอวัยวะเพศเปลี่ยนไป ไปจนถึงการทำให้เสียชีวิตด้วยอาการตกเลือด ส่วนปัญหาที่เกิดจากการตัดขลิบอวัยวะเพศผู้หญิง อาจทำให้ผู้หญิงติดเชื้อทางเลือดและเสียชีวิตได้ การตัดหรือผ่าอวัยวะเพศอาจก่ออาจเกิดการปัสสาวะขัด ผิดปกติ หรือมีเลือดประจำเดือนมากเกินไป อาจทำให้เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือขณะคลอดบุตร รวมทั้งอาจทำให้เด็กที่คลอดได้รับอันตรายที่สมอง
การตัดเนื้อบริเวณอวัยวะเพศหญิง อาจเกิดปัญหาได้โดยเฉพาะในเรื่องความรู้สึกทางเพศ นักปรัชญาชาวยิวในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชื่อ Maimonides อธิบายว่าการขลิบอวัยวะเพศจะช่วยลดความต้องการทางเพศของผู้ชาย วิลเลียม มาสเตอร์ และเวอร์จิเนีย จอห์นสัน ทำงานวิจัยในปี ค.ศ.1960 ปฏิเสธว่าการขลิบไม่ได้ส่งผลต่อความรู้สึกทางเพศ แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่นิยมการขลิบอวัยวะเพศ การวิจัยนี้ยังสรุปว่าผู้หญิงมีการผ่าขลิบอวัยวะเพศของตนด้วย เฟมินิสต์ประณามการกระทำดังกล่าว เพราะการขลิบจะทำลายเนื้อเหยื่อของอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเป็นผู้หญิง
การผ่าตัดแต่งอวัยวะเพศของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ถูกโจมตีมากกว่าชาย ในหนังสือเรื่อง Facing Mount Kenya ของโจโม่ เคนยัตตาอธิบายว่าชนเผ่าคิคูยู กลุ่มมิชชันนารีที่เข้ามาติดต่อกับชนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำให้พวกเขาเลิกธรรมเนียมการผ่าขลิบอวัยวะเพศได้ ในปี ค.ศ.1929 ศาสนาจักรแห่งสก็อตแลนด์ สั่งห้ามนักเรียนขลิบอวัยวะเพศของตนเอง ชาวคิคูยูปฏิเสธข้อห้ามดังกล่าวและตั้งโรงเรียนของตัวเอง เคนยัตตาเป็นศิษย์ของมาลีนอว์สกี้ อธิบายว่าชาวคิคูยูเชื่อว่าการตัดแต่งอวัยวะเพศเปรียบเสมือนการสั่งสอนกฎระเบียบของเผ่า ชาวคิคูยูพยายามที่จะตัดขลิบอวัยวะเพศของสตรีเพราะต้องการทำตามระเบียบของสังคม
ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาได้อาศัยแนวคิดของเคนยัตตามาใช้อธิบายว่าการขลิบอวัยวะเพศของผู้หญิงคือการตอกย้ำเกียรติและศักดิ์ศรีในครอบครัวของพวกเธอและยังช่วยสร้างความกลมเกลียวในการดำรงอยู่กับญาติพี่น้องฝ่ายชายด้วย ผู้หญิงชาวคิคูยูขลิบอวัยวะเพศของตนเพื่อที่จะจรรโลงโครงสร้างทางสังคม
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Edgar A. Gregersen 1996. “Genital Mutilation” in David Levinson and Melvin Ember (eds.)1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.531-534.
Ellen Gruenbaum. 2000 The Female Circumcision Controversy: An Anthropological Perspective. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.
Eric K. Silverman, 2004. "Anthropology and Circumcision", Annual Review of Anthropology, 33, pp. 419–445
Leonard J. Kouba, Judith Muasher, 1985. "Female Circumcision in Africa: An Overview", African Studies Review, 28(1), March, pp. 95–110
Miroslava Prazak and Jennifer Coffman 2007. Anthropological Perspectives on Female Genital Cutting: Embodying Tradition, Violence, and Social Resilience. Africa Today
Vol. 53, No. 4, Female Genital Cutting (Summer, 2007), pp. v-xi
หัวเรื่องอิสระ: การตัดแต่งอวัยวะเพศ