Honor and Shame
มานุษยวิทยาสนใจศึกษาเกียรติยศและความอายในช่วงทศวรรษ 1960 โดยเข้าไปศึกษาในเขตเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นสังคมที่มีการแบ่งแยกเพศโดยมีศาสนาเป็นข้อกำหนด โดยเฉพาะศาสนาคริสต์และอิสลาม เรื่องเพศจะเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจที่สัมพันธ์กับบทบาทชายหญิง ซึ่งผู้ชายจะถูกคาดหวังว่าต้องแข็งแกร่งอดทน ผู้หญิงต้องนุ่มนวลอ่อนหวาน ในวัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียนมองว่าเกียรติยศคือระบบคุณค่าทางสังคม บุคคลจะต้องมีค่าในตัวเอง ส่วนความอายจะบ่งบอกถึงความล้มเหลวในคุณค่าของตัวเอง
การศึกษาของ เจ เค แคมป์เบลล์ (1964) ในเมืองซาราแคทซานี ของประเทศกรีซ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความอายและเกียรติยศที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมในแถบเมดิเตอร์เรเนียน แคมป์เบลล์กล่าวว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวซาราแคทซานีเป็นความสัมพันธ์ในแนวราบที่คนเท่าเทียมกัน ในขณะที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวค่อนข้างมีระเบียบเคร่งครัดและยึดถือระบบอาวุโส ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ เนื่องจากชาวซาราแคทซานียึดถือศาสนาคริสต์อย่างเคร่งครัดและปฏิบัติตามกฎศาสนาอย่างเข้มงวด ชาวบ้านทุกคนจะเชื่อเรื่องบาปและการรักษากฎระเบียบของครอบครัว ครอบครัวของชาวซาราแคทซานีจึงมีความกลมเกลียวสูงและการเคารพญาติพี่น้องค่อนข้างมีระเบียบชัดเจน กล่าวคือครอบครัวจะเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่ทุกคนให้ความเคารพ การศึกษาของแคมป์เบลล์จึงเป็นการศึกษาที่เปิดเผยให้เห็นความสำคัญของเรื่องศักดิ์ศรีและเกียรติยศ ในฐานะที่เป็นแนวคิดที่จะอธิบายวัฒนธรรม
ในหนังสือเรื่อง Honour and Shame : The Values of Mediterranean Society(1965) มีบทความของแคมป์เบลล์ที่อธิบายเรื่องบทบาทของปีศาจที่มีต่อการทำลายเกียรติยศ นอกจากนั้นยังมีบทความเกี่ยวกับสังคมสเปน ไซปรัส สังคมชาวคาบิลในอัลจีเรีย และเบดูอินในอียิปต์ บทบรรณาธิการของเพอริสเทียนีอธิบายว่าสังคมเมดิเตอร์เรเนียนเป็นสังคมที่ผูกพันธ์กับศีลธรรมที่มีเรื่องเกียรติยศและความอายเข้ามาเกี่ยวข้อง และเรื่องเกียรติยศก็เป็นสิ่งที่มีความรุนแรงมาก กล่าวคือ เกียรติยศเป็นเรื่องที่เปราะบาง การกระทำต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเกียรติยศชื่อเสียงอาจนำไปสู่ความเสียเกียรติและความอายได้ตลอดเวลา
บทความของจูเลียน พิทท์-ริเวอร์ส เกี่ยวกับเรื่องชนชั้นในสังคมสเปน เป็นการศึกษาที่ชี้ให้เห็นลักษณะของครอบครัวที่ยากจน ซึ่งมีฐานะต่ำทางสังคม ครอบครัวยากจนจะมีความตึงเครียดกับระบบเกียรติยศมากกว่าชนชั้นกลาง เนื่องจากคนจากครอบครัวชั้นล่างเชื่อว่าพวกเขามีเกียรติยศและสิ่งนี้จะทำให้พวกเขาเป็นคนบริสุทธิ์ ในขณะที่ชนชั้นสูงมักจะเชื่อว่าเกรียติได้มาโดยธรรมชาติ หรือพระเจ้าประทานมาให้แล้ว ชนชั้นสูงจึงค่อนข้างมีอิสระในการดำเนินชีวิตและไม่เข้มงวดกับเกียรติยศเท่ากับชนชั้นล่าง ในเรื่อง The Fate of Shechem(1977) จูเลียนอธิบายว่าระบบเศรษฐกิจแบบเมดิเตอร์เรเนียนเกี่ยวข้องกับบทบาททางเพศ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่คล้ายกับการศึกษาของแคมป์เบลล์ กล่าวคือจูเลียนเชื่อว่าการควบคุมความบริสุทธิ์ของสตรี คือวิธีการตรวจสอบชื่อเสียงของตระกูลและครอบครัว
การศึกษาเกี่ยวกับความอายและเกียรติยศในสังคมเมดิเอร์เรเนียน ที่มีการพัฒนาแนวคิดไปมากขึ้น ได้แก่การศึกษาของเจน ชไนเดอร์(1971) ซึ่งอธิบายให้เห็นระบบความคิดเกี่ยวกับเกียรติยศที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล ในสมัยที่สังคมยังควบคุมเรื่องเพศของผู้หญิง เนื่องจากมีอุดมคติที่ว่าผู้ชายคือผู้มีอำนาจในทางการเมืองและควบคุมทรัพยากร การศึกษาของชไนเดอร์ยังชี้ให้เห็นการเข้ามาแทรกแซงของรัฐต่อเรื่องระบบศีลธรรมในท้องถิ่น การศึกษาของจอห์น เอช อาร์ เดวิส(1977) เป็นการศึกษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมหลายๆแห่งในเขตเมดิเตอร์เรเนียน พบว่าความคิดเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงวางอยู่บนเงื่อนไขทางวัตถุ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ต่างไปจากการศึกษาของจูเลียน ในปี ค.ศ.1980 ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ ได้วิจารณ์การศึกษาของจูเลียนและเดวิสว่าเป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเกียรติยศที่เป็นระบบตายตัว ซึ่งในทางปฏิบัติในเขตเมดิเตอร์เรเนียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเรื่องเกียรติยศและความอายในแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน เฮิร์ซเฟลด์กล่าวว่าเกียรติยศมิใช่เรื่องคงที่และไม่ได้เข้มงวดเหมือนที่คิด ทั้งนี้ควรจะมีการศึกษาเปรียบเทียบในกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆที่พูดภาษาเดียวกัน หรืออยู่ในพรมแดนรัฐชาติเดียวกัน
การศึกษาของแอนตัน บล็อก(1981) ชี้ให้เห็นความหลากหลายเกี่ยวกับเพศในสังคมเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งจะแสดงออกมาด้วยการเปรียบเปรยถึงสัตว์ บล็อกอธิบายว่าสังคมอุตสาหกรรมได้นำแนวคิดเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงมาเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เฮิร์ซเฟล์ดได้นำแนวคิดของบล็อกไปขยายความต่อในเรื่อง Anthropology Through the Looking-Glass(1987) ซึ่งเป็นการวิจารณ์สังคมของชาวเมดิเตอร์เรเนียนโดยรวม กล่าวคือ ภาพลักษณ์ของชาวเมดิเตอร์เรเนียนถูกสร้างขึ้นมาโดยผ่านสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจ เฮิร์ซเฟล์ดยังเขียนบทความในหนังสือของเดวิด ดี กิลมอร์ โดยอธิบายว่าความสัมพันธ์ทางสังคมในท้องถิ่นถูกกลืนเข้าไปอยู่ในระบบโลก ซึ่งวิธีการทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องศึกษาเงื่อนไขของแต่ละท้องถิ่น การศึกษาของกิลมอร์ทำให้เห็นว่าความหมายของความซื่อสัตย์ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
บทความของมาริโกะ อาซาโน-ทามาโนอิ เป็นการเปรียบเทียบสังคมสเปนและสังคมญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เห็นว่าความคิดเรื่องเกียรติยศไม่ได้มีอยู่ในสังคมเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้น การศึกษาที่มีความสำคัญมากได้แก่การศึกษาของปิแอร์ บูร์ดิเยอ ซึ่งอธิบายว่าความคิดเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงมาจากโครงสร้างความคิดที่แบ่งแยกสิ่งต่างๆเป็นสองด้าน และมีอยู่ในความคิดเรื่องเพศ ต่อมาบูร์ดเยอได้พัฒนาทฤษฎีเรื่องเกียรติยศ โดยกล่าวว่าการปฏิบัติทางสังคมจะมีการแข่งขัน และทำให้ความหมายและคุณค่าของเกียรติยศผันเปลี่ยนไป
การศึกษาของอันนี ไวแกน(1984) เป็นการศึกษาสังคมไครีนและโอมานี่ ชี้ให้เห็นความลุ่มๆดอนๆระหว่างความสัมพันธ์ที่เกิดจากความอายและชื่อเสียง ซึ่งความอายเป็นสิ่งที่แอบแฝงอยู่ในเกียรติยศและความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง การศึกษาของอลิสัน ลีเวอร์ (1986) เป็นการตั้งคำถามว่าแนวคิดเรื่องเกียรติยศถูกมองต่างกันหรือไม่ และการนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องบทบาทางเพศและชนชั้นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ในเวลาเดียวกันการศึกษาสังคมเมืองในแถบเมดิเตอร์เรเนียนทำให้เห็นประเด็นที่แตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมของวัยรุ่นเป็นวัฒนธรรมที่สร้างความคลุมเคลือให้กับการนิยามบทบาททางเพศ และทำให้ยากต่อการศึกษาแบบชี้เฉพาะเจาะจง เกียรติยศและความอายจึงอาจมิใช่สิ่งที่คงที่ถาวร
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
เอกสารอ้างอิง:
Bowman, James. 2006. Honor: A History. Encounter Books.
David Levinson and Melvin Ember(eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. pp. 582-583.
Herzfeld, M. 1980. Honor and shame: problems in the comparative analysis of moral systems. Man, 15, 339–351.
Herzfeld, Michael. 1987. Anthropology Through the Looking-Glass: Critical Ethnography in the Margins of Europe. Cambridge University Press.
Ignatieff, Michael 1997. The Warrior's Honour: Ethnic War and the Modern Conscience. New York, New York: Henry Holt and Co.
J. G. Peristiany (Ed.) 1965. Honour and Shame: The Values of Mediterranean Society. London: Weidenfeld and Nicolson.
Richard Nisbett and Dov Cohen. 1996. Culture of Honor. Westview Press
Wikan, U. 2004. Deadly Distrust: Honor Killings and Swedish Multiculturalism. IN R. Hardin (Ed.), Distrust. New York: Russell Sage, 192-204.
หัวเรื่องอิสระ: เกียรติยศและความอาย