Hermeneutics

Hermeneutics

คำว่า Hermeneutics หมายถึงระเบียบวิธีที่ใช้ตีความข้อเขียน โดยเฉพาะการตีความข้อเขียนในคัมภีร์ไบเบิล ตีความวรรณกรรมและงานเขียนทางปรัชญา เป็นวิธีการสำรวจตรวจสอบด้วยการสังเกตอย่างละเอียด และเป็นการทำความเข้าใจเรื่องราวของมนุษย์ด้วยสติปัญญา นักวิชาการที่ใช้ระเบียบวิธีนี้ ได้แก่ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ นักวิจารณ์วรรณคดี นักประวัติศาสตร์ศาสนา นักสังคมวิทยา เทววิทยา รวมทั้งนักมานุษยวิทยาด้วย นักวิชาการเหล่านี้นำวิธีการนี้ไปใช้ด้วยทฤษฎีที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น การอธิบายด้วยกรอบเสรีนิยม วัตถุนิยม และอัตถประโยชน์นิยม โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 วิธีการนี้จะนำไปใช้วิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม และปูทางไปสู่การทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยาซึ่งต้องเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมอย่างละเอียด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วิธีการนี้ทำให้เกิดการการศึกษาแนวตีความในทางมานุษยวิทยา

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักเทววิทยาและนักปรัชญาชาวเยอรมัน ชื่อฟรีดริช เอร์นส ชไลเออร์เมคเคอร์ คือผู้ที่นำแนวคิดและวิธีการ Hermeneutics จากคำสอนของโปรเตสแตนส์มาใช้กับชาวคริสเตียน วิธีการนี้จะเน้นความสำคัญของการหยั่งรู้คำสอนทางศาสนาด้วยความคิด มิใช่จากการอ่านตัวหนังสือ ฟรีดิชเสนอว่าหนทางที่จะทำความเข้าใจคำสอนทางศาสนาได้ ต้องศึกษาไวยกรณ์ของคำและความคิดที่แฝงอยู่ในคำเหล่านั้น การทำความเข้าใจไวยกรณ์จะช่วยขจัดความคลุมเคลือที่มีอยู่ในภาษา และทำให้เข้าใจหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของคำและวลีที่มีอยู่ในคำสอน ส่วนการทำความเข้าใจความคิดจะทำให้ผู้ศึกษารู้ว่าคำสอนต่าง ๆ เหล่านั้นมีความเป็นมาอย่างไร วิธีการของฟรีดิชจึงเป็นวิธีการศึกษาทางศาสนา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจเจตนารมย์ของพระเจ้าที่มอบให้กับโลกและมนุษย์ ถึงแม้ว่าวิธีการนี้ยังคงใช้อยู่ในการศึกษาของชาวคริสเตียน แต่มีอิทธิพลต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยาน้อยมาก

วิธีการหยั่งรู้ความคิดมนุษย์ในทางมานุษยวิทยา ได้รับอิทธิพลมาจากการศึกษาของนักปรัชญาชาวเยอรมันในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือ วิลเฮล์ม ดิลธีย์ และเม็ก เวเบอร์ ปรัชญาของดิลธีย์ อธิบายเกี่ยวกับชีวิตทางโลกของมนุษย์ ตรงข้ามกับคำอธิบายของฟรีดิช กล่าวคือ ดิลธีย์อธิบายว่าศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง ศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความรู้สึก และต้องสังเกตสภาวะจิตใจของมนุษย์ซึ่งจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ จิตใจจึงเป็นเป้าหมายในการศึกษามนุษย์ ดิลธีย์ต้องการสร้างศาสตร์ที่เป็นสากลเพื่อศึกษามนุษย์ โดยหยิบยกเรื่องจิตสำนึก เจตจำนง และความคิดขึ้นมาเป็นประเด็นในการศึกษา ดิลธีย์เชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการสร้างและจัดระเบียบจิตสำนึกซึ่งคนแต่ละคนจะมีต่างกัน มิได้มีสูตรสำเร็จเหมือนกฎทางวิทยาศาสตร์

ความแตกต่างระหว่างฟรีดิชและดิลธีย์ก็คือ ฟรีดิชเชื่อว่าศิลปะ วรรณคดี และการกระทำของมนุษย์เป็นผลมาจากอำนาจของพระเจ้าที่สิงสถิตย์อยู่ในวิญญาณมนุษย์เมื่อแรกเกิด แต่ดิลธีย์เชื่อว่า จิตใจของมนุษย์เกิดขึ้นมาจากการสะสมประสบการณ์ และประสบการณ์จะเป็นความรู้ที่ทำให้มนุษย์เข้าใจโลก ดิลธีย์อธิบายว่ามนุษย์เข้าใจธรรมชาติและสังคมโดยอาศัยความคิด และความคิดจะเกิดมาจากประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจและโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญของการทำความเข้าใจมนุษย์

ดิลธีย์เชื่อว่าความเข้าใจของมนุษย์คือความพยายามที่จะสร้างสภาวะจิตใจของคนอื่น และค้นหาความหมายที่มีต่อโลกทางวัตถุ การทำความเข้าใจคนอื่นเปรียบเสมือนการสร้างความต่างระหว่างตัวเรากับตัวเขา การทำความเข้าใจสภาวะจิตใจหรือตัวตนที่อยู่ภายในตามความคิดของดิลธีย์ ก็เหมือนกับการทำความเข้าใจความคิดของพระเจ้าตามความเชื่อของฟรีดิช อย่างไรก็ตาม ดิลธีย์ไม่ได้เรียกร้องให้ค้นหาระบบความคิดที่เป็นนามธรรม แต่สนใจเรื่องประสบการณ์มากกว่า มีผู้วิจารณ์ว่าความคิดของดิลธีย์ไม่ได้สนใจบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ ดิลธีย์เชื่อว่าการเล่าเรื่องราวในอดีตจะช่วยให้มนุษย์เกิดความเข้าใจ เช่น การเล่นละครคือการแสดงความเข้าใจแบบสมบูรณ์ ดังนั้น การค้นหาความเข้าใจแบบสมบูรณ์จะนำไปสู่การเข้าใจความคิดและการกระทำของมนุษย์

ในขณะที่ดิลธีย์สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับต้นกำเนิดของปรัชญาและวิทยาศาสตร์ แต่เวเบอร์กลับสนใจเรื่องสังคมและประวัติศาสตร์ โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม สังคม และพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ความคิดเกี่ยวกับการทำความเข้าใจมนุษย์ของเวเบอร์จึงต่างไปจากดิลธีย์ การศึกษาจิตใจของมนุษย์จำเป็นต้องสนใจรายละเอียดทางวัฒนธรรมและปรัชญา ซึ่งฟรีดิชเรียกสิ่งนี้ว่าความรู้ที่มีไวยกรณ์ การศึกษาทางศาสนาเป็นความพยายามที่จะนำความหมายที่ซ่อนเร้นในคำสอนของพระเจ้าออกมาเป็นประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ส่วนดิลธีย์เชื่อว่าเป้าหมายของการทำความเข้าใจมนุษย์ ก็คือการสร้างสภาวะจิตใจของผู้ศึกษา แต่พอล ริคเคอร์(1979) โต้แย้งว่าการทำความเข้าใจมีเงื่อนไขของตัวเอง การตีความและการสร้างคำอธิบายจากสิ่งที่ถูกศึกษาจึงสำคัญกว่า คลิฟฟอร์ด เกิร์ตซ์ (1973) กล่าวว่าเป้าหมายของการศึกษามนุษย์ก็คือการทำความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยอาศัยการเก็บข้อมูลภาคสนามและตรวจสอบกลับไปกลับมาระหว่างข้อมูลและการตีความ วิคเตอร์ เทอร์เนอร์(1982) นำความคิดของดิลธีย์มาใช้โดยตรง เพื่อที่จะสำรวจความคิดของมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรมและการแสดงทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่น ๆ

ความเข้าใจที่มีต่อการศึกษามนุษย์มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องจิตใจและวัตถุซึ่งนำไปสู่การศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ต่างกัน การศึกษาในแนวทางของเกิร์ตซ์ จะเน้นเรื่อง วิธีคิดแบบชาวบ้าน วิธีนี้จะเป็นมานุษยวิทยาแบบตีความ (interpretive anthropology) ส่วนมานุษยวิทยาแบบวิพากษ์ (critical anthropology) จะเน้นการสะท้อนวิธีการศึกษาและวิธีวิทยาที่มานุษยวิทยาใช้อยู่ เพื่อที่จะทำความเข้าใจวัฒนธรรมต่าง ๆ

การศึกษาความคิดของมนุษย์จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิชามานุษยวิทยาในสหรัฐในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ฟรานซ์ โบแอสคือนักมานุษยวิทยารุ่นแรกที่ทำให้วิชามานุษยวิทยามีศาสตร์ของตัวเองและมีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในสหรัฐ โบแอสได้รับอิทธิพลความคิดจากปรัชญาสกุลนีโอ-คานเทียน และแนวคิดของดิลธีย์ โบแอสให้ความสำคัญกับเรื่อง “การเล่ารายละเอียด” ซึ่งต่อมานำไปสู่วิธีการศึกษาภาคสนามที่อาศัยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม และเป็นวิธีที่นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมใช้ แนวคิดของโบแอสทำให้ทฤษฎีวิวัฒนาการ ทฤษฎีการแพร่กระจาย และทฤษฎีเชื้อชาติไม่ได้รับความนิยมในการศึกษาทางมานุษยวิทยาอีกต่อไป

ผู้ที่วิจารณ์ความคิดของโบแอส ชี้ประเด็นว่าการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของโบแอสทำให้เขามองข้ามวิธีการทางวิทยาศาสตร์และการเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม มาร์วิน แฮร์ริสคือผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการศึกษาของโบแอส ข้อโต้แย้งที่มีต่อโบแอสและนักมานุษยวิทยาที่ใช้วิธีการ Hermeneutics ก็คือ การไม่มีศาสตร์เป็นของตัวเอง นักมานุษยวิทยาสาย Hermeneutics จะนิยามตัวเองเป็นวิชาในมนุษยศาสตร์ หรือศาสตร์ที่ศึกษามนุษย์ ส่วนฝ่ายตรงข้ามเชื่อว่ามานุษยวิทยามีทฤษฎีแบบวิทยาศาสตร์ ที่ต้องอาศัยการเก็บข้อมูล และตั้งสมมุติฐานเพื่อทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรม

มานุษยวิทยาสายมนุษยนิยม และวิทยาศาสตร์นิยมมีข้อโต้แย้งที่เรื่องแนวคิดทฤษฎี เนื่องจากมานุษยวิทยาทั้งสองกระแสนี้มีพื้นฐานความคิดที่ต่างกัน ในช่วงทศวรรษที่ 1930-60 แนวคิดแบบ Positivist ได้รับความนิยมในการศึกษาทางมานุษยวิทยา แต่นักมานุษยาบางคนก็ยังคงเชื่อในแนวมนุษยนิยม เช่น อีแวนส์-พริทชาร์ด แนวคิดแบบ Hermeneutics กลับมานิยมในมานุษยวิทยาอีกครั้ง โดยการนำของเกิร์ตซ์ การศึกษาของเกิร์ตซ์คือความพยายามที่จะนำแนวคิดของเวเบอร์มาวิเคราะห์วัฒนธรรม เกิร์ตซ์เชื่อว่าวัฒนธรรมทำให้สังคมและเศรษฐกิจเคลื่อนไป สิ่งที่เกิร์ตซ์ศึกษาได้แก่ การเก็บรายละเอียดระบบสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรม ศาสนา และเศรษฐกิจ เกิร์ตซ์ตั้งคำถามว่าทำไมสัญลักษณ์และความคิดทางศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสถาบันทางสังคม ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ทำให้มีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน เกิร์ตซ์ใช้แนวคิดมนุษยนิยมมาอธิบายเปรียบเทียบและศึกษารายละเอียดของวัฒนธรรมที่ต่างกัน เพื่อที่จะทำความเข้าใจสัญลักษณ์และแนวคิดต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้สร้างและอธิบายความจริง

เทอร์เนอร์ใช้แนวคิด hermeneutics ตามแบบของดิลธีย์ เทอร์เนอร์พยายามศึกษาระบบความหมายทางวัฒนธรรมผ่านการแสดง เช่น พิธีกรรม การเล่นละคร การแสดงทางสังคม เทอร์เนอร์คิดต่างไปจากเกิร์ตซ์ โดยเชื่อว่าการเก็บข้อมูลภาคสนามยังไม่เพียงพอที่จะเข้าใจวัฒนธรรม แต่ต้องศึกษาระบบการสื่อสารระหว่างคนกับคนซึ่งอาศัยการแสดงทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ การศึกษาของเทอร์เนอร์คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าแนวคิด hermeneutics ช่วยให้เกิดการศึกษามานุษยวิทยาแนววิพากษ์ การศึกษาแบบโบแอสก็อาจจัดเป็นมานุษยวิทยาแนววิพากษ์ในระยะแรก ๆ ส่วนในปัจจุบันมานุษยวิทยาแนววิพากษ์จะสนใจเรื่องวิธีการค้นหาความจริงที่เกิดจากแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ และสนใจที่ตรวจสอบการทำงานของนักมานุษยวิทยาที่ลงไปเก็บข้อมูลมาเขียนงานวิชาการ

การตระหนักถึงตัวตนของนักวิชาการที่ปรากฏอยู่ในงานเขียน เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในการวิเคราะห์จิตสำนึกของตัวตน ซึ่งนักคิดแนวมาร์กซิสต์ เฟมินิสต์และนักวิพากษ์ทฤษฎีต่างใช้เพื่อชี้ให้เห็นว่านักวิชาการถูกครอบงำด้วยแนวคิดทฤษฎี จอร์จ มาร์คัส และ ไมเคิล เอ็ม เจ ฟิชเชอร์(1986) ตั้งข้อสังเกตว่าการถกเถียงกันของนักมานุษยวิทยาแนววิพากษ์เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งสูงมาก นักมานุษยวิทยาบางคนเชื่อว่าการถกเถียงกันคือการปลดปล่อยมานุษยวิทยาให้หลุดพ้นไปจากการครอบงำของวาทกรรมแบบตะวันตก ส่วนผู้ที่คิดว่ามานุษยวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ มองการถกเถียงที่เกิดขึ้นว่าเป็นการสร้างความปั่นป่วนให้กับมานุษยวิทยา ซึ่งการให้ความสำคัญต่อเสียงพูดของคนพื้นเมืองของนักมานุษยวิทยาแนวมนุษยนิยมก็อาจเป็นแนวทฤษฎีอีกแบบหนึ่งไปต่างไปจากทฤษฎีอื่น ๆ

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York.  Pp.555-558.

Oevermann, U. et al. 1987: Structures of meaning and objective Hermeneutics. In: Meha, V. et al. (eds.) Modern German sociology. (European Perspectives: a Series in Social Thought and Cultural Ctiticism). New York: Columbia University Press, p. 436–447.

Olesen, Henning Salling, ed. 2013: Cultural Analysis & In-Depth Hermeneutics. Historical Social Research, Focus, 38, no. 2, pp. 7–157.